Advance search

บ้านแหลมสัก

ชุมชนบ้านแหลมสัก เป็นพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกันทั้งจีนบาบ๋า มุสลิม และคนไทยพื้นถิ่น จึงได้รับการขนานนามว่า ดินแดนแห่งวัฒนธรรม 3 สาย

บ้านแหลมสัก
แหลมสัก
อ่าวลึก
กระบี่
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-0886-9698, อบต.แหลมสัก โทร. 0-7581-8178
ธำรงค์ บริเวธานันท์
11 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
บ้านแหลมสัก
บ้านแหลมสัก

ชื่อชุมชนบ้านแหลมสักมีที่มาจากในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มี “ดงต้นสัก” ขึ้นบริเวณแหลมที่ยื่นไปในทะเลชาวบ้านจึงเรียกว่า "แหลมสัก"


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนบ้านแหลมสัก เป็นพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกันทั้งจีนบาบ๋า มุสลิม และคนไทยพื้นถิ่น จึงได้รับการขนานนามว่า ดินแดนแห่งวัฒนธรรม 3 สาย

บ้านแหลมสัก
แหลมสัก
อ่าวลึก
กระบี่
81110
8.287257785
98.65693286
เทศบาลตำบลแหลมสัก

ชุมชนบ้านแหลมสักได้รับการขนานนามว่า “ดินแดนแห่งวัฒนธรรม 3 สาย” ซึ่งมีความสอดคล้องกับ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ ปลอดจากภัยธรรมชาติ เหมาะแก่การประกอบอาชีพ เหมาะสมในการเดินทางสัญจร (อดีตใช้เรือในการสัญจร) จึงเป็นจุดนัดพบให้ผู้คนหลากกลุ่มทั้งจากพื้นที่ใกล้เคียงและผู้ที่เดินทางแสวงหาดินแดนใหม่ประกอบด้วย ชาวนครศรีธรรมราชและจากเมืองปากลาว ต่อมาเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มคนไทยพื้นถิ่น นับถือพุทธศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมอพยพมาจากรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย เป็นบรรพบุรุษของกลุ่มคนไทยมุสลิมและ จีนโพ้นทะเล จากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน เป็นบรรพบุรุษของคนไทย เชื้อสายจีนแหลมสัก หรือบาบ๋าแหลมสัก ดังนั้นแหลมสักจึงเป็นพื้นที่ของการประทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมหรือ ดินแดนแห่งวัฒนธรรม 3 สาย ประกอบด้วย ชุมชนไทยพุทธ ชุมชนไทยมุสลิมและชุมชนบาบ๋าแหลมสัก

ชุมชนบ้านแหลมสัก มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายจะงอยยื่นไปในทะเล ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านทิศใต้ ทิศตะวันตกและทิศตะวันออก โดยพื้นที่ทางทะเลเชื่อมต่อกับอ่าวพังงาและทะเลบริเวณ จ.กระบี่ ส่วนด้านทิศเหนือ ติดกับลักษณะภูมิประเทศภูเขาหินปูนที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณนานาชนิด

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านอ่าวน้ำ  หมู่ที่ 5 บ้านคลองแรด และ หมู่ที่ 6 บ้านในใส ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านอ่าวน้ำ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

จากการกำหนดตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์ของชุมชนบ้านแหลมสัก บริเวณสามแยกวัฒนธรรมสามสายกล่าวคือ เส้นทางสามแยกที่เป็นจุดตัดไปยังวัดมหาธาตุแหลมสัก ระยะทาง 200 เมตร ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย ระยะทาง 150 เมตร และมัสยิดซอลาฮุดดีน ระยะทาง 200 เมตร จาก Google Earth พิกัดภูมิศาสตร์จากตำแหน่งสามแยกวัฒนธรรมสามสาย คือ 8 องศา 16 ลิปดา 36.92 ฟิลิปดา เหนือ และ 98 องศา 39 ลิปดา 06.12 ฟิลิบดา ตะวันออก

อย่างไรก็ดีแม้ว่าชุมชนบ้าน แหลมสักถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่ทางทะเลแต่ก็มีเกาะต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นปราการขวางกั้นคลื่นลมที่จะปะทะสู่ชุมชน  ทุกทิศทาง เกาะน้อยใหญ่ประกอบด้วย เกาะช่องลาดใต้ เกาะแหลมทะลุ เกาะแหลมตุโดด เกาะแหลมค้างคาว เกาะฮาม เกาะอ่าวช้างตาย เกาะเขาแคบ เกาะรงมารง เกาะช่องลาดใต้ เกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ เป็นต้น ฉะนั้นการเริ่มตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านแหลมสักตั้งแต่อดีตเกิดขึ้นจากการเลือกทำเลที่เหมาะสมเพื่อลดความรุนแรงจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะจากพายุฝนในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ราวเดือน พฤษภาคม - ตุลาคม ของชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตก

