
เป็นชุมชนประมงริมแม่น้ำตรงปากน้ำแม่น้ำแม่กลองก่อนไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มและป่าชายเลนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญ โดยมีการทำการประมงน้ำกร่อยและประมงชายฝั่งทะเล มีบ้านเรือนและร้านค้าอยู่หนาแน่นในบริเวณตะวันตกของถนนราษฎร์ประสิทธิ์และตะวันออกของถนนแหลมใหญ่ และมีสะพานแม่กลองเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมพื้นที่ระหว่างสองฝั่งของแม่น้ำแม่กลอง
ที่มาของชื่อ “แม่กลอง” นั้นมีหลายข้อสันนิษฐาน ข้อสันนิษฐานแรกเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ว่าด้วยเรื่อง “กลองใหญ่” กล่าวคือ มีกลองใบใหญ่ลอยน้ำมาติดอยู่ที่หน้าวัดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม และชาวบ้านช่วยกันเก็บไว้ที่วัด ด้วยเหตุที่กลองใบนี้เป็นกลองที่มีขนาดใหญ่มาก จึงเรียกว่า “แม่กลอง” หรืออีกข้อสันนิษฐานว่า แม่กลอง แปลว่าทางใหญ่หรือทางหลัก อันหมายถึงเส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยมาจากคำว่า “แม่” และ “กลอง” ในตระกูลภาษามอญ-เขมร โดยคำว่า แม่ มาจาก “เม” แปลว่าเป็นใหญ่ ส่วนคำว่า กลอง แผลงมาจากคำในภาษามอญว่า “โคลง” แปลว่าหนทางหรือเส้นทางคมนาคม
เป็นชุมชนประมงริมแม่น้ำตรงปากน้ำแม่น้ำแม่กลองก่อนไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มและป่าชายเลนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญ โดยมีการทำการประมงน้ำกร่อยและประมงชายฝั่งทะเล มีบ้านเรือนและร้านค้าอยู่หนาแน่นในบริเวณตะวันตกของถนนราษฎร์ประสิทธิ์และตะวันออกของถนนแหลมใหญ่ และมีสะพานแม่กลองเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมพื้นที่ระหว่างสองฝั่งของแม่น้ำแม่กลอง
การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่ริมแม่น้ำแม่กลอง ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ในฐานะเมืองหน้าด้านและเมืองท่าเพื่อควบคุมการค้าบริเวณปากแม่นํ้า และยังมีการลําเลียงผลผลิตประเภทอาหารทะเลเข้ามายังตลาดการค้ารอบเมืองกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏในประวัติศาสตร์สงครามกับพม่า เพราะแม่นํ้าแม่กลองเป็นเส้นทางสําคัญที่เชื่อมต่อไปยังพรมแดนไทย-พม่าที่เมืองกาญจนบุรี ดังจะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้ซ่อมและรื้อฟื้นค่ายบางกุ้ง และค่ายแม่กลองขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2311 หลังจากที่ร้างไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แม่นํ้าแม่กลองถูกใช้เป็นเส้นทางเดินทัพรับศึกพม่าของกองทัพเรือของพระเจ้าแผ่นดินไทยหลายครั้ง อาทิ คราวสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 ศึกเมืองทวาย พ.ศ. 2330 และศึกพม่า พ.ศ. 2336 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมืองแม่กลองจึงมีความสัมพันธ์กับพระบรมราชจักรีวงศ์โดยปริยาย ด้วยท้องที่บางช้าง อําเภออัมพวานั้นเป็นนิวาสถานเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระประยูรญาติของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงมีศักดิ์เป็น “ราชนิกุลบางช้าง”นอกจากนี้ เมืองสมุทรสงครามยังมีบทบาทสําคัญในด้านเศรษฐกิจของกรุงรัตนโกสินทร์ในฐานะของแหล่งเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ถัดจากปากอ่าวเข้ามา คือ สวนมะพร้าว และสวนไม้ผลต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักในนาม “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน”
