
ลุ่มแม่น้ำแม่วาง เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากร ความหลากหลายของกลุ่มคน ชาติพันธุ์ การทำมาหากินหลายรูปแบบ การจัดการทรัพยากรที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการผลิตที่ชาวบ้านเรียกว่า "อาหารจานอร่อยที่ทำให้เรามีกินตลอด" ซึ่งได้พัฒนาคู่การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝ่าย ที่เป็นหัวใจสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการผลิต
ความเป็นมาถูกเล่าขานต่อกันมาเป็นนิทาน ชื่อว่า ตำนานดอยผาแง่มหรือลุ่มน้ำแม่วาง เขียนลงในสมุดข่อยเป็นภาษาล้านนา โดยเล่ากันว่า ก่อนจะเกิดเป็นน้ำแม่วางขึ้นมา เรียกว่า “แม่งวาง” เกิดจากหญิงคนหนึ่งไปหาลูกไม้ หัวมันในป่าตีนดอยคาผาแง่มไปหาฟืนหาของกินในป่าเป็นวิถีชีวิตของคนแต่ก่อนและกระหายน้ำขึ้นมาก็ได้ไปกินน้ำที่อยู่ตามรอยเท้าของช้างป่าเป็นช้างตัวผู้ กลับมาบ้านได้สักหนึ่งเดือนก็ตั้งท้อง คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชายพอลูกโตก็ถามแม่ว่าพ่อเป็นใครลูกถามทุกวันจนแม่ทนไม่ได้จึงได้บอกลูกว่าพ่อของเจ้าเป็นช้าง เพราะว่าแม่ไม่เคยไปสมสู่กับคนใดเลยพอเข้าไปหาของป่าแม่ก็ไปกินน้ำที่อยู่ในรอยเท้าช้างและก็ท้องเจ้า ลูกอยากเห็นอยากพิสูจน์ก็ไปตามหาพ่อในป่าก็ไปเจอกับช้าง ลูกก็เรียกช้างว่าพ่อ ช้างก็ไม่เชื่อว่าตัวเองมีลูกได้แถมลูกยังเป็นคนอีก ช้างก็เลยพูดขึ้นว่า ถ้าเจ้าเป็นลูกของข้าจริงเจ้าต้องตั้งจิตอธิษฐานขึ้นไปอยู่ที่สูงแล้วก็กระโดดลงระหว่างงาทั้งสองของข้า ถ้าเจ้าไม่ตกถึงดินสามารถนั่งบนงาของข้าได้แสดงว่าเจ้าเป็นลูกข้า พอกระโดดจริง ๆ ชายคนนั้นก็ตกลงระหว่างงาช้างทั้งสอง ช้างก็เลยรับเป็นลูก ลูกก็เล่าความเป็นมาว่าเป็นลูกของช้างได้อย่างไร แม่บอกว่าช้างเป็นพ่อของข้า และลูกก็กระหายน้ำช้างได้เอางาแทงดอยคาผาแง้มเพื่อจะได้มาให้ลูกกินจึงเกิดเป็นห้วยพี่กับห้วยน้อง ต่อมาพ่อได้ถอดงาให้ไปหนึ่งงาเจ้าหนุ่มจะไปไหนก็ถอดงาวางไว้แล้วอธิษฐานขอของกิน ปูปลา อาหาร จากนั้นก็เกิดเป็นน้ำแม่วาง ความเป็นมาที่เล่าเป็นนิยายให้ฟัง เป็นดอยคาผาแง่มเป็นห้วยพี่กับห้วยน้อง และห้วยผาดำที่เกิดจากเทือกเขาอินทนนท์ สามห้วยร่วมกับสายน้อยสายใหญ่ตั้งแต่แม่เปา แม่ป้วย แม่ละปอก แม่วิน แม่หยวก ก็มารวมกันเป็นน้ำแม่วาง
ลุ่มแม่น้ำแม่วาง เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากร ความหลากหลายของกลุ่มคน ชาติพันธุ์ การทำมาหากินหลายรูปแบบ การจัดการทรัพยากรที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการผลิตที่ชาวบ้านเรียกว่า "อาหารจานอร่อยที่ทำให้เรามีกินตลอด" ซึ่งได้พัฒนาคู่การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝ่าย ที่เป็นหัวใจสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการผลิต
ด้วยเงื่อนไขทางนิเวศ การเมือง เศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายประชากร การเลือกใช้ระบบการผลิตและความสัมพันธ์กับรัฐที่แตกต่าง ทำให้พัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในลุ่มน้ำแม่วางแตกต่าง แยกออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนตอนบน
ในลุ่มน้ำแม่วางตอนบนมีระบบการผลิตแตกต่างกัน ชุมชนม้งซึ่งอยู่บนพื้นที่สูงที่สุดต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานบ่อยด้วยเหตุผลทางการเมืองนิเวศและเศรษฐกิจเป็นผลต้องทำไร่ซึ่งมีลักษณะทำการผลิตในพื้นที่หนึ่งนาน ๆ จนดินเสื่อมสภาพจึงเคลื่อนย้ายต่อไปที่อื่น จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านห้วยอีค่าง แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวลั้วะ ภายหลังได้ทิ้งถิ่นฐานไปไม่ต่ำกว่า 400 ปี ร่องรอยที่ทิ้งไว้เป็นหลักฐาน คือ ป่าช้า วัสดุเครื่องใช้ เป็นต้น ชุมชนปกาเกอะญอได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานแรก ๆ เป็นแนวยาวจากดอยปูปอเดาะจนถึงห้วยอีค่าง ในตอนนั้นบ้านห้วยอีค่าง บ้านทุ่งหลวงยังเป็นบ้านเดียวกัน ต่อมาเกิดโรคระบาดทำให้ต้องอพยพชุมชน โดยส่วนใหญ่ย้ายขึ้นเหนือตั้งเป็นบ้านห้วยอีค่างส่วนที่ย้ายลงใต้เป็นชุมชนทุ่งหลวง เครือข่ายทางสังคมของชุมชนปกาเกอะเญอไม่ได้จำกัดเฉพาะลุ่มแม่เตียนเท่านั้น แต่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับกลุ่มปกาเกอะญอในลุ่มน้ำย่อยอื่น ๆ ในแม่วางตอนบน ระบบการผลิตไร่หมุนเวียน ถือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนปกาเกอะญอ ระบบดังกล่าวอยู่บนฐานสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วม นอกจากนี้ชุมชนปกาเกอะญอยังทำนาดำ โดยอาศัยความรู้ระบบเหมืองฝายจากชุมชนพื้นราบมาปรับประยุกต์ใช้ เราจึงเห็นแบบแผนการผลิตทั้งสองอย่างควบคู่กันไป โดยการสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมของกลุ่มปกาเกอะญอที่มีอยู่มากในการแลกเปลี่ยนแรงงานร่วมประเพณีพิธีกรรม
