Advance search

ชาวผู้ไทบ้านหนองห้างได้นำเอา "ไผ่" ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากในชุมชนมาสร้างสรรค์เป็น "เครื่องจักสานไม้ไผ่ลายขิด" ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียง และสร้างรายได้ให้กับชาวผู้ไทบ้านหนองห้าง

บ้านหนองห้าง
หนองห้าง
กุฉินารายณ์
กาฬสินธุ์
อบต.หนองห้าง โทร. 0-4360-2108
วิไลวรรณ เดชดอนบม
7 ธ.ค. 2022
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 ก.พ. 2023
บ้านหนองห้าง

ที่ตั้งชุมชนในอดีตเป็นห้างสำหรับดักยิงสัตว์ที่ลงมากินน้ำและหาอาหารในหนองน้ำ จึงเรียกว่า “บ้านหนองห้าง” 


ชาวผู้ไทบ้านหนองห้างได้นำเอา "ไผ่" ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากในชุมชนมาสร้างสรรค์เป็น "เครื่องจักสานไม้ไผ่ลายขิด" ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียง และสร้างรายได้ให้กับชาวผู้ไทบ้านหนองห้าง

บ้านหนองห้าง
หนองห้าง
กุฉินารายณ์
กาฬสินธุ์
46110
16.584097
104.108213
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองห้าง

การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทสายตำบลหนองห้าง ถูกสันนิษฐานว่ามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่มณฑลยูนนานประเทศจีน ก่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสิบสองจุไท มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ในช่วงสงครามระหว่างราชอาณาจักรสยามและราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ภายหลังความพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ มีการอพยพย้ายฝั่งจากเมืองวังประเทศลาวมายังฝั่งไทย ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงเดินทางข้ามเทือกเขาภูพานมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่ยังไม่ถึงเทือกเขาภูพานก็หยุดสร้างบ้านเรือนชื่อ “บ้านป่าไผ่” ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ต่อมาชาวบ้านป่าไผ่ได้ทราบข่าวว่าราชวงศ์กอมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองกุดสิมนารายณ์ ชาวบ้านป่าไผ่จึงได้ทำการอพยพอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านเหล่าเตโช” อยู่ในอาณาบริเวณของเทือกเขาภูพานเช่นเดิม แต่ใกล้เมืองกุดสิมนารายณ์มากกว่าบ้านป่าไผ่ และอพยพครั้งสุดท้ายมาอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา และชาวผู้ไทบ้านเหล่าเตโชนี้คือบรรพบุรุษของชาวผู้ไทบ้านหนองห้าง 

ประวัติการก่อตั้งบ้านหนองห้างมีเรื่องเล่าว่ามีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชื่อนายท้าวกับนางเตี้ย ได้อพยพมาแสวงหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ ระหว่างนั้นได้สร้างกระท่อมอยู่เป็นการชั่วคราวในพื้นที่หลังเขา วันหนึ่งนายท้าวกับนางเตี้ยได้พบกับนายพรานชื่อตาผีม่วงมาขอพักอาศัยอยู่ด้วย นายพรานตาผีม่วงเล่าว่ามีสถานที่แห่งหนึ่งเหมาะแก่การตั้งหมู่บ้านอยู่ถัดไปไม่ไกลจากภูเขานี้ สถานที่แห่งนั้นมีหนองน้ำและลำธารซึ่งมีต้นทางจากภูเขา บริเวณริมหนองน้ำมีห้างสำหรับดักยิงสัตว์ที่ลงมากินน้ำและหาอาหารในหนองน้ำ นายท้าวและภรรยาได้ฟังดังนั้นก็ออกเดินทางไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เห็นเป็นจริงดังนายพรานว่า จึงตัดสินใจมาตั้งถิ่นฐานฝั่งทิศตะวันออกของหนองน้ำ และตั้งชื่อว่า “บ้านหนองห้าง” 

