
ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านดอยปุย ชุมชนสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และชูภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำรงชีวิต เพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนหมู่บ้านดอยปุย
เรียกตามชื่อของพื้นที่ตั้งเดิม คือ พื้นที่ดอยปุย
ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านดอยปุย ชุมชนสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และชูภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำรงชีวิต เพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนหมู่บ้านดอยปุย
หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งดอยปุยหรือหมู่บ้านดอยปุย เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งขึ้นโดยชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีข้อสันนิษฐานว่าชาวม้งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตติดต่อระหว่างจีนและยุโรป โดยอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ซึ่งภายหลังได้อพยพลงมาทางใต้เพื่อหนีภัยการคุกคามจากรัฐบาลจีน โดยเข้ามาทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ใน 12 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ น่าน แพร่ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร และสุโขทัย ปัจจุบันชาวม้งในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยจำแนกตามลักษณะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ ม้งน้ำเงินหรือม้งเขียว และม้งขาว (ทรงวิทย์ เชื่อมสกุล, 2543 อ้างถึงใน สุนิสา ฉันท์รัตนโยธิน, 2543: 29)
สำหรับชาวม้งที่อาศัยอยู่ที่บ้านดอยปุย ตำบลสุเทพ เป็นชาวม้งน้ำเงินหรือม้งเขียว ประวัติความเป็นมาหมู่บ้านดอยปุยนั้นมีอยู่ 2 สำนวน
สำนวนแรกเขียนโดย นายยิ่งยศ หวังวนวัฒน์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านดอยปุย กล่าวว่าบ้านดอยปุยก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2489 โดยกลุ่มชาวม้งที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าดอยสุเทพเพื่อหลีกหนีโรคฝีดาษ ซึ่งดอยปุยเป็นภูเขาที่มีลักษณะเป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะเป็นที่อาศัยให้พ้นจากโรคระบาด ระยะแรกเรียกชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านปางขมุ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านดอยปุย ตามลักษณะพื้นที่ตั้งในภายหลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ชาวม้ง 3 ครอบครัว ได้แก่ นายซงหลื่อ แซ่ว่าง, นายไซหลื่อ แซ่ลี และนายจู้สืบ แซ่ว่าง ได้เดินทางเข้ามาทำไร่และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านดอยปุย จากการที่หมู่บ้านดอยปุยอยู่ใกล้พื้นที่เมือง ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในพื้นที่ เริ่มจากมีชาวม้งและชาวจีนฮ่อจำนวน 30 ครอบครัว อพยพหนีภัยการปราบปรามยาเสพติดที่หมู่บ้านป่าคา ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานสมทบภายใต้การนำของ นายเลาป๊ะ แซ่ย่าง จากนั้นมีชาวม้งจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ตาก ที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายครอบครัวมาแสวงหาพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านดอยปุยเช่นเดียวกัน
สำนวนที่สองจากการบอกเล่าของนายล่า เลาย่าง ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เล่าว่าหมู่บ้านดอยปุยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 โดยชาวม้งสามแซ่สกุล ได้แก่ กลุ่มสกุลแซ่ว่าง แซ่ย่าง และแซ่ลี ที่อพยพมาจากบ้านแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหนีโรคฝีดาษและอหิวาตกโรคซึ่งพรากชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก กอปรกับขณะนั้นชาวบ้านมีความต้องการแสวงหาพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ ชาวม้งกลุ่มนี้จึงได้อพยพมาอยู่บริเวณดอยป่าคา อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเกิดสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ดอยป่าคา ชาวม้ง กลุ่มนี้จึงได้เดินทางหลบหนีการปราบปรามมาอยู่ที่หมู่บ้านดอยปุยในปัจจุบัน
ประวัติหมู่บ้านดอยปุยจากสองสำนวนข้างต้น สามารถชี้ได้ว่าชาวม้งอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดอยปุยก่อนการประกาศให้ดอยปุยเป็นป่าสงวน โดยเริ่มแรกเข้ามาอยู่ในเขตรอยต่อบริเวณอำเภอแม่ริม และอำเภอหางดง ซึ่งคาดว่าอาจเป็นหมู่บ้านแม่สาใหม่ในปัจจุบัน ก่อนย้ายมาอยู่ที่ดอยป่าคาบริเวณบ้านป่าคาใหม่ แล้วเคลื่อนย้ายต่อมาที่หมู่บ้านดอยปุยเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 25 นอกจากชาวม้งและจีนฮ่อแล้ว ในปี พ.ศ. 2542 ยังมีการอพยพของชาวกะเหรี่ยงและชาวไทยพื้นราบเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้านดอยปุย โดยคนพื้นราบนั้นเข้ามาทำการค้าขายเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่มีความชำนาญด้านการเพาะปลูกบนพื้นที่สูง ส่วนชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานรับจ้างในสวนให้กับกลุ่มชาวม้งที่มีฐานะดี