ภายหลังจากกลุ่มปกาเกอะญอได้ตั้งหลักปักฐานเป็นเวลานาน กลุ่มม้งก็ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าวในช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา โดยถอยร่นมาจากจีน พม่าและเคลื่อนย้ายไปมานับ 10 ครั้งตั้งแต่มาอยู่ที่เชียงราย ก่อนจะย้ายไปที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และเริ่มมีการทำฝิ่น จากนั้นย้ายไปแม่แจ่ม ก่อนที่จะอพยพมาอยู่บ้านขุนวางจากประวัติของชุมชนบ้านป่าไผ่ ซึ่งเป็นกลุ่มม้งในลุ่มน้ำแม่เตียนการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยและทำกินของกลุ่มม้งเกิดจากเงื่อนไขหลายอย่าง การเคลื่อนเข้ามาสู่ประเทศไทยเกิดจากปัญหาการต่อสู้กับจีน ขณะที่เมื่อเข้ามาแล้ว กลุ่มม้งก็พยายามแสวงหาพื้นที่ทำกินที่เหมาะสมที่จะทำมาหากินเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะเวลาอันสั้น จึงได้เลือกทำไร่ ประจวบการเศรษฐกิจการค้าฝิ่นในดินแดนดังกล่าวเติบโตจากการสนับสนุนทางนโยบายของรัฐสมัยนั้น กลุ่มม้งที่เคลื่อนสู่ลุ่มน้ำวางก็ด้วยเหตุผลการหาพื้นที่ปลูกฝิ่นได้ดี จึงเลือกพื้นที่บ้าน ม่อนยะใต้ ต.แม่วิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่เตียนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นม้งกลุ่มหนึ่ง กลุ่มม้งตระกูลแซ่ว้าง นำโดยนายเซา เลาว้าง จึงแยกมาก่อตั้งบ้านป่าไผ่ ในปี 2531 คนแซ่เดียวกัน จากบ้านม่อนยะใต้ก็ย้ายตามมาอยู่อีก 14 หลังคาเรือน การทำมาหากินของกลุ่มม้งได้อาศัยพื้นที่ซึ่งเป็นไร่หมุนเวียนเดิมต่อจากชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยอีค่าง
ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มม้งและปกาเกอะญอก่อรูปขึ้น โดยกลุ่มปกาเกอะญอมีเครือข่ายทางสังคมมากกว่า และตั้งหลักปักฐานทำมาหากินและจัดการทรัพยากรมานานกว่า จึงมีอำนาจต่อรองมากกว่ากลุ่มม้ง ขณะที่กลุ่มม้ง ซึ่งตกอยู่ในฐานะคนกลุ่มน้อยก็เร่งสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวน โดยการทำไร่ ปลูกฝิ่น และพืชพาณิชย์ต่าง ๆ โดยมีกลุ่มปกาเกอะญอร่วมในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจด้วย ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างม้งกับกะเหรี่ยงจึงมีทั้งความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร และความร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ รูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำแม่วางตอนบนในเวลาต่อมา
2.ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนตอนล่าง
ยุคสมัยแห่งลุ่มน้ำแม่วางน่าจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากสมัยพระเจ้ากาวิละพื้นฟูเมืองเชียงใหม่ หลังจากสิ้นสุดสงครามกับพม่า ในช่วงการฟื้นฟูพระเจ้ากาวิละได้รวบรวมผู้คนจากเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวไทใหญ่ ไทเขิน จากรัฐฉาน ไทลื้อจากสิบสองปันนา มาตั้งรกรากเชียงใหม่ การบุกเบิกเหมืองฝายและขยายพื้นที่นาจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ลุ่มน้ำวางก็เป็นลุ่มน้ำหนึ่งที่นอกจากจะมีกลุ่มชุมชนพื้นเมือง เช่น ลัวะ ดำรงชีพทำไร่ทำสวนในเขตพื้นที่สูงและลงมาบุกเบิกในที่ลุ่ม ชุมชนไทก็เคลื่อนย้ายมาตั้งรกรากถิ่นประวัติการก่อตั้งบ้านเรือนสัมพันธ์กับการจัดตั้งเหมืองฝายและเป็นความสัมพันธ์ของเจ้ากับไพร่ที่ชัดเจน ดังเห็นได้จากการกำเนิดเหมืองฝายในลุ่มน้ำแม่วาง โดยเฉพาะฝายใหญ่ ๆ ส่วนมากเกิดจากเจ้านายเป็นผู้มาบุกเบิกโดยเกณฑ์แรงงานมาร่วม และยกระบบการจัดการให้องค์กรเหมืองฝายของชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ เช่น ฝายนอน สร้างโดยพระยาขัดแก้ว ฝายหนองเย็น สร้างโดยเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ฝายห้วยผึ้งสร้างโดย เจ้าฝายห้วยผึ้ง ฝายลำดับที่ 3 ของน้ำแม่วางตอนล่าง ก็เกิดขึ้นจาก เจ้าพงศ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ดินในเขตบริเวณที่ราบลุ่มน้ำแม่วาง เห็นว่าชาวบ้านมีการทดน้ำเข้าสู่เรือกสวนไร่นาตามวิธีธรรมชาติ ซึ่งในสายตาของเจ้าพงศ์อินทร์เห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพ ไม่รู้หลักทดน้ำ ไม่รู้หลักการทำเหมืองฝายสำหรับกักน้ำ น้ำไหลหลากมาแล้วก็หมดไป เจ้าพงศ์อินทร์จึงให้บรรดาคนงานขุดลำเหมือง ทำที่กั้นน้ำ ทำรางระบายน้ำและพัฒนามาเป็นอาคารกั้นน้ำในเวลาต่อมา
3.ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนห้วยมะนาว