พื้นที่บริเวณชุมชนรอมแม่น้ำแม่กลองเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศวิทยาที่สัมพันธ์กับสายนํ้าเป็นอย่างยิ่งและมูลเหตุของระบบนิเวศที่มีพลวัตอันเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลาจึงเป็นเหตุปัจจัยให้มีทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตรกรรมที่มีความหลากหลาย และอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง และส่งผลต่อวิถีการดําเนินชีวิตของผู้คนให้มีความหลากหลายตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทําสวนยกร่อง และปลูกพันธุ์ไม้ชนิดที่ขึ้นได้ในสภาวะที่นํ้าเค็มท่วมถึง นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการประมง ทั้งประมงนํ้าลึก และประมงชายฝั่งอีกด้วย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.ท้ายหาด, ต.บ้านปรก, ต.ลาดใหญ่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.บางจะเกร็ง และ ต.แหลมใหญ่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.บางแก้ว และ ต.บางจะเกร็ง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ต.แหลมใหญ่ และ ต.ท้ายหาด
ประชาคมกลุ่มรักแม่กลอง
กลุ่มเครือข่ายประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อดูแลและติดตามผลจากการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่มีผลกระทบต่อผู้คนและสังคมท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเครือข่ายฯมีจุดเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่เกิด “วิกฤตโรงไฟฟ้าราชบุรี” ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีแนวคิดขนส่งน้ำมันเตาผ่านลำน้ำแม่กลอง ไปยังโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี จึงมีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งสองฝั่งปากน้ำแม่กลองที่อาจเกิดขึ้น จากวิกฤตนี้ผู้คนจึงรวมกันได้มากขึ้น องค์กรต่าง เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้เข้ามาร่วมทำงาน ตามมาด้วยการจัด ประชาพิจารณ์ของสภาพัฒน์ฯ ในเวทีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ช่วงปี พ.ศ. 2542 และถือว่าเป็นการจัดตั้งกลุ่มประชาคมรักแม่กลองขึ้นอย่างจริงจัง
เรือนพื้นถิ่นทรงไทยริมแม่น้ำ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) เรือนพื้นถิ่นทรงไทยแบบเรือนหมู่ 2) เรือนพื้นถิ่นทรงไทย 3) เรือนไม้พื้นถิ่น และ 4) เรือนแถวไม้พื้น
1) เรือนพื้นถิ่นทรงไทยแบบเรือนหมู่ เป็นรูปแบบเรือนคหบดีชาวเมืองสมุทรสงคราม พบอยู่ในพื้นที่ชุมชนประมงในเขตเทศบาลเมือง และพื้นที่ชุมชนในเขตสวนแถบบางคนที และอัมพวา เอกลักษณ์ของเรือน คือ มีชานแดด และรั้วล้อมชาน โดยที่เรือนประธานวางอยู่ตรงกลางหมู่เรือน และวางสันหลังคาขนานกับแม่นํ้า ถือว่าเรือนพื้นถิ่นทรงไทยแบบเรือนหมู่เป็นเอกลักษณ์ทางภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนริมนํ้าในจังหวัดสมุทรสงคราม
2) เรือนพื้นถิ่นทรงไทย เป็นคําที่ผู้ศึกษานิยามเรือนที่มีหลังคาทรงจั่วแบบเรือนไทยที่พบในพื้นที่ศึกษา ซึ่งตามปกติจะเรียกกันว่า “เรือนไทย” แต่เมื่อนําลักษณะทางสถาปัตยกรรมไปเปรียบเทียบกับเรือนไทยตามตําราที่ใช้ศึกษาแล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันทั้งการวางผัง ระบบโครงสร้าง ฯลฯ อันมีผลมาสืบเนื่องจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรม และการเข้าถึงทรัพยากร จะมีเพียงแต่เรือนที่มีหลังคาทรงจั่วทรงไทยเท่านั้นที่แสดงลักษณะเหมือน แต่ทว่าองค์ประกอบอื่นๆ ล้วนแต่แตกต่างไปจากเรือนไทยประเพณี รวมทั้งลักษณะการใช้สอย และการวางผังเรือนก็แตกต่างกันไปแตกละหลังตามบริบทแวดล้อม และการปรับตัวตามความจําเป็น และความต้องการในการอยู่อาศัยที่เหมาะสม
