
บ้านท่าด่านมีข้าวปลอดสารพิษจากนาข้าวอินทรีย์ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการบริหารจัดการนาข้าว เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต จนปัจจุบันข้าวอินทรีย์กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเลื่องชื่อประจำชุมชน
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณนี้เคยเป็นเมืองหน้าด่านระหว่างเมืองปัตตานีกับเมืองหนองจิก ภายหลังก่อตั้งหมู่บ้านจึงได้ชื่อเรียกว่า
“บ้านท่าด่าน”
บ้านท่าด่านมีข้าวปลอดสารพิษจากนาข้าวอินทรีย์ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการบริหารจัดการนาข้าว เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต จนปัจจุบันข้าวอินทรีย์กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเลื่องชื่อประจำชุมชน
บ้านท่าด่านในอดีตเคยเป็นเมืองที่กันดารและเป็นป่าทึบ คนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน อพยพมาจากบ้านชะแล้ อําเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยชักชวนกันมาอยู่ในพื้นที่สันโคกทราย ซึ่งมีลําคลองตัดผ่านระหว่างบ้านปะกาจินอกับบ้านปะกาลือสูง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีจระเข้กับเสือชุกชุม จึงต้องย้ายมาอยู่ที่ราบลุ่มจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้บ้านท่าด่านยังเป็นด่านระหว่างเมืองปัตตานีกับเมืองหนองจิกในสมัยสงครามไทยกับญี่ปุ่น ต่อมาจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านท่าด่าน” โดยมี 2 ตระกูล ใหญ่ คือ ตระกูลสังข์สร และตระกูลเฮาบุญ
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านท่าด่านมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองส่งน้ำชลประทานและคลองระบายน้ำชลประทาน สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนเมษายน เป็นระยะเวลา 4 เดือน และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม เป็นระยะเวลา 8 เดือน เนื่องจากได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดียระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากทะเลจีนใต้ระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคมของทุกปี
เส้นทางการคมนาคม
สำหรับการเดินทางสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านท่าด่านกับตัวอำเภอหนองจิก ชาวบ้านจะใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๒ ( สายเพชรเกษม ) เป็นเส้นทางสายหลัก ส่วนการคมนาคมติดต่อภายในตําบลและตําบลใกล้เคียงใช้ถนน รพช. ซึ่งผ่านทางตลอดกลางของตําบลในแนวเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก โดยได้รับการปรับปรุงเป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทาง และใช้ถนนโครงข่ายผิวจราจร ลูกรัง หินคลุก และ คสล. แยกจากเส้นทาง รพช.
ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนรักระบุถึงจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านท่าด่านว่า บ้านท่าด่านเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 90 ครัวเรือน จำนวน 232 คน แยกเป็นประชากรชาย 111 คน และประชากรหญิง 121 คน โดยมีตระกูลใหญ่ประจำหมู่บ้าน 2 ตระกูล คือ ตระกูลสังข์สร และตระกูลเฮาบุญ
การประกอบอาชีพ
อาชีพหลัก: ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรม ได้แก่ ทํานา ทําสวนมะพร้าว ปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์
อาชีพรอง: รับจ้างทั่วไป รับราชการ ค้าขาย และอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ปักผ้าคลุมผม ทําขนม เป็นต้น ซึ่งในรอบระยะ 1 ปี
