Advance search

เวียงกุ๋มก๋าม
เมืองโบราณเวียงกุมกาม ราชธานีแห่งแรกของอาณาจักล้านนา ซึ่งถูกสถาปนาโดยพญาเม็งราย มหากษัตริย์แห่งโยนกนคร แหล่งโบราณสถานวัดเก่าแก่กว่า 20 แห่ง ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวอารยธรรมตำนานชาวล้านนาผ่านกำแพงเจดีย์ที่ร้อยเรียงผ่านอิฐแดงหลายแสนก้อน

50100
ท่าวังตาล
สารภี
เชียงใหม่
วิสาหกิจชุมชน โทร. 06-5879-9655, เทศบาลวังตาล โทร. 0-5314-0981
กานต์ธิดา คำปวน
8 ก.พ. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 พ.ค. 2023
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
28 เม.ย. 2023
เวียงกุมกาม
เวียงกุ๋มก๋าม

"กุมกาม" มาจากคำว่า "กุม" และ "กาม"

  • กุม หมายถึง รักษา เนื่องจากเป็นภาษาไทยยวนมีความหมายคล้ายกับคำว่า "คุม" ในภาษาไทย กลาง ซึ่งหมายความว่า ป้องกันรักษา คอยกำกับดูแล ดังนั้น เวียงกุมกาม หมายถึง รักษาบ้านเมือง

  • กาม หมายถึง บ้านเมือง แต่ในการศึกษาครั้งแรกก็มิได้รู้ว่าเป็นอะไร แต่สันนิฐานจากเวียงอื่น ที่ลงท้ายด้วยคำว่ากาม คือ เวียงพุกาม ซึ่งในภาษา พม่า กามแปลว่า บ้าน 

เมื่อผนวกรวมคำว่า "กุม" และ "กาม" เข้าด้วยกัน จึงได้ความหมายว่า รั้วกำแพงคุ้มภัยอาณาจักร ซึ่งสอดคล้องกับพราะราชประสงค์หนึ่งในการก่อสร้างเวียงกุมกามของพญามังราย ที่ต้องการให้เวียงกุมกามเป็นกำแพงป้องกันภยันอันตรายแก่บ้านเมือง


เมืองโบราณเวียงกุมกาม ราชธานีแห่งแรกของอาณาจักล้านนา ซึ่งถูกสถาปนาโดยพญาเม็งราย มหากษัตริย์แห่งโยนกนคร แหล่งโบราณสถานวัดเก่าแก่กว่า 20 แห่ง ซึ่งได้บอกเล่าเรื่องราวอารยธรรมตำนานชาวล้านนาผ่านกำแพงเจดีย์ที่ร้อยเรียงผ่านอิฐแดงหลายแสนก้อน

50100
ท่าวังตาล
สารภี
เชียงใหม่
50140
18.7447381251491
98.99458106932454
เทศบาลนครเชียงใหม่

เมืองโบราณเวียงกุมกาม ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณระหว่างแม่น้ำปิงสายเก่าและสายใหม่ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ  5 กิโลเมตร ในพื้นที่ของตำบลท่าวังตาล และตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี รวมถึงตำบลป่าแดด และตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ด้วย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดราว ๆ  3 ตารางกิโลเมตร

เวียงกุมกาม เป็นที่รู้จักกันมานานนับจากที่กรมศิลปากรได้ค้นพบพระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างหริภุญไชย (ลำพูน) จากการขุดแต่งทางโบราณคดีบริเวณวัดกานโถม (วัดช้างค้ำ) เมื่อ พ.ศ. 2527 การขุดค้นยังคงดำเนินต่อมาภายหลังเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2527-2546 เป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี ที่กรมศิลปากรได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณแห่งนี้ หลักฐานโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรมที่พบทำให้เรื่องราวของเวียงกุมกามชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขุดค้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 พบประติมากรรมมกรคายมังกรที่วัดกู่ป้าด้อม และเครื่องถ้วยจีนที่ฝังจมอยู่ในชั้นดินใต้ตะกอนทรายบริเวณวัดหนานช้าง โบราณวัตถุเหล่านี้แม้จะไม่สามารถนำมาสรุปภาพรวมของเวียงกุมกามได้ครบถ้วน แต่ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการให้แก่ผู้ที่สนใจจะสืบค้นประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณแห่งนี้เพิ่มเติม