ชุมชนนี้เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2511 โดยชาวม้งจากหมู่บ้านขุนวาง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่วิน อำเภอสันป่าตอง มาเป็นคนงานของบริษัทอาหารสากล ซึ่งตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขาในเขตหมู่ที่ 8 ตำบลบ้านกาด ต่อมาชาวม้ง 2 ครอบครัวนั้นพากันอพยพครอบครัวลงมาหักล้างถางพงสร้างบ้านอยู่ใกล้ ๆ บริเวณห้วยมะนาว ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่และตัดไม้ขาย จากนั้นไม่นานญาติพี่น้องซึ่งอยู่บนดอยขุนวางและขุนกลางก็อพยพตามมาอยู่ด้วย บริเวณห้วยมะนาวจึงกลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ ประมาณ 10 ครัวเรือน
ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมลำน้ำแม่ขาน ซึ่งได้แก่ พื้นที่ของตำบล แม่ก๊า บางส่วน ทุ่งสะโตก มะขามหลวง อำเภอสันป่าตองได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม พระปันฤาษีแห่งดอยสรรพัญญูจึงชักชวนให้มาอยู่ที่ห้วยมะนาว ชาวบ้านเหล่านั้นจึงพากันอพยพ มาอยู่ร่วมกับม้งซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อน
ปี พ.ศ. 2519 ทางราชการประกาศจัดตั้งชุมชนบ้านใหม่สวรรค์เป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 11 ของ ตำบลบ้านกาด วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมราษฎรตำบลบ้านกาด ทรงมีพระราชดำริจัดสรรที่ดินจำนวน 4,768 ไร่ ในบริเวณป่า จำแนกบ้านห้วยมะนาว ให้แก่ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 1 ไร่ ที่ดินทำกิน ครอบครัวละ 6 ไร่ จำนวน 208 ครอบครัว จากนั้นจึงจัดตั้ง ศูนย์สาธิตสหกรณ์ที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ความรู้และช่วยเหลือแก่สมาชิก ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้ง 48 ครอบครัว คนไทยพื้นราบ 160 ครอบครัว ตามด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทางราชการได้สร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก แต่ปริมาณน้ำก็ไม่เพียงพอ จึงมีการกำหนดให้ใช้วิธีเฉลี่ยการใช้น้ำโดยเปิดเขื่อนปล่อยน้ำ ให้แก่ชุมชนสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ปี พ.ศ. 2531 ทางราชการได้แยกหมู่บ้านสหกรณ์ ออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านใหม่สวรรค์ หมู่ที่ 11 (บ้านเดิม )และบ้านใหม่ธารทอง หรือบ้านห้วยเนียมเดิม หมู่ที่ 15 มีระยะทางห่างกันประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดินทางถึงกันด้วยถนนลูกรัง ชาวม้งในหมู่บ้านสหกรณ์บ้านใหม่ธารทอง ประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อจำหน่ายผลผลิตนอกจากนั้นยังรับจ้างทั่วไป โดยรับจ้างทำงานในไร่ สวน การค้าขายประกอบธุรกิจขนาดเล็กแต่ชาวม้งบางส่วนก็ไม่สามารถทำกินได้ เนื่องมาจากความแห้งแล้งและสภาพของดิน ประกอบกับไม่เคยชินต่อการทำเกษตรกรรมแบบพื้นราบทำให้ขาดทุนและไม่มีทุนในการเพาะปลูกปี ต่อไป ในปี 2536 ชาวม้งเป็นสมาชิกของศูนย์สาธิตสหกรณ์และมีสิทธิในที่ดินทำกินจำนวน 48 ราย ขายสิทธิในที่ดินให้ผู้อื่นไปแล้ว 2 ราย จึงเหลือ 46 ราย ในจำนวนนี้มีชาวม้งจำนวนมากที่กลับไปเพาะปลูกข้าว และพืชผักยังพื้นที่เดิมที่เคยอยู่ก่อนจะอพยพยมา บางรายก็ซื้อที่ดินบริเวณเชิงเขา ซึ่งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยน้ำริน อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางตำบลแม่วินประมาณ 8 กิโลเมตร บางครอบครัวก็อพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยน้ำรินตั้งเป็นชุมชนย่อย ๆ ประมาณ 25 ครัวเรือนเพาะปลูกพืชไร่ ข้าวโพด ปลูกผักไว้กินและขาย มีการทำสวนผลไม้เพื่อการผลิตสำหรับขาย เช่น ลิ้นจี่ ลำไย สตรอร์เบอร์รี่ ชาวบ้านบางรายหันไปประกอบอาชีพรับจ้างทั้งในและนอกชุมชน
ลุ่มน้ำแม่วางตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำขาน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของน้ำแม่ปิง น้ำแม่วางมีต้นกำเนิดจากดอยผาแง่ม ในเทือกเขาดอยอินทนนท์บริเวณอำเภอแม่วางและอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของน้ำย่อย ได้แก่ น้ำแม่เตียน น้ำแม่สะป๊อก น้ำแม่มูด น้ำแม่วินและน้ำแม่บ๊วย ซึ่งไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำวาง ในเขตพื้นที่ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จากนั้นน้ำแม่วางไหลไปบรรจบน้ำแม่ขานที่สบวาง ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่สบแม่ขาน ณ บ้านสบแม่ขาน ตำบลสองแคว กิ่งอำเภอ ดอยหล่อ โดยมีความยาว 73 กิโลเมตร กว้าง 15 -20 เมตร ลุ่มน้ำวางมีพื้นที่รวม 545 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่สูงประมาณร้อยละ 94.86 มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 330 เมตรขึ้นไปที่เหลือประมาณร้อยละ 5.14 เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอแม่วาง อำเภอสันป่าตองและอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อ
