Advance search

บ้านโคกสลุงเป็นชุมชนที่ยังคงรักษากลิ่นไอแห่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทเบิ้งไว้อย่างเข้มข้น ชาวบ้านมีความตระหนัก และพยายามที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมไทเบิ้งที่เริ่มสูญหายขึ้นมาใหม่ โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทเบิ้งโคกสลุง เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดประเพณี และวัฒนธรรมของชาวไทเบิ้งบ้านโคกสลุงให้คงอยู่ได้ภายใต้วิถีชีวิตที่ผูกผันตามพลวัตของสังคม

โคกสลุง
โคกสลุง
พัฒนานิคม
ลพบุรี
ชุมชนโคกสลุง โทร. 08-4978-6782, อบต.โคกสลุง โทร. 0-3648-3242
วิไลวรรณ เดชดอนบม
1 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
2 มี.ค. 2023
บ้านโคกสลุง


ชุมชนชาติพันธุ์

บ้านโคกสลุงเป็นชุมชนที่ยังคงรักษากลิ่นไอแห่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทเบิ้งไว้อย่างเข้มข้น ชาวบ้านมีความตระหนัก และพยายามที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมไทเบิ้งที่เริ่มสูญหายขึ้นมาใหม่ โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทเบิ้งโคกสลุง เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดประเพณี และวัฒนธรรมของชาวไทเบิ้งบ้านโคกสลุงให้คงอยู่ได้ภายใต้วิถีชีวิตที่ผูกผันตามพลวัตของสังคม

โคกสลุง
โคกสลุง
พัฒนานิคม
ลพบุรี
15140
14.987893
101.019780
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง

ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านโคกสลุงจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน สามารถอธิบายได้ว่า ในอดีตบ้านโคกสลุงไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ตั้งปัจจุบัน เรียกว่า โคกระฆัง เนื่องจากมีการขุดพบระฆังใหญ่แต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ โคกระฆังอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จึงได้ย้ายมาสร้างบ้านเรือนที่บ้านโคกสลุงปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบบนเนินขนาดใหญ่ อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่เรียกว่า หนองใหญ่ มีป่าไม้ขึ้นหนาทึบเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและทำการเพาะปลูก

บ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี บริเวณลุ่มป่าสัก เป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลอธิบายถึงการอพยพเข้ามาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเบิ้ง ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารหลายชิ้น แต่ข้อมูลในเอกสารดังกล่าวให้ข้อมูลไม่ตรงกันเท่าใดนัก ทว่าจากการรวบรวมข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และคำให้การของชาวไทเบิ้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก เขตอำเภอพัฒนานิคม อาจกล่าวสรุปได้ว่า ชาวไทเบิ้งที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มีบรรพบุรุษเป็นชาวเวียงจันทน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์มาสู่บริเวณภาคกลางและภาคอีสาน 2 ช่วงเวลา คือ

พ.ศ. 2321 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากรงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบกบฏยังหัวเมืองต่าง ๆ ในลาว ได้แก่ เมืองเวียงจันทน์ เมืองศรีสัตนาคนหุต และเมืองหลวงพระบาง เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้มีการกวาดต้อนชาวบ้านจากทั้ง 3 หัวเมืองให้อพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน และภาคกลางของไทย ประกอบกับขณะนั้น ลพบุรีเป็นเมืองที่มีพลเมืองน้อยจนเกือบกลายสภาพเป็นเมืองร้าง จึงเป็นโอกาสให้ผู้คนจากต่างเมือง หลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ กลุ่มที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ซึ่งพูดสำเนียงลาวเบิ้ง (ไทเบิ้ง) มารวมตัวตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ในอำเภอพัฒนานิคม ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก กลุ่มที่พูดภาษาลาวพวน ซึ่งอพยพมาจากหลวงพระบาง และกลุ่มที่พูดภาษาลาวเงี้ยว

การกวาดต้อนผู้คนจากเวียงจันทน์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2367-2392 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ในการปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์ก็ได้มีการกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ลงมาอยู่ที่เมืองลพบุรี เพื่อทดแทนชาวบ้านที่ถูกกวาดต้อนไปในครั้งเสียงกรุงศรีแก่พม่าครั้งที่ 2