3) เรือนไม้พื้นถิ่น เป็นเรือนที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ส่วนใหญ่ปลูกเป็นเรือนยกใต้ถุนสูง มี “หลังคาแบบจั่วล้ม” ซึ่งเริ่มมีความนิยมตั้งแต่เมื่อมีการตัดทางรถไฟมายังเมืองแม่กลองเป็นต้นมา และเรือนที่มีหลังคาจั่วที่มีความลาดชันไม่มากนัก เรียกว่า “หลังคาบังกะโล” เนื่องจากเปลี่ยนการใช้วัสดุมุงหลังคาเป็นกระเบื้อง และสังกะสี ซึ่งนิยมแพร่หลายหลังสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้นมา และยังเป็นรูปแบบของเรือนพักข้าราชการที่มีการก่อสร้างในจังหวัดต่าง ๆ เป็นจํานวนมาก เพราะเป็นรูปแบบเรือนที่มีลักษณะที่เรียบง่าย ประหยัดทรัพยากร และปลูกสร้างได้รวดเร็ว
4) เรือนแถวไม้พื้นถิ่น เป็นเรือนแถวไม้ที่มีการใช้ผนังร่วมกันสร้างยาวต่อเนื่องกันเป็นชุด ๆ เรือนแถวหนึ่งชุดประกอบด้วย 3 ห้องขึ้นไป ภายในเรือนแถวจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้อง ๆ ตั้งแต่ 1-3 ห้อง ในห้องแถวหนึ่งชุดมักจะมีเจ้าของหลักเพียงคนเดียวซึ่งอาจจะเป็นเอกชนหรือเป็นนิติบุคคลที่เป็นวัด แต่มีผู้อยู่อาศัยหลายครัวเรือน และแต่ละครัวเรือนจะประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน โดยมากจะสร้างอยู่ตรงที่เป็นชุมทางที่เกิดจากแม่นํ้าและคลองมาบรรจบกันทําให้กลายเป็นชุมชนการค้าขึ้น หรือเรือนแถวไม้อีกประเภท คือ เรือนแถวไม้ เจ้าของเดียว/ผู้อยู่อาศัยครัวเรือนเดียว แต่สร้างยาวขนานกับแม่นํ้า ทําให้รูปลักษณ์ภายนอกดูคล้ายกับเรือนแถวไม้ แต่ภายในอาคารจึงไม่ได้แบ่งพื้นที่เป็นห้อง แต่จัดสรรพื้นที่ออกเป็นส่วนค้าขาย และส่วนพักอาศัยที่มักจะอยู่ตอนใน เรือนแถวไม้ลักษณะนี้มักพบตั้งกระจายตัวอยู่เป็นระยะทําหน้าที่เป็นร้านขายของชํา-ร้านขายของเบ็ดเตล็ด
ความร่วมมือของชาวชุมชนริมแม่น้ำแม่กลองในด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาตินั้นเกิดการประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2541 องค์กรที่ทำงานด้านประชาสังคมและนักวิชาการได้สนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมจังหวัดสมุทรสงครามให้เป็นพื้นที่นำร่องจังหวัดหนึ่งในการพัฒนากระบวนการประชาสังคมให้เข้มแข็ง โดยมีกระบวนการพัฒนาแกนนำประชาชนระดับตำบล อำเภอและจังหวัดให้ร่วมกันทำงานในนาม “ประชาคมคนรักแม่กลอง”
ประชาคมคนรักแม่กลองมีบทบาทการทำงานเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นโดย เมื่อปี พ.ศ. 2542 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนจะขนส่งน้ำมันเตาโดยเรือขนาดใหญ่ผ่านแม่น้ำแม่กลอง เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าในจังหวัดราชบุรี ชาวแม่กลองเกรงว่าการขนส่งน้ำมันเตาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น จึงต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ระบุว่าต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำประชาพิจารณ์ ประชาคมคนรักแม่กลองพยายามเข้าถึงข้อมูลโครงการขนส่งน้ำมันเตา โดยความช่วยเหลือของนักวิชาการที่มีจิตสำนึกในการทำงานเพื่อประชาชนทำให้ชาวแม่กลองเข้าถึงข้อมูลแผน การดังกล่าว แกนนำประชาคมคนรักแม่กลองนำข้อมูลมาเผยแพร่และปรึกษาหารือกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น กลุ่มเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ ประมงพื้นบ้าน ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น คณะทำงานรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จัดระบบข้อมูล คำถามข้อสงสัยต่าง ๆ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ แกนนำชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ตั้งคำถามต่อองค์กรผู้รับผิดชอบโครงการ จนไม่สามารถตอบคำถามชาวบ้านได้อย่างชัดเจน ประชาคมคนรักแม่กลองจึงร่วมกันคัดค้านจนต้องยุติโครงการไป