- ทิศตะวันตก ติดกับ ดอยอินทนนท์ของเทือกเขาถนนธงชัยและเขตอำเภอแม่แจ่ม
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอสันป่าตอง
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอหางดงและอำเภอสะเมิง
- ทิศใต้ ติดกับ กิ่งอำเภอดอยหล่อ
ตำบลแม่วินพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีสภาพเป็นป่าดิบเขา มีแม่น้ำวางไหลผ่าน เป็นเส้นเลือดใหญ่ของชุมชน มีหมู่บ้านทั้งหมด 19 หมู่บ้าน แบ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาชนเผ่าปกากะญอ 13 หมู่บ้าน ชาวเขาเผ่าม้ง 2 หมู่บ้าน และอีก 4 หมู่บ้านเป็นคนเมืองพื้นราบ
ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวเพื่อบริโภคกันเองและแบ่งขาย ปลูกผักโครงการหลวง ข้าวโพดหวาน ข้าวบาร์เลย์ ถือเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์
วิถีชุมชนลุ่มน้ำวาง
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพื้นที่ตอนบนและตอนล่างไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนักในยุคที่เริ่มตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ และระบบเศรษฐกิจยังชีพของแต่ละชุมชนยังมีความเป็นอิสระอยู่มาก แต่ในช่วงเศรษฐกิจการค้าเจริญเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เครือข่ายทางการค้าได้เชื่อมโยงผู้คนในลุ่มน้ำได้ติดต่อสัมพันธ์กันมากขึ้น ในช่วงที่มีการปลูกฝิ่นในพื้นที่แม่วาง โดยเฉพาะป่าต้นน้ำโป่งสมิตและเขตต้นน้ำแม่เตียนโดยม้ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกที่เริ่มปลูกฝิ่น ต่อมาก็ขยายสู่ปกาเกอะญอ และคนเมืองในพื้นที่ราบ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างมีบทบาทสูงในแง่การปลูกและการค้า ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมในด้านอื่น ๆ ตามมา แม้จะมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรติดต่อค้าขาย แต่ด้วยความแตกต่างของระบบการผลิต วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ความสัมพันธ์ของชุมชนในลุ่มน้ำแม่วางจึงก่อตัวเป็นจุดๆ ยังไม่เห็นภาพความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ปัจจุบันผู้คนในลุ่มน้ำแม่วางมีความสัมพันธ์ภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน และระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตลุ่มน้ำ แต่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ กับผู้คนในลุ่มน้ำอื่น เช่น ลุ่มน้ำแม่ขาน แม่งัด แม่ปิง แม่ริม แม่แจ่ม และลี้ เป็นต้น โดยมีเส้นทางการค้าตามลำน้ำ หรือแนวสันเขาซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางของพ่อค้าวัว
ปฏิทินระบบเหมืองฝ่าย
- เดือนเมษายน ตีฝาย
- เดือนพฤษภาคม ลอกเหมือง
- เดือนมิถุนายน เลี้ยงผีฝาย ผีขุนน้ำ
- เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เริ่มต้นทำนา
ทุนกายภาพ
ตำบลแม่วินมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ ล่องแพน้ำวาง ขี่ช้างชมไพร เลี้ยงช้าง มีน้ำตกแม่สะป๊อก น้ำตกแม่วาง ทุ่งนาขั้นบันได เป็นต้น
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
ความรู้เรื่องการจัดการน้ำ
ระบบเหมืองฝายเป็นการชลประทานดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญา รู้จักการนำน้ำมาทำนาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์กับระบบการผลิตของตนเองการจัดการเหมืองฝาย โดยใช้เศษวัสดุภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น หิน ทราย ไม้ที่นำมาตอกหลักเสา ยกระดับน้ำให้สูงขึ้น เพื่อส่งน้ำเข้าสู่ระบบลำเหมือง ไหลไปหล่อเลี้ยงที่นาของชุมชน เพื่อการอุปโภค บริโภคแสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการปรับใช้วัสดุท้องถิ่นพื้นที่ลุ่มน้ำวางตอนล่างที่เป็นระบบเหมืองฝายขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจัดการน้ำของอาณาจักรล้านนาที่สืบเนื่องมาหลายร้อยปี นอกจากจะเป็นเรื่องการใช้น้ำแล้ว ยังมีมิติของการอยู่ร่วมกัน โดยการที่จะทำให้สมาชิกอยู่ร่วมกัน จัดสรรทรัพยากรใช้ร่วมกันได้นั้น สิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของสมาชิกคือ ผีฝาย ช่วงเวลาที่เลี้ยงผีฝายจะทำในช่วงเดือนเก้า ก่อนการเริ่มต้นทำนาในเดือน 10 พิธีกรรมการเลี้ยงผีฝาย สมาชิกเหมืองฝายจะเลี้ยงผีด้วยไก่ หมู วัว ควาย แล้วแต่ชุมชน ในแต่ละฝายจะเลี้ยงผีฝายของตนเอง อาจจะสลับเครื่องถวาย เช่น สองปีเลี้ยงด้วยหมู ปีถัดไปเลี้ยงด้วยวัว ซึ่งในพิธีกรรมการเลี้ยงผีฝายนี้เป็นกุศโลบายของชุมชน เนื่องจากสมาชิกที่ร่วมกันเลี้ยงผีจะมีโอกาสในการพูดคุยสนทนากัน ความขุ่นข้องหมองใจปรับความเข้าใจ ความรักใคร่มิตรภาพก็สามารถพูดคุยกัน เป็นการจัดการปัญหาของชุมชนเพื่อการอยู่ร่วมกันของชุมชน รวมถึงการจัดการเรื่องการทำนาด้วย เพราะการเลี้ยงผีฝายจะจัดขึ้นก่อนการทำนา ดังนั้นการพูดคุยของสมาชิกเกี่ยวกับการจัดการน้ำ การจัดสรรจึงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้น งานเลี้ยงผีนอกจากจะมีนัยทางพิธีกรรมแล้ว ยังมีนัยเช่นเดียวกับช่วงการผลิตของชุมชนอีกด้วย