เวียงกุมกามในเอกสารประวัติศาสตร์

เวียงกุมกาม เป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง หลักฐานจากตำนานพื้นเมืองทุกฉบับกล่าวพ้องกันว่าสร้างโดยพญามังรายในช่วงเวลาหลังจากที่พระองค์ผนวกเอาเมืองหริภุญไชยไว้ในพระราชอาณาจักรได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องศักราชการสร้างเวียงกุมกามของพญามังราย ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ เพราะเอกสารพื้นเมืองหลายฉบับระบุถึงศักราชที่พญามังรายทรงสร้างเวียงกุมกามไว้ต่างกัน โดยตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนาน 15 ราชวงศ์  ระบุว่าสร้างใน พ.ศ. 1829 ทว่าในพงศาวดารโยนกกลับระบุว่า พญามังรายทรงสร้างเวียงกุมกามแห่งนี้ในจุลศักราช 648 ตำนานเหล่านี้แม้จะเรียบเรียงมาจากตำนานพื้นเมืองต่าง ๆ แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือว่าเป็นเอกสารชั้นรองเพราะเรียบเรียงขึ้นในยุคหลัง และจนกระทั่งปัจจุบันยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเมืองโบราณเวียงกุมกามถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษบานว่าอยู่ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 1829-1838 โดยมีวัตถุในการสร้างเพื่อให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางแห่งการปกครอง

เวียงกุมกาม เมืองโบราณอายุกว่า 700 ปี เป็นเมืองที่ “พญาเม็งราย” กษัตริย์แห่งโยนกนครได้สถาปนาให้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา แต่ “เวียงกุมกาม” ก็เป็นเมืองหลวงได้ไม่นานประมาณ 12 ปี เพราะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี พญามังรายจึงโปรดให้สร้าง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ซึ่งมีชัยภูมิที่ดีกว่า เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ “เวียงกุมกาม” ก็ไม่สิ้นความสำคัญด้วยเป็นเมืองบริวารที่มีความใกล้ชิดกับเวียงเชียงใหม่ จนถึงสิ้นราชวงค์มังรายหลังจากนั้น เวียงกุมกามล่มสลายลงเพราะถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ น้ำไหลบากเอาดิน โคลนจากแม่น้ำปิงมาทับถมเมืองนี้ ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมใต้ตะกอนดินจนยากจะฟื้นฟูเป็นเวลาถึง 700 กว่าปี ประกอบกับอุทกภัยครั้งนั้น แม่น้ำปิงได้เปลี่ยนร่องน้ำไม่ไหลผ่านเวียงกุมกามดังเคย “เวียงกุมกาม” จึงถูกทิ้งร้างอยู่ใต้ตะกอนดินมานับร้อย ๆ ปี และชื่อของ “เวียงกุมกาม” ก็ได้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ จนเชื่อกันว่า “เวียงกุมกาม” เป็นเพียงเมืองในตำนาน

กระทั่งใน พ.ศ. 2527 เรื่องราวของเวียงกุมกามก็เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของนักวิชาการอีกครั้ง ทำให้หน่วยศิลปากรที่ 4 ขุดแต่งบูรณะวัดร้าง (วิหารกานโถม ณ วัดช้างค้ำ) และบริเวณโดยรอบเวียงกุมกามอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ.2545 ปัจจุบันเวียงกุมกามก็ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เพราะเห็นว่าเวียงกุมกามมีความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งความรู้การศึกษาในแบบของเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมตลอดจนวัฒนธรรมล้านนาต่าง ๆ โดยศูนย์กลางของการนำเที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเวียงกุมกามอยู่ที่วัดช้างค้ำ

ที่ตั้งและลักษณะสภาพแวดล้อม

เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ดังนั้น ในสมัยโบราณตัวเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกหรือฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่ แต่เชื่อกันว่าเนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำดั่งเช่นปัจจุบัน

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำดังกล่าวคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำครั้งนั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่จนเวียงกุมกามล่มสลาย และวัดวาอารามจมอยู่ใต้ดินทราย จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อีกหนึ่งสมมติฐานที่เวียงกุมกามถูกทิ้งร้างนั้นอาจเป็นได้ว่าเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าทำให้ผู้คนหลบหนีออกจากเมืองไปก็เป็นได้

ปัจจุบันเวียงกุมกามตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ด้านขวามือ ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ดอยถ้วย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณแอ่งที่ราบแห่งนี้เป็นที่ราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน เป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีอาณาบริเวณครอบคลุมเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนรวม 13 อำเภอ (10 อำเภออยู่ในจังหวัดเชียงใหม่) โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 940,000 ไร่

