
ชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์ป่าชุมชนจากความร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจของคนในชุมชนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากวิกฤตทางธรรมชาติ จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่น “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” จากการประกวดโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562
ในอดีตพื้นที่ทางตอนใต้ของหมู่บ้านมีลำห้วยซึ่งมีสายแร่ทองคำอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะของลำห้วยติดปากว่า "บ้านแม่คำมี" ต่อมามีการขึ้นทะเบียนหมู่บ้าน แต่เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนทำให้ชื่อบ้านแม่คำมีเพี้ยนเสียงเป็น “บ้านแม่ขมิง”
ชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์ป่าชุมชนจากความร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจของคนในชุมชนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากวิกฤตทางธรรมชาติ จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่น “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” จากการประกวดโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562
บ้านแม่ขมิงไม่ปรากฏปี พ.ศ. ในการตั้งหมู่บ้านที่แน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่าชาวบ้านแม่ขมิงสืบเชื้อสายมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ที่อพยพเข้ามาถางไร่เพื่อเป็นพื้นที่ทำกินในบริเวณบ้านแม่ขมิง โดยแต่เดิมนั้นบ้านแม่ขมิงมีชื่อว่า “บ้านแม่คำมี” เนื่องจากพื้นที่ทางตอนใต้ของหมู่บ้านมีลำห้วยซึ่งมีสายแร่ทองคำอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกชื่อบ้านติดปากว่า บ้านแม่คำมี ต่อมาทางราชการมีการขึ้นทะเบียนหมู่บ้าน ณ ที่ว่าการอำเภอ ผู้นำชุมชนของบ้านแม่ขมิงในอดีตแจ้งชื่อหมู่บ้านต่อเจ้าหน้าที่แต่เนื่องจากการพูดและออกเสียงทางภาษาไม่ชัดเจน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนพิมพ์ชื่อหมู่บ้านจากการบอกกล่าวตามภาษาพูดของผู้นำชุมชนว่า “บ้านแม่ขมิง” แทนที่จะเป็น "บ้านแม่คำมี" ทำให้ต้องใช้ชื่อหมู่บ้านว่าบ้านแม่ขมิงมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านแม่ขมิง มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้และภูเขา มีสภาพแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง สันเขาส่วนใหญ่เป็นแหล่งต้นน้ำอันเป็นลำห้วยสาขาที่สำคัญ เช่น ห้วยแม่ปะยาง ห้วยแม่ขมิง มีพื้นที่ราบประมาณร้อยละ 40 เป็นพื้นที่ภูเขาร้อยละ 60 มีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ส่วนใหญ่ เช่น ป่าไม้เบญจพรรณ ป่าไม้สัก และสัตว์ป่าบางชนิด เช่น เก้ง กวาง มีแร่ธาตุที่สำคัญอย่างเช่น ทองคำ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแพะดอนมูล หมู่ที่ 8 ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านม่วงคำหมู่ที่ 1 ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทือกเขาอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทือกเขาอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง
ด้านสภาพภูมิอากาศนั้น บ้านแม่ขมิงมีทั้งหมด 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยในเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นเดือนที่อากาศมีอุณหภูมิต่ำสุด กล่าวคือ เป็นเดือนที่หนาวที่สุดของปี
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านแม่ขมิง ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 739 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 379 คน ประชากรหญิง 360 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 244 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2567)
อาชีพหลักของชาวบ้านแม่ขมิง คือ การทำเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกข้าว ถั่วเหลือง ทุเรียน สวนไผ่ เลี้ยงวัว กลุ่มกิจกรรมในหมู่บ้าน ได้แก่ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์รากไม้ กลุ่มปลูกถั่วเหลือง กลุ่มเลี้ยงวัว และกลุ่มทอผ้า
กิจกรรม | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. |
ประชุมประจำเดือน | ||||||||||||
ประชาคมแผน/โครงการ | ||||||||||||
พัฒนาพื้นที่หมู่บ้าน วัด ป่าช้า ประปา ที่สาธารณะ | ||||||||||||
สร้างฝายชะลอน้ำ กั้นกระสอบทรายลำห้วย | ||||||||||||
ทำแนวกันไฟ | ||||||||||||
ประเพณีตานข้าวจี๋ ข้าวหลาม ตานข้าวใหม่ | ||||||||||||
ประเพณีไหว้สาเจ้าหลวงหมื่นดังนครตำบลสรอย | ||||||||||||