ความรู้เรื่องการจัดการที่ดิน
ความรู้ในระบบนิเวศ สัมพันธ์กับการเลือกพื้นที่เพาะปลูกพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลเป็นพืชเพาะปลูกกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นพืชไร่ ข้าวโพด ผัก ถั่วต่าง ๆ ในบริเวณซอกเขาที่ปรับระดับพื้นที่ดินและควบคุมระดับน้ำใช้ทำนาดำ ปรับสภาพการผลิตให้เข้ากับระบบนิเวศน์ มีระบบเหมืองฝายที่กั้นน้ำแม่เตียน ได้แก่ ฝ่ายชีกางวอ ฝ่ายกาเล ฝ่ายปู้มูล ฝ่ายพะเจ้า บางฝ่ายมีอายุมากกว่า 160ปี พื้นที่สูง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลใช้ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดและพืชอื่น ๆ ตลอดจนผักนอกฤดูในบางพื้นที่ มักปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อรักษาดิน
- ที่ดอน มักมีที่นาจำกัด และขาดแคลนน้ำ ผลิตพืชไร่เพื่อเสริมการผลิตข้าว
- ที่ปง เนินตะกอนริมแม่น้ำ สะสมของตะกอนดินที่ไหลมาจากน้ำ เป็นบริเวณน้ำท่วมถึงปลูกพืชล้มลุกระยะสั้น
- ที่นา เป็นพื้นที่ราบลุ่มถัดจากพื้นที่ปง มักมีการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพการจัดระบบเหมือง เหมาะกับการปลูกข้าวนาปีความรู้ของการดูระดับสูง-ต่ำของพื้นที่ และการดูลักษณะดิน ซึ่งสัมพันธ์การจัดสรรน้ำของกลุ่มเหมืองฝาย ยกตัวอย่างกรณี ฝายห้วยผึ้ง น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำวาง ชาวบ้านกาดฝายขุนคงนำท่อไปต่อที่ห้วยผึ้ง ให้น้ำไหลลงสู่อ่างห้วยบง เพราะอ่างห้วยมะนาวนั้นไม่มีน้ำ
- ขุน (คือตาน้ำ รวมทั้งไม่มีกติกาในการจัดสรรน้ำร่วมกันด้วย) ทำเฉพาะอ่างเก็บน้ำ ตอนน้ำไหลบ่ามาเก็บได้เพียง 2 ชั่วโมง แต่ทางห้วยบงเป็นดินอัดแน่นถึงขุดลึกแค่วาเดียว น้ำก็ยังเต็มไม่มีแห้ง สามารถทำคลองยาวเพื่อจ่ายน้ำลงมาข้างล่างได้ราว 40 กิโลเมตร ชาวบ้านจึงนำเสนอสร้างอ่างเก็บน้ำที่ห้วยบงมีพื้นที่รับน้ำ 200 ไร่
ในปัจจุบันพื้นที่นาและที่ปงหลายแห่งได้ถูกเปลี่ยนมือเป็นของนายทุนนอกพื้นที่ เช่น บริษัทสาหร่ายเกลียวทอง มีผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำระหว่างเหมืองฝาย ชาวบ้านได้ขึ้นไปบุกเบิกที่ตอนเพื่อปลูกพืชไร่ ลำไยและลิ้นจี่ โดยใช้ท่อพีซีดูดน้ำขึ้นไป จ่ายน้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ ซึ่งเป็นการหาทางออกในลักษณะปัจเจก และผลกระทบต่อกติการ่วมในระบบเหมืองฝาย
ความรู้ในการจัดการองค์กร
องค์กรเหมืองฝ่ายในลุ่มน้ำวางตอนล่าง ประกอบด้วย แก่เหมือง แก่ฝ่าย และคณะกรรมการ ขณะที่ลุ่มน้ำวางตอนบนแม้จะไม่มีองค์กรเหมืองฝายที่เห็นชัดเจนแต่จะมีการจัดการผ่านระบบเครือญาติ และการทำการผลิตร่วมกันของชุมชนมีการกระจายจัดสรรน้ำให้กับลูกฝ่าย มีข้อตกลง มีสัญญาประชาคมว่าด้วยการจัดสรรรับน้ำเข้าที่นา มีการจัดการดูแล ซ่อมแซมเหมืองฝ่ายทุก ๆ ปี รวมไปถึงมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎของระบบเหมืองฝาย ฉะนั้นแก่ฝาย จึงเป็น บุคคลที่สำคัญที่ถูกเลือกมาจากชุมชน เป็นตัวแทนของชุมชนที่จะต้องมีความเป็นธรรม จัดสรรน้ำให้กับลูกสมาชิกฝายได้ใช้กันอย่างทั่วถึงดังนั้น การจัดการน้ำภายใต้ระบบเหมืองฝายนั้น อยู่บนฐานความรู้ของชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ ชุมชนจะพิจารณาถึงทรัพยากรของท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ถ้าหากการใช้น้ำอย่างไร้ขอบเขต และส่งผลกระทบต่อชุมชน ชุมชนก็จะมีสิทธิในการที่จะเลือก ปฏิเสธการใช้น้ำได้อย่างเต็มที่
การสัมปทานไม้ เป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และน้ำในลุ่มน้ำแม่วาง เริ่มจากบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ของประเทศอังกฤษ เข้ามาสัมปทานไม้สักซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในเขตลุ่มน้ำแม่วางตอนกลาง หรือแถบบ้านแม่วิน แม่สะป๊อก ในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2460 ต่อมาในปี พ.ศ.2484 สัมปทานไม้โดยบริษัทบอร์เนียว โดยใช้วิธีล่องไม้มาตามลำน้ำแม่วาง ลงสู่น้ำแม่ขาน และน้ำแม่ปิง ประมาณปี พ.ศ.2495-2500 การสัมปทานเปลี่ยนมือมาสู่บริษัทภายในประเทศ เป็นการสัมปทานไม้กระยาเลย ในช่วงปี พ.