สถานที่สำคัญ

  • วัดช้างค้ำ ตั้งอยู่ที่หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี เชื่อกันว่าเป็นวัดเดียวกับวัดกานโถมที่พญามังรายให้นายช่างชื่อกานโถมไปนำเครื่องไม้จากเชียงแสนมาสร้างวิหาร การขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2527 ทำให้พบว่าโบราณสถานที่นี่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกจะสร้างขึ้นก่อนสมัยของพญามังราย และกลุ่มที่สองจะเป็นโบราณสถานที่สร้างในยุคเวียงกุมกาม ปัจจุบันมีวิหารและเจดีย์ทรงมณฑปบนฐานลานปทักษิณเตี้ย และพระพุทธรูปดินเผาโบราณให้ได้เที่ยวชม

  • วัดปู่เปี้ย ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ห่างจากวัดธาตุขาวเพียงแค่ 200 เมตรเท่านั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเวียงกุมกาม ปัจจุบันมีโบราณสถานอันประกอบด้วยเจดีย์ประธาน พระวิหาร พระอุโบสถ เจดีย์ราย (กู่) และแท่นบูชา

  • วัดอีค่าง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ห่างจากวัดปู่เปี้ยเพียงแค่ 200 เมตรเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่าเป็นวัดสำคัญของเวียงกุมกาม เพราะว่าสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ นั้นมีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระวิหารหรือเจดีย์ประธาน ในส่วนของพระวิหารนั้นมีขนาดฐานประมาณ 13.50x20.00 เมตร สร้างก่ออิฐสอดินฉาบผิวด้วยปูนขาว ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานที่ยกพื้นสูง และพระเจดีย์ประธานจะเป็นทรงระฆังกลมตั้งอยู่บนฐานลานปทักษิณสูง ที่มีบันไดทางขึ้น/ลงทางด้านหน้ามุมทิศตะวันออกและทิศตะวันตก 2 แห่ง นับเป็นโบราณสถานที่สวยงามอีกแห่งของเวียงกุมกามเลยทีเดียว

  • วัดหนานช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี หลังการขุดแต่งได้พบว่ามีสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมายหลายจุด และยังพบมณฑปลักษณะพิเศษที่มีโครงสร้างเสา 4 กลุ่ม ๆ ละ 4 ต้น ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่พบเพียงแห่งเดียวในเวียงกุมกาม นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ "เครื่องเคลือบเนื้อขาว" แบบลายครามสมัยราชวงศ์หมิง บอกเลยว่าไม่ควรพลาดที่จะไปเที่ยวชม

  • วัดกู่ป่าด้อม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเวียงกุมกาม ชื่อของวัดนี้ได้ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ดิน โบราณสถานของวัดมีขนาดใหญ่ประกอบด้วย วิหารฐานใหญ่ มีบันไดทางขึ้นวิหาร มีราวบันไดด้านปลายเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐานเท่านั้น มีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบโบราณสถาน กำแพงแก้วด้านหน้าทางเข้าวิหารมีซุ้มโขง วัดแห่งนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22

ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม

เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถานเวียงกุมกามได้เป็นอย่างดี เพราะด้านในมีแหล่งบริการความรู้ต่าง ๆ มีพิพิธภัณฑ์ มีร้านค้าขายสิ่งของในท้องถิ่น และยังมีบริการเช่าจักรยานสำหรับปั่นเที่ยวชมโบราณสถาน เวียงกุมกาม  และยังมีห้องจัดแสดงต่างๆ ดังนี้

  • ห้องพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรม: จัดแสดงศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านในท้องถิ่น
  • ห้องประวัติศาสตร์: จัดแสดงข้อมูลความเป็นมาของเวียงกุมกา
  • ห้องบรรยายสรุปข้อมูลเวียงกุมกาม: จัดฉายวิดิทัศน์เวียงกุมกาม
  • ห้องข้อมูลเวียงกุมกาม: แสดงข้อมูลสำคัญของเวียงกุมกาม
  • ห้องแสดงเครื่องดนตรี: จัดแสดงเครื่องดนตรีชาวล้านนาไว้หลากหลายประเภท

