
ชุมชนเก่าแก่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตผู้คนที่ใช้ชีวิตกันแบบเรียบง่าย ที่สะท้อนให้เห็นจากตลาดน้ำโบราณบางพลี วัดบางพลีใหญ่กลาง วัดบางพลีใหญ่ใน และปลาสลิดบางพลี
ความเป็นมาของชื่อชุมชนบางพลี มีข้อสันนิษฐาน 2 ประเด็น ดังนี้
ข้อสันนิษฐานแรก เมื่อพ.ศ. 2041 ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้โปรดเกล้าให้ขุดคลองสำโรงขึ้นและได้พบเทวรูปสำริด 2 องค์ ที่คลองทับนาง มีจารึกชื่อว่า “พญาแสนตา” กับ “บาทสังขรณ์” พระองค์จึงได้จัดทำพิธีบวงสรวงสังเวยเทวรูปนั้น สถานที่ที่ทำพิธีบวงสรวงจึงเรียกว่า “บัตรพลี” นานๆ เข้าจึงเพี้ยนเป็น “บางพลี”
ส่วนข้อสันนิษฐานอีกประเด็นหนึ่ง คือกล่าวกันว่า เมื่อ พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ยกทัพขับไล่ข้าศึกมาทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยามาถึงยังตำบล หนึ่งซึ่งไม่ปรากฎนาม ณ ที่แห่งนั้น พระองค์สั่งให้หยุดทัพพักไพร่พลและในช่วงเวลาพักนั้น พระองค์ได้ประหารฃีวิตทหารคนหนึ่งที่คิดคดทรยศต่อพระองค์ได้จัดทำพิธีบวงสรวง ปลูกสร้างศาลเพียงตาพร้อมทั้งเครื่องเซ่นสังเวยประดามี และทรงตั้งจิตอธิษฐานต่อเทวาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่าถ้าพระองค์มีบุญญาธิการสามารถปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้มีความสุขร่มเย็นแล้ว ขอให้พระองค์มีชัยชนะแก่อริราชศัตรูทั้งมวลแล้วจึงได้ประหารชีวิติทหารผู้นั้น ส่วนการศึกสงครามในครั้งนั้นพระองค์ก็ประสพชัยชนะอย่างเด็ดขาด สถานที่ที่พระองค์กระทำพิธีกรรมบวงสรวงนั้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บางพลี”
ชุมชนเก่าแก่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตผู้คนที่ใช้ชีวิตกันแบบเรียบง่าย ที่สะท้อนให้เห็นจากตลาดน้ำโบราณบางพลี วัดบางพลีใหญ่กลาง วัดบางพลีใหญ่ใน และปลาสลิดบางพลี
ชุมชนตลาดโบราณบางพลีเป็นชุมชนตลาดริมน้ำที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 150 ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือของคลองสำโรงในพื้นที่ของชุมชนหลวงพ่อโต หมู่ที่ 10ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ถูกสร้างในช่วงปี พ.ศ. 2400 ตามหลักฐานจารึกที่ขาตู้พระธรรม วัดบางพลีใหญ่กลางที่ได้บันทึกไว้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2400 คนจีนที่เข้ามาอยู่บางพลีเป็นพวกคนจีนไหหลำและจีนแต้จิ๋ว สำหรับจีนแต้จิ๋วจะถนัดทางการค้าขาย ส่วนคนจีนไหหลำจะถนัดทางด้านช่างไม้ จึงทำอาชีพต่อเรือ จากหลักฐานทำให้สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มคนจีนเข้ามาอยู่ภายในชุมชนตลาดโบราณบางพลี ในช่วงปี พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีนแต้จิ๋ว เนื่องจากจีนแต้จิ๋วจะถนัดทางการค้าขาย ซึ่งการเข้ามาอยู่อาศัยทำให้เกิดการสร้างชุมชนขึ้นบริเวณริมคลองสำโรง เกิดเป็นชุมชนตลาดริมน้ำแห่งแรกของอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการที่มีลักษณะเป็นเรือนไม้ปลูกติดกันเป็นห้องแถวตามแนวชายฝั่งขนานกับคลองสำโรงจำนวนกว่า 90 ห้องและยังคงสภาพเดิมเหมือนแรกสร้างเป็นส่วนใหญ่จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนตลาดโบราณบางพลี ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสำโรงในพื้นที่ของชุมชนหลวงพ่อโต ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีอาณาเขต ติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอาคารบ้านเรือนของประชาชน
- ทิศใต้ ติดต่อกับคลองสำโรง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับวัดบางพลีใหญ่ใน (วัดหลวงพ่อโต)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอาคารที่ทำการธนาคารออมสินเก่า
