
บ้านหาดส้มป่อย ชุมชนขนาดเล็กที่มีแค่ 30 ครัวเรือน แต่เป็นชุมชนที่มีโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 300 ปี เป็นที่เคารพนับถือของชาวอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีความเชื่อว่าพระธาตุแห่งนี้ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (เกษาธาตุ) ซึ่งตั้งเด่นอยู่บนภูเขาลูกเดียว ล้อมรอบด้วยทุ่งนาและป่าเขาซึ่งเป็นธรรมชาติที่สวยงามที่เรียกว่า “พระธาตุม่อนเปี้ยะ”
ที่มาของชื่อชุมชน มาจากชื่อของต้น “ส้มป่อย” (พืชยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านในชุมชนจะนำฝักส้มป่อยมาใช้ในพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น สะเดาะเคราะห์ รดน้ำดำหัว เป็นต้น เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่เชื่อว่าส้มป่อยเป็นพืชช่วยขจัดความโชคร้าย อัปมงคลให้ออกจากชีวิต โดยจะใช้อาบ รด ล้างบริเวณร่างกาย เป็นสิ่งยึดถือจิตใจของชาวบ้านในด้านความเชื่อ ภายในชุมชนจะพบต้นส้มป่อยจำนวนมากที่อยู่เจริญเติบโต งอกอยู่ใกล้เนินที่ลาดเอียงลงไปในน้ำหรือที่เรียกว่า “หาด” ริมน้ำภายในชุมชน จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนว่า “หาดส้มป่อย”
บ้านหาดส้มป่อย ชุมชนขนาดเล็กที่มีแค่ 30 ครัวเรือน แต่เป็นชุมชนที่มีโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 300 ปี เป็นที่เคารพนับถือของชาวอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีความเชื่อว่าพระธาตุแห่งนี้ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (เกษาธาตุ) ซึ่งตั้งเด่นอยู่บนภูเขาลูกเดียว ล้อมรอบด้วยทุ่งนาและป่าเขาซึ่งเป็นธรรมชาติที่สวยงามที่เรียกว่า “พระธาตุม่อนเปี้ยะ”
บ้านหาดส้มป่อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 เดิมทีรวมอยู่กับบ้านแม่ขาน หมู่ที่ 1 เริ่มแรกก่อตั้งเป็นชุมชนมีเพียงไม่กี่ครอบครัว ผู้ที่มาก่อตั้งครั้งแรก คือ นายบุญตา ศรีวรรณะ ชาวไทลื้อบ้านแม่สาบได้เดินทางมาตั้งรกรากทำกินพร้อมกับเพื่อนอีก 2 ครอบครัว คือ นายก้อน ภาระสี และครอบครัว นายปัญญา อุตะมะติง ต่อมาในภายหลังเริ่มมีผู้คนมาอาศัยอยู่มากขึ้น จึงแยกหมู่บ้านเป็นบ้านหาดส้มป่อยในปัจจุบันโดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายจันทร์ โปธา ปกครองเรื่อยมาจนมาถึงผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายวิมิตร พุทธโส รวมแล้วมีผู้ใหญ่บ้านทั้งหมด 8 คน สภาพแวดล้อมทั่วไปเป็นพื้นที่ราบภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำไหลผ่าน 2 สาย คือ น้ำแม่ขานและน้ำแม่โต๋ ไหลมาบรรจบกันที่บ้านหาดส้มป่อย
บ้านหาดส้มป่อย อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง มีศาสนสถานที่สำคัญและเป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอสะเมิง ได้แก่ พระธาตุม่อนเปี๊ยะ ซึ่งในทุกปีจะมีการจัดประเพณีสรงน้ำพระธาตุในเดือน 6 เหนือ ซึ่งในตอนเช้ามีการตักบาตร สรงน้ำและสวดมนต์ ฟังเทศน์เป็นประจำทุกปี
สภาพพื้นที่กายภาพ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและภูเขา ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านจำนวน 2 สาย คือ น้ำแม่ขานและน้ำแม่โต๋ ป่าชุมชนมี 1 แห่ง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการแผ้วถางทำเกษตรกรรมหรือก่อสร้างที่พักที่อยู่อาศัยใด ๆ ส่วนพื้นที่ที่มีการบุกเบิกแบ่งออกเป็น 2 เขต คือ 1) เขตที่อยู่อาศัยหรือส่วนหมู่บ้าน มีการปลูกบ้านร่วมกันอยู่เป็นกลุ่มภายในหมู่บ้านหาดส้มป่อย 2) ส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่รอบนอกหมู่บ้าน มีการทำไร่หมุนเวียน ไร่ผัก ไร่เหล่า (ไร่ที่ว่างเว้นจากการทำไร่) ไร่เชิงเดี่ยว และส่วนป่าไม้สักของอุตสาหกรรมป่าไม้