ลักษณะภูมิประเทศ 

บ้านหนองห้างเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขา ถูกล้อมรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาย ทำให้พื้นที่ชุมชนเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ทำให้บ้านหนองห้างมักประสบกับปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินและการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ถนนบางสายในหมู่บ้านยังคงเป็นถนนลูกรัง ทำให้การคมนาคมในหมู่บ้านหยุดชะงักเมื่อฤดูฝนมาเยือน ทว่าภูมิศาสตร์ที่ตั้งชุมชนที่อยู่บริเวณเชิงเขาหาได้สร้างแต่ผลกระทบเชิงลบให้กับชุมชน แต่กลับทำให้ชุมชนบ้านหนองห้างเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรสถานที่สำคัญทางธรรมชาติ แหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ซึ่งรวบรวมอารยธรรมความหลากหลายและมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย ทั้งยังมีศูนย์ศิลปาชีพชุมชน สถานที่ในการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นของคนในชุมชนให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนภายนอก 

สถานที่สำคัญ 

ป่าชุมชนโคกป่าซี 

บ้านหนองห้างมีพื้นที่ป่าไม้ชุมชนแห่งหนึ่งชื่อโคกป่าซี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าชุมชนบ้านหนองห้าง” (ซูเปอร์มาร์เก็ตบ้านหนองห้าง) เป็นป่าขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ เดิมทีเป็นป่าที่อุดมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ และสัตว์ป่าหลากชนิด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ป่าเกิดความเสื่อมโทรมอย่างมากจากการเผาไหม้ของอัคคีภัย และการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้ไปปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ผู้คนในชุมชนตำบลหนองห้างจึงจัดตั้งกองอาสาสมัครพิทักษ์ป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานสร้างหอเฝ้าระวังไฟป่า และจัดตั้งคณะกรรมการรักษาป่าขึ้น ผลจากการทำงานทำให้ป่าฟื้นตัวและกลับคืนสู่สภาพเดิม กลายเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชน และแหล่งศึกษาความหลากหลายทางธรรมชาติขององค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

วัดโพธิ์ชัย 

วัดโพธิ์ชัย หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ แต่เดิมเรียก “วัดไทร” เนื่องจากในบริเวณวัดมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ภายในวัดมีพระอุโบสถหรือสิมหลังหนึ่ง เป็นสิมทึบไม่มีหน้าต่าง แต่ใช้วิธีการเจาะช่องระบายอากาศขนาดเล็ก 4 ช่อง ให้แสงสว่างลอดผ่านเข้ามาในตัวพระอุโบสถ แปหัวเสาเป็นลำยองนาคสะดุ้ง แม้มองดูไม่วิจิตรงดงามดังที่ควรเป็นเท่าใดนัก แต่ก็นับว่ามีคุณค่าด้วยนับว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างแท้จริง นอกจากนี้ภายในศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ชัยยังมีธรรมาสน์เสาเดียว อายุกว่า 150 ปี ธรรมาสน์นี้เดิมทีเป็นธรรมาสน์เสาไม้ แต่เนื่องจากระยะเวลาทำให้เสาชำรุด จึงมีการบูรณะธรรมาสน์เสาไม้เป็นเสาปูน หลังคาทรงมณฑปมุงด้วยไม้ สูงจากพื้น 5 เมตร 57 เซนติเมตร ปัจจุบันธรรมาสน์เสาเดียววัดโพธิ์ชัยยังสามารถใช้งานได้อยู่ โดยจะใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เทศน์มหาชาติ เป็นต้น  

นอกจากนี้ วัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้างยังเป็นสถานที่เก็บรวบรวมรักษาใบเสมาหินโบราณ ซึ่งขุดพบทั่วไปในตำบลหนองห้างโดยเฉพาะนานองบัว ใบเสมาหินนี้แกะสลักลวดลายเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกเรื่องต่าง ๆ เช่น สุวรรณสามชาดก ฯลฯ 

วัดศิลาอาสน์จิตราษฎร์รังสรรค์ 

วัดศิลาอาสน์จิตราษฎร์รังสรรค์ หรือวัดเหนือหนองห้าง อยู่ห่างจากวัดโพธิ์ชัยประมาณ 500 เมตร ภายในวัดพบใบเสมาหินทรายศิลปะแบบทวารวดี คาดว่ามีอายุราว 1,000-1,400 ปี ส่วนฐานแกะสลักเป็นดอกบัวหงาย เหนือขึ้นไปสลักลวดลายพุทธชาดก สันนิษฐานว่าเป็นตอนพระวิทูรบัณฑิตชาดกขณะแสดงพระธรรมเทศนาให้ปุณณกยักษ์ฟัง นอกจากนี้วัดศิลาอาสน์จิตราษฎร์รังสรรค์ยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรังสฤทธ์ (หลวงพ่อโต วัดเหนือหนองห้าง) ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่อกข้างซ้ายขององค์พระ หลวงพ่อโตวัดเหนือหนองห้างจึงมีฐานะเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวผู้ไททั้งตำบลหนองห้าง จังหวัดกาฬสินธุ์ 