การมีวิถีชีวิตแบบคนไทยเชื้อสายจีนสามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตน ของชุมชนตลาดโบราณบางพลีหรือเป็นอัตลักษณ์ชุมชนด้านวิถีชีวิต โดยเฉพาะการแสดงออก ผ่านการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีจีนในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันตรุษจีน วันสารทจีน เป็นต้น การแสดงออกผ่านทางการแต่งกายซึ่งมักจะพบในวัยผู้สูงอายุ โดยมักจะนิยมใส่เสื้อ คอกระเช้ากับกางเกงขาก๊วยตามแบบอย่างของชาวจีน และการแสดงออกผ่านภาษาที่พบว่า ผู้สูงอายุบางคนยังคงใช้ภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วในการพูดคุยสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัว อยู่ รวมทั้งยังร่วมมือร่วมใจกันในการสร้างศาลเจ้า ชื่อว่า “ศาลเจ้าพ่อบางพลีใหญ่” เพื่อเป็น สถานที่ประกอบพิธีกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธการเปิดรับวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ซึ่งชาวชุมชนก็จะไปประกอบพิธีกรรมที่ วัดบางพลีใหญ่ในซึ่งตั้งอยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสาน ทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีนกันอย่างกลมกลืน จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็น ชุมชนที่ชาวชุมชนยังคงมีวิถีชีวิตแบบคนไทยเชื้อสายจีนมาจนถึงทุกวันนี้
การละเล่นพื้นบ้าน
การเล่นกังหันเมล็ดมะม่วงซึ่งเกิดจากการนำวัสดุในท้องถิ่นคือเมล็ดมะม่วงแห้ง มาดัดแปลงทำเป็นของเล่นพื้นบ้าน สืบเนื่องจากในอดีตบริเวณโดยรอบชุมชนมีการปลูก มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เป็นจำนวนมาก ทำให้เด็กๆ ในชุมชนมีการนำเมล็ดมะม่วงมาดัดแปลง เป็นอุปกรณ์ในการเล่น แต่ปัจจุบันการละเล่นชนิดนี้ได้สูญหายไปจากชุมชนแล้ว
การแข่งเรือมาด การแข่งเรือถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นที่นิยมอย่างมาก ในอดีต เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ริมคลองสำโรง โดยเริ่มจากการแข่งขันเพื่อความสนุกสนาน ต่อมา ทางวัดบางพลีใหญ่ในจึงได้มีการจัดแข่งขันเรือขึ้นในเทศกาลออกพรรษาช่วงการจัดงาน ประเพณีรับบัวของทุกปี โดยเรือที่นำมาแข่งขันนั้นก็จะมีหลากหลายประเภท ทั้งเรือยาว เรือมาด เป็นต้น ไม่จำกัดเฉพาะเรือมาดเพียงเท่านั้น ซึ่งจัดได้สักระยะหนึ่งก็ได้มีการยกเลิกไป จนต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2536 ทางอำเภอบางพลี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานประเพณี รับบัวในขณะนั้น ได้มีการฟื้นฟูการแข่งเรือกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เปลี่ยนมาเป็นการแข่งเรือมาด เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเห็นว่าในอดีตชาวชุมชนส่วนใหญ่นิยมใช้เรือมาด ประกอบกับ เรือมาดเป็นรูปแบบเรือประจำท้องถิ่นอันเก่าแก่ของภาคกลาง และชุมชนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ภาคกลางเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้ส่งเสริมให้ชาวชุมชนนำเรือมาดออกมาแข่งขันเพื่อชิง รางวัลและสร้างความสนุกสนาน หลังจากนั้นต่อมาการแข่งเรือมาดจึงกลายเป็นประเพณีที่ จะต้องในช่วงประเพณีงานรับบัวของทุกปีและงานย้อนรอยตลาดโบราณบางพลี
การละเล่นมวยทะเลที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ แต่เนื่องจาก ชุมชนตั้งอยู่ริมคลองสำโรงซึ่งใกล้น้ำ ทำให้เด็กๆ ในชุมชนมีการนำการละเล่นชนิดนี้เข้ามา เล่นกันภายในชุมชนเพื่อความสนุกสนาน แต่เมื่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปการละเล่นชนิดนี้ จึงไม่เป็นที่นิยม และสูญหายไปจากชุมชน แต่เนื่องจากชาวชุมชนได้เล็งเห็นถึงคุณค่าทาง วัฒนธรรมประเพณีของชุมชนที่ควรจะมีการรื้อฟื้นกลับมาให้คงอยู่ในชุมชน เพื่อให้ลูกหลาน ได้เรียนรู้ในประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม จึงได้ร่วมกันรื้อฟื้นการละเล่นมวยทะเลให้กลับมาอยู่ ในชุมชน แต่มีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยนำมาอยู่ในรูปแบบของ การแสดงการละเล่นในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานประเพณีของชุมชน
อาหารและขนมพื้นเมือง
ขนมสายบัวที่มีลักษณะเป็นชิ้นกลมๆ สีน้ำตาล โรยหน้าด้วยมะพร้าว คล้ายกับ ขนมกล้วย ซึ่งเกิดจากการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนคือสายบัวมาแปรรูปทำเป็นขนม เนื่องจาก ในอดีตลำคลองสำโรงมีบัวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากมาย ทำให้ชาวชุมชนนิยมนำสายบัว มาแปรรูปทำเป็นขนมสายบัวเพื่อรับประทานและจำหน่ายภายในชุมชน แต่ปัจจุบันขนม ชนิดนี้ไม่ได้มีการผลิตหรือวางจำหน่ายภายในชุมชนแล้ว
ขนมกะลาที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมกว้าง แต้มจุดสีแดงตรงกลาง สีของขนมจะ มีสีน้ำตาลคล้ายสีของกะลามะพร้าว จึงเรียกว่าขนมกะลา ขนมชนิดนี้มีความโดดเด่นในด้าน ของรูปร่างลักษณะและชื่อที่ใช้เรียกขนม ซึ่งในอดีตชุมชนแห่งนี้มีโรงทำขนม ทำให้ชาวชุมชน มีการผลิตขนมชนิดนี้เพื่อวางจำหน่ายภายในชุมชน และเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจาก มีรสชาติที่อร่อย ราคาถูก แต่ปัจจุบันขนมชนิดนี้ไม่ได้มีการผลิตหรือวางจำหน่ายภายในชุมชนแล้ว
ปลาสลิดแดดเดียวซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองประจำท้องถิ่นบางพลีที่มีลักษณะ เฉพาะในด้านรสชาติ และความนุ่มนวลของเนื้อปลา ซึ่งสืบเนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาสภาพ น้ำคลองสำโรงมีลักษณะเป็นน้ำกร่อย ทำให้มีปลาสลิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวชุมชน ในสมัยก่อนจึงนิยมหาปลามาทำกินกัน เมื่อเหลือกินแล้วจึงหาวิธีที่จะทำให้ปลาสลิดอยู่ได้ นาน จึงคิดทำปลาสลิดแดดเดียว เริ่มแรกเพื่อการบริโภคภายในครอบครัวและแจกจ่าย เพื่อนบ้านใกล้เคียงเท่านั้น แต่รสชาติเริ่มเป็นที่ถูกใจ จึงเริ่มนำมาวางจำหน่ายภายในชุมชน จนเป็นที่ถูกใจในรสชาติและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันปลาสลิด แดดเดียวจึงเป็นอาหารพื้นเมืองประจำท้องถิ่นบางพลีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของ นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เมื่อใครผ่านไปมาก็มักจะแวะซื้อเป็นของฝากกลับไป
ตลาดน้ำโบราณบางพลีเป็นตลาดริมน้ำเก่าแก่อายุกว่า 140 ปี ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง พื้นตลาดเป็นพื้นไม้ สามารถเดินติดต่อกันได้ มีความยาวกว่า 500 เมตร เดิมชื่อตลาด“ ศิริโสภณ ” สันนิษฐานว่าชาวจีนเข้ามาเปิดร้านในตลาดนี้ราว พ.ศ. 2400 ตลาดนี้จึงน่าจะมีอายุประมาณ 149 ปี เป็นตลาดโบราณริมคลองสำโรงเพียงแห่งเดียวที่รอดพ้นจากไฟไหม้และยังคงสภาพเดิมเหมือนแรกสร้าง ตลาดน้ำโบราณบางพลีเป็นชุมชนใหญ่ชุมชนหนึ่งและมีความรุ่งเรืองมากในอดีต เป็นตลาดขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากภาคตะวันออกชายฝั่งทะเลสู่กรุงเทพมหานคร การเดินทางในสมัยก่อนใช้เรือเป็นพาหนะเดินทาง ปัจจุบันตลาดโบราณบางพลียังคงค้าขายเหมือนในอดีต และถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน มาจนถึงปัจจุบัน เช่น ร้านขายขนมหวานไทย ร้านขายยาสมุนไพร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านตัดผม ร้าน ตัดเสื้อ ร้านขายของที่ระลึกต่างๆ อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ยังมีการผสมผสานกันระหว่างคนหลายเชื้อชาติ ทั้ง ไทย มอญ ลาว และจีน การนับถือศาสนาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่ทำที่วัด ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนจะประกอบพิธีกรรมที่ศาลเจ้าพ่อบางพลี และ อีกส่วนหนึ่งยังคงมีความเชื่อในการทรงเจ้าเข้าผี การดูหมอทำนายดวง เป็นต้น ตลาดน้ำบางพลีถือเป็นตลาดน้ำประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งซึ่งมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีวัฒนธรรม ที่ดีงามสั่งสมอยู่มากมาย สมควรอนุรักษ์ฟื้นฟูให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาและหวงแหนวัฒนธรรมเก่าแก่ของบรรพบุรุษสืบต่อไป
