Advance search

บ้านหัวเข้

พื้นที่ชุมชนรวมตัวของชนชาติชาวลาวครั่งแสดงผ่านศิลปกรรม ประติมากรรม และศาสนสถาน 

หมู่ที่ 5
บ้านโพรงมะเดื่อ
โพรงมะเดื่อ
เมืองนครปฐม
นครปฐม
อบต.โพรงมะเดื่อ โทร. 06-5517-7836
พรบุญญา อุไรเลิศ
20 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
27 เม.ย. 2023
บ้านโพรงมะเดื่อ
บ้านหัวเข้

เดิมชื่อ บ้านหัวเข้ เพราะคลองตรงข้ามสะพานเกวียนมีต้นมะเดื่อใหญ่อยู่ต้นหนึ่งและจะมีโพรงใหญ่จนมีจระเข้เข้าไปอาศัยอยู่ข้างใต้ ต่อมาจระเข้หายไปเหลือแต่โพรง จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก บ้านหัวเข้ มาเป็น บ้านโพรงมะเดื่อ


พื้นที่ชุมชนรวมตัวของชนชาติชาวลาวครั่งแสดงผ่านศิลปกรรม ประติมากรรม และศาสนสถาน 

บ้านโพรงมะเดื่อ
หมู่ที่ 5
โพรงมะเดื่อ
เมืองนครปฐม
นครปฐม
73000
13.823454406336394
99.99127970092283
เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ

บ้านโพรงมะเดื่อ เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 200 ปีที่มีประวัติเริ่มก่อตั้งชุมชนในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 2  บรรพบุรุษของชาวตำบลโพรงมะเดื่อ คือ ลาวครั่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาจาก ประเทศลาว เข้ามาสู่ประเทศไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานว่าชุมชนตั้งอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ต่อมาวัดดังกล่าวได้ย้ายไปตั้งบริเวณบ้านหนองฉิม ชุมชนได้ย้ายตามวัดไป จากนั้นวัดได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งซึ่งเป็นที่อยู่ของวัดในปัจจุบัน คือ วัดโพรงมะเดื่อ

โดยมีเรื่องเล่าบอกต่อกันว่า เดิมชุมชนตั้งชื่อว่า บ้านหัวเข้ เนื่องจากมีซากของหัวจระเข้อยู่ในโพรงของต้นมะเดื่อ เนื่องจากบริเวณที่มีต้นมะเดื่อใหญ่อยู่ต้นหนึ่งมีโพรงใหญ่มากจนจรเข้สามารถเข้าไปอยู่ได้ ต่อมาจระเข้หายไปเหลือแต่โพรง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า โพรงมะเดื่อ

ชาวบ้านได้สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตชุมชนโดยประชากรชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายลาวหรือที่เรียกว่าลาวครั่งได้อพยพมาจากแขวงบ่อแก้วประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว มาตั้งถิ่นฐานในสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ และอพยพมาที่บ้านหนองดินแดงบ้านโพรงมะเดื่ออำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม ชาวลาวครั่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่ 1,2,3,5,6,10,15 ตำบลโพรงมะเดื่อ ส่วนหมู่อื่นๆจะเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นในพื้นที่จะเป็นวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับศาสนา และความเชื่อที่แสดงออกในรูปของวิถีชีวิต

ชาวลาวครั่งในชุมชนโพรงมะเดื่อปัจจุบัน ได้มีการร่วมกันอนุรักษ์การทอผ้าตีนจกให้คงอยู่ซึ่งเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าของชาวลาวครั่ง ที่สือต่อกันมาและยังมีการตั้งกลุ่มอาชีพการทอผ้าเพื่อสนับสนุนการทอผ้า ให้ทำเป็นอาชีพของชาวลาวครั่งในพื้นที่ชุมชนโพรงมะเดื่อที่จะทำให้เห็นถึงความสำคัญของการทอผ้า รวมถึงการสร้างอาชีพให้กับชาวลาวครั่งอีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันเทศบาลชุมชนโพรงมะเดื่อ สนับสนุนมีการรวมกลุ่มคนในตำบลเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนจัดการปัญหาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาของประชาชน โดยใช้แนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนโดยการขับเคลื่อนชุมชนโดยชุมชนให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่ เน้นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสร้างการมีส่วนร่วมการเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้วยการหนุนการทำงานของกลุ่มและแหล่งเรียนรู้และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ การพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการ บูรณาการงานร่วมกัน 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ      ติดต่อกับ   ตำบลหนองงูเหลือม ตำบลหนองปากโลง อำเภอเมืองนครปฐม
  • ทิศใต้         ติดต่อกับ   ตำบลวังเย็น ตำบลหนองดินแดง อำเภอเมืองนครปฐม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ   ตำบลหนองปากโลง ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม
  • ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ  ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองนครปฐม และตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