ศ. 2507 รัฐเริ่มสร้างถนนเพื่อชักลากไม้เข้าไปในเขตป่าแม่วางในเขตตำบลแม่วิน และมีการตัดไม้เนื้อแข็งชนิดต่าง ๆ อย่างหนัก โดยที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่นายทุนและข้าราชการท้องถิ่น ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็ได้เป็นแรงงานรับจ้างทำไม้ การเบิกป่าและการตัดถนนชักลากไม้นี้เองที่ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ทำกินของคนเมืองเข้าสู่เขตลุ่มน้ำแม่วางตอนกลาง และตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรตราบจนทุกวันนี้ผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการสัมปทานทำไม้ คือการทำลายสัตว์ป่า โดยมีกลุ่มเจ้านายจากในเมืองได้เดินทางตามถนนชักลากไม้ เพื่อตั้งแคมป์ล่าสัตว์ป่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมถึงการล่าสัตว์โดยพวกแรงงานรับจ้างที่มากับบริษัทสัมปทานด้วย จนกระทั่งสัตว์ใหญ่ เช่น กระทิง หมี เสือ ควายป่า แรด และช้างป่า ล้มตายเป็นจำนวนมากการสูญเสียสัตว์ป่า มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะแหล่งหาอาหารและแหล่งที่พักของสัตว์ใหญ่จะทำให้เกิดปลัก หรือแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปในป่าซึ่งมีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำขนาดเล็กจำนวนมากด้วย
การปลูกฝิ่น มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า “แข่” หรือ “ม้ง” และสิ่งที่มาพร้อมกับกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือ เมล็ดพันธ์ุซึ่งมีทั้งผัก ข้าวโพด ซึ่งมีลักษณะต่างจากที่ชาวบ้านเคยพบมา ส่วนใหญ่จะกินข้าวโพดเป็นอาหารหลัก และมีหินบดข้าวโพดด้วย นอกจากนี้ยังมี "เมล็ดฝิ่น" พืชที่แปลกที่สุดที่เคยมีมา มี "ฝิ่น" ชนิดที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นมาก่อนนี่เป็นกุญแจที่ทำให้เขาสามารถล้มสัตว์ตัวโต ๆ ได้ เมื่อเกิดความสัมพันธ์กันมากขึ้น ก็เกิดการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธ์ุกัน และสิ่งสำคัญยิ่งคือคนที่มาเหล่านี้มี "ใบอนุญาตปลูกฝิ่น" ซึ่งกำกับภาษีจากหน่วยงานรัฐถูกต้องทุกประการ นานวันเข้าชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ลองเสพ ควันที่พ่นออกมาไล่แมลงรบกวนได้ดีนัก ตัวยายังเป็นยาขนานเอกแก้ได้สารพัดโรค ปวดหัว เป็นไข้ ปวดท้อง ฯลฯ ความเชื่อมั่นก็มีต่อยาและกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้นตามลำดับไม่เพียงเท่านั้น บ้างก็เริ่มติดงอมแงม เงินหรือยาสามารถเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับกำลังกายหรือแรงงานที่ตัวเองมีอยู่ นอกจากจะรับจ้างขนไม้เถื่อนเป็นบางส่วนแล้วยังรับจ้างถางพื้นที่บริเวณขุนห้วยแม่สะป๊อกลงอย่างกว้างขวาง ป่าความเชื่อ ป่าหวงห้าม แม้จะยังศักดิ์สิทธิ์แต่ก็น้อยลงมากกว่าก่อนหน้านี้ บางส่วนก็กลายเป็นไร่ฝิ่น ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ขัดแย้งแตกคอกันเอง เกิดการลักขโมย สัตว์ สิ่งของ ไม่เว้นแม้แต่ ข้าวที่ตากหลังฤดูเกี่ยวก็ถูกขโมยไป
การปลูกฝิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วางแพร่หลายในช่วงปี พ.ศ. 2480 ในเขตพื้นที่สูงแถบดอยม่อนยะซึ่งผู้ปลูกมีทั้งชาวม้ง ปกาเกอะญอ และคนเมือง ขณะที่รัฐก็มีนโยบายส่งเสริมการปลูกฝิ่นโดยจัดตั้งโรงยาฝิ่นเพื่อรับซื้อฝิ่นอย่างเป็นทางการในอำเภอจอมทอง ทำให้ชาวม้งเริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วางตอนบนเพื่อบุกเบิกพื้นที่ปลูกฝิ่น ขณะที่ชาวปกาเกอะญอเป็นแรงงานรับจ้างและลูกค้าซื้อฝิ่น การขยายพื้นที่ปลูกฝิ่นในเขตแม่วางตอนบน ทำให้ป่าบริเวณขุนวางซ้าย-ขวา และขุนแม่สะป๊อกถูกทำลายอย่างรวดเร็ว และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มม้งบนพื้นที่สูงซึ่งทำไร่ฝิ่นในบริเวณขุนน้ำ กับชาวปกาเกอะญอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำลงมาเมื่อย่างเข้าทศวรรษ 2500 ประเทศมหาอำนาจกดดันให้ไทยปราบปรามฝิ่น รัฐบาลไทยจึงออกกฎหมายห้ามปลูกฝืนในปี พ.ศ. 2502 และเปลี่ยนมาส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนฝิ่น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการค้าฝิ่นอย่างเป็นทางการจะยุติลง แต่การค้าฝิ่นเถื่อนก็ยังคงดำเนินต่อไป นโยบายค้าฝิ่นของรัฐบาลไทยได้ทำให้เศรษฐกิจแบบยังชีพของชุมชนลุ่มน้ำแม่วางตอนบนถูกผลักเข้าสู่เศรษฐกิจเงินตรา และเมื่อรัฐหันมาส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทดแทนฝุ่น ทำให้ชุมชนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบทุนนิยมมากยิ่งขึ้น ปี 2527-2528 มีการยุติการปลูกฝิ่นบนพื้นที่สูง ด้วยนโยบายปราบปรามฝิ่นของรัฐ กลุ่มชาติพันธุ์ผู้เคยปลูกฝิ่นตามการส่งเสริมของรัฐกลับถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ผนวกกับกรณีที่กล่าวหาว่าระบบการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นการทำลายป่า ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกรัฐกดดันและควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนัก
การขยายตัวของพืชพาณิชย์ การเพาะปลูกพืชชนิดใหม่ ๆในภาคเหนือมักเกิดจากการริเริ่มและทดลองของพ่อค้าคนไทย เจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการส่วนกลางมากกว่าพ่อค้าชาวจีน มีการริเริ่มปลูกกะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ ผักกาดขาว การริเริ่มปลูกลำไยและการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง เป็นต้น และพ่อค้าคนจีนจะเป็นคนเข้ามาจัดการในการขนส่งไปกรุงเทพทางรถไฟ
ต่อมาช่วงปี 2500 รัฐได้ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งบนพื้นที่สูงและที่ลุ่ม ในเขตลุ่มน้ำแม่วางตอนบน มีการส่งเสริมปลูกพืชเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นและการทำไร่ โดยโครงการระหว่างประเทศมากมาย และโครงการที่ยังคงดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ คือโครงการหลวง ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมให้ชุมชนกะเหรี่ยงและม้ง ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ โดยสนับสนุนทุน ปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยี เช่น ระบบท่อน้ำ สปริงเกอร์ ชนิดพืชที่ส่งเสริม เช่น ดอกยิบโซ แกลดิโอลัส ดอกลิลลี่ แครอท ซูกินี ผักกาดหอม กะหล่ำปลี พลับ บ๊วย ท้อ ฯลฯ แต่ชาวบ้านก็มักประสบปัญหาด้านตลาดรับซื้อและราคาผลผลิตการขยายตัวของพืชพาณิชย์ทำให้มีการใช้ที่ดินและน้ำอย่างเข้มข้น และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น การขยายตัวของพืชพาณิชย์ในเขตลุ่มน้ำแม่วางตอนล่าง เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยรวม เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนจากระบบการผลิตเพื่อยังชีพเข้าสู่ระบบการเกษตรเชิงพาณิชย์ เริ่มจากการปลูกข้าวขายและเริ่มมีการสัมปทานทำไม้ในเขตแม่วางตอนบน ทำให้เกิดความต้องการข้าวสำหรับแรงงานตัดไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากภายนอก ในขณะเดียวกันความต้องการข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ก็มีผลให้การขยายตัวของตลาดค้าข้าวในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีทางรถไฟจากกรุงเทพฯ เชื่อมถึงล้านนา การปลูกข้าวเพื่อขายเริ่มขึ้นในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือก่อนเนื่องจากการสูญเสียผลประโยชน์จากการทำไม้ให้แก่รัฐบาลกลางและพยายามหารายได้ทดแทนรายได้ที่สูญเสียไป จึงระดมแรงงานชาวบ้านไปขุดเหมืองตีฝ่ายและบุกเบิกที่นา ขยายการปลูกข้าวออกไป ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปยังไม่มีผลผลิตข้าวมากพอสำหรับการขาย ต่อมาการปลูกข้าวเพื่อขายได้ขยายไปสู่ชาวบ้านทั่วไปเมื่อการคมนาคมทางรถไฟสะดวกมากขึ้น และเกิดโรงสีหลายแห่งขึ้นใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟในเชียงใหม่ โรงสีเหล่านี้จะเป็นแหล่งรับซื้อข้าวจากชาวบ้าน ทำให้การค้าข้าวขยายตัวมากขึ้น จึงมีการบุกเบิกที่นาและขุดเหมืองตีฝายขยายตัวมากขึ้นในช่วงนี้
ในช่วงปี พ.ศ. 2513 ชาวบ้านเริ่มทำนาปรัง แต่ในช่วงนั้นพืชพาณิชย์อื่น ๆ ก็ยังไม่ขยายตัวมากนัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำวางตอนล่างมีการเพาะปลูก 3 ครั้งต่อปี โดยใช้พื้นที่ประมาณ 39.6% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงปลูก 2 ครั้ง/ปี รูปแบบการผลิตโดยมีการทำนาปี ช่วงสิงหาคม-พฤศจิกายน การปลูกพืชไร่ ช่วงธันวาคม-เมษายน และการทำนาปรัง ช่วงเมษายน-สิงหาคม
จนกระทั่ง ในปี พ.ศ.2528 การเพาะปลูกเพื่อการค้าขยายตัวอย่างเต็มที่ และพบว่าการเกษตรในเขตสันป่าตอง-แม่วาง มีการปลูกพืชที่หลากหลายซ้ำในแปลงเดียวกันมากกว่า 27 ระบบ ด้วยระบบการปลูกพืชเช่นนี้เองที่ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งแต่เดิมนั้นเกษตรกรจะไม่ได้ทำการเกษตร ช่วงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขตลุ่มน้ำแม่วาง การขยายตัวของพืชพาณิชย์เหล่านี้ เป็นไปตามการสนับสนุนจากพ่อค้า นายทุนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐ เช่น เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส. ) ซึ่งการปลูกพืชบางชนิดอยู่ภายใต้ระบบพันธสัญญา (Contract Farming) ที่เกษตรกรถูกนายทุนกำหนดเงื่อนไขการผลิต ทั้งชนิดพืช ขนาด และราคาผลผลิตในระยะหลัง นอกจากพืชไร่เศรษฐกิจที่ปลูกหลังนา เช่น หอมหัวใหญ่ ข้าวโพด หลายพื้นที่ได้ปรับพื้นที่นามาทำสวนลำไย ซึ่งทำให้มีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น และส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนระบบการจัดการน้ำ การขยายพื้นที่ปลูกพืชพาณิชย์ทั้งในเขตลุ่มน้ำแม่วางตอนบนและตอนล่าง นอกจากจะทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้นมากขึ้นแล้วยังทำให้เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ตลอดจนส่งผลให้เกษตรกรเกิดปัญหาหนี้สิน อันเนื่องมาจากการลงทุนในปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และความล้มเหลวในการจัดจำหน่ายและการต่อรองราคาผลผลิต