บ้านแหลมสัก หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดชายฝั่งทะเลอันดามันของอำเภออ่าวลึก มีทะเลล้อมรอบทั้งสามด้านมีพื้นที่บางส่วนยื่นลงไปในทะเลอันดามัน ห่างจากที่ว่าการอำเภออ่าวลึกราว 17 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองจังหวัดกระบี่ราว 61 กิโลเมตร

ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านแหลมสัก หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมสัก อำเภอคลองท่อมใต้ เดือนมกราคม 2566 บ้านแหลมสัก มีจำนวนหลังคาเรือน 978 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาย 1,613 คน หญิง 1,554 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 3,167 คน 

จีน, มลายู

กลุ่มอาชีพและองค์กรชุมชนของสมาชิกชุมชนบ้านแหลมสักมีความสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพของสมาชิกในชุมชน เพราะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในกลุ่มอาชีพที่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชน  ซึ่งกลุ่มอาชีพประกอบด้วยกลุ่มด้านการเกษตร กลุ่มประมง กลุ่มด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ดีสมาชิกในชุมชนอาจจะเป็นสมาชิกของกลุ่มมากกว่า 1 กลุ่ม

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการประสานงานด้านการท่องเที่ยวชุมชนของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนแหลมสัก จึงมีการสร้างอาคารบลูเฮ้าส์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทยจีนของชุมชนที่มีอัตลักษณ์ของความเป็น “บาบ๋า” และขณะเดียวกันใช้เป็นที่ประสานงานการท่องเที่ยวชุมชนแหลมสักของกลุ่มทุกกลุ่มอาชีพ

ปฏิทินประเพณีของชุมชน

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชนมีลักษณะแนวระนาบเพราะแหลมสักเป็นชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่ โดยพื้นฐานยังเป็นชุมชนที่สมาชิกยังคงสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นฉะนั้นจึงยังมีความสัมพันธ์ในแนวระนาบ จึงสามารถระบุได้ถึงสายตระกูลหรือนามสกุลของสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ชุมชนแหลมสักเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะสังสรรค์ทางสังคมของกลุ่มคน 3 ชาติพันธุ์ ที่มีรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

การดำเนินชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมจึงมีความแตกต่างกันแต่มีความกลมกลืนกัน ดังรูปแบบการแต่งกายของบุรุษและสตรีมุสลิมที่แต่งกายตามขนบและประเพณีของศาสนาอิสลาม รวมถึงสตรีบาบ๋าแหลมสักแต่งกายชุดยะหยา (ญองญ่า) แต่ชุดยะหยาก็เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมมลายูกับวัฒนธรรมจีน กระทั่งเกิดเป็นอัตลักษณ์การแต่งกายของบาบ๋ารวมถึงด้านอาหารที่วัตถุดิบในการประกอบอาหารมีความแตกต่างกัน แต่สมาชิกของชุมชนเรียนรู้ความแตกต่างเพื่อการอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพชนของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณแหลมสัก ปฏิทินชุมชนและวิถีชีวิตประจำวันในรอบ 1 ปี จึงมีความหลากหลายของวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม

ปฏิทินการประกอบอาชีพของชุมชนแหลมสัก

ปฏิทินการประกอบอาชีพของชุมชนแหลมสักในรอบปี มีความสัมพันธ์กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ด้านที่ตั้งของชุมชนชายทะเล จึงประกอบด้วยการประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่งซึ่งวิถีการประมง สามารถก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน อาทิ การนั่งเรือชมทัศนียภาพอ่าวและเกาะต่าง ๆ บริเวณแหลมสัก รวมถึงนำนักท่องเที่ยวพักผ่อนบริเวณกระชังเลี้ยงปลาแบบไปเช้าเย็นกลับ และในส่วนพื้นที่ราบเชิงเขามีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลักของชุมชน

1. พระราชมงคลวชิรเจดีย์ (หลวงปู่เนตร จิรปุญฺโญ)  เกิดวันที่ 9 มีนาคม 2468 ปัจจุบันอายุ 98 ปี เดิมชื่อ เนตร พรหมแก้ว บวชครองเพศบรรพชิตตั้งแต่อายุ 27 ปี พ.ศ. 2495 ที่วัดสันติวราราม ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระอนุสาวาจารย์ จากนั้นไปจำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่พรรษาที่ 1-3 โดยมีหลวงปู่เทสก์เป็นพระอาจารย์ ท่านเป็นผู้ที่ยึดมั่นในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดในฐานะครูอาจารย์ท่านสอนธรรมที่ลูกศิษย์สามารถนำไปใช้ดำเนินชีวิตให้เกิดความปกติ เช่นในการฝึกสมาธิให้เฝ้าดู สติ สมาธิ อารมณ์ ให้รู้ตัวเรามีสติหรือไม่ เมื่อมีสติก็จะมีสมาธิ แต่ก็ต้องพิจารณาว่า มีสมาธิแบบไหน และมีอารมณ์อะไร อย่างไร เมื่อรู้สติ สมาธิ อารมณ์ จะเกิดปีติในการปฏิบัติสมาธิ

ทุนมรดกภูมิปัญญาชุมชนแหลมสักมีความสัมพันธ์กับความศรัทธาต่อศาสนาและความเชื่อของชุมชนคือวัฒนธรรมพุทธ(วัด) วัฒนธรรมอิสลาม (มัสยิด) และ วัฒนธรรมจีน-ไทย (ศาลเจ้า) ฉะนั้นชุมชนแหลมสักจึงประกอบด้วยศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

วิถีศาสนาพุทธ ซึ่งประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนาและวันสำคัญทางศาสนาที่เป็นแกนหลักของสังคมไทย อาทิ วันวิสาขบูชา วันอาฬสาหบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา นอกจากนี้ประเพณีทางพุทธศาสนา ที่สัมพันธ์กับท้องถิ่นภาคใต้ คือ วันสาทรเดือนสิบ พุทธศาสนิกชนในชุมชนแหลมสักถือปฏิบัติตามหลักธรรม พิธีกรรมมาตลอด โดยมีศูนย์กลางของพุทธศาสนาในชุมชน คือ วัดมหาธาตุแหลมสัก ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งมหาเจดีย์เกิดขึ้นจากความศรัทธาของชุมชนแหลมสักและพุทธศาสนิกชนทั่วไปและเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนเดินทางมาเพื่อกราบไหว้เคารพบูชา

ศาลเจ้า ศูนย์กลางชุมชนจีนโพ้นทะเลแหลมสัก มีชื่อว่า ศาลเจ้าซกโป้แหลมสัก มีจุดเริ่มต้นจากชาวจีนฮกเกี้ยนกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจมาลงหลักปักฐานที่บ้านแหลมสักร่วมกันสร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “กิมซิน” (เทวรูปแกะ จากไม้ปิดทอง) ที่นำติดตัวมาจากบ้านเกิด เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคุ้มภัยในการเดินทางเดือนครึ่งจากท่าเรือเอ้หมึง (เซี่ยเหมิน) กิมซินที่นำมามีขนาด 5–9 นิ้ว ประมาณ 10 องค์

ชาวบ้านจึงย้ายกงซีและกงเก่งมาอยู่รวมกันที่ท้ายตลาด สร้างศาลเจ้าขึ้นมาใหม่โดยอัญเชิญ “องค์ซกโป้เอี๋ย” เป็นประธานเรียกว่า “อามซกโป้” “อาม” หมายถึง ศาลเจ้าขนาดเล็กโดยศาลเจ้าแห่งใหม่นี้อยู่ริม ทะเลหันหน้าออกทะเล ทุกวันที่ 11 ถึง 15 เดือนสองจีน (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) ของทุกปี จะมีงานถือศีลกินเจเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดขององค์ซกโป้ซีเอี๋ย มีการประทับทรงโดยกีต๋อง(ม้าทรง) ล้วนเป็นลูกหลานบาบ๋าแหลมสักไม่มีคนนอก กิจกรรมสำคัญคือ พิธีลุยไฟ ซึ่งลูกหลาน

บาบ๋าแหลมสักจากทุกสารทิศจะกลับมา เพื่อร่วมแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อซกโป้ซีเอี๋ยด้วยความเคารพบูชา ดุจดังญาติผู้ใหญ่ที่เป็นบรรพบุรุษคอยปกป้องรักษาคุ้มภัยตลอดมา

