Advance search

ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่ง ที่ศรัทธาในศาสนาคริสต์ ทั้งยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องของการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์

บ้านแหลมกระเจา
ลำลูกบัว
ดอนตูม
นครปฐม
โรงเรียนบ้านแหลมกระเจา โทร. 0-3438-1118
ปวีณา สุริยา
13 ม.ค. 2023
ปวีณา สุริยา
16 มี.ค. 2023
บ้านแหลมกระเจา


ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่ง ที่ศรัทธาในศาสนาคริสต์ ทั้งยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องของการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์

บ้านแหลมกระเจา
ลำลูกบัว
ดอนตูม
นครปฐม
73150
14.004947
100.096371
เทศบาลตำบลสามง่าม

คำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน นางโทน จันทร์ลัง ผู้เป็นหลานของบุคคลที่มาอยู่อาศัยอยู่ที่บ้านแหลมกะเจาเป็นคนแรก เล่าว่า เดิมชาวไทยโซ่งอยู่ที่เพชรบุรีแต่มีที่ทำกินไม่เพียงพอ และบางครอบครัวมีลูกมากทำให้ลำบาก จึงคิดจับจองที่ทำกินใหม่ โดยเริ่มอพยพมาจากหมู่ล้านทับคาง ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เดินทางอพยพโดยเกวียน ระหว่างทางเดินหาข้าวของเครื่องใช้มาด้วย ค่ำไหนนอนนั่น การเดินทางจึงใช้เวลาหลายวัน เมื่อเดินทางมาก็พักที่ดอนยอก่อน เนื่องจากดอนยอมีชาวไทยโซ่งที่เดินทางมาอยู่ก่อนเป็นญาติพี่น้องกัน การมาพักที่ดอนยอก็อาศัยอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นต้องเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ เพราะว่าที่ดอนยอมีคลองล้อมรอบชาวไทยโซ่งกลัวลูกตกน้ำ จึงพากันเดินทางหาที่ใหม่ซึ่งเป็นที่อยู่ปัจจุบัน และมีความเห็นว่าที่ตรงนี้ดีกว่าดอนยอเพราะไม่มีคลองล้อมรอบ

ชาวไทยโซ่งที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกมี 5 ครอบครัว เริ่มจับจองที่ดินเป็นของตัวเอง ต่อมาก็เริ่มมีครอบครัวอื่นอพยพตามมา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเพื่อปกครองดูแลหมู่บ้าน ซึ่งผู้ใหญ่คนแรกชื่อว่า นายหุ่น กระทั่งปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้าน 8 คน คนปัจจุบันมีชื่อว่า นายสะอาด ตรีอินทอง เมื่อมีการเลิกทาสแล้วได้มีการใช้นามสกุล นามสกุลที่ใช้กันมาก คือ ตรีอินทองเป็นนามสกุลที่มาจากผู้ใหญ่ กรี หลังจากผู้ใหญ่กรี เสียชีวิต ชาวไทยโซ่งในหมู่บ้านก็ใช้นามสกุลนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ลาวโซ่งที่อพยพมาใหม่ ไม่นิยมอยู่ร่วมกับคนไทย มักรวบรวมพรรคพวกตั้งหมู่บ้านของตนเองเป็นเอกเทศ มีการติดต่อทางสังคมกับคนไทยน้อยมาก แม้จะอยู่ในหมู่บ้านใกล้ ๆ กันก็ตาม แต่จะติดต่อสังสรรค์ใกล้ชิดไปมาหาสู่และแต่งงานในระหว่างพวกเดียวกันเองเป็นหลัก แม้จะอยู่ในหมู่บ้านที่ค่อนข้างห่างไกลกันก็ตาม ในแถบอำเภอกำแพงแสน ดอนตูม และบางเลน มีหมู่บ้านลาวโซ่งอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับบ้านแหลมกระเจา เช่น บ้านดอนยอ บ้านสระพัฒนา บ้านหัวถนน บ้านเกาะแรต บ้านไผ่หูช้าง เป็นต้น 

