
ป่าไม้สมบูรณ์ เป็นแหล่งหาเห็ดโคน มีวัดบ่อเก่าบน เป็นแหล่งรวมศรัทธา และประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา วัดสงบร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีศาลากลางน้ำและโบสถ์ที่สวยงาม
ในพื้นที่เป็นบ่อแร่เก่า จำนวนหลายบ่อ จึงบอกกันว่าสถานที่ตรงนี้ น่าเรียกชื่อว่า “โบ่ หรือโบโกล” ต่อมาคนรุ่นหลังได้เปลี่ยนชื่อ โบ่ เป็นบ่อ และเรียกกันติดปากว่า “บ่อเก่า”
ป่าไม้สมบูรณ์ เป็นแหล่งหาเห็ดโคน มีวัดบ่อเก่าบน เป็นแหล่งรวมศรัทธา และประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา วัดสงบร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีศาลากลางน้ำและโบสถ์ที่สวยงาม
เดิมบ้านบ่อเก่าบน หมู่ที่ 7 ตำบลตะนาวศรี เป็นพื้นที่ขึ้นอยู่กับหมู่ 2 บ้านท่ามะขาม ตำบลตะนาวศรี เหตุผลที่แยกตัวออกมาก็เพราะการปกครอง การพัฒนาเป็นไปด้วยความลำบาก หมู่บ้านท่ามะขาม ห่างจากหมู่บ้านบ่อเก่าบนในปัจจุบันถึง 6 กิโลเมตร และเส้นทางการเดินทางติดต่อก็ลำบาก เมื่อก่อนยังไม่มีถนนตัดผ่านข้ามลำภาชีไปบ้านบ่อเก่าบน และผู้ใหญ่บ้านท่ามะขามต้องดูแลถึง 3 กลุ่มบ้าน คือ บ้านท่ามะขาม บ้านท่ากุลา และบ้านบ่อเก่าบน จึงได้แยกออกมาตั้งเป็นหมู่ 7 บ้านบ่อเก่าบน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 โดยมีผู้ใหญ่สมชาย ตาคู้ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และคนที่ 2 หรือคนปัจจุบัน คือ นายสมคิด บุญเลิศ
พื้นที่บริเวณหมู่บ้านบ่อเก่าบนดั้งเดิมเป็นป่าใหญ่ เป็นป่าหนาทึบที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วย ชื่อห้วยบ่อเก่าบนไหลผ่าน ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อพยพเข้ามาทำมาหากินมาจากบ้านท่ามะขาม เข้ามาทำไร่ปลูกข้าว และที่มาของชื่อ “บ่อเก่า” ที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ จากการบอกเล่าของคนรุ่นเก่าที่เข้ามาอยู่ เล่าว่าสมัยผู้ใหญ่บ้าน ชื่อนายเขียว คงติ๊ก (ผู้ใหญ่บ้านท่ามะขาม) เข้ามาสำรวจพื้นที่ทำมาหากินของราษฎร จึงได้พบว่าพื้นที่ตรงนี่เป็นบ่อลึกคล้ายๆ มีคนเจาะโบ๋ และพบว่าเป็นบ่อแร่เก่าจำนวนหลายบ่อ จึงบอกกับลูกบ้านว่า “โบ่” (เหมือนแร่)
ต่อมาคนรุ่นหลังได้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “โบ่ เป็น บ่อ” และเรียกชื่อหมู่บ้านว่าโบโกล หรือ บ่อเก่า อีกหลายสิบปีต่อมาได้มีนายทุนทำเหมืองแร่ได้เข้ามาเปิดสัมปทานเหมือนแร่ดีบุก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เหมืองคุณนายสุนทรี” มีการบุกเบิกและขุดบ่อแร่จนถึงชั้นกระสะ เพื่อนำแร่ดีบุกขึ้นมาเป็นบ่อกว้างเมื่อหมดสัมปทาน จึงปล่อยให้เป็นเหมืองร้างมีน้ำขังในบ่อเป็นบ่อใหญ่ เมื่อคนที่เข้าไปบุกเบิกทำไร่ในบริเวณนั้นก็จึงเรียกชื่อว่า “บ้านบ่อเก่า”พร้อมๆ กับชาวบ้านเข้ามาทำไร่ เมื่อหมดสัญญาสัมปทานเหมืองแร่ยกเลิกจนถึงปัจจุบัน
ช่วงก่อน พ.ศ. 2520 บ้านบ่อเก่าบน ยังไม่มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้จึงเป็นป่าหนาทึบอุดมสมบูรณ์มีลำน้ำภาชีไหลผ่าน สัตว์ป่าชุกชุม โดยมีทั้งมีป่าไม้รวก ป่าไม้ไผ่ขึ้นหนาแน่น ในบริเวณริมห้วยมีสัตว์ปีกจำพวกนก และแมลงหลากหลายพันธุ์ ที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ แต่ในช่วง 10 ปีหลังความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลงจากฝีมือมนุษย์
หมู่บ้านบ่อเก่าบน มีพื้นที่ของหมู่บ้าน มีจำนวน 62.90 กิโลเมตร หรือ 39,312.5 ไร่ ห่างจากอำเภอสวนผึ้งประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดราชบุรี 59 กิโลเมตร สภาพเส้นทางคมนาคม มีถนนลาดยางจากอำเภอสวนผึ้งถึงบ้านบ่อเก่าตลอดสาย การเดินทางมีรถโดยสารประจำทางผ่านหน้าอำเภอสวนผึ้ง สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลได้ตลอด และมีอาณาเขตติดต่อกัน ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 2 ตำบลตะนาวศรี จ.ราชบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยน้ำหนัก หมู่ที่ 6 ตำบลตะนาวศรี จ.ราชบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสวนผึ้ง หมู่ที่ 1 ตำบลตะนาวศรี จ.ราชบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบ่อหวี หมู่ที่ 4 ตำบลตะนาวศรี จ.ราชบุรี
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบทั้งหมู่บ้าน ลักษณะดินปนทรายและมีทางสัญจรเข้า ออกได้ทางเดียว
สถานที่สำคัญในชุมชน
- ศาลเจ้าพ่อบ่อเก่า เป็นศาลที่ชาวบ้านบริเวณนี้นับถือสืบต่อกันมา ศาลมีอายุ 100 กว่าปี ด้านหลังศาล มีต้นไม้ใหญ่ขนาดลำต้น 8 คนโอบ ชุมชนจะมีการทำพิธีไหว้ศาลเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน 6 โดยจะมีผู้นำชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้ทำพิธีกรรม และชาวบ้านจะนำของไหว้ต่างๆ มารวมกันเพื่อทำพิธี
- สำนักสงฆ์บ่อเก่าบน เป็นสำนักสงฆ์ที่มีพระอาจารย์ปั่น ทิตะสาโร บุกเบิกก่อตั้งขึ้น เริ่มจากพระอาจารย์เข้ามาธุดงค์ในพื้นที่บ้านบ่อเก่าบน เมื่อปี พ.ศ. 2542 เห็นว่าเป็นสถานที่สงบร่มรื่น และในพื้นที่หมู่บ้านนี้ไม่มีวัดตั้งอยู่ จึงก่อตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่เงียบสงบ มีต้นไม้ร่มรื่น มีศาลากลางน้ำที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่
บ้านบ่อเก่าบน เป็นหมู่บ้านที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ โดยแยกมาจากบ้านท่ามะขาม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยงที่อยู่มานานดั้งเดิมตั้งแต่ยังเป็นกลุ่มบ้านหนึ่งของบ้านท่ามะขาม คิดเป็นเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่ง ร้อยละ 95 รองลงมาเป็นคนไทย คิดเป็นร้อยละ 5% โดยคนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน
ข้อมูลประชากร บ้านบ่อเก่าบน หมู่ 7 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีจำนวนครัวเรือน จำนวน 75 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 276 คน แบ่งเป็นประชากร ชาย 136 คน หญิง 140 คน
- สัญชาติไทย ชาย 135 คน หญิง 138 คน รวม 273 คน
- มิใช่สัญชาติไทย หรือบุคคลพื้นที่สูง ชาย 1 คน หญิง 2 คน รวม 3 คน (ข้อมูลสำนักงานสถิติจังหวัดราชบุรี ณ กรกฎาคม 2566)
โพล่ง
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ชาวบ้านจะมีรายได้จากการหาเห็ดโคนที่ขึ้นในป่าไปขาย และเลี้ยงแพะ ปลูกมันสำปะหลัง ฟักทอง แตง ข้าวโพด ถั่ว เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเหมืองแร่เก่า ไม่มีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และชุมชนยังประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี ในหมู่บ้านยังขาดการพัฒนาในหลายด้านทั้งเรื่องการคมนาคม สัญญาณโทรศัพท์ เกษตรกรรม ส่งเสริมอาชีพ และไม่มีสถานศึกษาตั้งอยู่ในชุมชน โดยชุมชนมีการรวมกลุ่มแบบเป็นทางการ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่มอสม. กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน และกลุ่มไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มดับไฟป่า