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- แหล่งน้ำธรรมชาติหลักคือน้ำแม่ขานมาจากผืนป่าขุนขานและหมู่บ้านก่อนหน้า และน้ำแม่โต๋ไหลมาจากผืนป่าขุนโต๋ ใช้ในการเกษตร
- ทรัพยากรพืชที่ใช้ประโยชน์มีทั้งที่มาจากป่าชุมชนและจากพื้นที่เกษตรกรรม
- ทรัพยากรสัตว์ ส่วนใหญ่สัตว์ป่าตามธรรมชาติ เช่น เก้ง หมู่ป่า นก กระรอก ตะกวด พังพอน ไก่ป่า ส่วนในลำห้วยและลำน้ำจะนิยมหาปลา ปู ลูกอ็อด โดยนิยมนำสัตว์จากลำห้วยและลำน้ำมาประกอบอาหาร
ภูมิปัญญาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่าง ๆ ของชุมชนบ้านหาดส้มป่อยสะท้อนให้เห็นองค์ความรู้ รวมถึงเทคนิคในการจัดการ และประยุกต์ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ อาหาร ในส่วนของการทำเกษตรกรรม เป็นการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียนที่พึ่งพาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล ปริมาณน้ำฝน การจัดการหญ้าวัชพืช แมลงศัตรูพืช พันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น พระแม่โพสพ พระแม่คงคา ผีบรรพบุรุษ เจ้าป่าเจ้าเขา ผีปู่ย่า
สถานที่สำคัญและพื้นที่ทางสังคม
พื้นที่สำคัญทางศาสนาและพื้นที่ทางสังคมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านหาดส้มป่อย เรียกว่าดง (ดงเป็นพื้นที่ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลของชาวชุมชนบ้านหาดส้มป่อย)
ป่าชุมชน
พื้นที่สาธารณะของชุมชนในบางพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ป่าและเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าชุมชน สมาชิกชุมชนใช้ประโยชน์จากต้นทุนธรรมชาติ หาของป่า วัสดุทำบ้านและอุปกรณ์ต่าง ๆ และมีเขตอนุรักษ์ป่าไว้ให้กับคนรุ่นหลังสืบต่อไป
จำนวนประชากร ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2566 จากส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียนสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 123 คน แบ่งเป็นเพศชาย 63 คน และเพศหญิง 60 คน
ข้อมูลตามท้องถิ่นปัจจุบัน จำนวนครัวเรือนมีทั้งหมด 31 ครัวเรือน (ข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้าน) จำนวนประชากร 110 คน (ข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้าน) ในชุมชนจะมีกลุ่มคนพื้นเมืองมากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มชาติพันธ์ระเหรี่ยงสะกอ หรือปกาเกอะญอที่เข้ามาอยู่อาศัยจากการผ่านการแต่งงานกับคนในชุมชนแล้วจึงย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชน
ไทยวน, ปกาเกอะญออาชีพหลัก : ชาวบ้านทำเกษตรกรรมแบบไร่เชิงเดี่ยวและไร่หมุนเวียนได้แก่ ปลูกข้าวไร่ ข้าวนา กระเทียม มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มะเขือม่วง แตงกวา นอกจากนี้ ยังรับจ้างเป็นแรงงานเกษตรกรรมภายในและภายนอกชุมชนในช่วงฤดูเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว
อาชีพรอง : ชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงสัตว์และรับจ้างทั่วไป
ผลิตภัณฑ์ชุมชน : ภายในชุมชนมีการผลิตน้ำสตรอว์เบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง ไวน์ แยมสตรอว์เบอร์รี่ เก๊กฮวยอบแห้ง และหญ้าหวานอบแห้ง ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเกษตร
อาชีพเสริม : ชาวบ้านนิยมหาของป่า (เช่น หน่อไม้ เห็ด) หาสัตว์ตามลำน้ำ (เช่น ปลา ปู) เป็นอาชีพเสริม
การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน : ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ผักสด ผ่านร้านขายของชำในชุมชนที่มีเจ้าของเป็นคนในชุมชนที่นำสินค้าจากภายนอกมาจำหน่ายให้แก่คนในชุมชน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก : ส่วนใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น มะเขือม่วง แตงกวา ข้าวโพด หรือในบางช่วงที่มีสินค้าชนิดอื่น เช่น เห็ดเผาะ (มีราคาตามช่วงฤดูกาล) เห็ดโคน หน่อไม้ป่า กล้วย และซื้อสินค้าจากรถกับข้าวที่เข้ามาในชุมชนหรือตลาดนัดรอบนอกชุมชน
การออกไปทำงานนอกชุมชน : ชาวบ้านรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ถอนกระเทียม เกี่ยวข้าว โดยนิยมรับจ้างทำงานไม่ไกลจากหมู่บ้านมาก มีการทำงานนอกชุมชนในลักษณะงานประจำเป็นส่วนน้อย (ส่วนใหญ่เป็นคนที่เรียนจบและไปหางานทำข้างนอก ตั้งหลักสร้างครอบครัวใหม่)
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน : สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่มครอบครัว โดยส่วนใหญ่หลัก ๆ จะมีนามสกุล โปธา และอุตะมะติง
โครงสร้างอำนาจภายในชุมชน : ตามโครงสร้างการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาบ) ส่วนภายในชุมชนในการทำโครงการต่าง ๆ จากภายนอกและงานขับเคลื่อนชุมชน โดยมีนายวิมิตร พุทธโส ผู้ใหญ่บ้าน และนายศักดา ยะมะโน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นแกนนำในการทำกิจกรรมพัฒนาต่าง ๆ
การรวมกลุ่ม : ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันตามครอบครัวและกลุ่มที่สนิทกันหรือมีช่วงวัยเดียวกัน เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ช่วยกันถือแรงในกลุ่มตัวเอง กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีการรวมกลุ่มแบบเป็นทางการ คือ กลุ่มแกนนำชุมชนที่ทำงานชุมชนด้านต่าง ๆ ซึ่งมีหัวหน้าแกนนำคือผู้ใหญ่บ้านโดยมีสมาชิกคือกลุ่มผู้ชายที่สามารถใช้แรงงานได้ มีกิจกรรมคือพัฒนาฝาย พัฒนาแหล่งน้ำ ตัดหญ้า พัฒนาชุมชน กลุ่มแม่บ้าน ซึ่งมีหัวหน้าแม่บ้านคือนางสาวสุภาพร โปธา มีสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่วัยกลางคน หรือแม่บ้าน รวมตัวกันเพื่อประชุมประจำเดือนในการทำกิจกรรมซ้อมรำในงานต่าง ๆ ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการส่วนมาก จะเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อหากิจกรรมทำยามว่างทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ เช่น กลุ่มผู้ชาย กลุ่มผู้หญิง ในการทำกิจกรรมสังสรรค์ร่วมกัน
รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน: ในช่วงที่มีการทำเกษตรกรรม สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการทำงานในไร่ เช่น การปลูก การตัดหญ้า พ่นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเคมี หรือการถอนหญ้าในไร่ข้าวหรือไร่ผัก ช่วงเก็บเกี่ยวจะมีทั้งการจ้างสมาชิกในชุมชนให้ไปช่วยกันเก็บเกี่ยวหรือทางชุมชนเรียกว่าเอามื้อ (เป็นการช่วยกันโดยแลกเปลี่ยนการใช้แรง เช่นนายดำไปช่วยนายแดง ต่อไปนายแดงก็ไปช่วยนายดำ) หรือจ้างงานในบางส่วนที่ไม่ต้องการเอามื้อ
ในอดีตนั้นหากว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมจะมีการสานผ้าทอ การสานอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ตะกร้า และของใช้ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันช่วงว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม สมาชิกชุมชนบางคนจะทำการรับจ้างทั่วไป เช่นภายในหมู่บ้านมีโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน ประชาชนบางส่วนก็ได้เข้าไปทำการรับจ้างในโรงงาน สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน มีงานทำในไร่ตลอด หากหมดช่วงฤดูทำไร่หมุนเวียน หรือไร่ข้าวก็จะไปทำงานในฝั่งไร่เชิงเดี่ยว เช่น ถอนกระเทียม ถอนหญ้า เก็บมะเขือม่วง แตงกวา