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประชาชนที่แถบพื้นที่เวียงกุมกามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ลูกจ้างเอกชน ข้าราชการ บางส่วนประกอบอาชีพในภาคการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน และมีอาชีพเสริมในการจัดบริการรถราง และรถม้า เพื่อพานักท่องเที่ยวชมโบราณสถานเวียงกุมกามทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดธาตุน้อย วัดช้างค้ำ วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดพระเจ้าองค์ดำ กู่ป้าด้อม วัดปู่เปี้ย วัดหนานช้าง และวัดอีก้าง ใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาที ค่าบริการรถม้า 250 บาท รถรางคนละ 15 บาทหรือเหมาคันประมาณ 400 บาท 

แม้ว่าเวียงกุมกามจะเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ทางอารยธรรมคาดว่ายาวนานกว่า 700 ปี แต่ถึงกระนั้นประชาชนในพื้นที่เวียงกุมกามก็ยังคงไม่สามารถหลีกหนีกระแสโลกาภิวัฒนี่เข้ามาสร้างพลวัตความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชุมชนเวียงกุมกาม แต่ด้วยจารีตประเพณีอันสืบเนื่องมาจากข้อกฏหมายโบราณที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์" ซึ่งเป็นหลักยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนมาแต่โบราณกาล ทำให้กลิ่นไอความเป็นชาวล้านนาเดิมของผู้คนแถบเวียงกุมกามยังคบอบอวลอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้คนที่เรียกตนเองว่า "คนเมือง"

เวียงกุมกามนั้นมีความโดเด่นด้านสถาปัตยกรรมโบราณ โดยเฉพาะวัดซึ่งมีมากกว่า 20 แห่ง โดยมีรถม้า รถราง หรือจักรยานบริการเที่ยวชมเมือง (สามารถติดต่อสอบถามที่ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกามได้) ตามทางที่ผ่านจะเห็นซากโบราณสถานปรักหักพังแปลกตา สะท้อนให้เห็นความเก่าแก่ของเมืองในตำนานผ่านก้อนอิฐสีแดงที่เรียงต่อกันเป็นกำแพง เจดีย์ หรือรูปทรงประดับต่าง ๆ

อนึ่ง เมืองโบราณนี้ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน คือ “ต้นโพธิ์พญามังราย” ที่ตั้งตระหง่านอยู่ภายในวัดช้างค้ำ ต้นโพธิ์นี้มีชื่อเสียงในด้านขอพรเรื่องการมีลูก และด้านความรัก แต่ละปีจึงมีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลไปกราบไหว้ นอกจากนี้ ภายในวัดบางแห่งยังมีการจัดแสดงการทำหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือจำลองบ้านโบราณให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวล้านนาเมื่อหลายร้อยปีก่อนให้นักท่อเที่ยวได้เยี่ยมชม

กิจกรรมในชุมชน

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมกับมูลนิธิสืบสานล้านนาและชุมชนเวียงกุมกาม ได้ร่วมกันจัดงานสืบฮีต สานฮอยป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง เวียงกุมกาม ที่วัดช้างค้ำ เวียงกุมกาม เพื่อฟื้นฟูประเพณีปีใหม่เมือง อีกทั้งเพื่อเผยแพร่มรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ล้านนา และเพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย 

พญามังราย: ปฐมอารยธรรมผู้ก่อตั้งเวียงกุมกาม

พญามังรายได้โปรดให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน ผันน้ำปิงเข้าใส่ สร้างบ้านสร้างเรือน สร้างพระราชวัง โปรดให้ขุดหนอง ชื่อ หนองต่าง เพื่อเป็นแหล่งค้าขาย วันหนึ่งพญามังรายปลอมพระองค์ไปสังเกตชาวบ้าน นั่งอยู่ริมน้ำปิงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พบเรือชนกันล่ม จึงโปรดให้สร้างสะพานกุมกาม ต่อมาเมื่อจุลศักราช 650 พระองค์โปรดให้สร้างเจดีย์ เพื่อเป็นที่ไหว้และบูชา จึงให้เอาดินจากหนองต่างมาก่อเจดีย์กู่คำ ตามตำนานยังกล่าวถึงตำนานการสร้างวัดกานโถมไว้ว่า ที่แห่งนี้เคยมีต้นเดื่อเป็นที่สักการะบูชาโดยทั่วไป ใครมาขอสิ่งใดก็มักจะสมปรารถนา ต่อมาต้นเดื่อตายลงแต่คนก็ยังไปสักการบูชา ณ ที่แห่งนั้น จนกระทั่งในสมัยที่พญามังรายมาสร้างเวียงกุมกาม ได้มีพระมหาเถร 5 รูป โดยมีพระชื่อมหากัสสปะเป็นหัวหน้า เล็งเห็นว่าที่แห่งนี้มีความสงบ จึงเลือกเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อพญามังรายมายังที่แห่งนี้ก็แล้วได้สนทนากับพระท่านก็เกิดความเลื่อมใสขึ้น จึงโปรดในช่างชื่อกานโถมสร้างพระพุทธรูป 5 องค์ (สหวัฒน์ แน่นหนา ทรรศนะ โดยอาษา และวิวรรณ แสงจันทร์, 2565: ออนไลน์)

