
บ้านขาแหย่งพัฒนา ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางวัดพระธาตุดอยตุง ซึ่งเป็นพระธาตุที่ชาวเชียงรายให้ความศรัทธา
เดิมบ้านขาแหย่งพัฒนา ชื่อว่า “บ้านอาหลู่” เป็นหมู่บ้านลาหู่ชาวคริสต์ ซึ่งตั้งตามนามของผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายอาหลู่ ภายหลังโครงการพัฒนาดอยตุงได้เข้ามาพัฒนาในพื้นที่ ปัจจุบันบ้านอาหลู่จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านขาแหย่งพัฒนา”
บ้านขาแหย่งพัฒนา ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางวัดพระธาตุดอยตุง ซึ่งเป็นพระธาตุที่ชาวเชียงรายให้ความศรัทธา
เดิมบ้านขาแหย่งพัฒนา ชื่อว่า “บ้านอาหลู่” เป็นหมู่บ้านลาหู่ชาวคริสต์ เดิมตั้งอยู่ที่หมู่ 19 ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หมู่บ้านแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ตั้งแต่วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม ตลอดจนชื่อหมู่บ้าน เนื่องจากได้มีโครงการพัฒนาดอยตุงเข้ามาในพื้นที่ ปัจจุบันบ้านอาหลู่จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านขาเหย่งพัฒนา” ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
เดิมหมู่บ้านนี้ตอนแรกเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยประมาณปี พ.ศ. 2515-2514 ก่อนที่อาหลู่จะมาก่อตั้งหมู่บ้านบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านเดิมของชาวอาข่า บ้านขาแหย่ง แต่ในช่วงที่ชาวลาหู่ย้ายมานั้นบริเวณดังกล่าวเป็นป่าหญ้าคา ป่าไผ่ และเป็นที่ไร่เก่าของชาวอาข่าที่อยู่หมู่บ้านขาแหย่ง ซึ่งเคยใช้ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดมาหลายปี กระทั่ง พ.ศ. 2517 นายอาหลู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชุมชนหมู่บ้านอาหลู่ เคยมีผู้ใหญ่บ้านเพียง 2 คนเท่านั้น ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายอาหลู่ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งหมู่บ้านนี้
แม้หมู่บ้านอาหลู่เป็นหมู่บ้านใหญ่แต่ในช่วงนั้นยังไม่มีถนนหนทางจากหมู่บ้านไปในตัวเมือง ตลาดที่ชาวบ้านไปติดต่อซื้อขายสินค้าด้วย คือ บ้านห้วยน้ำขุ่น หมู่บ้านชาวไทใหญ่ที่ต้องอาศัยการเดินเท้าประมาณ 6 กิโลเมตร การขนสินค้าโดยการแบกหามหรือสะพายหลัง ส่วนครอบครัวฐานะดีจะใช้ม้าเป็นพาหนะ
หลังจากจัดตั้งหมู่บ้านไม่นานได้มีหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ เข้ามาดูแลเพราะเป็นหมู่บ้านที่เป็นทางผ่านไปยังวัดพระธาตุดอยตุง ซึ่งเป็นพระธาตุที่ชาวเชียงรายให้ความศรัทธา การเดินทางไปพระธาตุของคนพื้นราบในสมัยนั้นต้องเดินด้วยเท้าหรือใช้ช้างเป็นพาหนะ บางกลุ่มได้แวะเยี่ยมเยียนหมู่บ้านแห่งนี้ประกอบกับผู้คนให้ความสนใจกันมากขึ้น จึงมีเจ้าหน้าที่จากประชาสงเคราะห์อำเภอแม่จัน ขึ้นมาสำรวจจำนวนประชากรและตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านอาหลู่ ตามที่ชาวบ้านเรียกกันอยู่แล้ว
ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนเล็ก ๆ จัดตั้งขึ้นโดย พอล และอิเลน ลูวิส มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ทั้งสองได้หาเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ เพื่อจ้างครูผู้สอนให้อยู่ประจำครอบครัวหนึ่งซึ่งเป็นคนพื้นราบ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 กรมประชาสงเคราะห์ได้เข้ามาจัดตั้งโรงเรียนให้กับหมู่บ้านนี้ พร้อมกับส่งครูเข้ามาสอนและตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนบ้านขาแหย่ง (ในปี พ.ศ. 2530 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา เมื่อพื้นที่บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง) (ชลดา มนตรีวัต, 2541, น.39-41)
พื้นที่ทำกินของชุมชน เดิมเป็นพื้นที่ไร่ของอาข่าก่อนย้ายออกไปอยู่หมู่บ้านข้างเคียง ชาวลาหู่ได้ซื้อจากอาข่าในราคาประมาณไร่ละ 10-20 บาท บางไร่ 8 บาท ส่วนพื้นที่ป่าที่ไม่ใช่ที่ดินทำกินชาวบ้านสามารถบุกเบิกได้ตามกำลังและความขยันของแต่ละครอบครัวยกเว้นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านและชาวอาข่าที่อยู่มาก่อนได้สงวนักษาอนุรักษ์ไว้ก่อนแล้ว ชาวบ้านที่มีนาในสมัยนั้นมีเพียงไม่กี่ครอบครัว แต่พอมาในปี พ.ศ. 2518 ชาวลาหู่หลายครอบครัวเริ่มขุดที่นามากขึ้น ปัจจุบันมี 40 ครอบครัว ที่มีนาเป็นของตนเองและมีข้าวพอกิน ชาวบ้านที่ไม่มีที่นาก็บุกเบิกพื้นที่ทำข้าวไร่ และหมุนเวียนปลูกพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด ถั่ว พริก (ชลดา มนตรีวัต , 2541 , น.42)