ส่วนเด็กและเยาวชนจะใช้เวลาระหว่างวันไปกับการเรียนในโรงเรียนภายนอกชุมชน (ระบบเวลาเดียวกันกับโรงเรียนทั่วไป) เด็กเล็กจะอยู่ในชุมชนถัดไปที่มีศูนย์ดูแลรับเลี้ยงเด็กเล็ก ช่วงเลิกเรียนจะกลับมายังหมู่บ้านและรวมตัวเล่นกัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับครอบครัว ที่ออกไปเรียนไกลจากชุมชนจะนอนหอพักใกล้กับโรงเรียน และจะกลับบ้านแค่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดยาว ถ้าระดับอุดมศึกษาจะออกจากบ้านไปเรียนนานกว่าปกติ กลับบ้านหนึ่งครั้งต่อเดือน
การพักผ่อนและงานอดิเรก: เวลาพักผ่อนมักจะรวมตัวกัน พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ตามแต่ละโอกาส เช่น ประชุมความเป็นไปในหมู่บ้าน ประชุมจัดเตรียมงาน หรือรวมตัวกันจัดการวิสาหกิจชุมชน การรวมตัวของวิสาหกิจคนเลี้ยงวัว หรือบางคนก็จะมารวมตัวกันที่ศูนย์การเรียนรู้ หรือตามบ้านที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือไปมาหาสู่กันตามบ้านต่าง ๆ
พฤติกรรมการกินอยู่ การทำงาน การแต่งกาย: อาหารส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในชุมชน เช่น ผักพื้นบ้านที่ได้จากละแวกบ้านและในไร่ ของป่าตามฤดูกาล ข้าว ส่วนเนื้อสัตว์และผักภายนอกซื้อจากรถกับข้าว และร้านขายของชำที่จะรับสินค้าจากข้างนอกเข้ามาขาย เช่น เนื้อหมู ไก่ ไส้กรอก ลูกชิ้น เต้าหู้หลอด ไข่ไก่ ส่วนเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น น้ำปลา น้ำตาล พริกป่น ซีอิ๊ว น้ำมันพืช จะซื้อจากร้านขายของชำเป็นหลัก หรือหากได้ออกไปในตัวเมืองจะซื้อของกินของใช้มาตุนไว้เนื่องจากไกลจากตัวเมืองพอสมควร
การทำงานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมทั้งในพื้นที่ของตัวเอง และพื้นที่ที่เป็นของสมาชิกชุมชน รวมถึงการออกไปรับจ้างทำงานภายนอกชุมชนในบางช่วงเวลา
ในส่วนของการแต่งกาย เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะแต่งกายทั่วไป แต่หากมีการทำเกษตรกรรมจะนุ่งกางเกงขายาว เสื้อแขนยาวที่นิยมเรียกกันว่า “เสื้อแถมปุ๋ยยา” และ เสื้อตัดอ้อย ใส่หมวกคลุม ส่วนในช่วงพิธีกรรมจะแต่งกายด้วยชุดตามประเพณี ตามกาลเทศะความเหมาะสม
ปฏิทินกิจกรรมของชุมชน: ในรอบ 1 ปี ได้ปรากฏกิจกรรมของชุมชนบ้านหาดส้มป่อย 2 รูปแบบ ดังนี้
1. กิจกรรมตามความเชื่อศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรมของชุมชนบ้านหาดส้มป่อยต่าง ๆ ดังนี้
การเลี้ยงดง เลี้ยงผีเจ้าบ้าน: เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวชุมชนบ้านหาดส้มป่อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะมีการทำพิธีในเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงประเพณีเดือน 9 ของคนภาคเหนือ มีผู้นำจิตวิญญาณในฐานะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน ซึ่งประเพณีเลี้ยงดงหรือเลี้ยงผีเจ้าบ้านนั้นจะปรากฏในทุก ๆ ปี โดยมีการประกอบพิธีกรรมโดยใช้หมูดำพื้นเมือง 1 ตัว ข้าวปลาอาหารแห้ง จุดธูปและบอกกล่าวกับผีเจ้าบ้านให้มารับเครื่องถวาย เป็นการกล่าวขออภัยในสิ่งที่อาจล่วงเกิน ซึ่งพิธีกรรมนี้ส่งผลต่อความเชื่อของชาวชุนชนบ้านหาดส้มป่อยว่าผีเจ้าบ้านจะสามารถปกปักรักษาชาวชุมชนให้มีความปลอดภัย เจริญรุ่งเรืองในการทำกิจต่าง ๆ
2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนบ้านหาดส้มป่อยต่าง ๆ ดังนี้
2.1 การรวมตัวกันหาอึ่ง: ช่วงหลังฝนตกหนักจะมีอึ่งออกมาเดินทั่วไปในพื้นที่ชุมชน สมาชิกชุมชนจะออกไปหาจับอึ่งเพื่อนำมารับประทาน หรือขายให้กับคนในชุมชนที่ไม่ได้ออกไปหา
2.2 การจับปลาหน้าฝน: เป็นการจับปลาเพื่อนำมารับประทานในครัวเรือน มีทั้งที่หาจากแหล่งน้ำในชุมชน ลำห้วยในชุมชน อ่างเก็บน้ำในบ่อชุมชน
2.3 การเกี่ยวข้าว: เป็นการรวมตัวกันเกี่ยวข้าวโดยการเอามื้อ หรือการจ้างสมาชิกในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นการถือแรงในครอบครัว