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มวัฒนธรรมที่น่าจะเป็นบรรพบุรุษของชาวไทเบิ้งในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรี โดยใช้หลักฐานอ้างอิงการมีอยู่ของกลุ่มชุมชนไทเบิ้งในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ซึ่งอธิบายว่า ชุมชนไทเบิ้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยน่าจะเป็นกลุ่มชุมชนเดียวกับชุมชนไทเบิ้งบริเวณเมืองไชยบาดาลและเมืองบัวชุมที่มีหลักฐานย้อนไปถึงการอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2235 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา

อนึ่ง ยังมีข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงการอพยพของชาวไทเบิ้งเข้าสู่ดินแดนประเทศไทย ซึ่งมีข้อมูลไม่ตรงกันนัก ยังคงเป็นที่ถกเถียงและไม่อาจสรุปที่มาของคนไทเบิ้งได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังคงมีการถกเถียงไม่สิ้นสุดเกี่ยวกับข้อสรุปที่แน่ชัดของชาวไทเบิ้ง ทว่า เป็นที่รับรู้ร่วมกันว่าจังหวัดลพบุรีเป็นพื้นที่ที่มีชาวไทเบิ้งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดจังหวัดหนึ่งนอกเหนือจากจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในเขตอำเภอพัฒนานิคม ซึ่งบ้านโคกสลุงก็ถือเป็นหนี่งชุมชนในอำเภอพัฒนานิคมที่ปรากฏการตั้งถิ่นฐานและวัฒนธรรมอันเข้มข้นของชาวไทเบิ้งอยู่ในปัจจุบัน 

สภาพภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบสูงสลับกับลำห้วยเล็ก ๆ รอบหมู่บ้านมีภูเขาเตี้ย ๆ เช่น เขาขวาง เขาเตียน เขากกตะโก เขาขโมยปล้น เขาพลวง และเขาพระยาเดินธง ส่วนภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสัก อีกทั้งยังอยู่ติดกับหนองน้ำหนองใหญ่ สภาพพื้นที่หมู่บ้านโคกสลุงจึงค่อนข้างเหมาะกับการทำเกษตรกรรม แต่ภายหลังการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในปี พ.ศ. 2542 อาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ทำให้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านโคกสลุง รวมถึงตำบลโคกสลุงทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำต้องเปลี่ยนแปลงไป

สถานที่สำคัญ

ภายในชุมชนบ้านโคกสลุงมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ได้แก่ วัด 1 แห่ง คือ วัดโคกสำราญ สำนักสงฆ์ 2 แห่ง คือ วัดโคกสำรวย (วัดหนองตามิ่งหรือวัดน้อย) และวัดหนองโสน โรงเรียนประถมศึกษา 2 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่ง สถานีอนามัย และสถานีตำรวจ อย่างละ 1 แห่ง รวมถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทเบิ้งบ้านโคกสลุง สถานที่ที่ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจของชาวบ้านโคกสลุงที่ต้องการสืบทอดฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไทเบิ้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านได้ระลึกถึงวัฒนธรรมพื้นบ้านของบรรพบุรุษชาวไทเบิ้งในตำบลโคกสลุง

วัดโคกสำราญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใหญ่ เป็นศาสนสถานศูนย์กลางการทำกิจกรรมชุมชน วัดโคกสำราญเป็นวัดหลักของหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นวัดเพียงแห่งเดียวที่มีโบสถ์สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพราะวัดหนองตามิ่ง และวัดหนองโสนแท้จริงเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีใบวิสุงคามสีมาจากคณะสงฆ์ นอกจากนี้ภายในวัดใหญ่ หรือวัดโคกสำราญยังมีการค้นพบวัตถุทางโบราณคดีสำคัญ เช่น หินทรายที่เคยเป็นส่วนประกอบของโบราณสถานในอดีต ฝังอยู่ใต้โบสถ์หลังเก่า

