
เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการรวมตัวของผู้คนในชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาในการทำสวนผลไม้ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปีมาเป็นจุดขายของชุมชน โดยมีการเปิดกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตเกษตรในแก่ผู้คนภายนอก ทั้งนี้จากภูมิปัญญาการทำสวนภายในชุมชนทำให้พื้นที่เป็นแหล่งที่มีผลไม้ที่ขึ้นชื่อ เช่น ทุเรียน เงาะสีชมพู ระกำ มังคุด
ในอดีตมีเรื่องเล่าถึงการอธิษฐานในการยืมของจากเทพที่เขาบายศรี แต่ชาวบ้านไม่คืนของแก่เทพทำให้ต้องมีการทำบายศรีใบตองสดไปคืนแก่เทพเพื่อเป็นการขอขมา จากการทำบายศรีนี้จึงนำมาเป็นการเรียกเป็นชื่อพื้นที่ในเวลาต่อมา
เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการรวมตัวของผู้คนในชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาในการทำสวนผลไม้ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 100 ปีมาเป็นจุดขายของชุมชน โดยมีการเปิดกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตเกษตรในแก่ผู้คนภายนอก ทั้งนี้จากภูมิปัญญาการทำสวนภายในชุมชนทำให้พื้นที่เป็นแหล่งที่มีผลไม้ที่ขึ้นชื่อ เช่น ทุเรียน เงาะสีชมพู ระกำ มังคุด
ชุมชนเขาบายศรีไม่ปรากฏหลักฐานปรากฏเพียงตำนานชื่อของชุมชนคือ ตำนานเขาบายศรี ครั้งหนึ่งนานมาแล้วภูเขาลูกนี้ยังไม่มีชื่อเรียก ชาวบ้านที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงรุ่นแรก ๆ ยังมีไม่กี่หลังคาเรือน พลเมืองน้อย ที่รกร้างว่างเปล่ามีมาก วันขึ้น 15 ค่ำ เวลากลางคืนมักได้ยินเสียงคล้ายเสียงดนตรีลอยมาจากภูเขาลูกนี้ ชาวบ้านก็มีความเกรงกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกหลอนวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ
จนคืนหนึ่งเทพยดาที่สิงสถิตอยู่บนภูเขาลูกนี้ก็มาเข้าฝันชาวบ้านคนหนึ่ง สมมติชื่อว่านางพลอย ซึ่งต้องการทำบุญถวายอาหารแก่พระธุดงค์แต่ขาดถ้วยชามที่สวยงาม เป็นเทพสังหรณ์ว่าให้ไปที่ภูเขาลูกนี้ จุดธูปอธิษฐานที่หน้าปากถ้ำ เพื่อขอยืมถ้วยชามที่สวยงามจากเทพยดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ปากถ้ำก็จะเปิดออก เมื่อเสร็จงานแล้วก็จงเอาถ้วยชามมาคืนที่เดิม นางพลอยก็ปฏิบัติตามในฝัน ซึ่งได้ผลเป็นไปตามความฝันทุกประการ ส่วนเพื่อนบ้านชื่อนางฟักเห็นถ้วยชามที่สวยงามและรู้วิธีขอยืมจากปากของนาง พลอยก็มีความโลภอยากได้บ้าง จึงไปที่ภูเขาจุดธูปอธิษฐานขอยืมถ้วยชาม ทันใดปากถ้ำก็เปิดออก ก็มีถ้วยชามสวย ๆ งาม ๆ เต็มไปหมด นางฟักก็ตื่นเต้นและขนถ้วยชามออกจากถ้ำเต็มที่ เอาไปบ้านและไม่ต้องการจะส่งคืน พอถึงคืนเดือนเพ็ญ 15 ค่ำ เสียงดนตรีจากภูเขาลูกนี้ก็ดังขึ้นอีก เป็นเสียงดนตรีที่มีความไพเราะเพราะพริ้งสำหรับคนอื่น ๆ แต่กับนางฟักและครอบครัวแล้วก็เป็นเสียงดนตรีที่รบกวนโสตประสาทเป็นอันมาก คล้าย ๆ กับเจ้าของถ้วยชามในถ้ำบนภูเขากำลังเรียกร้องให้เอาของไปคืน จิตใจของนางฟักมีแต่ความร้อนรุ่ม กระวนกระวายหาความสงบมิได้
จึงปรึกษากันภายในครอบครัวว่าจะต้องเอาของไปคืนและขอสมาลาโทษต่อสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าของถ้วยชามนั้น พอสิ้นเสียงปรึกษาหารือกันแล้ว เสียงดนตรีที่รบกวนก็หยุดเงียบลง ทุกคนขนลุกด้วยความหวาดกลัว วันรุ่งขึ้นนางฟักและลูกหลานก็ช่วยกันทำบายศรีใบตองสด บรรจุข้าวสุก ไข่ต้มและเครื่องเซ่นบูชาอื่น ๆ เก็บถ้วยชามสวยงามที่ยืมมาพากันไปที่ปากถ้ำบนภูเขาพอตั้งบายศรีลงแล้วก็จุดธูปอธิษฐานขอสมาลาโทษต่าง ๆ พร้อมกับขอสำนึกผิด และขอคืนถ้วยโถโอชามที่ยืมไปนำมาคืน ปากถ้ำก็เปิดออก นางฟักและลูกหลานก็นำถ้วยชามต่าง ๆ เข้าไปเก็บคืนเข้าที่เดิมพากันกลับมาที่อยู่อาศัยต่อไปยังมีชาวบ้านคนอื่นรู้กิตติศัพท์เรื่องนี้ ก็พากันจุดธูปอธิษฐานขอยืมถ้วยชามบ้างแต่ประตูก็ไม่เปิดออกมาอีกเลย เห็นแต่บายศรีนั้นตั้งเด่นอยู่จึงพากันเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “เขาบายศรี” กันต่อ ๆ มา ภายหลังมีผู้คนเพิ่มขึ้นก็เรียก “บ้านเขาบายศรี” เมื่อชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดประจำหมู่บ้านก็ตั้งชื่อว่า “วัดเขาบายศรี” เมื่อพลเมืองเพิ่มมากขึ้นแบ่งแยกเป็นตำบลเพื่อสะดวกในการปกครองจึงเรียกชื่อว่า “ตำบลเขาบายศรี”