2.4 การถอนกระเทียม: เป็นการรวมตัวโดยมีการเอามื้อ ช่วยกันในช่วงฤดูถอนกระเทียม และมีการจ้างสมาชิกบางส่วนที่ไม่ได้ปลูกกระเทียม แต่ต้องการช่วย
2.5 การจัดกิจกรรมสังสรรค์ให้กับเด็กในชุมชน: มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลให้กับเด็กในชุมชน เช่น กิจกรรมแลกของขวัญในเทศกาลขึ้นปีใหม่ทุก ๆ ปี กิจกรรมเลี้ยงอาหาร กิจกรรมแจกอุปกรณ์การเรียน
ทุนกายภาพ : ชุมชนบ้านหาดส้มป่อยมีทุนทางภายภาพที่ชัดเจนเห็นได้ชัดได้แก่ภูเขา ป่าไม้แม่น้ำ ต้นไม้ ซึ่งภายในชุมชนนั้นมีขอบเขต 5,159.01 ไร่ พื้นที่สีเขียว 4,129.57 ไร่ (ป่าต้นน้ำ/ป่าอนุรักษ์ 179.6 ไร่) จะเห็นได้ว่าเขตพื้นที่บริเวณโดยรอบชุมชนนั้นเป็นป่าไม้ ภูเขาเป็นส่วนมาก มีลักษณะทางกายภาพที่ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าและภูเขา
ทุนมนุษย์ : ชุมชนบ้านหาดส้มป่อยบ้าน นับถือ “เจ้าอาวาส” ซึ่งเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวัดทางจิตวิญญาณในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำบุญ ประเพณีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการทำบุญปีละครั้งนอกจากนี้เจ้าวัดยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการนำพาทำพิธีกรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวชุมชนบ้านหาดส้มป่อย ปัจจุบันชุมชนนี้ก็ยังคงรักษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
ในชุมชนมีการใช้ภาษาหลัก 2 ภาษา คือ
- ภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ เป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชุมชน ซึ่งภาษาพื้นเมืองภาคเหนือนั้นมีการใช้งานที่มีความคล้ายกับภาษาทั่วไปอยู่แล้วใช้อ่านเขียนได้เหมือนกับภาษากลางทั่วไป
- ภาษากะเหรี่ยง เป็นภาษาที่เพิ่มเข้ามาจากสะใภ้ชาวกะเหรี่ยงสะกอหรือปกาเกอะญอที่เข้ามาแต่งงานกับคนในชุมชน ซึ่งถือว่ามีสะใภ้ที่แต่งงานเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหาดส้มป่อยมีจำนวนมากพอสมควร
กลุ่มทางวิสาหกิจชุมชน : เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการทำวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจของชุมชนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านหาดส้มป่อยเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นการรวมตัวเพื่อจัดทำสินค้าและจำหน่ายได้แก่ ไวน์ สตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง น้ำสตรอว์เบอร์รี่ แยมสตรอว์เบอร์รี่ แยมมัลเบอรี่ น้ำเสาวรส และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือบ้านหาดส้มป่อย เป็นการรวมตัวของผู้เลี้ยงวัวในชุมชนบ้านหาดส้มป่อย ซึ่งทั้งสองส่วนนั้นเป็นการรวมตัวกันเพื่อประกอบกิจการวิสาหกิจของชุมชน
ปัญหาด้านสาธารณูปโภค ในเรื่องของน้ำประปาที่ใช้ภายในชุมชนบ้านหาดส้มป่อย น้ำประปาที่ใช้ภายในชุมชนไม่เพียงพอเนื่องจากประชากรในชุมชนนั้นมีจำนวนมากขึ้น เด็กเกิดมากขึ้นแต่จำนวนครัวเรือนนั้นเท่าเดิม ส่งผลทำให้ทำใช้หรือน้ำประปานั้นไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต แนวทางการแก้ไขของหมู่บ้านหาดส้มป่อย คือ การแก้ไขปัญหาไปตามสถานการณ์โดยหน้าแล้งมีการเปิดปิดน้ำประปาให้ใช้ในเวลาที่กำหนด