บ้านแหลมกระเจา ตำบลลำลูกบัว ตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ห่างจากที่ตั้งตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดราว 23 กิโลเมตร บ้านแหลมกระเจาแบ่งเป็นการปกครอง 2 หมู่ ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมาก คือ บ้านแหลมกระเจาไทย (หมู่ 1) เป็นหมู่บ้านของคนไทย และบ้านแหลมกระเจาโซ่ง (หมู่ 2) เป็นหมู่บ้านของลาวโซ่ง บ้านแหลมกระเจาโซ่ง (หมู่ 2) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งในสมัยก่อน  มักมีน้ำท่วมขังเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก ในปัจจุบันมีถนนลาดยางจากตัวอำเภอตัดผ่านหมู่บ้าน โดยมีรถประจำทางติดต่อกับตัวอำเภอและจังหวัด วิ่งผ่านวันละหลายเที่ยว ดังนั้นในด้านการคมนาคมถือว่ามีความสะดวก นอกจากนี้ยังมีคลองซอยชลประทานตัดขนาบหมู่บ้านสองสาย ด้านทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองชลประทานสายหลักกับคลองท่าสาร คลองชลประทานนี้ทำหน้าที่จ่ายน้ำให้กับพื้นที่ทำเกษตรกรรมของหมู่บ้าน ที่แยกจากถนนลาดยางสายหลักติดต่อกับตัวอำเภอ ส่วนพื้นที่รอบ ๆ บริเวณที่ตั้งบ้านเรือน เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในหมู่บ้าน

สถานที่สำคัญและพื้นที่ทางสังคม

คริสตจักรแหลมกระเจา เป็นสถานที่นมัสการ และทำกิจกรรมของกลุ่มคริสเตียน มีศิษยาภิบาลเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลประจำ และมีชาวบ้านลาวโซ่งในหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกคริสต์จักร โบสถ์นี้เดิมเป็นศาลาธรรมขึ้นกับคริสตจักรสามแยก (อำเภอดอนตูม) ต่อมาแยกตัวเป็นคริสตจักรต่างหาก

ศาลเจ้าพ่อพระอินทร์ ศาลใหม่เจ้าพ่อพระอินทร์ ศาลเจ้าแม่ขอด เป็นอาคารเรือนไทยตั้งอยู่ข้างกันสามหลัง หลังแรกเป็นศาลเก่ามีมานานแล้ว คือ ศาลเจ้าพ่อพระอินทร์ อีกศาลหนึ่งถัดมาเป็นศาลใหม่ของเจ้าพ่อพระอินทร์ ศาลสุดท้ายเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ขอด เพิ่งตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2538 เจ้าพ่อพระอินทร์เป็นเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านให้ความนับถือมาก มีการร่วมพิธีเซ่นสรวงบูชาหรือเรียกว่า การเลี้ยงศาลขึ้นทุกปี เพื่อขอให้ให้เจ้าพ่อช่วยปกปักรักษาหมู่บ้าน สมัยก่อนทุกครอบครัวจะต้องจัดเครื่องเซ่นไปไหว้ศาล ในเวลามีงานเลี้ยงศาล แต่ปัจจุบันใช้ระบบให้มีชาวบ้านชุดละ 3 ครอบครัว ทำหน้าที่จัดสำรับเครื่องเซ่นไหว้ ในแต่ละปีเวียนกันไป ส่วน แม่ขอด เคยมีตัวตนจริง เป็นชาวลาวโซ่งรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้าน เคยเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อพระอินทร์ มีหน้าที่รักษาคนไข้ในหมู่บ้าน เป็นที่นับถือมาก เมื่อท่านเสียชีวิตชาวบ้านจึงตั้งศาลให้ สำหรับเป็นที่เคารพบูชา อยู่ข้าง ๆ ศาลเจ้าพ่อพระอินทร์ ศาลทั้งคู่เป็นที่พึ่งทางใจของคนในหมู่บ้านแหลมกระเจาในปัจจุบัน 

จำนวนประชากรของบ้านแหลมกระเจา จากข้อมูลสาธารณสุขประจำสถานีอนามัยตำบลลำลูกบัว พ.ศ. 2539 ประชากรหมู่บ้านแหลมกระเจา มี 69 ครัวเรือน มีจำนวนประชากร 528 คน ชาย 251 คน หญิง 286 คน ประชากรในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยโซ่ง ส่วนที่เป็นคนไทยก็เป็นเขย สะใภ้ ซึ่งมีไม่มากนัก