ชุมชนเขาบายศรี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีวิถีชีวิตดำรงอยู่อย่างเรียบง่าย ตามสภาพของสังคมเกษตรกรรม “สวนผลไม้” ที่มีรสชาติความอร่อยทำให้คนในชุมชนริเริ่มรวมกลุ่มกันจัดตั้งหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่มีในชุมชนและด้วยการสั่งสมภูมิปัญญาในการทำสวนผลไม้มาอย่างยาวนาน ที่ชุมชนเขาบายศรีมีผลไม้พื้นบ้านที่เก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี อาทิ เช่น ทุเรียนโบราณขนาดสูง – ใหญ่ที่สุด และมังคุด และบรรยากาศสวนผลไม้ขึ้นชื่ออย่างเงาะ ระกำ
ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนบางส่วนเป็นเทือกเขาและที่ราบบางส่วน ตำบลเขาบายศรี มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก เหมาะแก่การเพาะปลูกผลไม้หลายชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลางสาด ระกำ สละ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลำธารคลองเล็กคลองน้อยหลายสายไหลผ่านหมู่บ้านในตำบลอีกด้วย
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลสองพี่น้อง, ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี,ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี, ตำบลแสลง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อ เทศบาลตำบลท่าใหม่, เทศบาลตำบลเนินสูง, ตำบลเขาวัว, ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
สภาพทั่วไปของชุมชน
ชุมชนรักษ์เขาบายศรี เป็นชื่อเรียกหมู่บ้าน หมู่ที่ 3, 4 และ 5 ของตำบลเขาบายศรี ทั้งสามหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการตั้งบ้านเรือนครั้งแรกเมื่อใด บริเวณวัดเขาบายศรีมีเนินเขาเตี้ย ๆ ชาวบ้านเรียกว่า “เขาบายศรี” มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า “เดิมบริเวณนี้มีภูเขา 1 แห่ง กลางคืนจะมีเสียงเพลงแว่วมาจากภูเขา มีชาวบ้านได้นำ เครื่องบายศรีไปกราบไหว้เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณภูเขา ต่อมาจึงเรียกว่า “เขาบายศรี”
พื้นที่ของชุมชนรักษ์เขาบายศรีส่วนใหญ่จะเป็นสวนผลไม้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมีอาชีพเกษตรกรรม เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นจึงได้มีการรวมตัวกันดำเนินการเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
วิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี ท่าใหม่ จันทบุรี
วิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี ท่าใหม่ จันทบุรี โด่ดเด่นในเรื่องการนำผลไม้มาเป็นจุดขายการท่องเที่ยว ซึ่งวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรรักษ์เขาบายศรี ตั้งอยู่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่นี่จะมีผลไม้มากมายให้ได้ลองชิมและอุดหนุนกลับบ้าน ทั้งทุเรียน เงาะ ระกำ ลองกอง ฯลฯ โดยเฉพาะทุเรียนนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ ชะนี พวงมณี ก้านยาว หมอนทอง ฯลฯ นอกจากซื้อผลิตผลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรีแล้ว ยังสามารถเดินชมต้นทุเรียน ต้นมังคุดอายุร้อยปี สวนระกำหวาน ที่อยู่ใกล้ ๆ กันได้อีกด้วย
ทั้งนี้กล่าวได้ว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี ท่าใหม่ จันทบุรี เป็นการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวโดยสมาชิกในชุมชนร่วมกัน มีการบริหารจัดการและเป็นเจ้าของกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนร่วมกัน นอกจากมีสวนผลไม้แล้ว ที่นี่ยังมีโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะมาเรียนรู้วิถีชาวสวนและลองใช้ชีวิตในแบบของชาวสวนผลไม้อีกด้วย เช่น โฮมสเตย์ในสวนผลไม้รักษ์เขาบายศรี
ทุนทางวัฒนธรรม
อาหารหมูต้มใบชะมวง เป็นอาหารที่มี 3 รส มีรสมาจากน้ำปลาดี เปรี้ยวจากใบชะมวง หวานจากน้ำตาลปึก สามรสเข้มข้นและเครื่องปรุงจากกระเทียม ข่า ตะไคร้ หอมแดง พริกแห้ง และกะปิ ผสมผสานกับหมูสามชั้นหั่นชิ้นเคี่ยวจนได้ที่ ใบชะมวงนอกจากจะใช้แกงหมูชะมวงแล้วยังนำมาแกงกับปลาเลียวเชียวหรือต้มกับเนื้อได้