โบราณสถาน

ย้อนกลับไปประมาณ 700 กว่าปีก่อน เวียงกุมกามเคยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนาในสมัยของ “พญาเม็งราย” กษัตริย์แห่งโยนกนคร แต่ต่อมาได้ย้ายเมืองหลวง เนื่องจากเกิดน้ำท่วมทุกปี เวลาผ่านไปก็ถูกดินทับถมจนจมอยู่ใต้ธรณี กระทั่ง พ.ศ. 2527 กรมศิลปากรก็ได้ขุดพบและบูรณะโบราณสถานบางส่วนขึ้นมาใหม่ เวียงกุมกามจึงเป็นเหมือนสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาขนานแท้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

  • วัดกานโถม (ช้างค้ำ) พญามังรายได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1833 ประกอบด้วยฐานเจดีย์ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร มีซุ้มคูหาสี่ทิศ มีการใช้พระพุทธรูปซ้อนเป็น 2 ชั้น (ชั้นล่าง-มีพระพุทธรูปนั่ง 4 องค์ ชั้นบน-มีพระพุทธรูปยืน 2 องค์) วิหารและเจดีย์ทรงมณฑปบนฐานลานประทักษิณเตี้ย บริเวณฐานวิหารพบพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยฝังไว้โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อีก 1 องค์ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆัง ในบริเวณวัดกานโถมยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดจากเมืองลังกามาไว้ด้วย

  • วัดปู่เปี้ย ถือเป็นวัดที่มีความงดงามแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม รูปแบบผังการสร้างวัด และ รูปแบบเจดีย์ประธานมณฑปมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารสร้างยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ ศาลผีเสื้อ และแท่นบูชา พร้อมทั้งมีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาก

  • วัดเจดีย์เหลี่ยม (วัดกู่คำ) แต่เดิมวัดนี้ชื่อวัดกู่คำ กู่ หมายถึง พระเจดีย์ คำ หมายถึง ทองคำ พญามังรายโปรดให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดคือ องค์พระเจดีย์ประธานรูปทรงมณฑปปลด 5 ชั้น วัดนี้มีความโดดเด่นคือ เป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง และมีรูปแบบเจดีย์ที่แสดงถึงอิทธิพลรูปแบบของรัฐหริภุญไชย โดยที่พญามังรายโปรดให้เอามาก่อสร้างไว้ในเวียงกุมกามระยะแรก ๆ

  • วัดอีก้าง (วัดอีค่าง) ที่เรียกว่าวัดอีค่างหรืออีก้างนั้น เพราะเดิมบริเวณวัดเป็นป่ารกร้างและมีฝูงลิงฝูงค่างใช้ซากวัดแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งค่างในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “อีก้าง” โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน วิหารมีขนาดใหญ่ 20 × 13.50 เมตร เจดีย์เป็นแบบองค์ระฆังทรงกลม

  • วัดพระธาตุขาว (วัดธาตุขาว) ที่เรียกว่าวัดธาตุขาวเนื่องมาจากแต่เดิมนั้นตัวเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาวนั่นเอง โบราณสถานประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป โดยมีการก่อสร้างขึ้นมา 2 ระยะ คือ ระยะแรกก่อสร้างเพียงเจดีย์ วิหาร อุโบสถ แต่ต่อมาเกิดการชำรุดจึงต่อเติมฐานเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น ระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