ปัญหาด้านสาธารณสุขนั้นเกิดในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงของการแพร่ระบาดที่น่ากลัว ชาวบ้านนั้นจึงเกิดปัญหาความหวาดระแวงและความกลัวที่จะติดโรคระบาด จึงมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบภายในหมู่บ้านคือการเดินทางออกนอกหมู่บ้าน การกักตัวหลังจากออกนอกหมู่บ้าน และการตรวจสอบบุคคลที่เข้ามาแวะเวียนในหมู่บ้าน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เป็นชาวชุมชนในหมู่บ้านหาดส้มป่อยในการรักษาความปลอดภัยในการตรวจตราคนเข้ามาในหมู่บ้าน การตั้งด่านตรวจอุณหภูมิ ล้างเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งชาวบ้านมีการให้ความร่วมมือร่วมกันเป็นอย่างมากในการดูแลตัวเองและสอดส่องผู้ที่เข้ามา ไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มอยู่ใครอยู่มัน ป้องกันตัวเอง
กลุ่มทางศาสนา : เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อด้านศาสนาพุทธ และมีความเชื่อในการประกอบพิธีต่าง ๆ โดยมีการรวมกลุ่มในช่วงเวลาที่สำคัญของทางชุมชน โดยมีการรวมตัวกันประกอบพิธี โดยมีผู้นำจิตวิญญาณหรือเจ้าอาวาสในการประกอบพิธีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับพิธีนั้น ๆ มีการกราบไหว้พระธาตุม่อนเปี๊ยะและมีการบูชานับถือพระธาตุม่อนเปี๊ยะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
โครงการศึกษาการพัฒนาชุมชนโครงการหลวงเพื่อเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ระยะที่ 2 บ้านหาดส้มป่อย จัดทำโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนงานโครงการการศึกษาการพัฒนาชุมชนโครงการหลวงเพื่อเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ระยะที่ 2 บ้านหาดส้มป่อย ประกอบด้วย
ชื่อ - สกุล | ตำแหน่ง |
1. นายวิมิตร พุทธโส | ประธาน |
2. นายสุวิทย์ พุทธโส | รองประธาน |
3. นายเจริญ โปธา | เหรัญญิก |
4. นายศักดา ยะมะโน | เลขานุการ |
5. นายมานิตย์ ปันก้อน | กรรมการงานพัฒนาการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |
6. นายบุญมา สิงห์ทอน | กรรมการงานพัฒนาการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ |
7. นางวัชราภรณ์ ปันก้อน | กรรมการงานพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย |
8. นายรส มีแรง | กรรมการงานพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน |
9. นายวิมิตร พุทธโส | กรรมการงานพัฒนาการลดและเก็บกักก๊าซเรือนกระจก |
มีรายละเอียดโครงการตามมิติต่าง ๆ ดังนี้
มิติที่ 1 การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
1.1 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการเพาะปลูกพืช: เกษตรกรสมาชิกโครงการหลวงที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP ผัก 7 ราย เช่น ข้าวโพดหวาน ผักกาดขาวปลี มันเทศญี่ปุ่น
1.2 การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน: เกษตรกรมีการทำกิจกรรมด้านการทำปุ๋ยหมัก
1.3 รูปแบบที่เหมาะสมในการใช้น้ำเพื่อการเกษตร: เกษตรกรมีการใช้อย่างประหยัด เช่น สปริงเกอร์
1.4 การรักษาคุณภาพน้ำ: ชุมชนได้รับการตรวจคุณภาพแหล่งน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ประเภทที่ 3 พ.ศ. 2537 ได้แก่ ห้วยแม่ขาน จำนวน 2 ตัวอย่าง ห้วยแม่โต๋จำนวน 2 ตัวอย่าง รวม 4 ตัวอย่างเก็บที่ผ่านมาตรฐานคุณภาพผิวดิน คิดเป็นร้อยละ 100 ของตัวอย่างพื้นที่ทั้งหมด
1.5 ระบบการเลี้ยงสัตว์ดีที่เหมาะสมบนพื้นที่สูง (GAP): เกษตรกรรมสมาชิกโครงการหลวงกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับรองการเลี้ยงสัตว์ที่ดีเหมาะสมบนพื้นที่สูงประกอบด้วย สัตว์ปีก 7 ราย และ โค 5 ราย ดำเนินกิจกรรม ฉีดวัคซีน สัตว์เลี้ยง โค-กระบือ ซ่อมแซมบ่อแก๊สชีวภาพ อบกรมให้ความรู้การจัดการ การผลิตสัตว์
มิติที่ 2 การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้
2.1 การปลูกป่าชาวบ้าน: ส่งเสริมให้ชุมชนมีการปลูกป่าชาวบ้าน ตามแผนปฏิบัติของชุมชน เพื่อนำมาใช้รูปประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ปลูกป่าชาวบ้านจำนวน 4.85 ไร่ 2,150 ต้น แบ่งเป็นจันทร์ทองเทศ 1,300 ต้น 5 ราย มะขามป้อม 100 ต้น 2 ราย ไผ่หวานอ่างขาง 25 ต้น 5 ราย ไผ่หยก 25 ต้น 5 ราย สัก 300 ต้น 1 ราย พยุง 400 ต้น 3 ราย