วิถีวัฒนธรรม
- ทำบุญศาลเจ้าพ่อบ่อเก่าบน พิธีไหว้ศาลจะจัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน 6 ชาวบ้าน เป็นศาลที่ชาวชุมชนเคารพนับถือ ให้ความสำคัญเป็นที่พึ่งทางใจมักจะมาบนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ตนเองสมหวังในเรื่องต่างๆ ผู้ทำพิธีจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่เชื้อสายกะเกรี่ยงในชุมชน นำชาวบ้านทำพิธีไหว้บอกกล่าวให้เจ้าพ่อคุ้มครองปกปักรักษาให้คนในหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข
- ทำบุญกลางบ้าน หรือบุญกลางหมู่บ้าน จะทำในช่วงเดือน 6 ของทุกปี ที่บริเวณศาลาประชาคมของหมู่บ้าน โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี มีการตักบาตร ถวายอาหารแก่พระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชุมชน
- ประเพณีผูกแขนเรียกขวัญ กินข้าวห่อ เป็นพิธีกรรมการเรียกขวัญตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 ของทุกปี ในช่วงราวๆ เดือนสิงหาคม - กันยายน และมีอาหารที่ใช้ในงานคือ ข้าวห่อ บางพื้นที่จึงเรียกว่า “งานกินข้าวห่อ” ซึ่งในหมู่บ้านแต่ละครอบครัวก็จะทำพิธีในครอบครัวตนเอง เพื่อเรียกขวัญให้กลับมาสู่ตัวลูกหลาน ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุข ความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน มีความรักสามัคคี ซึ่งผู้ทำพิธีกรรมเรียกขวัญจะเป็นผู้สูงอายุในครอบครัว และในบางปีก็จะมีการจัดร่วมกันในระดับหมู่บ้าน และมีการจัดแข่งกีฬาเพื่อต้านยาเสพติดไปพร้อมกันในงานนี้ด้วย
- วิถีทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาเห็ดโคนที่ขึ้นในป่าไปขาย และเลี้ยงสัตว์ ปลูกมันสำปะหลัง ฟักทอง แตง ข้าวโพด ถั่ว พืชที่ปลูกได้ในพื้นที่มีน้อย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเหมืองแร่เก่า ไม่มีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ อาศัยน้ำฝนในการเกษตร ประชากรวัยทำงานส่วนมากออกไปทำงานนอกชุมชน โดยผู้สูงอายุกับเด็กจะอยู่ในชุมชน
- ภัยธรรมชาติ ชาวบ้านบ้านบ่อเก่าบน ประสบกับภัยธรรมชาติ ได้แก่ ภัยแล้ง ไฟป่า และอุทกภัย โดยเฉพาะภัยแล้งกระทบต่อการดำรงชีวิตทุกด้านของชุมชน ชาวบ้านต้องซื้อน้ำจากภายนอกชุมชนมาใช้อุปโภค บริโภคในช่วงหน้าแล้งและหน้าหนาว จะมีน้ำใช้เฉพาะในช่วงหน้าฝน
1) นายบุญนัย พะลัง อายุ 83 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 7 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่างๆ เป็นหมอสมุนไพร ในชุมชนชาวบ้านให้การนับถือ มีความรู้ด้านการทำนาย เกี่ยวกับทางด้านผีสางและความเชื่อส่วนบุคคล
2) นายธดา กะพุก อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 7 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีความรู้เรื่องการตีผึ้ง เรียนรู้การตีผึ้งมาจากพ่อซึ่งอยู่ที่บ้านบางกะม่า อำเภอบ้านคา