  • วัดพระเจ้าองค์ดำ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกาม โดยอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนมีการขุดแต่งนั้นเป็นสวนลำไย มีพื้นที่เป็นเนินดิน 2 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า เนินพญามังราย และเนินพระเจ้าดำ และสันนิษฐานว่าที่เรียกวัดพระเจ้าองค์ดำนี้ เพราะวัดแห่งนี้เคยมีพระพุทธรูปสีดำประดิษฐานอยู่ โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นวิหารหลายหลัง มีซุ้มประตูโขงและแนวกำแพง ถัดจากซุ้มโขงเข้ามามีวิหารและเจดีย์

  • วัดพญามังราย ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระเจ้าองค์ดำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวัดพญามังรายนี้เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่เห็นว่าตั้งอยู่ใกล้วัดพระเจ้าองค์ดำมากที่สุดจนดูเหมือนเป็นวัดเดียวกัน เอกลักษณ์ของวัดนี้อยู่ที่การสร้างพระวิหารที่ไม่มีทางขึ้นลงหลักไว้ที่ด้านหน้า แต่สร้างไว้ที่ด้านซ้าย (กรณีที่หันหน้าไปทางหน้าวัด) ในส่วนพระเจดีย์พบร่องรอยการตกแต่งปูนปั้นลายช่องกระจกสอดไส้

  • วัดหัวหนอง ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านเหนือ ภายในประกอบด้วยซุ้มโขงประตูใหญ่ อุโบสถ มณฑป วิหารและเจดีย์ มีลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มประตูวัดเป็นรูปกิเลน สิงห์ หงส์ที่มีความงดงาม

  • วัดกุมกาม ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศเหนือของวัดกานโถม สิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบด้วยวิหารพร้อมห้องมูลคันธกุฏี และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม

  • วัดน้อย (วัดธาตุน้อย) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดกานโถม ก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินสองแห่ง มีชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านอาศัยบนโบราณสถานแห่งนี้ และยังพบร่องรอยกสารขุดหาทรัพย์สินด้วย โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ วิหารตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง 1 แห่ง พื้นวิหารปูอิฐ ด้านหลังวิหารเป็นซุ้มประดิษฐานพระประธานปูนปั้น เจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 13.35 × 13.35 เมตร สูง 1.64 เมตร ต่อขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6.20 × 6.20 เมตร ลักษณะเจดีย์มีฐานใหญ่แต่องค์เจดีย์เล็ก

  • วัดไม้ซ้ง ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ภายในเวียงกุมกาม บริเวณรอบวัดเป็นทุ่งนา สถาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่าไม้ซ้งอยู่ (เป็นที่มาของชื่อวัด) โบราณสถาน ประกอบด้วยวิหารเจดีย์แปดเหลี่ยม และฐานซุ้มประตูโขงพร้อมกำแพง

  • วัดกู่ขาว ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพรอบ ๆ วัดก่อนการขุดแต่งพบเจดีย์มีความสูงประมาณ 5 เมตร และรอบ ๆ องค์เจดีย์เป็นเนินดิน หลังจากขุดลอกดินที่ทับถมอยู่ได้พบโบราณสถาน 3 แห่งคือ กำแพงแก้วและซุ้มประตูอยู่หลังเจดีย์, เจดีย์ประธานเป็นศิลปะล้านนา เรือนธาตุมีลักษณะสูงก่อทึบตันทั้ง 4 ด้าน (ไม่ทำซุ้มพระ) ส่วนยอดเจดีย์เป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆัง และวิหารที่มีมุมฐานบัวลูกแก้ว ฐานชุกชีเดิม และลายกลีบบัว

  • วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกนอกเวียงกุมกาม โบราณสถานประกอบด้วยวิหารซึ่งเหลือเพียงฐาน และเจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

  • วัดกู่อ้ายหลาน เป็นวัดขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเวียงกุมกาม ชื่อวัดเรียกตามเจ้าของที่ที่ชื่ออ้ายหลาน โบราณาสถานประกอบด้วยวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แท่นบูชา กำแพงแก้ว และซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก

  • วัดกู่อ้ายสี เป็นวัดขนาดเล็ก โบราณสถานประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน และแท่นบูชา

  • วัดกู่มะเกลือ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออก เรียกชื่อวัดตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้นบนโบราณสถาน หลังจากทำการขุดลอกดินออกแล้ว พบเจดีย์และวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกันและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

  • วัดกู่ลิดไม้ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านใต้ วัดนี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรีกกันเนื่องจากมีต้นเพกา (ต้นลิดไม้) ขึ้นอยู่บนเนินวัด โบราณสถานประกอบด้วยวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ด้านหลังวิหารเหลือเพียงฐาน และเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม มีซุ้มประตูโขงและกำแพงแก้ว