วิถีการทํานาบ้านท่าด่านเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา เป็นการทํานาเพื่อบริโภคในครัวเรือน พันธุ์ข้าวที่ใช้ คือ ข้าวเหลือง ข้าวแดง ข้าวแมะหลี (ข้าวลูกดํา) ข้าวจําปา (ข้าวช่อกระดังงา) ข้าวมือเฆ้ และข้าวอาเนาะนากอ (ข้าวลูกสาว) ซึ่งปัจจุบันข้าวสายพันธุ์เหล่านี้หาไม่ได้แล้ว ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีเข้าถึงหมู่บ้าน ทําให้วิถีการทํานาของชาวบ้านท่าด่านเกิดความเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ชาวบ้านต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิต ทั้งค่าแรงงาน เครื่องจักรกล หรือปุ๋ยเคมีสำหรับเพิ่มผลผลิต ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2546 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ได้เข้ามาส่งเสริมให้คนในพื้นที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำเกษตรใหม่โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการทํานาข้าวจากนาเคมีเป็นนาข้าวอินทรีย์ กเดเป็นการก่อตั้ง “กลุ่มทํานาข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านท่าด่าน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้านรายได้และแก้ปัญหาพื้นที่นาร้างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังหวังเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวอินทรีย์ ซึ่งผลตอบรับที่ได้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ปริมาณข้าวที่ได้จากนาอินทรีย์มีปริมาณมาก อีกทั้งยังขายได้ราคาดี ซึ่งกลุ่มทํานาข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านท่าด่านยังคงดำเนินกิจกรรมกลุ่มมาจนถึงปัจจุบัน และผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษบ้านท่าด่านก็กลายเป้นผลิตภัณฑ์สินค้าเลื่องชื่อ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านท่าด่านมายาวนานหลายสิบปี
กลุ่มชุมชน
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์: ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อให้สมาชิกในชุมชนเกิดการออมเงิน และมีเงินให้ชาวบ้านกู้ แต่ปัญหาอุปสรรคในการดําเนินงาน คือ ชาวบ้านที่กู้เงินไปส่วนใหญ่ไม่ค่อยจ่ายคืน
กลุ่มธนาคารข้าว: ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตลาดรับซื้ข้าวจากคนในชุมใน ให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายข้าว อีกทั้งยังมีเงินทุนสำรองแก่ชาวบ้านสำหรับการทำนาและซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว
กลุ่มผู้ใช้น้ำ: เนื่องจากหมู่บ้านท่าด่านเป้นพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ชาวบ้านจึงได้รวมตัวก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยร่วมกันแบ่งปันน้ำ ทำความสะอาดคูคลอง ดูแลคลองส่งน้ำ ประชุมหน่วยงานชลประทานกับหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการจัดสรรการใช้น้ำแก่ชุมชนใกล้เคียง
กองทุนแม่ของแผ่นดิน: เป็นกองทุนขับเคลื่อนและแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน
กลุ่มมูลนิธิอุทกภัยในพระราชูปถัมภ์: มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาข้อมูลของแหล่งน้ำ ทั้งแล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำเดิม แล้วร่วมกันขุดลอกคูคลอง ขุดสระแก้มลิง ค้นหาเส้นทางน้ำเพื่อการเกษตร และแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ทางการเกษตร และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน
กลุ่มทำนาข้าวเกษตรอินทรีย์: ผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีซึ่งสร้างผลเสียแก่สุขภาพของคนในชุมชน
กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง: เป็นศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่เยาวชนในชุมชน ภายในกลุ่มจะมีกิจกรรมการเลี้ยงปลา ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ แล้วนำผลผลิตที่ได้ออกไปจำหน่ายเพื่อนำเงินทุนมาใช้หมุนเวียนในการจัดกิจกรรมกลุ่มต่อไป
กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์: ทำปุ๋ยอินทรียย์ และปุ๋ยหมักจากหอยเชอร์รี่ใช้เองภายในชุมชน เพื่อลดต้นทุนในการทำนาข้าว
ประเพณีและวัฒนธรรมชุมชน
วันขึ้นปีใหม่: เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ชาวบ้านเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สําคัญ ในวันที่ 31 ธันวาคม จะมีการทําบุญเลี้ยงพระ ไปวัดเพื่อประกอบกิจกุศลต่าง ๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฏิบัติธรรม ช่วงกลางคืนมีการจัดเทศกาลกินเลี้ยงที่ครื้นเครงสนุกสนานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เช้าวันที่ 1 มกราคม จะมีการทําบุญตักบาตร ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ผู้ที่เคารพนับถือ มีการมอบของขวัญและบัตรอวยพรให้แก่กัน มีการทําบุญเลี้ยงพระที่วัด อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับ มีการละเล่นพื้นบ้านหรือจัดมหรสพเฉลิมฉลองเทศกาลในช่วงกลางคืน