สภาพทั่วไปของชุมชนโพรงมะเดื่อมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มทั่วทั้งบริเวณเป็นแผ่นดินถูกแบ่งย่อยโดยคลองธรรมชาติ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม พื้นที่มีลักษณะลาดเอียงโดยลาดเอียงจากทางด้านทิศเหนือลงไปทางทิศใต้ และทางด้านทิศใต้มีทางรถไฟสายใต้และถนนเพชรเกษมเป็นทางแนวขนานไปทางทิศใต้

จากข้อมูลสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ปี พ.ศ. 2557 ระบุจํานวนครัวเรือนและประชากรชุมชนโพรงมะเดื่อ จํานวน 632 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,889 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 888 คน หญิง 1,001 คน และส่วนหนึ่งของประชากรจะเป็นชาวลาวครั่ง ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ

ลาวครั่ง

ชุมชนโพรงมะเดื่อมีกลุ่มอาชีพอยู่หลายกลุ่มด้วยกันแต่จะมีกลุ่มอาชีพที่สำคัญเป็นหลักนั้นก็คือ 

กลุ่มแม่บ้านสายใยรัก มีการส่งเสริมอาชีพในชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนไม่ต้องออกไปหางานทำไกลบ้านทำให้ได้อยู่กับครอบครัวดูแลคนในครอบครัวได้ทั่วถึง มีความรัก ความเข้าใจภายในครอบครัว เป็นการรวมกลุ่มกันฝึกอาชีพ

กลุ่มสารพัดเห็ดเพื่อสุขภาพ มีการแบ่งงานอย่างเป็นระบบว่าใครมีหน้าที่อะไรโดยใช้คนในครอบครัวเป็นหลัก การตลาดเป็นไปด้วยดี มีการขยายเครือข่ายในลักษณะของลูกฟาร์มมีการดูแลลูกฟาร์ม มีหลักประกันราคา ปัจจุบันมีเครือข่ายจำนวน 15 ราย ภายในและนอกพื้นที่ มีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น เกิดการสร้างงานให้กับคนในชุมชน คนในชุมชุมได้รับประทานเห็ดที่มีคุณภาพ

กลุ่มผ้าตีนจก กลุ่มชาติพันธุ์ชาวลาวครั่งยังมีการดำรงอยู่ของการทอผ้าตีนจก เพราะผ้าตีนจกเปรียบเสมือนความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งทั้งยังมีคุณค่า และยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดจากผ้าทอตีนจก ซึ่งทำให้เห็นถึงพลังการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ผ้าทอตีนจกของกลุ่มผ้าตีนจก ซึ่งกลุ่มทอผ้าตีนจกมีรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะธุรกิจชุมชน และมีการใช้กลยุทธ์เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจชุมชน คือ

  1. ด้านการผลิต
  2. ด้านการตลาด 
  3. ด้านการเงิน
  4. ด้านการบริหารจัดการ

เพื่อบริหารจัดการกลุ่มทอผ้าและเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมและประเพณีการทอผ้าตีนจกของชาวลาวครั่ง

ในรอบปีของผู้คนบ้านโพรงมะเดื่อมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ ประเพณีทําบุญทอดผ้าป่าของชาวลาวครั่ง ชาวลาวครั่งโพรงมะเดื่อมีกำหนดจัดงานในเดือนเมษายนในทุกปี เนื่องด้วยชาวบ้านเห็นว่าหลังจากสงกรานต์แล้ว เป็นเวลาว่างจากการทำนา และการทำบุญ ในระยะเว้นห่าง อาจจะทำให้พระภิกษุไม่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ และเพราะเป็นช่วงแล้งไม่มีฝนตก เหมาะแก่การที่วัดแต่ละแห่งจะทำการปรับปรุงพัฒนา ศาสนสถาน โบสถ์ ศาลา ให้มีความสวยงามเตรียมไว้ให้บริการแก่ชาวบ้านในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา จึงควรที่จะได้ทำการสนับสนุนวัดให้ได้มีเครื่องมือเครื่องใช้ และงบประมาณเงินทองไว้ใช้ดำเนินการดังกล่าวได้สะดวกยิ่งขึ้น ชาวบ้านจึงชักชวนกันสละสิ่งของนำไปมอบให้กับวัดใกล้บ้านของตน โดยมีการทำบุญตักบาตรบนศาลาวัดโพรงมะเดื่อ และกล่าวคำถวายผ้าป่าโดยโยงสายสิญจน์จากธงทุกต้นที่ปักไว้ ปีหนึ่งอาจจะมีธง 5-9 ต้น แล้วแต่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะจัดหามาร่วมประเพณีในตอนบ่ายชาวบ้านจะนัดกันทำความสะอาดวัด พัฒนาวัด เสร็จแล้วจึงนิมนต์พระลงมาที่ลานวัด เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระทั้งวัด ส่วนคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านมีการรดน้ำของพรจากผู้ใหญ่ด้วย หลังจากนั้นชาวบ้านจึงรดน้ำซึ่งกันและกันเป็นเหมือนความสนุกสนาน