  • วัดกู่จ๊อกป๊อก ตั้งอยู่นอกกำแพงเวียงกุมกามทางทิศตะวันออกฉียงใต้ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน

  • วัดหนานช้าง ตั้งตามชื่อเจ้าของที่ดิน ด้านหน้าของวัดอยู่ใกล้แม่น้ำปิง ซุ้มโขงมีลายปูนปั้นประดับเล็กน้อย ถัดจากซุ้มโขงลงไปมีทางเดินและมีวิหาร ซึ่งที่ฐานพระประธานมีลายปูนปั้น ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ฐานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองชั้น เรือนธาตุได้พังเสียหายไปแล้ว เยื้องกับเจดีย์เป็นมณฑป ถัดไปเป็นอุโบสถ

  • วัดเสาหิน ตั้งอยู่เขตท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวของวัดนี้ในอดีต

  • วัดหนองผึ้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นวัดในสมัยเวียงกุมกาม-เชียงใหม่ หรือบางทีอาจจะมีสภาพเป็นวัดดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณวัตถุประเภทพิมพ์แบบลำพูน สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดนี้คือ วิหารพระนอน เป็นองค์พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ขนาดยาว 38 ศอก (39 เมตร)

  • วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่เขตตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาใหม่ในสมัยหลัง ปัจจุบันวัดนี้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่

  • วัดข่อยสามต้น อยู่ในบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเขตเวียงกุมกาม ชื่อวัดนี้ตั้งตามจุดสังเกตที่เป็นต้นข่อยจำนวน 3 ต้น ที่ขึ้นเจริญเติบโตในพื้นที่บริเวณวัด และไม่ปรากฏความเป็นมาในเอกสารและตัวแทนทางประวัติศาสตร์

  • วัดพันเลา อยู่ในท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดร้างขื่อดั้งเดิมที่ชุมชนเรียกสืบทอดต่อกันมา คาดว่ามาจากชื่อวัดที่มีคำนำหน้าว่า “พัน” นำหน้านั้น น่าจะหมายถึง ยศทางทหาร หรือขุนนาง ที่เดิมวัดนี้อาจเป็นวัดอุปถัมภ์ของนายทหารหรือขุนนางชื่อ “เลา” ตั้งอยู่ริมถนนท่าวังตาลซึ่งอยู่นอกเวียงกุมกามทางด้านทิศเหนือ สภาพโบราณสถานมีการก่ออิฐกระจายหลายแห่ง พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร และยังคงคาดว่ามีอีกหลายวัดที่จมอยู่ใต้พื้นดิน และบ้านเรือนของชาวบ้านที่กำลังรอการบูรณะขึ้นมา

ชาวบ้านในพื้นที่จะใช้ภาษาท้องถิ่นหรือภาษาเมืองในการสื่อสาร


ก่อนหน้านี้เวียงกุมกามอยู่ภายใต้ดูแลของกรมศิลปกรที่ 7 เชียงใหม่ ในเวลาต่อมามีการปรับเปลี่ยนการดูแลเป็นของเทศบาลท่าวังตาล ทำให้การท่องเที่ยวซบเซา สุดท้ายแล้วจึงกลับมาอยู่ในความดูแลของกรมศิลปกรที่ 7 เชียงใหม่เหมือนเดิม

เวียงกุมกามเคยเป็นสถานที่ต้อนรับผู้นำจากนานาชาติถึง 49 ประเทศ ในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก ครั้งที่ 2 สมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ออกนโยบายส่งเสริมให้เวียงกุมกามเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยทุ่มงบประมาณถึง 88 ล้านบาท พัฒนาและฟื้นฟูสถานที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและขยายโอกาสสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคตอีกด้วย

รุ่งทิวา สุวรรณยศ. เจ้าหน้าที่บริการข้อมูลวิชาการ ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมภาม สังกัดสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. (8 กุมภาพันธ์ 2566). สัมภาษณ์.

เวียงกุมกาม. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566].

สหวัฒน์ แน่นหนา ทรรศนะ โดยอาษา และวิวรรณ แสงจันทร์. (2565). เวียงกุมกามเมืองโบราณใต้ตะกอนทราย. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.silpa-mag.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566].

วิสาหกิจชุมชน โทร. 06-5879-9655, เทศบาลวังตาล โทร. 0-5314-0981