ประชากร

บ้านโคกสลุง ในเขตตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี แบ่งเขตพื้นที่การปกครองออกเป็น 7 หมู่ ดังนี้

หมู่บ้าน

จำนวนประชากร

จำนวน

ครัวเรือน

ชาย

หญิง

รวม

โคกสลุง หมู่ที่ 1

558

629

1,187

365

โคกสลุง หมู่ที่ 2

701

689

1,390

509

โคกสลุง หมู่ที่ 3

430

459

889

339

โคกสลุง หมู่ที่ 4

496

487

983

272

โคกสลุง หมู่ที่ 5

511

494

1,005

337

โคกสลุง หมู่ที่ 6

541

550

1,091

349

โคกสลุง หมู่ที่ 7

805

842

1,647

594

รวม

3,546

4,150

7,696

2,765

ความสัมพันธ์ในครอบครัว

ตามวัฒนธรรมของชาวไทเบิ้งเมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง ซึ่งการปฏิบัติตัวของฝ่ายชายเมื่อเข้าไปอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกับพ่อแม่ภรรยา จะมีผลต่อการได้รับมรดกจากพ่อแม่ฝ่ายหญิง และจะได้เป็นใหญ่ในบ้านเมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงเสียชีวิต 

ไทเบิ้ง

การประกอบอาชีพ

เกษตรกรรม : ในอดีตชาวบ้านโคกสลุงยึดอาชีพเกษตรกรรมทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ภายหลังการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำนามีไม่มากเท่าพื้นที่พืชไร่ เกษตรกรรมของชาวบ้านโคกสลุงในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงเป็นการทำไร่มากกว่าทำนา ถึงกระนั้นยังคงมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังคงประกอบอาชีพทำนาสลับกับการทำไร่

การทำนา มีลักษณะเป็นการทำนาแบบสมัยใหม่ ทั้งการทำนาหว่าน นาดำ นาน้ำตม ในอดีตที่นาของชาวบ้านมักกระจายอยู่บริเวณริมน้ำป่าสัก แต่ภายหลังการเกิดขึ้นของโครงการการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ดินทำกินของชาวบ้านถูกเวนคืนไปเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับเงินชดเชยนำไปซื้อที่นาใหม่ที่อยู่ห่างไกลจากบ้านโคกสลุง และนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปซื้อยานพาหนะและเครื่องมือทางการเกษตรสำหรับใช้ทุ่นแรง

การปลูกข้าวโพด มักนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน

การปลูกต้นทานตะวัน เพื่อนำเอาเมล็ดทานตะวันมาแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว แต่เนื่องจากการปลูกต้นทานตะวันสำหรับชาวบ้านโคกสลุงยังถือเป็นอาชีพใหม่ ทำให้การลงทุนปลูกต้นทานตะวันยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมักออกไปรับจ้างตัดดอกทานตะวันมากกว่า

นอกจากการทำเกษตรกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอาชีพเกษตรกรรมอื่นที่กระจายอยู่ทั่วไป คือ การทำไร่อ้อย ไร่ถั่วเหลือง และข้าวฟ่าง

ปศุสัตว์ : สัตว์ที่นิยมเลี้ยงส่วนใหญ่ คือ วัว โดยจะเลี้ยงเพื่อขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง เนื่องมาจากนโยบายการสนับสนุนของรัฐให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม ในขณะที่การเลี้ยงหมู และไก่ เป็นเพียงการเลี้ยงทั่วไปตามบ้าน และซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน

รับจ้าง ภายหลังการเข้ามาของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ชาวบ้านจำนวนมากจำต้องเปลี่ยนสถานะจากเกษตรกรเจ้าของที่ดิน ไปสู่การเป็นแรงงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ งานรับจ้างที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การเป็นแรงงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และรับจ้างทำงานในไร่