ไทดำ

กลุ่มอาชีพในพื้นที่บ้านแหลมกระเจา

การทำนาข้าว เดิมทำนาเป็นหลัก แต่เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในที่ลุ่มต่ำมาก ทำให้ในสมัยก่อนมีน้ำท่วมประจำในฤดูน้ำหลาก บางครั้งทำให้นาถล่ม ได้รับความเสียหายมาก ปัญหาน้ำท่วมเพิ่งจะบรรเทาความรุนแรงลงหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทางภาคเหนือและตะวันตกหลายเขื่อน เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลบ่าลงมาในภาคกลางมาก ในช่วงฤดูน้ำหลากในปัจจุบัน ที่นาของหมู่บ้านได้รับน้ำชลประทานด้วย ทำให้สามารถทำนาได้ถึง 2 ครั้งในรอบปี แต่ชาวบ้านไม่ค่อยนิยมทำกัน เพราะต้นทุนสูงและมีโรคแมลงรบกวนมาก บางครั้งก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ในอดีตตอนที่ยังทำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนมาก บางคนถึงกับต้องอดและมีหนี้สิน โดยเฉพาะปีที่นาล่มเพราะน้ำท่วม จนทำให้ชาวบ้านบางส่วนยอมขายที่นาของตนเอง แล้วอพยพย้ายไปที่อื่น ต่อมาระยะหลังชาวบ้านหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลานิลและกุ้งก้ามกรามมากขึ้น เพราะมีรายได้ดีมากกว่าการทำนา ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นิยมเลี้ยงกุ้งกุลามากขึ้น จนไม่เหลือใครทำนาอีก ในปัจจุบันทางราชการได้ออกระเบียบ ห้ามไม่ให้เลี้ยงกุ้งกุลาในพื้นที่น้ำจืดอีก แต่ชาวบ้านที่ได้ปรับพื้นที่นาของตนเป็นบ่อกุ้งแล้ว ยังเลี้ยงต่อไป

ข้าวที่ชาวไทยโซ่งนิยมปลูก คือ ข้าวจ้าวพันธุ์กข.ชัยนาท เพราะว่าต้นแข็งแรงและเมล็ดข้าวสวย ชาวไทยโซ่งนิยมทำนาหว่านปีละ 2 ครั้ง  แต่ปัจจุบันเลิกทำนากันไปมากแล้ว เนื่องจากขาดทุน หรือได้กำไรน้อย จึงเป็นสาเหตุที่มาเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา

การทำไร่อ้อย อ้อยที่นิยมปลูกเป็นพันธุ์ 200 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้องการของโรงงาน และมีความต้านทานความแห้งแล้ง ส่วนพันธุ์จีนแดงชาวไทยโซ่งไม่นิยมเพราะเวลาอ้อยโต ต้นจะล้มง่าย อ้อยที่ปลูกสามารถตัดได้ติดต่อกัน 3 ปี ตัดปีละครั้ง อ้อยปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม และตัดในเดือนกุมภาพันธ์ การปลูกใช้เวลาประมาณ 10 เดือน จึงตัดอ้อยได้ เพราะต้องควบคุมอ้อยให้มีความหวานตามที่โรงงานต้องการ การตัดอ้อยส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานทางภาคอีสาน โดยจ้างตัดเป็นมัด 100 ต่อ 50 บาท ซึ่งใน 1 มัดมีอ้อย 10 ลำ ไม่นิยมจ้างแบบเหมา อ้อยที่ตัดเสร็จจะนำไปขายให้โรงงานบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยการปลูกอ้อยจะมีหัวหน้าโควตาอ้อยเป็นผู้แนะนำและจัดการ เช่น หาคนงานตัดอ้อย บรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชสวนครัว เช่น มะเขือ แตงกวา พริก กระเพรา เป็นต้น ซึ่งมีบางครอบครัวเท่านั้น พืชส่วนครัวส่วนใหญ่ปลูกไว้บริโภคภายในครอบครัว