ปฏิบัติการที่แสดงให้เห็นว่าชาวแม่กลองยังยึดมั่นในวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกาหนดขึ้น เห็นได้จากในปี พ.ศ. 2548-2549 ชาวแม่กลองร่วมกันต่อต้านโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของชุมชน สืบเนื่องจากรัฐบาลมีโครงการจะสร้างเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ โดยสร้างสะพานเรียบทะเลฝั่งอ่าวไทยเป็นระยะทาง 47 กิโลเมตร โดยมีมหาวิทยาลัย 5 แห่งได้รับมอบหมายให้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลดี ผลเสียทางเศรษฐศาสตร์ และด้านวิศวกรรม ชาวแม่กลองและชาวเพชรบุรีร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าวอยู่ 2 ปี จนรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจดำเนินโครงการเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ชาวแม่กลองร่วมกันต่อต้านโครงการสร้างเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ คือ เมืองแม่กลองประกอบด้วยชาวสวนผลไม้และชาวประมงที่ขายผลผลิตให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองแม่กลอง หากมีการสร้างถนนเรียบอ่าวไทยลัดลงสู่ภาคใต้ การสัญจรของผู้คน จะข้ามเลยเมืองแม่กลองไปหมดย่อมส่งผลกระทบต่อการขายผล ผลิตของชาวสวนและชาวประมงชาวสวนและชาวประมงจึงร่วมมือกับชนชั้นกลางในเมืองคัดค้านโครงการดังกล่าว
ต่อมาในปีพ.ศ. 2550 ชาวแม่กลองพร้อมใจกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนอีกครั้งโดยการคัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน สืบเนื่องจากมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินบนพื้นที่ 600 ไร่ริมชายฝั่งทะเลในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสงครามมูลค่าโครงการ 55,000 ล้านบาท ชาวแม่กลองร่วมกับชุมนุมต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2550 และวันที่ 5 กันยายน 2550 โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับหมื่นคนและมีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านกว่า 58,000 คนประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าให้เหตุผล ข้อหนึ่งว่าชาวแม่กลองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของไทยสองปี ซ้อนจึงไม่อยากเสี่ยงให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน การแสดงพลังคัดค้านโครงการของชาวแม่กลองทำให้รัฐบาลตัดสินใจไม่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม
กระบวนการการรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินของประชาคมคนรักแม่กลอง ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศสามน้ำและวีถีชีวิตของชาวแม่กลองได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการครูนักเรียนสื่อมวลชนนักธุรกิจนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆเช่น วารสารสิ่งพิมพ์สติกเกอร์เว็บไซต์การเผย แพร่ข้อมูลผ่านผู้นำชุมชนและผู้ประสานงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อพบกันตามร้านค้าในชุมชนชาวสวนพูดคุยกันถึงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินการได้รับการบอกกล่าวจากญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าในจังหวัดราชบุรีที่พูดกันว่าโรงไฟฟ้าส่งผล