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
หมู่บ้านดอยปุยอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ 6,781 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ทางด้านลาดเขาทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาผีปันน้ำตอนบน มียอดเขาที่สำคัญ คือ ดอยสุเทพ ดอยปุย และดอยบวกห้า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำแม่ปิง ดินในพื้นที่มีสีแดง ชั้นดินค่อนข้างลึก เนื้อดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื่องจากมีปริมาณอินทรีย์ในวัตถุมาก มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี แต่ถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขาดพืชปกคลุมดิน
แหล่งน้ำสำคัญสำหรับใช้อุปโภคบริโภคของชาวบ้านดอยปุย คือ ลำห้วยสาขาของห้วยแม่ปาน ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน มีการต่อท่อพีวีซีเพื่อนำน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน และติดตั้งสปริงเกอร์ในพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนลิ้นจี่ โดยในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงที่มีการใช้น้ำมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้นลิ้นจี่เริ่มออกดอกและติดผล นอกจากนี้ยังมีน้ำประปาภูเขาและระบบประปาบาดาล โดยศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาล หมู่บ้านดอยปุยจึงเป็นหมู่บ้านที่น้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรเพียงพอตลอดทั้งปี
สำหรับพื้นที่ป่าไม้ในหมู่บ้านดอยปุยเฉลี่ยรวมมีพื้นที่มากกว่า 5,600 ไร่ ป่ารอบหมู่บ้านยังคงความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้มาก ทั้งการเปิดพื้นที่ป่าเพื่อการเพาะปลูก การเก็บพืชสมุนไพร หาฟืน นำไม้มาสร้างบ้าน นอกจากนี้ในพื้นที่ป่ารอบหมู่บ้านยังพบสัตว์ป่าน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก เช่น กวาง ลิง เก้ง ค่าง ไห่ป่า ชะนี หมูป่า กะรอก ฯลฯ ป่าโดยรอบหมู่บ้านดอยปุยสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) ป่าเต็งรัง 980.97 ไร่ พบอยู่ทางตอนใต้ของน้ำตกศรีสังวาล ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง เป็นต้น 2) ป่าเบญจพรรณ 689.74 ไร่ พบอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยผาเจดีย์ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น แก่แซะ สารภีดอย มะเม่า เสี้ยวป่า และไผ่ชนิดต่าง ๆ 3) ป่าดิบเขา เป็นป่าที่พบมากที่สุด กินรวบพื้นที่ถึง 3,995.26 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 58.91 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยจะพบอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงยอดดอยปุย พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ ก่อแป้น ก่อเดือย มณฑาหลวง จำปีป่า และสนสามใบ สืบเนื่องจากชุมชนชาวเขาเผ่าม้งเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะป่าดงดิบที่มีมากเกือบ 4,000 ไร่ กอปรกับสภาพที่ตั้งที่อยู่บนยอดดอยสูง ส่งผลให้หมู่บ้านดอยปุยมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
การถือครองทรัพยากรธรรมชาติ
ชาวบ้านหมู่บ้านดอยปุยไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในอาณาเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย แต่มีการยึดหลักระบบกรรมสิทธิ์ตามแบบกรรมสิทธิ์ของบุคคล แม้ว่าที่ดินจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทว่าได้มีการขายกรรมสิทธิ์ ซึ่งมักเป็นการซื้อขายระหว่างกลุ่มเครือญาติสายแซ่ตระกูลเดียวกัน
ชาวม้งบ้านดอยปุยมีความเชื่อเกี่ยวกับการถือครองทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกันกับชาวม้งในพื้นที่อื่น คือ เชื่อว่าพื้นที่ป่าและที่ดินทุกแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ การใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัยหรือทำการเกษตรจึงต้องทำพิธีขออนุญาตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน ชาวบ้านดอยปุยมีคติว่าที่ดินในหมู่บ้านเป็นของส่วนรวม จะใช้พื้นที่ตรงไหนก็ย่อมได้หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อนุญาต
สถานที่สำคัญ
โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 สร้างโดยตำรวจตระเวนชายแดนจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 5 (ค่ายดารารัศมี) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2501 ทำการเปิดสอนครั้งแรกใน พ.ศ. 2502 โดยให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสงเคราะห์ 11 (บ้านดอยปุย)” ต่อมาในปี 2507 ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ว่า “โรงเรียนดอยปุย” แต่ชาวบ้านติดป้ายชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความภาคภูมิใจว่าหมู่บ้านดอยปุยได้รับความสนใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพิเศษ
สำนักสงฆ์ดอยปุย หรือวัดดอยปุยวิโรจนาราม เป็นสำนักสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 จากการที่มีสำนักสงฆ์ในหมู่บ้าน ชาวม้งบางคนได้นำลูกหลานเข้ามาบวชเป็นสามเณรเพื่อรับการศึกษา เพราะนอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของบุตรแล้ว การนับถือศาสนาพุทธยังเป็นการแสดงให้หน่วยงานราชการเห็นว่าชาวม้งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาให้ความสนใจกับหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น แต่ถึงกระนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านดอยปุยกับสังนักสงฆ์นับว่าค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากระยะทางที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่หมู่บ้าน ทว่าภายในสำนักสงฆ์ดอยปุยมีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ส่งผลให้กิจกรรมและกิจนิมนต์ต่าง ๆ ของสำนักสงฆ์มาจากบุคคลภายนอก รายได้ที่ได้จากกิจนิมนต์ส่วนหนึ่งจะมอบเป็นกองทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์ และสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาแก่ลูกหลานชาวม้งในหมู่บ้าน โดยเฉพาะม้งที่นับถือศาสนาพุทธ ได้แก่ กลุ่มแซ่ว่างในสายสกุลหวังวัฒนา และแซ่ลีบางคน
ประชากร
หมู่บ้านดอยปุยมีประชากรทั้งสิ้น 279 ครัวเรือน จำนวน 1,408 คน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ปกาเกอะญอ จีนฮ่อ และคนพื้นเมือง โดยชาวม้งคือประชากรกลุ่มใหญ่ในชุมชน
ระบบเครือญาติ
ชาวม้งบ้านดอยปุยมีระบบสายตระกูลแบบ “ปิตาโลหิต” หรือชายเป็นใหญ่เช่นเดียวกับชาวม้งทั่วไป เมื่อหญิงสาวชาวม้งแต่งงานกับสามี จะถือว่าทั้งร่างกายและจิตวิญญาณของหญิงสาวกลายเป็นสมาชิกตระกูลฝ่ายชายโดยสมบูรณ์ ชาวม้งมีข้อห้ามว่าผู้ที่อยู่ในแซ่ตระกูลเดียวกันห้ามไม่ให้แต่งงานกันเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน แม้ว่าจะไม่ได้สืบโลหิตสายเดียวกันก็ตาม ปรากฏการณ์นี้เป็นการสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์เครือญาติของชาวม้ง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีญาติมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้นด้วย ซึ่งภายในหมู่บ้านดอยปุยมีแซ่ตระกูลใหญ่ 4 สาย ได้แก่ ตระกูลว่างบน ตระกูลว่างล่าง ตระกูลลี และตระกูลย่าง
1.ตระกูลว่างบน เป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากนายซงหลื่อ และนายเซากี๋ ชาวม้งตระกูลว่างบนส่วนใหญ่จะใช้ชื่อไทย และใช้สกุล “หวังวนวัฒน์” พี่น้องสายตระกูลนี้ให้การนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเหมือนและจุดร่วมเดียวกัน
2.ตระกูลว่างล่าง ตระกูลนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมใด ๆ กับตระกูลว่างบน แต่มีการกล่าวอ้างว่าทั้งสองตระกูลมี “ผีบรรพบุรุษ” ร่วมกัน ชาวม้งว่างล่างใช้นามสกุล “เลาว้าง” และ “หวังวนพัฒน์”
3.ตระกูลลี สืบเชื้อสายมาจากหนุตั่ว เจ้อไซ และป้างเฉ่อ ซึ่งเป็นชาวม้งขาว แต่เมื่อมาอยู่รวมกลุ่มในชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นม้งลาย ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นม้งลายตามสภาพแวดล้อม ทว่ายังคงรักษาไว้ซึ่งพิธีกรรมทางศาสนาผี ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นม้งขาวเอาไว้
4.ตระกูลย่าง (ตระกูลหยาง) เป็นตระกูลที่มีเครือญาติกว้างขวางมากที่สุด มีฐานะ และการศึกษาดีที่สุดในหมู่บ้านดอยปุย เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากดอยป่าคาเพื่อหลีกหนีการปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอยปุย ชาวม้งตระกูลย่างมีข้อบังคับที่สมาชิกทุกคนในสายตระกูลต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามกินหัวใจสัตว์ อันเนื่องมาจากคำสาปแช่งจากบรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าชาวม้งกลุ่มสายตระกูลย่างสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน: ปกาเกอะญอ, ม้ง, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)
ปกาเกอะญอ, ม้ง, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)
กรรณิการ์ วงษ์ยะลา. (2559). การศึกษาชนเผ่าม้งเพื่อออกแบบชุดผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน (กรณีศึกษาชนเผ่าม้ง ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ลีศึก ฤทธิ์เนติกุล ยิ่งยศ หวังวนวัฒน์ และไตรภพ แซ่ย่าง. (2544). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กับการอยู่รอดของชุมชนชาวม้งบ้านดอยปุย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (2562). ข้อมูลพื้นฐานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://www.hrdi.or.th
สุนิสา ฉันท์รัตนโยธิน. (2546). ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของชุมชน: กรณีศึกษาหมู่บ้านดอยปุย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อรอุษา พรมอ๊อด และนภัทร น้อยบุญมา. (2567). บ้านม้งดอยปุย จ.เชียงใหม่ ต้นแบบพื้นที่ใช้งานวิจัยแก้ฝุ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://theactive.net/video/