ถ้ำฝ่ามือแดง 

ถ้ำฝ่ามือแดง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำลายมือ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขาภูผาผึ้ง มีลักษณะเป็นเพิงผาหิน เว้าลึกเข้าไปประมาณ 5 เมตร เหนือเพิงหินปรากฏภาพฝ่ามือเขียนด้วยสีแดงคล้ำ มีทั้งมือเด็กและมือผู้ใหญ่ที่เขียนด้วยวิธีการทาบฝ่ามือลงไปกับหิน และเขียนรอยก้นหอยที่กลางฝ่ามือ นอกจากนี้ยังพบภาพลายเส้นและสัญลักษณ์ลวดลายอื่น ๆ เขียนปนอยู่กับภาพลายมือคล้ายภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี 

ภูผาผึ้ง 

ภูผาผึ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงประมาณ 400 เมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน แต่เดิมบริเวณนี้เป็นป่าอุดมสมบูรณ์มีผึ้งมาทำรังบนเพิงผาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้ขนานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “ภูผาผึ้ง” แต่จากการตีผึ้งเพื่อจำหน่าย ทำให้ในปัจจุบันไม่มีผึ้งอาศัยอยู่บนภูผาผึ้งแล้ว เหลือไว้เพียงร่องรอยของรังผึ้งเก่าที่ติดอยู่บนหน้าผาเท่านั้น   

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหนองห้าง เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรประจำชุมชน เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และผู้มีความสนใจเกษตรกรรมเข้ามาศึกษาดูงาน อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้วส่งออกจำหน่ายในท้องตลาด 

ศูนย์หัตถกรรมผู้ไทหนองห้าง 

ศูนย์หัตถกรรมผู้ไทหนองห้าง เป็นสถานที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP จากชาวบ้านในชุมชน อาทิ เครื่องจักสานไม้ไผ่ ผ้าทอ ฯลฯ โดยเฉพาะงานจักสานไม้ไผ่ลายขิด ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 

บ้านหนองห้าง ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประชากรทั้งสิ้น 799 ครัวเรือน จำนวน 3,262 คน แบ่งการปกครองตามเขตพื้นที่ออกเป็น 5 หมู่บ้าน ได้แก่ 

  • บ้านหนองห้าง หมู่ที่ 1 มีประชากร 203 ครัวเรือน 706 คน 
  • บ้านหนองห้าง หมู่ที่ 2 มีประชากร 209 ครัวเรือน 869 คน 
  • บ้านหนองห้าง หมู่ที่ 6 มีประชากร 141 ครัวเรือน 553 คน 
  • บ้านหนองห้าง หมู่ที่ 7 มีประชากร 135 ครัวเรือน 616 คน 
  • บ้านหนองห้าง หมู่ที่ 8 มีประชากร 111 ครัวเรือน 518 คน 

ผู้ไท

ชาวผู้ไทบ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ มีอาชีพหลักคือการทำนาเพื่อการบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าแล้ง บางครอบครัวจะมีการทำไร่หมุนเวียน เช่น ถั่วลิสง อ้อย มันสำปะหลัง และปอ มีการทำสวนมะม่วงและบวบเพื่อจำหน่ายแลกเปลี่ยนกันในชุมชน เนื่องจากชาวผู้ไทนิยมบริโภคบวบเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์จำพวก หม่อน ไหม โค กระบือ สุกร ไก่ ไว้บริโภค จำหน่าย และเพื่องานหัตถกรรมการทอผ้าและจักสาน เช่น ผ้าไหม กระติบข้าว กระเป๋าไม้ไผ่ ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน 