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

เป็นอาชีพที่ยังนิยมไม่กี่ครอบครัว เนื่องจากต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 4 เดือน สามารถลากกุ้งตัวใหญ่ขายได้ก่อน ต่อจากนั้นอีก 1 เดือนก็ลากกุ้งขายได้อีก ชาวไทยโซ่งสามารถลากกุ้งขายได้ 4-5 ครั้งจึงล้างบ่อ ราคาขายกุ้งที่ลากครั้งแรกจะถูกกว่าครั้งต่อไปเพราะกุ้งตัวเล็ก การลสากครั้งต่อไปกุ้งตัวใหญ่ขึ้นก็ขายได้ราคาดี การเลี้ยงกุ้งของชาวไทยโซ่งเริ่มเห็นคนไทยเลี้ยงแล้วมีรายได้จึงทำตามกัน คือ ทำนาแล้วไม่ได้ผลตอบรับที่ดีแล้วปล่อยนาทิ้งไว้หลายปีจึงเปลี่ยนมาทำเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง นอกจากเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแล้วชาวไทยโซ่งเริ่มเลี้ยงกุ้งกุลาดำอีก แต่ยังเลี้ยงไม่มากเนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสูง

การเลี้ยงปลา เป็นอาชีพที่เริ่มทำโดยมีเกษตรแม่บ้านเป็นผู้แนะนำ ปลาที่เลี้ยงส่วนมากเป็นปลานิล เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 10-12 เดือน ก็ลากปลาขายได้ โดยลากปลาขายในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม แหล่งขายปลาอยู่ที่ตลาดบางเลน

การทำหัตถกรรม เป็นอาชีพสำหรับแม่บ้านที่รวมกลุ่มทำตามความต้องการของชาวสหรัฐอเมริกา เริ่มทำในปี พ.ศ. 2504 มีอาจารย์อรัญและอาจารย์โจน ยูแบงค์ ซึ่งเป็นมิชชันนารีที่เข้ามาทำงานในหมู่บ้านเป็นผู้ริเริ่มเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในหมู่บ้าน ได้ปรึกษากับอาจารย์มนตรีและอาจารย์เจนนี่ โมชดารา โดยอาจารย์เจนนี่เสนอให้ทำเครื่องประดับตกแต่งต้นคริสตมาสขายในกรุงเทพ เริ่มทำที่บ้านป้าอยู่ ซึ่งเป็นคริสเตียนคนแรกในหมู่บ้าน เงินทุนมาจากอาจารย์เจนนี่ เมื่อขายได้ก็หักต้นทุน ส่วนกำไรแบ่งกัน

การทำหัตถกรรมส่วนมากจะทำกระเป๋า ที่รองแก้ว ตุ๊กตา เนื่องจากเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ โดยทำครั้งละ 1,000 ชิ้น ต่อระยะเวลาที่กำหนด 2 เดือน ถ้าทำไม่ทันคนที่สั่งจะไม่รับของ ต้องแก้ปัญหาโดยจ้างคนในหมู่บ้านมาช่วย  

การค้าขาย ร้านค้าในหมู่บ้านมี 6 ร้าน เป็นร้านขายของชำ ขายอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ไก่ย่าง อาหารแห้ง อาหารสด สินค้าที่ขายจะซื้อมาจากตลาดดอนตูม หรือตลาดนครปฐม นอกจากจะค้าขายแล้วยังประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น ขับรถประจำทาง

กรรมกร ส่วนมากทำงานที่โรงสีข้าวเจริญวัฒนาของเถ้าแก่เที่ยหมง แซ่ตั้ง เริ่มเข้างานเวลา 08.00-17.00 น. ชาวไทยโซ่งที่มาทำงานที่นี่เพราะมีความคุ้นเคย และสนิทกับเถ้าแก่ในช่วงที่ตัวเองนำข้าวมาขายที่โรงสี แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำนาแล้วประกอบอาชีพอื่นแทน ที่โรงสีมีสวัสดิการ เช่น ค่าล่วงเวลาขึ้นข้าวสาร และโรงสีจะมีข้าวเช้ากับข้าวกลางวันให้กิน ถ้าใครมาทำงานทุกวันก็ได้ค่าตอบแทนพิเศษ

รับจ้าง เป็นอาชีพที่ผู้ไม่มีที่ดินทำการเกษตรเป็นของตนเอง หรือบางคนมีที่ทำกินเอง พอมีเวลาว่างก็ไปรับจ้างตามบ้าน งานรับจ้างส่วนมากเป็นการลากกุ้ง ถางหญ้า พรวนดิน ขุดดิน โดยเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. คิดค่าแรงเป็นวัน ๆ ละ 100-150 บาท มีการรับจ้างทั้งในและนอกหมู่บ้าน การรับจ้างแบบเหมาจะมีรายได้ดีกว่าจ้างเป็นวัน นอกจากนี้ชาวไทยโซ่งยังมีการประกอบอาชีพอื่น เช่น บุรุษไปรษณีย์ ภารโรง ขับรถสองแถว เป็นต้น