ทุนทางกายภาพ
สวนผลไม้นานาชนิดที่มีความเก่าแก่กว่า 100 ปี
- เงาะสีชมพู มีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดจันทบุรี คุณสมบัติที่ดีคือทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
- ทุเรียน ทุเรียนผลไม้เมืองร้อน โดยพันธุ์ที่ปลูกในชุมชนเขาบายศรีคือ พันธุ์ชะนี พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว ซึ่งเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกในสวนของชาวบ้าน
ชุมชนรักษ์เขาบายศรีปัจจุบันมีการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนโดยมีรูปแบบให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อศึกษาเรียนรู้การทำสวนผลไม้และวิถีชีวิตชาวสวนเก่าแก่ โดยมีการพัฒนาการประชาสัมพันธ์ชุมชนรักษ์เขาบายศรีให้เป็นที่รู้จักโดยการออกบูธกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจำหน่ายสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนอย่าง ข้าวระกำขยำปู เส้นจันท์ผัดปู และระกำเปรี้ยว เป็นการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักและสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวชุมชนรักษ์เขาบายศรีอีกด้วย
ภายในชุมชนมีการรวมตัวกันภายใต้กลุ่มผู้คนในชุมชนรักษ์เขาบายศรี จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี มีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบ Gastro Paradiso ที่มีความโดดเด่น ในเรื่องของพืชพันธุ์ และผลไม้พื้นถิ่นของดินแดนภาคตะวันออก เช่น ทุเรียนโบราณซึ่งเป็นพันธุ์พื้นถิ่นหลากหลายพันธ์ มังคุด ลองกอง เงาะ ระกำ เป็นต้น เมื่อถึงฤดูกาลผลไม้ วิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรีจะเปิดสวนเพื่อตอนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าไปลิ้มรสผลไม้ถึงสวน พร้อมกับมีกิจกรรมเก็บผลไม้ด้วยตัวนักท่องเที่ยว อีกจุดเด่นหนึ่งของชุมชน คือในชุมชนมีการนำเอาผลไม้จากสวนมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารพื้นถิ่นที่มีความน่าสนใจและสร้างมูลค่าของอาหารให้สูงขึ้นได้อย่างลงตัว เช่น เมนูน้ำพริกระกำ, ข้าวระกำขยำปู, ไก่ต้มส้มระกำ, ยำมังคุด, มัสมั่นทุเรียน, หมูชะมวง, ทุเรียนผัดพริกแกง
ภายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเรียนรู้วิถีเกษตรที่หลากหลาย ทั้งแบบเดินทางไปเยี่ยมชมและพักค้างคืน โดยในกลุ่มวิสาหกิจมีโฮมสเตย์ท่ามกลางบรรยากาศสวนผลไม้ที่ได้รับมาตรฐาน ไว้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม
กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
ชมสาธิตการตัดดอกระกำตัวผู้, ชมอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินภูมิปัญญาพื้นบ้านเขาบายศรี
ของฝาก / ของที่ระลึก
ท๊อฟฟี่ถั่ว, ท๊อฟฟี่ทุเรียน, ทุเรียนทอด, มังคุดกวน, ทุเรียนกวน
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไทยชุมชน. (2564). ชุมชนรักษ์เขาบายศรี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก https://gastronomythailand.com/community/detail/6.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2544). วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติเอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
เทศบาลตำบลเขาบายศรี. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาของ “เขาบายศรี”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://www.khaobaisri.go.th/data.php?content_id=1.
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ. (ม.ป.ป.). วิสาหกิจชุมชนรักษ์เขาบายศรี ท่าใหม่ จันทบุรี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://eculture.rbru.ac.th/ID157-วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรรักษ์เขาบายศรี.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. (2561). วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/19.