ค้าขาย : ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายของชำขนาดเล็ก จำหน่ายสินค้าที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ภายในบ้านโคกสลุงยังมีตลาดสดที่ใช้พื้นที่ลานโล่งของวัดใหญ่เป็นพื้นที่จับจ่ายใช้สอย สินค้าส่วนใหญ่จะมีทั้งของสด เช่น ผัก และเนื้อสัตว์ รวมถึงของแห้งต่าง ๆ แต่จำนวนร้านค้าและสินค้ามีไม่มากนัก เพราะปกติชาวบ้านโคกสลุงจะรอจับจ่ายใช้สอยสินค้าจากตลาดนัด 2 แห่ง ที่จะเวียนมาเป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้แก่ ตลาดนัดวัดใหญ่ และตลาดนัดวัดหนองมิ่ง 

ประเพณีท้องถิ่น

ประเพณีท้องถิ่นของชาวไทเบิ้งโดยทั่วไปจะมีความคล้ายคลึงกับประเพณีของชาวไทยภาคกลาง ประเพณีที่ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ คือ ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เนื่องจากชาวไทเบิ้งบ้านโคกสลุงส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก ประเพณีท้องถิ่นประจำปี ได้แก่ ประเพณีเทศน์มหาชาติ ประเพณีทำบุญวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษาหรือลาพรรษา สงกรานต์ ลอยกระทง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ประเพณีวันสารท ประเพณีทำบุญกลางบ้าน แห่นางแมว ประเพณีรับท้องข้าว และประเพณีรับขวัญข้าว

ความเชื่อ

ชาวไทเบิ้งบ้านโคกสลุงเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับผีและอำนาจเหนือธรรมชาติมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แม้ว่าปัจจุบันความเชื่อต่าง ๆ เหล่านั้นจะไม่เข้มข้นเท่าในอดีต ทว่า ยังคงปรากฏให้เห็นผ่านวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งความเชื่อที่สำคัญของชาวไทเบิ้งบ้านโคกสลุง มีดังนี้

1. ความเชื่อเรื่องผี ผีที่ชาวไทเบิ้งเชื่อว่ามีจริง เคยเห็น และเคยได้ยินคำเล่าลือ ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีปอบ ผีพราย ผีนางไม้ ผีเป้า ผีกระสือ ผีตายโหง ผีปะกำ และผีตะมอย นอกจากนี้บางคนยังมีความเชื่อเรื่องกุมารทองและรักยมอีกด้วย

2. ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีรูปแบบเป็นเทวรูป พระพุทธรูป และพระเครื่องต่าง ๆ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลวง ศาลเจ้าพ่อศรีเทพหรือหลวงพ่อเพชร

3. ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและเทวดา ชาวไทเบิ้งบ้านโคกสลุงนับถือกราบไหว้มากที่สุด คือ พระแม่โพสพ เพราะเป็นเทวดาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านโดยตรง

4. ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เช่น ความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถา เครื่องรางของขลัง การสัก

5. ความเชื่อเรื่องอาหารการกินบางชนิด โดยเชื่อว่าผู้ชายที่เล่นไสยศาสตร์ห้ามกินปลาไหล มะขามป้อม ลูกสมอ และมะเฟือง เพราะจะทำให้ของเสื่อม ส่วนชายที่เป็นกามโรค ห้ามกินปลากะพงเพราะจะทำให้โรคกำเริบ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องของแสลงในบางโรค เช่น เวลาเป็นแผลห้ามกินไข่ ผู้หญิงที่มีลูกเล็กห้ามกินปลาดุกและผักแว่น

6. ความเชื่อเรื่องการขอฝน เนื่องจากชาวบ้านโคกสลุงส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จึงต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อให้พืชผลที่ปลูกเจริญงอกงามได้ผลดี ปีใดที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องหาวิธีทำให้ฝนตกตามแบบความเชื่อที่ได้รับสืบทอดมา โดยปกติจะใช้วิธีการแห่นางแมว 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทเบิ้ง ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาญวิทย์ ตีรประเสริฐ. (2548). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรม และกระบวนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมไทยเบิ้ง. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ภูธร ภูมะธน วรรณา จันทนาคม นวลน้อย บรมรัตนพงศ์ และคณะ. (2541). มรดกวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก. กรุงเทพฯ: พี. เอ. ลีฟวิ่ง จำกัด.

ชุมชนโคกสลุง โทร. 08-4978-6782, อบต.โคกสลุง โทร. 0-3648-3242