3) นายสมคิด บุญเลิศ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ 7 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ใหญ่บ้านบ่อเก่าบน เริ่มเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2561 อยู่บ้านเลขที่ 208/1 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ใหญ่บ้านที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่ และเป็นผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรมและศาสนา ในชุมชน มีความสามารถในการประสานการดำเนินงานกับภาคส่วนต่างๆเพื่อพัฒนาชุมชน ดูแลปกครองหมู่บ้านให้มีสงบเรียบร้อย ชาวบ้านมีความรักความสามัคคีกันในชุมชน
อาหารชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชุมชนบ้านบ่อเก่าบนเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดั้งเดิม ที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านอาหารกันมาอย่างต่อเนื่อง ชุมชนยังมีการทำอาหารท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงรับประทานกันในครัวเรือน เช่น แกงข้าวคั่วใส่ไก่กับหยวกกล้วย แกงคั่วแห้งขมิ้น หลามบอน แกงดอกบอนใส่หมูยาง โดยส่วนใหญ่จะหาพืชผักในท้องถิ่นมาทำอาหารรับประทานเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ภาษาที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน ก็ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง และจะสื่อสารเป็นภาษากะเหรี่ยง ในครอบครัว เครือญาติในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเหมือนกัน โดยมักจะเป็นรุ่นกลางคน ผู้สูงอายุที่พูดคุยด้วยภาษากะเหรี่ยง เด็กและวัยรุ่นรู้ภาษากะเหรี่ยงเป็นบางคำ เป็นคำง่ายๆ ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน จะไม่อยากพูดภาษากะเหรี่ยงกับบุคคลภายนอกครอบครัว ทำให้คนที่พูดภาษากะเหรี่ยงได้ในชุมชนมีจำนวนน้อยลง
วันที่ 1 สิงหาคม 2543 ได้แยกออกมาการปกครองของบ้านท่ามะขาม หมู่ 2 ตำบลตะนาศรี มาตั้งเป็นหมู่ 7 บ้านบ่อเก่าบน พ.ศ. 2566 ปัจจุบันความเปลี่ยนทางสังคม มีเทคโนโลยีเข้าเอื้ออำนวยความสะดวกและมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม และระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ และการศึกษาสมัยใหม่ มีความเจริญเข้ามาในชุมชนบ้าง แต่ชุมชนก็ยังต้องการให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งปัจจัยพื้นฐานและการมีรายได้ในการดำรงชีวิต
1) วีระพงศ์ มีสถาน. (2550). ตนราชบุรี. จังหวัดราชบุรี : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี.
2) องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี. (2566). แผนพัฒนาท้องถิ่น(พ.ศ. 2566 – 2570)
3) องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (แผนการดำเนินงาน). จังหวัดราชบุรี : องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี
4) สัมภาษณ์บุคคล
นายสมคิด บุญเลิศ, สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566
นางนงนุช จิ้งหรีด, สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566
นายใส ทุบยอม, สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566
นายณรงค์ศักดิ์ อุ้งลึงค์, สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566
นางปราณี บุญเลิศ, สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566
นายถนอมศักดิ์ ช่อชวนชม , สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566
นายนิรันดร์ จิ้งหรีด, สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566
นายนายธาดา กะพุก, สัมภาษณ์, 17 ก.ค. 2566