ประเพณีเลี้ยงผีขุนห้วย(ประปาภูเขา) | ||||||||||||
ประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทันใจ | ||||||||||||
ประเพณีกิ๋นข้าวสลาก | ||||||||||||
เลี้ยงผีปู่เจ้าบ้านแพะ | ||||||||||||
เลี้ยงผีปู่เจ้าบ้านโฮ้ง | ||||||||||||
ประเพณีลอกระทงตำบลสรอย | ||||||||||||
ผ้าป่า กีฬาสีสัมพันธ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนแม่ขมิง | ||||||||||||
ปล่อยน้ำอ่าง | ||||||||||||
ประมูลจับปลาอ่าง ตกเบ็ด วางข่าย | ||||||||||||
ทำสัญญากู้ยืมกองทุนหมู่บ้าน | ||||||||||||
วันปิยมหาราช | ||||||||||||
งานสงกรานต์ |
ภาษาพูด : คำเมือง ภาษาไทย
ภาษาเขียน : อักษรไทย
หลายทศวรรษที่ผ่านมา บ้านแม่ขมิงประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย โดยครั้งสำคัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2544 เกิดดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้มีผู้คนและสัตว์เสียชีวิตไปจำนวนมาก พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำกินเกิดความเสียหาย จากเหตุการณ์ครั้งนี้ภาครัฐจึงจัดตั้งโครงการป่าชุมชนขึ้นเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในเขตอุทยานเแห่งชาติเวียงโกศัย จังหวัดแพร่ ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ในการดูแล โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า ทำให้ป่าชุมชนเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าจนสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศได้ ป่าชุมชนแม่ขมิงได้น้อมนำและสืบสานศาสตร์พระราชาในการพัฒนา รักษา และฟื้นฟูป่าบ้านแม่ขมิงจนอุดมสมบูรณ์กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำและอาหารหล่อเลี้ยงคนในชุมชนและทั้งจังหวัดแพร่มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีความเข้มแข็งในการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าของคนและไฟป่าได้เป็นอย่างยิ่ง มีกุศโลบายในการสร้างป่าคือการผนึกกำลังการสร้างเครือข่ายขยายแนวร่วมในชุมชนใกล้เคียง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน คือ การปลูกกาแฟ เปลี่ยนวิถีจากการทำไร่เลื่อนลอยได้พลิกฟื้นมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์
นัยหนึ่ง ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิงถือเป็นทุนทางทรัพยากรชุมชน ที่ได้จากความร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการดูแลผืนป่าชุมชน ตลอดจนการสร้างพลังชุมชน กระทั่งปัจจุบันบ้านแม่ขิงกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นต้นแบบในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน อนึ่ง สำหรับป่าชุมชนแห่งนี้ชาวบ้านมีแนวคิดว่าในอนาคตอาจพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำชุมชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มักจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานที่อ่างห้วยแม่ปะยาง ในเขตป่าชุมชนบ้านแม่ขมิงนี้อยู่เสมอ
ในปี พ.ศ. 2562 ทางอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย กรมป่าไม้ ได้ส่งโครงการป่าชุมชนบ้านแม่ขมิงเข้าประกวดในโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 ของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นด้าน “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชุมชนในพื้นที่ (ป่าชุมชนแม่ขมิง ป่าชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน ของนิตยสารรายสองเดือนสำหรับคนรักษ์โลก Green Network, 2563)
กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 ลำปาง. (2564). ศักยภาพชุมชนด้านการจัดการไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดแพร่. สืบค้น 12 พฤษภาคม 2567, จาก https://epo02.pcd.go.th/
เชียงใหม่นิวส์. (2564). ชาวบ้านแม่ขมิง ร่วมใจ ปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยปายาง ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่. สืบค้น 12 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.chiangmainews.co.th/
บุบผชาติ นิมิตเดชวงศ์. (2524). วิถีชีวิตประชาชนในบ้านแม่ขมิง. วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
หมู่บ้านแม่ขมิง ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่. (2567). สืบค้น 12 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/atsariyapong.p
Green Network. (2563). ป่าชุมชนแม่ขมิง ป่าชุมชนเพื่อประโยชน์ของชุมชน. สืบค้น 12 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.greennetworkthailand.com/ป่าชุมชนแม่ขมิง