2.2 การกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร: โดยมีการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ โดยการประชุมจัดทำร่างแผนที่ตรวจสอบความถูกต้อง ได้แผนพื้นที่ป่า 4,125.29 ไร่ และชุมชนดูแล-แก้ไขปัญหาบุกรุก
2.3 การฟื้นฟูและการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ: ดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูล (พืชท้องถิ่น/พืชหายาก/พืชใกล้สูญหายไปจากชุมชน) สำรวจพืชอาหารท้องถิ่น ในพื้นที่ และคัดเลือกพืชตัวแทน 30 ชนิด พร้อมทั้งแจกต้นกล้า พืชอาหารท้องถิ่น หายากจำนวน 5 ชนิด 250 ต้น
2.4 การปลูกไม้ริมถนนในชุมชน และ/หรือในพื้นที่สาธารณะของชุมชน (Green space/Public space) และการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ:
- ปลูกต้นไม้ริมถนนทางเข้าพระธาตุม่อนเปี๊ยะ รวมระยะทางประมาณ 650 เมตร พิกัดที่ x=459381 y=2087070
- ปลูกต้นไม้เสริมบริเวณพระธาตุม่อนเปี๊ยะ พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ พิกัดที่ x=459180 y=2086746
- ปลูกต้นไม่เสริมบริเวณป่าต้นน้ำบ้านหาดส้มป่อย พื้นที่ประมาณ 15 ไร่ พิกัดที่ x=458951 y=2086091 พันธุ์ไม้ที่ใช้ปลูก ได้แก่ การบูร จันทร์ทองเทศ ไม้สัก ยางนา เหลืองปรีดียาธร ราชพฤกษ์ ขนุน หว้า มะขาม และเหลืองอินเดีย จำนวน 1,000 ต้น
2.5 การทำแนวกันไฟป่า พื้นที่ ป่าต้นน้ำหมู่บ้าน: ทำแนวป้องกันไฟป่าบริเวณป่าต้นน้ำชุมชน ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร
มิติที่ 3 การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน
3.1 การมีสุขอนามัยที่ดี:
- ครัวเรือนสมาชิกบ้านหาดส้มป่อย มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีทุกครัวเรือน จำนวน 31 ครัวเรือน
- ครัวเรือนสมาชิกบ้านหาดส้มป่อย ได้รับการตรวจรับรอง เรื่องสุขลักษณะในบ้านเรือนที่ดี จำนวน 31 ครัวเรือน
- บ้านหาดส้มป่อยได้รับการรับรอง เรื่องคุณภาพแหล่งน้ำสำคัญที่ชุมชนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ผ่านเกณฑ์รับรองคุณภาพน้ำจำนวน 1 ตัวอย่าง ไม่ผ่านจำนวน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทางชุมชนได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการล้างถังเก็บน้ำแล้ว
3.2 การจัดการของเสียที่เกิดขึ้นในชุมชน/ครัวเรือน:
- บ้านหาดส้มป่อยมีการจัดการขยะครัวเรือนโดยการคัดแยกขยะในครัวเรือน และมีการกำจัดขยะด้วยการฝังกลบและมีการนำขยะไปใช้ประโยชน์ เช่น ขยะรีไซเคิลบางชนิด สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ และบางส่วนที่คัดแยกไว้นำไปขายที่โครงการธนาคารขยะชุมชน เป็นต้น
- บ้านหาดส้มป่อยมีขั้นตอนการจัดการขยะที่เหมาะสมตามหลักสุขาภิบาล
- บ้านหาดส้มป่อยมีขั้นตอนการจัดการน้ำทิ้งในครัวเรือนโดยการสร้างบ่อพักน้ำการดักไขมัน และคุณภาพน้ำทิ้งครัวเรือน ก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำผิวดินมีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้ง
3.3 การจัดการกับสิ่งปฏิกูลและน้ำเสียจากสัตว์เลี้ยง:
- บ้านหาดส้มป่อยมีการใช้ประโยชน์สิ่งปฏิกูลจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยการนำมาทำปุ๋ย นำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการทำแก๊สชีวภาพ
มิติที่ 4 ความเข้มแข็งของชุมชนในการรับรองการเปลี่ยนแปลง
4.1 การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติ:
- ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มออมทรัพย์แม่บ้านหาดส้มป่อย สมาชิก 34 ราย