อีกหนึ่งอาชีพของชาวผู้ไทบ้านหนองห้างคือข้าราชการ เนื่องจากผู้คนในชุมชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษามากขึ้น มีการปลูกฝังแนวคิดว่าหากได้รับการศึกษาในระดับสูงและประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ จะสามารถยกระดับฐานะครอบครัวและมีความเป็นอยู่สุขสบาย แนวคิดนี้หยั่งรากฝังลึกลงในค่านิยมของชาวหนองห้างมาช้านาน นอกเหนือจากข้าราชการแล้วยังมีชาวบ้านที่ทำงานในหน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจอีกเป็นจำนวนมาก กระนั้น คนเหล่านี้ก็ยังไม่ละทิ้งอาชีพเกษตรกร โดยจะใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน และวันหยุดสุดสัปดาห์ในการลงแรงทำเกษตรกรรม  

ปัจจุบันสมาชิกในชุมชนบ้านหนองห้างได้เข้าร่วมกลุ่มประกอบอาชีพที่ถูกจัดขึ้นโดยสมาชิกตำบลหนองห้าง หมู่ที่ 1-9 เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารและให้ความช่วยเหลือเงินทุนแก่สมาชิกในกลุ่มอาชีพเดียวกัน (เงินสหกรณ์) ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรณ์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผลิตข้าวชุมชน กลุ่มไร่นาสวนผสม กลุ่มเลี้ยงไหม และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร  

ประชากรส่วนใหญ่ในบ้านหนองห้างประกอบอาชีพเกษตรกรทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นหลัก วิถีชีวิตของชาวชุมชนหนองห้างในแต่ละวันจึงถูกใช้ไปกับการดูแลพืชผลทางการเกษตร และสำหรับสมาชิกในชุมชนที่ออกไปประกอบอาชีพอื่น จะใช้เวลาหลังเลิกงานและวันหยุดสุดสัปดาห์มาลงแรงกับงานด้านเกษตรกรรม แต่เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะใช้เวลาไปกับการทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และสำหรับสมาชิกที่ออกไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ข้าราชการ พนักงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ จะใช้ช่วงเวลาหลังเลิกงานและวันหยุดสุดสัปดาห์ในการทำเกษตรกรรม นอกจากนี้ชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองห้างยังใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมมาทำหัตถกรรมงานฝีมือเป็นงานอดิเรก ทั้งการทอผ้าไหม และการจักสาน เช่น ตะกร้า กระเตาะ (กระเป๋าถือขนาดเล็ก) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมากของชาวผู้ไท  

วัฒนธรรมการกินอยู่ของชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองห้าง สะท้อนวิถีความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากอาหารที่ชาวชุมชนบ้านหนองห้างนิยมรับประทาน คืออาหารที่หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น มีข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักรับประทานคู่กับแกงหรือกับข้าว 1-2 อย่าง โดยกับข้าวของชาวผู้ไทบ้านหนองห้างจะต้องมีรสชาติเผ็ดเล็กน้อย-ปานกลาง ตามแบบฉบับรสชาติอาหารของชาวอีสาน 

ชาวผู้ไทบ้านหนองห้าง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตการดำรงอยู่โดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ปัจจัยเหล่านี้ล้วนได้มาจากธรรมชาติ ในอดีตเมื่อครั้งวิทยาการทางการแพทย์รวมถึงการคมนาคมขนส่งยังไม่เจริญก้าวหน้าเทียบเท่าปัจจุบัน ยามสมาชิกในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วย สมาชิกที่เหลือจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกิดเป็นพัฒนาการความสนใจใคร่รู้ที่จะนำเอาพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประยุกต์ดัดแปลงเป็นยารักษาโรค  

ด้านศาสนา ชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองห้างมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักคอยยึดเหนี่ยวจิตใจ มีความศรัทธาในพระสมณโคดม และหลักธรรมคำสอนที่สังคายนาไว้ในพระไตรปิฎก มีการประกอบประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระวันสำคัญต่าง ๆ ประเพณีพิธีกรรมของชาวผู้ไทบ้านหนองห้างมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นเดียวกับประเพณีพิธีกรรมของชาวไทอีสาน ยึดถือฮีตสิบสองและคองสิบสี่ตามแบบอย่างบรรพบุรุษสืบทอดมา  

ชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองห้างมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวผู้ไท ได้แก่ ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท ประเพณีบุญกองข้าว ประเพณีหมอเหยา ประเพณีบูชาข้าว 9 ก้อน และประเพณีบุญเจ้าปู่ 

ประเพณีแต่งงานชาวผู้ไท มีลักษณะ คือ พ่อแม่ฝ่ายชายจะทำ “การโอม” ขอหมั้นหมายฝ่ายหญิงจากพ่อแม่ โดยมีคู่สามีภรรยาซึ่งเป็นแบบอย่างในการครองเรือนมาเป็นตัวกลางในการสู่ขอ เรียกว่า “พ่อล่ามแม่ล่าม” ซึ่งต่อไปจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของบ่าวสาว นอกจากนี้ในประเพณีแต่งงานของชาวผู้ไทยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเฆี่ยนเขย คือการให้ฝ่ายหญิงได้บอกกล่าวข้อปฏิบัติต่าง ๆ กับฝ่ายชายว่าสิ่งใดสามารถปฏิบัติได้ หรือสิ่งใดควรละเว้น เป็นต้น  

ประเพณีบุญกองข้าว เป็นประเพณีที่ประกอบขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณพระแม่โพสพ ประเพณีบุญกองข้าวนี้จะถูกจัดขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ (ประมาณเดือนสาม) ภายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวและนำข้าวขึ้นยุ้งเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะนำเครื่องบูชา ได้แก่ ไม้ยอ ไม้คูณ และข้าวปลาอาหาร ประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญยุ้งฉางของตนเอง แล้วนำข้าวเปลือกไปกองรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีสมโภชและถวายให้วัดได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป  

ประเพณีหมอเหยา ตามคติความเชื่อของชาวผู้ไทหมอเหยาคือผู้เป็นสื่อกลางระหว่างพญาแถนกับมนุษย์และภูตผีปีศาจที่ทำให้มนุษย์โลกเกิดความเจ็บป่วย จึงต้องมีการแก้บน พิธีกรรมเหยาถือเป็นการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยอันเกิดจากการล่วงละเมิดหรือสร้างความไม่พอใจต่อผี โดยหมอเหยาจะทำพิธีเหยาเพื่อสืบหาว่าผีตนใดที่ทำให้มนุษย์เกิดความเจ็บป่วย จากนั้นจึงจะแนะนำวิธีแก้ไข ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีกรรม ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย จะต้องมีการปลงคายจึงจะถือว่าพิธีกรรมเสร็จสิ้นสมบูรณ์ 

ประเพณีบูชาข้าว 9 ก้อน ชาวผู้ไทจะทำพิธีบูชาข้าว 9 ก้อน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของนพเคราะห์ทั้ง 9 ในช่วงฤดูแล้ง อันเป็นการสะเดาะเคราะห์สร้างสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว  

ประเพณีบุญเจ้าปู่ คือพิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษที่เชื่อว่าคอยปกปักคุ้มครองคนในหมู่บ้าน ประเพณีบุญเจ้าปู่จะถูกจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง โดยชาวบ้านจะนำเอาสุราอาหารไปยังศาลเจ้าปู่ โดยคาดคะเนระยะเวลาในการรับประทานอาหารของเจ้าปู่ประมาณ 1 ก้านธูป จากนั้นจึงเป็นการเลี้ยงอาหารของชาวบ้านผู้ไปร่วมพิธีกรรม 

จะเห็นว่าประเพณีพิธีกรรมของชาวผู้ไทดังที่กล่าวมาข้างต้น ปรากฏประเพณีพิธีกรรมที่แฝงคติความเชื่อเรื่องผีและไสยศาสตร์ เช่น พิธีกรรมเหยา ประเพณีบุญเจ้าปู่หรือการไหว้ผีบรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องหมอดู นางหรง การบะหรือการบน ความเชื่อเรื่องการคะลำ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานคติความเชื่อระหว่างพุทธศาสนากับอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือศาสนาผี ซึ่งนับได้ว่าเป็นศาสนาดั้งเดิมของหลากกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนา สะท้อนให้เห็นว่า แม้ปัจจุบันชาวผู้ไทบ้านหนองห้าง ซึ่งในอดีตคือกลุ่มชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง จะมีศาสนาหลักคือพุทธศาสนา ทว่าชาวผู้ไทก็ยังคงไม่ละทิ้งคติความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ อันเป็นขนบวิถีเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เกิดการบูรณาการระหว่างความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องผีให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