ในช่วงปี พ.ศ. 2519-2520 ด้วยพื้นที่ทำกินจำกัด เป็นเหตุให้ชาวบ้านบางส่วนได้เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งย้ายไปอยู่บ้านแม่น้ำขุ่น ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และอีกกลุ่มย้ายไปอยู่บ้านหนองเขียว ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากสองกลุ่มที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประชากรบางส่วนกระจายตัวย้ายออกไปอยู่กับเครือญาติที่หมู่บ้านอื่น ฉะนั้นจำนวนครัวเรือนจากเดิม 135 ครัวเรือน ลดลงเหลือเพียง 80 ครัวเรือนเท่านั้น (ชลดา มนตรีวัต, 2541, น.42-43)
จากข้อมูลเว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง ระบุว่าปัจจุบัน บ้านขาแหย่งพัฒนา มีประชากรรวมทั้งสิ้น 692 คน และจำนวนครัวเรือน 227 ครัวเรือน (องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง, ม.ป.ป.)
ระบบเครือญาติ
ในสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ระบบเครือญาติมีความซับซ้อน การนับถือผูกพันเป็นญาติใกล้ชิดสนิทสนมไม่ได้จำกัดเพียงพี่น้องร่วมสายบิดามารดาเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความผูกพันใกล้ชิดกับตระกูลของเขยและสะใภ้ด้วย ความสัมพันธ์ทางเครือญาติก่อให้เกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การลงแรง การประกอบพิธี ฉะนั้นในสังคมลาหู่เครือญาติเปรียบเสมือนหลักประกันในความมั่นคงของชีวิต บุคคลหรือครัวเรือนที่ไม่มีญาติในหมู่บ้านจะถูกชาวบ้านมองด้วยความสงสาร มักอยู่ในชุมชนด้วยความเจียมตัวลสุดท้ายใช้วิธีหากลุ่มเครือญาติ ด้วยการแต่งงานกับคนในตระกูลเก่าแก่ของหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันลักษณะความผูกพันแบบนี้ก็ก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชนจนถึงขั้นแบ่งกลุ่มแยกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ซึ่งยากต่อผู้ใดจะมาไกล่เกลี่ย การนับเครือญาติของชาวลาหู่จะนับแบบ Cognatic คือ สมาชิกของกลุ่มที่คนหนึ่งสืบเชื้อสายจะมีความเกี่ยวข้องกับคนนั้นด้วยการเชื่อมโยงทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
ลาหู่, อ่าข่า, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)1) นายอาหลู่ ชาวลาหู่คนหนึ่งที่มีความสามารถได้รับการยอมรับ มีความเป็นผู้นำสูง เนื่องจากมีความรู้ การศึกษา สามารถพูดได้หลายภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และภาษาอาข่า เขาทำหน้าที่ในฐานะผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านได้เป็นอย่างดีและสงบสุข นายอาหลู่จึงดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมากระทั่งมีโครงการพัฒนาดอยตุงเข้ามาและที่ว่าการกิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวงมาตั้งในหมู่บ้าน ก่อนที่ว่าการอำเภอจะย้ายไปตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน จึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนัน นับว่าเป็นชาวลาหู่คนแรกในประเทศไทยที่ได้รับตำแหน่งนี้ นายอาหลู่ดำรงตำแหน่งกำนันจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูง
2) นายธวัธชัย สุขนภาสวัสดิ์ หรือ นายอาซากอ ภายหลังนายอาหลู่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกำนัน นายอาซากอจึงได้รับเลือกจากชาวบ้านให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเป็นลำดับถัดมา มีความสามารถในด้านการปกครอง
3) นางมยุรา สุขนภาสวัสดิ์ หรือ นางหมี่ฉู่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นชาวอาข่าจากบ้านห้วยสั้นอาข่า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้มาแต่งงานกับชาวลาหู่ในหมู่บ้านนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว จึงสามารถพูดภาษาลาหู่ได้อย่างคล่องแคล่ว (ชลดา มนตรีวัต, 2541, น.39-40)
ชลดา มนตรีวัต. (2541). การสร้างความเป็นหญิงชายทางสังคม และจริยธรรมในชุมชนลาหู่ : กรณีศึกษาหญิงลาหู่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง. ค้นจาก https://www.maefaluang.go.th/data.php?id=2