วัดบางพลีใหญ่กลาง ตั้งอยู่บริเวณคลองสำโรงฝั่งเหนือ ตำบลบางพลีใหญ่ ห่างจากวัดบางพลีใหญ่เล็กน้อย สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2367 ชาวบ้านละแวกบางพลี เรียกว่า วัดกลาง คงเป็นเพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างวัดบางพลีใหญ่ในกับวัดคงคาราม (วัดยายหนู) ซึ่งเป็นวัดร้างไปแล้ว เดิมที่ตั้งวัดเป็นที่ดินของนายช้าง หมื่นราษฎร์ โดยนายน้อย หมื่นราษฎร์ พี่ชายเป็นผู้สร้างขึ้น และได้ขนานนามวัดว่า "วัดน้อยปทุมคงคา" เพราะได้ขุดสระปลูกบัวหลวงไว้ด้วย ต่อมาเปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า "วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม" และครั้งสุดท้ายเปลี่ยนเป็น "วัดบางพลีใหญ่กลาง" โดยมิปรากฏแน่ชัดว่าเปลี่ยนในสมัยเจ้าอาวาสรูปใด
วัดดบางพลีใหญ่กลางได้รับพระราชทานวิสุคามสีมา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 เขตวิสุคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ในด้านการศึกษาทางวัดจัดให้มีการเรียนพระปริยัติธรรมตลอดมา นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการศึกษาของชาติโดยให้ความร่วมมือกับทางราชการ ให้ที่วัดสร้างโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ด้วยเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) ทั้งหมด 8 รูป
วัดบางพลีใหญ่กลางเป็นที่ประดิษฐานสมเด็จพระศากยมุณีศรีสุเมธบพิตร พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยาวประมาณ 53 เมตร แล้วสร้างพระวิหารคลุมทีหลัง ความสูงของวิหารเท่าอาคาร 4 ชั้น ภายในองค์พระใหญ่พอที่จะแบ่งให้มีห้องปฏิบัติธรรม เสาและผนัง มีภาพเขียนเรื่องราวของเทวดา นรก สวรรค์ คติธรรม จำนวนมากมาย กว่า 100 รูป และมีห้องหัวใจพระซึ่งประชาชนนิยมมาปิดทองเพื่อเป็นศิริมงคล
วัดบางพลีใหญ่ใน มีชื่อว่า วัดพลับพลาไชยชนะสงคราม สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สำรึกถึงชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ที่ริมคลองสำโรง ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทว่าความศักดิ์สิทธิ์ของวัดนี้อยู่ที่ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยสุโขทัย เบิกเนตร ขัดสมาธิ องค์สีทองอร่ามที่มีตำนานเล่าขานมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสามพี่น้อง ได้แก่ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโต
ชุมชนบ้านบางพลี ดินแดนแห่งการเรียนรู้. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://www.opt-news.com/news/14152.
นิรมล ขมหวาน. (2557). การศึกษาอัตลักษณ์ของชุมชนตลาดโบราณบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ. วารสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์, 14(1), 125-144.
ประจิม ขำสงข์. (2550). แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนตลาดน้ำบางพลีเพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต, สาขาวิชาสถาปัตยกรรม, บัณฑิตวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางพลี. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://district.cdd.go.th/bangphli/about-us/ประวัติความเป็นมา.
SummerB. (2564). กราบ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน วัดดัง สมุทรปราการ ใกล้กรุงเทพ เสริมสิริมงคล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/G5GaBgyWqrkR.
Thailand Tourism Directory. (ม.ป.ป.). ชุมชนตลาดโบราณบางพลี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/59.