1. เครื่องจักสานไม้ไผ่ลายขิด 

เครื่องจักสานไม้ไผ่ลายขิดเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงของชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยการนำเอาลวดลายบนผ้าที่เรียกว่า “ผ้าลายขิด” มาสร้างลวดลายลงบนเครื่องจักสาน เนื่องจากพื้นที่ตั้งชุมชนบ้านหนองห้างเป็นพื้นที่ที่มีต้นไผ่จำนวนมากเกิดอยู่ทั่วบริเวณ ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านหนองห้างมีความผูกพันกับต้นไผ่ ก่อเกิดการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเกิดจากการนำเอาวิถีชีวิตการดำรงอยู่ที่มีความสอดคล้องและผูกพันกับธรรมชาติมาปรับประยุกต์ โดยการสร้างงานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่สืบทอดจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลานในปัจจุบัน ไม้ไผ่ในชุมชนบ้านหนองห้างมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นไผ่ไร่ที่ชาวบ้านนิยมนำหน่อมาประกอบอาหาร และนำเปลือกมาตัดแต่งดัดแปลงเพื่อทำเครื่องจักสาน เช่น กระติบข้าว กระบุง ไซ หวดนึ่งข้าว กระเป๋า กระเตาะ แรกเริ่มการจักสานไม้ไผ่เป็นการจักสานเพื่อสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ปัจจุบันเครื่องจักสานไม้ไผ่กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน สินค้าจากการจักสานไม้ไผ่ของชาวผู้ไทยบ้านหนองห้างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเครื่องจักสานไม้ไผ่ลายขิด ภายหลังมีอาจารย์จากวิทยาลัยครูมหาสารคามได้นำเครื่องจักสานลายขิดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ ทอดพระเนตร ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้นายจีระพันธ์  ไชยขันธ์ บุตรของนายคำสิงห์ ไชยขันธ์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ในการจักสานลายขิด ตามเสด็จไปสอนศิลปาชีพแก่ราษฎรทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ นอกจากนี้ยังมีรับสั่งปรับปรุงลายขิดให้มีความประณีตยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จักสานลายขิดมีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นที่นิยมของผู้สนใจชื่นชอบผลิตภัณฑ์สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทบ้านหนองห้าง จังหวัดกาฬสินธุ์ตราบจนปัจจุบัน 

แม้ว่างานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ลายขิดจะเป็นสินค้าเลื่องชื่อของชาวผู้ไทชุมชนบ้านหนองห้าง และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากผู้คนภายนอก ทว่าสถานภาพปัจจุบันกลับมีกระแสผกผันตรงข้ามกับความนิยม เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักสานไม้ไผ่บ้านหนองห้างประสบกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุนและร่นระยะเวลาในการผลิต เพราะการผลิตเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ 1 ชิ้น ใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก ด้วยต้องใช้ความประณีตและละเอียดสูง อีกทั้งวัตถุดิบในการผลิตดังเช่นไม้ไผ่ไร่และหวาย บางครั้งต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางที่นำมาจำหน่ายในหมู่บ้าน ภายหลังผลิตเสร็จก็ประสบกับปัญหาขั้นที่สอง คือขาดตลาดในการรองรับผลผลิต ตามกระบวนการแล้วเมื่อสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักสานผลิตสินค้าเสร็จ จะนำสินค้ามาฝากขายที่กลุ่มสมาชิก เมื่อขายสินค้าได้ เงินรายได้จะถูกหักเข้ากลุ่ม 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้สมาชิกเกิดความรู้สึกว่ายุ่งยากและรอนาน อีกทั้งค่าตอบแทนที่ได้ยังไม่คุ้มกับการลงแรงผลิต ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองห้างที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมการจักสานไม้ไผ่ลายขิดมีจำนวนลดน้อยลง  