ประเพณีบุญกลางบ้าน งานประจำปีวัดโพรงมะเดื่อ กำหนดจัดในเดือนมกราคม เป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา เป็นคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ในการขอบคุณบรรพบุรุษที่ประทานความอุดมสมบูรณ์ความเชื่อของประเพณีบุญกลางบ้าน มาจากการผสานความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษของคนโบราณ เข้ากับจนสามารถเก็บเกี่ยวได้ และเป็นการสะเดาะเคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมของคนในชุมชนโพรงมะเดื่อ โดยประสานกับคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการจัดให้มีการทำบุญเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ และเสริมสวัสดิ์มงคลความอุดมสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้านหลังถูความเชื่อว่าหากบรรพบุรุษเคยจัดประเพณีงานบุญลางบ้านขึ้น ณ สถานที่ใด ต้องมีการกระสถานที่นั้นเป็นประจำทุกปี หากยกเลิกไม่กระทำต่อ จะเกิดภัยพิบัติแก่หมู่บ้านนั้น

นอกจากนั้นทุกเดือนชาวบ้านในชุมชน จะไปร่วมทําบุญที่วัดโพรงมะเดื่อ เป็นประจํา เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันสงกรานต์วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจในชุมชนโพรงมะเดื่อมีอัตราการเพิ่มขึ้น เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมในท้องถิ่น ตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่มๆ และประชากรอีกส่วนหนึ่งเป็นประชากรที่อพยพมาเพื่อประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการปศุสัตว์ อาชีพคนในชุมชนโพรงมะเดื่อส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรเช่น ทำสวน ทำไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่ของชุมชนขึ้นอยู่กับจำนวนผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม และการประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขายและอื่นๆ

1) นางโคจร เอกมอญ ครูภูมิปัญญาด้านการทำอาหารลาวครั่ง ตำบลโพรงมะเดื่อ ได้สืบสานและถ่ายทอดอาหารลาวครั่งมาจนถึงทุกวันนี้ นางโคจร เอกมอญ มีความเชื่อว่าการปลูกฝังเด็กและเยาวชน ให้รักถิ่นฐานบ้านเกิด ภาคภูมิใจในความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเอง รวมถึงการมีความรู้ด้านการบ้านการเรือน การทำอาหารรับประทานในครัวเรือนและการสืบสานความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษที่เป็นเอกลักษณ์สู่ชนรุ่นต่อไปไม่ให้สูญหายไป พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้เกิดการเรียนรู้ จดจำ จนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองให้สะดวกกับการรับประทานและการเก็บรักษาอาหารของชาวลาวครั่ง 

2) นายพิทักษ์พล ตันกิตติวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลโพรงมะเดื่อ เป็นนายกเทศมนตรีที่คอยดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยในทุกๆด้าน

วัดโพรงมะเดื่อ

วัดก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2371 เป็นวัดเก่าแก่ แต่เดิมวัดโพรงมะเดื่อนี้ตั้งอยู่ตรงหมู่บ้านพลับ หรือบ้านหนองหิน ที่ตรงนั้นปัจจุบันยังมีหลักฐานอยู่เรียกว่า ทุ่งวัด และยังมีต้นโพธิ์อยู่ ตั้งนานเท่าไรไม่ปรากฏ ต่อมาย้ายมาสร้างตรงท้ายบ้านหนองฉิม ที่ตรงนั้นมีเนินสูงมากและมีกรวด กระเบื้อง เศษอิฐมากมาย หลังจากนั้น ก็ย้ายมาตั้งที่ตลาดโรงสี มาตลอดจนทุกวันนี้ เพราะที่หนองฉิมเป็นป่าห่างจากหมู่บ้านคนมาก จึงย้ายมาที่ตรงปัจจุบันนี้ ซึ่งเดิมเป็นป่า และเนินสูง ชาวบ้านได้ถวายที่สำหรับสร้าง แล้วให้ชื่อว่า วัดโพรงมะเดื่อ ตามชื่อของหมู่บ้าน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2513 และพ.ศ. 2528 วัดได้ดำเนินการจัดตั้งและอุปถัมภ์โรงเรียนมัธยมศึกษาโพรงมะเดื่อวิทยาคม