- จัดโครงการอบรมให้ความรู้ เรื่องการบริหารจัดการกลุ่มแก่เกษตรกรบ้านหาดส้มป่อย
- จัดอบรมแนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งชุมชนบนพื้นที่ราบสูง เป็นกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวาน ดอกเก๊กฮวย
- จัดโครงการศึกษาดูงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกรและผู้นำชุมชนบ้านหาดส้มป่อย จำนวน 20 คน ณ บ้านห้วยน้ำกืน ต.แม่เจดีย์ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
4.2 แผนชุมชน:
- จัดประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชน
- กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน
- จัดทำร่างแผนการพัฒนา ผู้รับผิดชอบ และหน่วยงานสนับสนุน
- ชุมชนร่วมกันพิจารณาและปรับปรุงแผน
- ได้แผนการพัฒนาชุมชนบ้านหาดส้มป่อย
4.3 การเป็นองค์กรชุมชนเข้มแข็ง:
- มีคณะกรรมการและกำหนดหน้าที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนแต่ละด้าน
- มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนงานและดำเนินงานตามแผนการพัฒนาชุมชน
4.4 การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้:
- การทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผัก ไม้ผล รวมกว่า 40 ชนิด หมุนเวียนตามฤดูกาล
- การทำปุ๋ยหมัก
- การใช้สารชีวภัณฑ์
4.5 หมู่บ้านเข้มแข็งต่อต้านยาเสพติด:
- จัดประชุมเพื่อกำหนดแผนกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวังการระบาดของยาเสพติด
- จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องเสพติด และการตรวจคัดกรองกลุ่มที่กำหนด พบว่า ไม่พบสารเสพติด
มิติที่ 5 การลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
5.1 การลดใช้พลังงานไฟฟ้า:
- เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดพอเหมาะกับครอบครัว/ใช้ประหยัดไฟเบอร์ 5
- ใช้หลอดรุ่นประหยัดไฟและปิดสวิตช์ไฟทุกครั้งหลังการใช้งาน
5.2 การใช้พลังงานทดแทน:
- ใช้พลังงานทดแทนจากแก๊สมูลสัตว์
- ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้แสงสว่าง
- ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการปั๊มน้ำ
- ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการตากหญ้าหวาน ดอกเก๊กฮวย
5.3 การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง:
1) น้ำมันเชื้อเพลิง
- เดินทางระยะใกล้ใช้จักรยานหรือเดิน
- ไปทางเดียวกันใช้รถคันเดียวกัน
- หมั่นตรวจสอบสภาพรถและซ่อมบำรุง
- ใช้น้ำมันไบโอดีเซล
2) สารเคมี
- ใช้สารเคมีตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
- ใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี
- ใช้กับดักล่อศัตรูพืชทดแทนสารเคมี
- เลือกใช้วัสดุ/ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
- ไม่เผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร
5.4 พื้นที่สีเขียว: ขอบเขตหมู่บ้าน 5,159.01 ไร่ พื้นที่สีเขียว 4,129.57 ไร่ (ป่าต้นน้ำ/ป่าอนุรักษ์ 179.6 ไร่)
ข้อมูลวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายชุมชน. (2553). กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านหาดส้มป่อย. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://smce.doae.go.th/
โครงการหลวง. (2555). ชุมชนคาร์บอนต่ำโครงการหลวง. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.royalprojectthailand.com/
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). หมู่บ้านหาดส้มป่อย. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สาบ. (2557). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://maesab.go.th/
อนันต์ อุตะมะติง, สัมภาษณ์, 11 กุมภาพันธ์ 2566.