ชุมชนแม่วางตอนล่างเริ่มปลูกพืชเพื่อการค้ามานาน ตั้งแต่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง 2398 แต่เป็นการปลูกพืซเพื่อขายเป็นสินค้าเพื่อยังชีพ การปลูกพืชเพื่อค้ากำไรเริ่มเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เร่งรัดขยายพื้นที่เพาะปลูกในภาคเหนือ และการขยายตัวของทุนในพื้นที่ พ่อค้าคนจีนได้มีบทบาทในการเพิ่มทุนและรับซื้อผลผลิตให้แก่ชาวนา และเผยแพร่พืชเพื่อการค้าหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจำพวกถั่วเหลือง กระเทียม หอมแดง ยาสูบ หอมหัวใหญ่ เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2521 เป็นต้นมา อันทำให้ชาวนาสามารถปลูกพืชได้ถึง 3 ครั้งต่อปี ความเข้มขันของการปลูกพืชพาณิชย์หลายชนิดเกิดจากการปัจจัยหลายประการ เช่น พันธุ์ข้าวปรับปรุง กข. จากรัฐบาล การสนับสนุนเงินกู้และปัจจัยการผลิตจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส) จนทำให้ชุมชนชาวนาลุ่มน้ำแม่วางตอนล่างได้เข้าสู่การผลิตแบบทุนนิยมพึ่งพา
นโยบายการอนุรักษ์ป่าของรัฐ ชุมชนลุ่มน้ำแม่วางตอนบนได้รับผลกระทบจากกฎหมายป่าไม้เหล่านี้โดยตรง เพราะกฎหมายป่าไม้ไม่ยอมรับสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินตามประเพณีของชุมชน ขณะที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ชุมชนส่วนใหญ่ตกอยู่ในเขตป่าสงวน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน บางพื้นที่ที่ได้รับเอกสารสิทธิ์ เช่น สปก. สด.1 หรือ นส.3 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จากการที่ชุมชนตกอยู่ในเขตป่าตามกฎหมาย ทำให้ส่งผลต่อความไม่มั่นคงในการดำรงชีพในเขตป่า ทั้งในแง่การปกป้องพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการทำมาหากิน โดยภาพรวมแล้ว นโยบายด้านป่าไม้ทำให้สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร และการจัดการป่าชุมชนถูกปิดกั้น ขณะเดียวกันรัฐยังเข้ามาควบคุมระบบการผลิตของชุมชนบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำไร่หมุนเวียน กลายเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนต้องถูกผลักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการพาณิชย์อย่างไม่มีทางเลือกนัก ซึ่งนั่นก็กลับยิ่งทำให้มีการขยายการใช้ทรัพยากรทั้งป่า ที่ดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำซึ่งเป็นปมปัญหาขัดแย้งระหว่างชุมชนตลอดลุ่มน้ำในเวลาต่อมา
ป่าแม่ขานและป่าแม่วาง จ.เชียงใหม่
ตลอดช่วงระยะที่ผ่านมาของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วาง นับตั้งแต่คนรุ่นบุกเบิกพื้นที่จนกระทั่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้านจนเป็นชุมชนใหญ่จนทุกวันนี้ แม่วางมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่แบบแผนการผลิต การใช้ทรัพยากร ทำให้กฎเกณฑ์ กติกาการจัดการน้ำต้องมีการปรับประยุกต์อยู่เสมอ สิทธิต่อการจัดการน้ำขององค์กรเหมืองฝ่ายแม่วางตอนล่างจึงไม่หยุดนิ่ง เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงจากพลังทางเศรษฐกิจภายนอก การเติบโตของสิทธิปัจเจก การเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรจากรัฐและทุน ได้ทำให้ระบบการจัดการเหมืองฝายในลุ่มน้ำแม่วางอ่อนตัวลงสมาชิกเริ่มผละจากออกไปจากระบบการจัดการร่วมมากขึ้น ทำให้ระบบเหมืองฝายต้องแบกรับภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่สูงขึ้น อันเป็นเงื่อนไขให้องค์กรภายนอก เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น รัฐ และทุนเข้ามาผนวกควบอำนาจการจัดการของท้องถิ่นมากขึ้น
เครือข่ายฝายลุ่มน้ำวางตอนล่าง (2550). การศึกษาแนวทางการจัดการปัญหาภัยแล้งโดยชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำวาง: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมป่าไม้. (ม.ป.ป.). ป่าชุมชนบ้านสบวิน. ค้นจาก https://forestinfo.forest.go.th/
ประชาชาติธุรกิจ. (2562). ปักหมุด “แม่วิน” สัมผัสนาขั้นบันได แม็กเนตท่องเที่ยว “เชียงใหม่”. ค้นจาก https://www.prachachat.net/