กระทบต่อสวนผล ไม้ทำให้ผลไม้ไม่ออกผลผลิตตามฤดูกาลซึ่งไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวจะจริงเท็จประการใดแต่ส่งผล ให้ชาวสวนหวั่นเกรงในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทำให้ชาวสวนตำบลเหมืองใหม่ออกไปร่วมเดินขบวนรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินจำนวนมากและอยู่ร่วมจนเสร็จสิ้นการรณรงค์
ปฏิบัติการของชาวแม่กลองต่อความกดดันจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ด้านพลังงานของรัฐประชาคมคนรักแม่กลองประกอบด้วยชาวประมงชาวสวนพ่อค้านักธุรกิจประชาชนนักเรียน แพทย์ครูอาจารย์เป็นต้น ซึ่งได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ร่วมกันคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินชาวสวน ได้ข้อมูลจากประสบการณ์ของญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าในจังหวัดราชบุรีที่ผลไม้ไม่ออกดอกออกผล ตามปกติความวิตกกังวลว่าโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวสวนทำให้ชาวสวนมีส่วนร่วมในการต่อต้านโรงไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าประเด็นสาธารณะ หาใช่เพียงข้อมูลข่าวสารจากการรณรงค์ถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าโดยประชาคมคนรักแม่กลองเท่านั้นที่หล่อหลอมขึ้นมาโดยการถกเถียงและการสื่อสารอย่างที่ฮาเบอร์มาสยืนยันตามแนวคิดประชาสังคมเท่านั้นประการสำคัญคือสิ่งที่เป็นสาธารณะนั้นเป็นความรู้ปฏิบัติการและแรงปรารถนาของผู้คนในพื้นที่ชุมชนปฏิบัติที่ต้องการปกป้องชุมชนชาวสวน
ดังนั้นแนวคิดและปฏิบัติการของชาวสวนในการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินอย่างแข็งขันไม่เพียงแค่ได้รับข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศซึ่งผลต่อระบบนิเวศที่ชนชั้นกลางให้ความสำคัญแต่ชาวสวนให้ความสำคัญกับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าทำให้ผลไม้ไม่ออกผลผลิตตามคำบอกกล่าวของญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดราชบุรีสวนผลไม้ผสมผสานแบบยกร่องเป็นพื้นที่ที่ชาวสวนสะสมความรู้และรักษาความรู้ในพื้นที่สวนถ่ายทอดให้ลูกหลานเมื่อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินจะส่งผล กระทบต่อชุมชนปฏิบัติชาวสวนมีแรงปรารถนาจะให้ชุมชนชาวสวนดำรงอยู่ต่อไปทำให้ชาวสวนร่วมกันคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินอย่างแข็งขันแม้ว่าผู้นำในพื้นที่ไม่ได้เป็นแกนนำของประชาคมคนรักแม่กลอง
ความแปรเปลี่ยนของภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนริมแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 25 , 163-191.
ธีรดา รองรัตน์. (2563). การศึกษาพื้นที่สาธารณะที่มีนัยสำคัญในพื้นที่พาณิชยกรรมดั้งเดิมของชุมชนริมน้ำบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง พื้นที่ศึกษาจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม. วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์, 11(3), 365-382.
มานะ นำคำ และสมชัย ภัทรธนานันท์. ความท้าทายต่อชุมชนปฏิบัติชาวสวนลุ่มน้ำแม่กลอง. วารสารรมยสาร, 16(1), 41-61.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. “มนต์รักแม่กลอง” ของคนรักแม่กลอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=225.
ชุมชนริมแม่น้ำแม่กลอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3875.