มัสยิดซอลาฮุดดีน หรือมัสยิดบ้านหัวแหลม ตั้งอยู่กลางชุมชนบ้านหัวแหลม เป็นมัสยิดที่เป็นศูนย์กลาง ทางจิตใจของมุสลิมชุมชนแหลมสัก นอกจากนี้เป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ทุก ๆ วัน เสียงละหมาดจากมัสยิดจะกังวานทั่วบริเวณชุมชนแหลมสัก ในวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม

ทุนวัฒนธรรมด้านการแต่งกาย

ชุมชนแหลมสักเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะสังสรรค์ทางสังคมของกลุ่มคน 3 ชาติพันธุ์ที่มีรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการดำเนินชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมจึงมีความแตกต่าง กันแต่มีความกลมกลืนกัน ดังรูปแบบการแต่งกายของบุรุษและสตรีมุสลิมที่แต่งกายตามขนบและประเพณีของ ศาสนาอิสลาม รวมถึงสตรีบาบ๋าแหลมสักแต่งกายชุดย่าหยา แต่ชุดย่าหยา (ญองญ่า) ก็เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมมลายูเข้ากับวัฒนธรรมจีน กระทั่งเกิดเป็นอัตลักษณ์การแต่งกายของบาบ๋า

ภาษาถิ่นภาคใต้ จังหวัดกระบี่



การมีส่วนร่วมด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนของชุมชนแหลมสัก หรือ ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ที่มีความโดดเด่นได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  แนวทางการจัดการท่องเที่ยวชุมชนแหลมสักเป็นการบูรณาการปัจจัยทั้งภายในและปัจจัยภายนอกชุมชน ให้เกิดเป็นองค์รวมในการพัฒนาการท่องเที่ยว 

  • ปัจจัยภายในประกอบด้วยกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนและภาครัฐ
  • ปัจจัยภายนอกประกอบด้วย ภาควิชาการและสื่อสารมวลชน

โดยภาคเอกชนประสานร่วมให้คุณค่าและการสร้างมูลค่าเพื่อให้ทั้งสองส่วนนี้สามารถดำเนินไปด้วยกัน ทั้งนี้โดยชุมชนร่วมเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจมีการปันผลให้แก่ชุมชน เพื่อบรรลุผลสำเร็จมีการจัดอบรมให้ชุมชนมีความพร้อม ในการดำเนินกิจกรรมและกิจการชุมชนท่องเที่ยวแหลมสักประกอบด้วย

  • การอบรมเจ้าบ้านดี 
  • อบรมนักสื่อสารชุมชน
  • อบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น
  • อบรมความปลอดภัยทางทะเล
  • อบรมภาษาอังกฤษ
  • อบรมเยาวชนแหลมสักรักบ้านเกิด
  • อบรมเยาวชนนักสื่อความหมาย  

การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนของชุมชนแหลมสัก หรือชุมชนท่องเที่ยวแหลมสักเป็นกิจกรรมทาง เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานความสำเร็จวัดจากรางวัลด้านการท่องเที่ยวชุมชนที่ชุมชนแหลมสักได้รับจากหน่วยงานและองค์กรด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศ อาทิ

  • ชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ จังหวัดกระบี่ ปี พ.ศ. 2558 จากผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
  • เส้นทางท่องเที่ยว วิถี : ชุมชนวัฒนธรรมอันดามัน จาก คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2559
  • ชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ปี พ.ศ. 2560
  • รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปี พ.ศ. 2560
  • รางวัลมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ปี พ.ศ. 2563
  • รางวัลมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน ปี พ.ศ. 2564
  • รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปี พ.ศ. 2564

ธำรงค์ บริเวธานันท์ (2565). โครงการ วัตถุทางวัฒนธรรม: “สิ่ง” สะท้อนวิถีชุมชน 5 พื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามัน (ชุมชนบ้านแหลมสัก ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าลึก จังหวัดกระบี่ ) : รายงานฉบับสมบูรณ์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

สำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง. สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน) (ออนไลน์). 2556, แหล่งที่มา : https://stat.bora.dopa.go.th/ (23 เมษายน 2566)

108 พระเกจิ รวมเรื่องราวพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศ. หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ พระอริยะเจ้าแห่งอันดามัน (ภาพ) (ออนไลน์). 2020, แหล่งที่มา https://www.108prageji.com/(27 เมษายน 2566)

คุณสมชัย เพิ่มทรัพย์. บุหลัน อันดา รีสอร์ท แหลมสัก (อาคารบลูเฮาส์)

วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-0886-9698, อบต.แหลมสัก โทร. 0-7581-8178