วันว่าง: วันที่เว้นว่างจากการทํางาน ชาวใต้ถือว่าวันว่างเป็น “วันขึ้นปีใหม่” ของไทยเหมือนกับวันสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ วันว่างกระทํากัน 3 วัน ตรงกับวันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ํา เดือน 5 แต่ปัจจุบันถือ เอาวันที่ 13-14-15 เดือนเมษายนตามสากล ก่อนถึงวันว่าง ทุกครัวเรือนจะต้องเร่งทํางานที่คั่งค้างให้เสร็จ เรียบร้อย เตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ไว้ใส่ ช่วยกันทําความสะอาดบ้าน นอกจากนี้ยังต้องตัดผม ตัดเล็บให้เรียบร้อย เพราะเมื่อถึงวันว่างนั้นห้ามกระทํา ในวันว่างวันแรกทุกคนต้องทําจิตใจให้สดชื่น ทําแต่ความดี ตอนเช้ามีการทําบุญตักบาตร ตอนบ่ายจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป วันที่สองและสามจะเป็นการไปรดน้ำดําหัวญาติผู้ใหญ่และเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง และมีกิจกรรมร้องเล่น เต้นรํา เพื่อความสนุกสนาน
วันสารทเดือนสิบ: หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ประเพณีชิงเปรต” เป็นงานบุญประจำปีของคนภาคใต้ โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช การจัดประเพณีสารทเดือนสิบมีจุดมุ่งหมายสําคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจําอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทําไว้ตอนที่ยังมีชีวิต ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้น ในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี
ประเพณีลากพระหรือชักพระ: เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนากระทําหลังจากวันมหาปวารณาหรือวันออกพรรษา 1 วัน ตรงกับวันแรม 1 ค่ํา เดือน 11 โดยพุทธศานาสนิกชนชาวจังหวัดปัตตานี รวมถึงชาวบ้านท่าด่านจะพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือรถหรือล้อเลื่อน แล้วแห่แหนชักลากไปตามลําน้ำหรือตามถนนหนทาง โดยมีจุดหมายปลายทางคือหน้าศาลากลางจังหวัด เรือพระ คือ รถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบก ซึ่งภาษา พื้นเมืองของภาคใต้เรียกว่า "นม" หรือ "นมพระ" ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" ใช้สําหรับอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานแล้วลากในวันออกพรรษา ลากพระทางน้ำ เรียกว่า “เรือพระน้ำ" ส่วนลากพระทางบก เรียกว่า "เรือพระบก"
ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง
เนื่องจากสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านท่าด่านส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม เมื่อถึงช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาอุทกภัยน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่นาเป็นประจําทุกปี ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถทํานาตามฤดูกาลได้ เกษตรกรจึงหันมาทํานาปรังในฤดูแล้ง แต่บางครั้งนํ้าทะเลเอ่อขึ้นสูงถึงที่นา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาน้ำเค็มทําให้ทํานาไม่ได้ อีกทั้งยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทําให้ชาวบ้านไม่กล้าไปทํานาและออกไปประกอบอาชีพนอกหมู่บ้าน
วรรณดี ทองเกลี้ยง และคณะ. (2559). โครงการการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำนาข้าวเพื่อสร้างชาวนารุ่นใหม่ของกลุ่มทำนาข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านท่าด่าน ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
อีเลียส แชมา. (2564). "ม.2 บ.ท่าด่าน ต.ดอนรัก" หนึ่งเดียว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขับเคลื่อนงานประชาชนรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 ผบญ.ระบุ เคาะประตูบ้าน สื่อสารกับประชาชน พร้อมใจกันฉีดวัคซีน ยอดสูงเกือบ 100%. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.psu10725.net [สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566.]