พิธีกรรม

การประกอบพิธี เลี้ยงศาล เจ้าพ่อพระอินทร์ ในอดีตชาวบ้านทุกครัวเรือนจะต้องจัดเครื่องเซ่นไปไหว้ศาล แต่ปัจจุบันจัดให้มีชาวบ้านชุดละ 3 ครอบครัว ทำหน้าที่จัดสำรับเครื่องเซ่นไหว้ในแต่ละปีหมุนเวียนกันไป ลาวโซ่งบ้านแหลมกระเจาในอดีต ปลูกเรือนอยู่ติด ๆ กัน โดยปลูกกอไผ่ล้อมรอบหมู่บ้านไว้ทั้งหมด เปิดช่องเป็นทางเข้าไว้ทางเดียว แต่ปัจจุบันหากดูจากลักษณะทางกายภาพของการตั้งบ้านเรือน มิได้แตกต่างไปจากหมู่บ้านชนบททั่วไปในจังหวัดนครปฐม

การแต่งกาย

ชายลาวโซ่ง สวมกางเกงพื้นเมืองที่เรียกว่า ส้วง หรือกางเกงขาสามส่วน ตัดเย็บจากผ้าฝ้าย นิยมย้อมสีครามเข้ม เกือบดำ คอตั้ง แขนกระบอก เข้ารูปผ่าหน้า ติดกระดุมเป็นแถว ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นย้อมครามลายแตงไทย เป็นลายขีดตามยาว สั้นแค่น่อง เวลานุ่งจะชักชายผ้าให้ผายออกทางด้านข้างและรั้งขึ้นทางด้านหน้า ใส่เสื้อย้อมครามเข้ารูป ติดกระดุมเงินเป็นแถว ผมทำเป็นทรงเกล้าเป็นกระจุก เรียกว่า ปั้นเกล้า นอกจากนี้ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะมีเสื้อคลุมยาว ย้อมครามเกือบดำ ด้านหนึ่งปักเป็นลวดลายสวยงาม เป็นเสื้อสำหรับใช้ในพิธีกรรม เรียกว่า เสื้อฮี” ปัจจุบันในชีวิตประจำวันแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างคนอื่นทั่ว ๆ ไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ลาวโซ่งมีภาษาพูด ที่เป็นภาษาถิ่นตระกูลไท และมีตัวอักษรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม


ด้านบริการสาธารณสุขและสิ่งอำนวยสะดวก มีสถานีอนามัยที่อยู่ใกล้หมู่บ้านมากที่สุด ซึ่งสามารถให้บริการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในเบื้องต้นได้ คือ สถานีอนามัยตำบลลำลูกบัว อยู่ห่างจากหมู่บ้านแหลมกระเจาโซ่ง 2 กิโลเมตร สำหรับชาวบ้านที่เจ็บป่วยมาก ก็อาจไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอดอนตูม หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครปฐม นอกจากนั้น ในหมู่บ้านยังมีหมอพื้นบ้านอาวุโส รับรักษาโรคด้วยคาถาอาคมและสมุนไพร ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความนับถือ 


บ้านแหลมกระเจา (โซ่ง) ไม่มีโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้าน เด็ก ๆ ต้องไปเรียนที่โรงเรียนของรัฐบาล ตั้งอยู่ที่บ้านแหลมกระเจาไทย ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร หรือไม่ก็ไปเรียนที่โรงเรียนสหบำรุง อำเภอดอนตูม ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของคริสเตียน ที่เปิดสอนทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด และนักเรียนในหมู่นิยมไปเรียนมากที่สุดคือ โรงเรียนคงทองวิทยา อำเภอดอนตูม ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร บางครั้งนักเรียนในหมู่บ้านก็อาจไปเรียนไกลถึงโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ในตัวเมืองนครปฐม โดยนั่งรถประจำทางไปกลับ  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เสมอชัย พูลสุวรรณ. (2544). ลาวโซ่งกับคริสต์ศาสนา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โรงเรียนบ้านแหลมกระเจา โทร. 0-3438-1118