การแต่งกาย

การแต่งกายของชาวโพรงมะเดื่อมีการทอผ้าพื้นเมืองใส่ เช่น ลายดอกมะเดื่อ ซึ่งชุมชนโพรงมะเดื่อก็มีชาติพันธุ์ลาวครั่งเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย เลยทำให้ได้รับเอาอิทธิผลของชาวลาวครั่งที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่ชุมชนโพรงมะเดื่อไม่ว่าจะเป็น การนับถือผี และหัตถกรรมทอผ้า

ผ้าทอตีนจกผ้าซิ่นลาวครั่งมักต่อตีนซิ่นด้วยฝ้ายหรือไหม ตีนซิ่น ตอนบนตกแต่งด้วยการจกลวดลายและตีนซิ่นตอนล่างปล่อยเว้นให้เป็นผืนผ้าสีแดง ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในชุมชนโพรงมะเดื่อจนถึงปัจจุบัน สีที่ใช้เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีที่ใช้เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีเหลืองจากมะพูด หรือใบหูกวาง สีน้ำตาลจากหมากหรือประดู่ สีเทาจากประดู่ย้อมโคลน สีครามได้มาจากต้นครามผสมกับปูนกินหมาก สีแดงได้มาจากครั่ง ลวดลายบนผืนผ้าของชาวลาวครั่งส่วนใหญ่จะมาจากสิ่งของใกล้ตัวที่ใช้ในวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม ความเชื่อ เช่น ลายนาค ลายม้า ลายขอ ลายดอกแก้ว ลายเอี้ย เป็นต้น ลายที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ลายโบราณ ลายหมี่ลวด และ ลายหมี่ตา

ผ้าซิ่นตีนจกที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวลาวครั่ง เช่น ซิ่นก่าน ใช้เทคนิคการจกหรือขิดตัวซิ่นทั้งผืน ซิ่นหมี่ลวด เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่และทอต่อเนื่อง โดยไม่มีเทคนิคอื่นมาคั่น ทำให้เกิดลวดลายอย่างต่อเนื่อง ลวดลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายหมี่สำเภา ลายหมี่ขอใหญ่ เป็นต้น ซิ่นหมี่ตา ใช้เทคนิคการมัดหมี่สลับกับการจกหรือ ขิด ทำให้เกิดลวดลายขนานกับลำตัวเป็นทางลงลวดลายของ มัดหมี่ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลาย หงส์ หรือลายนาค เป็นต้น ซิ่นหมี่น้อย เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่เป็นลวดลาย แถบเล็ก ๆ สลับด้วยฝ้าย หรือไหมพื้นสีต่างๆ

ลาวครั่ง คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได เป็นตระกูลภาษาของภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของประเทศจีน จัดเป็นตระกูลภาษาใหญ่ออสตริก ในปัจจุบันมีการใช้ ภาษาไทย กันในชีวิตประจำวัน และภาษาไท-กะได ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่จะใช้ภาษานี้สื่อสารกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในชุมชนโพรงมะเดื่อ มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น วัดโพรงมะเดื่อ วัดหว้าเอน สวนศรีรัศม์ และศูนย์การแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์  และบึงลาดโพธิ์

เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก : https://pmd.go.th/public/list/data/index/menu/1142.

ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ผ้าซิ่นลาวครั่ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2566, จาก : http://www.m-culture.in.th/album/197741.

สันทัด คำใสอินทร์. (2557). นางโคจร เอกมอญ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก : http://www.m-culture.in.th/album/73886.

แหล่งเรียนรู้บนเครือข่ายเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อล 20 มีนาคม 2566, จาก : http://home.npru.ac.th/st/general.html#top.

องค์การบริหารส่วนตำบลโพรงมะเดื่อ. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป อบต.โพรงมะเดื่อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก : http://www.phrongmaduea.go.th/site/index.phpoption=com_content&view=article&id=46&Itemid=49#pageTop.

อัษฎาวุธ ประภานาวิน. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนา เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก : https://www.gotoknow.org/posts/701535.

อบต.โพรงมะเดื่อ โทร. 06-5517-7836