2. ธรรมาสน์เสาเดียว 

ธรรมาสน์เสาเดียว คือธรรมาสน์ที่มีลักษณะโครงสร้างเสาเดียว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่พบเฉพาะธรรมาสน์ของชาวผู้ไทเท่านั้น ธรรมาสน์เสาเดียวเป็นศาสนวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของชาวผู้ไท สะท้อนศรัทธาอันแรงกล้าภายใต้การสร้างมโนคติความเชื่อเกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ ผสานรวมหลักไตรภูมิในพระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องหลักกลางบ้านอันเป็นวัฒนธรรมร่วมดั้งเดิมของชาวผู้ไท โดยการนำเอาเสาหลักบ้านมาใช้เป็นเสาตั้งรับธรรมาสน์ แล้วเจาะพื้นศาลาการเปรียญเพื่อฝังเสาธรรมาสน์ลงดินให้เหมือนหลักบ้านเดิม สอดคล้องกับคติการนับถือผีของชาวผู้ไท ทั้งยังอาจมีนัยสำคัญว่าเสาธรรมาสน์ที่ปักลงดินเปรียบเสมือนใจบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการประกอบประเพณีพิธีกรรมการบวงสรวงต่าง ๆ ของชาวผู้ไท  

ลักษณะโครงสร้างธรรมาสน์เสาเดียวมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ แบบเสากลมกลึงลักษณะแอวขันแกะลายแต้มสี และเสาสี่เหลี่ยมแต้มสีเขียนลาย ส่วนหลังคามี 2 ลักษณะเช่นเดียวกัน ได้แก่ หลังคาทรงมณฑป และหลังคาทรงจตุรมุข หลังคาและตัวเรือนเป็นไม้ ฉลุแกะไม้เป็นลวดลายเครือเถาและลายตอกก้านต่อก้าน แต่งแต้มสีด้านนอกตัวเรือน ประกอบด้วยสีแดง สีเหลือง สีขาว และสีเขียว เสาธรรมาสน์ส่วนใหญ่นิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้ประดู่ ฯลฯ ส่วนไม้ที่ไม่นิยม เช่น ไม้ซาก ไม้กะบก ไม้กะเบา ไม้พะยอม ฯลฯ เพราะตามคติความเชื่อของชาวผู้ไทถือว่าชื่อไม้ไม่เป็นสิริมงคล เพราะเป็นเรื่องซาก เรื่องบก เรื่องเบา เป็นต้น  

ภายในศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง มีธรรมาสน์เสาเดียว อายุกว่า 150 ปี สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2404 ธรรมาสน์นี้เดิมทีเป็นธรรมาสน์เสาไม้ แต่เนื่องจากระยะเวลาทำให้เสาชำรุด จึงมีการบูรณะธรรมาสน์เสาไม้เป็นเสาปูน หลังคาทรงมณฑปมุงด้วยไม้ สูงจากพื้น 5 เมตร 57 เซนติเมตร ปัจจุบันธรรมาสน์เสาเดียววัดโพธิ์ชัยยังสามารถใช้งานได้อยู่ โดยจะใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น บุญเดือนสี่ หรือบุญเทศน์มหาชาติ เป็นต้น 

ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยกลาง (ภาษาราชการ) 

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง  

ชาวผู้ไทบ้านหนองห้างมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง คือ ภาษาผู้ไท แต่ไม่มีภาษาเขียน ฉะนั้นชาวผู้ไทจึงใช้ภาษาไทยกลางในการเขียน และติดต่อสื่อสารทางราชการ  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

คำพันธ์ ยะปะตัง. (2555). ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

รุ่งรัตน์ สุขแสง ปิยธิดา ปัญญา และประสพสุข ฤทธิเดช. (2556). การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน: กรณีเครื่องจักสาน ไม้ไผ่ลายขิด บ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยและประเมินผลการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. 

สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงศ์ และบงกช เจนชัยภูมิ. (2552). การศึกษาเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยววัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท บ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. รายงานการวิจัยทุนอุดหนุนทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เพิ่มเติม). 

สำนักวัฒธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (ม.ป.ป.). ฐานข้อมูลทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้านพุทธศิลป์ในภาคอีสาน : วัดโพธิ์ชัยบ้านหนองห้าง. ค้นจาก https://cac.kku.ac.th/esanart

อบต.หนองห้าง โทร. 0-4360-2108