Advance search

กลุ่มชาติพันธ์ชาวกูยบ้านตะดอบ มีการปรับใช้นวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ อาทิ กองทุนส่งเสริมของเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน นโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนของภาครัฐ รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ในการรักษาและสืบต่อภูมิปัญญาการตีเหล็กที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนให้เกิดความยั่งยืน 

หมู่ที่ 1
บ้านตะดอบ หมู่ที่ 1
ตะดอบ
เมืองศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ
องค์การบริหารส่วนตำบลตะดอบ โทร. 0-4596-9826
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
25 เม.ย. 2024
บ้านตะดอบ

ตะดอบ เป็นคําที่มาจากภาษา กวย 2 คํา คือ คําว่า ตะ แปลว่า เหล็ก และ ดอบ แปลว่า กุณโฑ หรือ คนโท หมายถึงภาชนะใส่น้ำ ชาวบ้านใช้สำหรับรองรับเหล็กร้อนหลอมเหลว เพื่อเทใส่เบ้าพิมพ์หล่อเป็นภาชนะหรือเหล็กแท่ง สมัยก่อนทุกครอบครัวในชุมชนล้วนแต่ทำอาชีพตีเหล็กเหมือนกัน จึงเป็นที่มาชื่อชุมชน บ้านตะดอบ ตามอาชีพหลักของคนในชุมชน


กลุ่มชาติพันธ์ชาวกูยบ้านตะดอบ มีการปรับใช้นวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ อาทิ กองทุนส่งเสริมของเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน นโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนของภาครัฐ รวมถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ในการรักษาและสืบต่อภูมิปัญญาการตีเหล็กที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนให้เกิดความยั่งยืน 

บ้านตะดอบ หมู่ที่ 1
หมู่ที่ 1
ตะดอบ
เมืองศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ
33000
15.05055603
104.4164671
องค์การบริหารส่วนตำบลตะดอบ

บ้านตะดอบ หมู่ที่ ตําบลตะดอบ อําเภอเมืองศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า "กวย" เป็นกลุ่มเดียวกันกับบ้านเปือยใหญ่ บ้านเปือยน้อยและบ้านนาสูง ที่เรียกตัวเองว่า "กูย" บ้านตะดอบเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ จึงทำให้ประชากรหมู่บ้านเพิ่มจำนวนทำให้มีความแออัดมาก ประกอบกับพื้นที่ของหมู่บ้านขยายมากขึ้นจึงมีการแบ่งการปกครอง เป็นหมู่บ้านโพนงาม หมู่ที่ และบ้านไผ่ล้อม หมู่ที่ 

อย่างไรก็ดีประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านตะดอบ ส่วนหนึ่งได้มาจากประวัติศาสตร์บอกเล่าซึ่งมีหลากหลายตำนาน วีระ สุดสังข์ (มปปพ.) บันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์ตำบลตะดอบ เผยแพร่โดยองค์การบริหารส่วนตำบลตะดอบว่า 

ประวัติบ้านตะดอบเล่าสืบกันมาว่า เดิมบรรพบุรุษอาศัยอยู่ลุ่มน้ำโขง เมืองอัตปือ แสนแป ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวบ้านอพยพมาตามลําน้ำโขงจนถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงแยกเป็น พวก พวกหนึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดเจียงอี (วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ) และอีกกลุ่มเดินทางต่อไปจนถึงปลายสุดห้วยแฮด ซึ่งในขณะนั้นมีชนกลุ่มลาวอาศัยอยู่ก่อนแล้วเรียกว่า บ้านลาวเดิม (บ้านหนองอารี อําเภอไพรบึง) จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของบ้านลาวเรียกว่า บ้านโนนดอบ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่มีความสามารถพิเศษด้านการถลุงเหล็ก หล่อภาชนะเครื่องใช้ด้วยเหล็ก ตีเหล็กเพื่อเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และเป็นอาวุธประจํากาย รวมถึงปั้นเครื่องดินเผา

ราวประมาณ พ.ศ. 2320-2325 ช่วงนั้นชาวขอมมีอํานาจมาก (แต่มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นเมืองขุขันธ์มากกว่า เพราะช่วงนั้นขอมเสื่อมอํานาจแล้ว แผ่นดินบริเวณนี้อยู่ภายใต้การปกครองของ เมืองขุขันธ์) สั่งชาวบ้านโนนดอบตีเหล็กเพื่อทําเป็นดาบ หอกและอาวุธสงครามส่งให้เพื่อใช้ในการสู้รบ แต่หมู่บ้านเกิดโรคระบาดทำให้ไม่สามารถทําอาวุธให้ทันตามกําหนด จึงถูกชาวขอมกล่าวหาเป็น "กบฏ" ช่างตีเหล็กในหมู่บ้านกลัวถูกจับฆ่า นายทองสา หัวหน้าได้พาลูกบ้านหลบหนีตอนกลางคืน เพื่อจะตามหาญาติอีกพวกหนึ่งที่อาศัยบริเวณวัดเจียงอี มีการได้ขนสัมภาระต่าง ๆ บรรทุกใส่หลังช้างจํานวนมากและเดินทางอย่างรีบเร่ง เมื่อมาถึงบริเวณวัดเจียงอี ช้างเกิดการเจ็บป่วยจึงหยุดพักและสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น

เมื่อตั้งบ้านเรือนชาวบ้านออกสํารวจพื้นที่สําหรับเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ กระทั่งเดินทางมาบริเวณห้วยโสก (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านโพนข่า อําเภอเมืองศรีสะเกษ) พบแหล่งแร่เหล็กอุดมสมบูรณ์ จึงชวนกันมาตั้งทับและสร้างทํานบสําหรับเก็บกักน้ำ เพื่อได้น้ำแร่เหล็กมาล้าง ช่วงเวลาเดียวกันมีลูกบ้านคนหนึ่งชื่อ นายเม็ง พบหนองน้ำแห่งที่เป็นน้ำซับ จึงสร้างบ้านเรือนอยู่ข้างแม่น้ำชาวบ้านเรียกว่า หนองเม็ง ตามผู้มาตั้งเป็นคนแรก ต่อมาชักชวนญาติ พี่น้องที่มาพักชั่วคราวบริเวณบ้านเจียงอีบางส่วนไปตั้งบ้านเรือนรอบ ๆ หนองเม็ง ในอดีตเป็นหนองน้ำกลางบ้านตะดอบ ปัจจุบันตื้นเขินและได้ถมที่สร้างบ้านเรือน

สภาพโดยรวมของพื้นที่ ลักษณะเป็นลอนคลื่นลาดเอียงมาจากทิศใต้แนวเทือกเขาพนมดงเร็ก ไปทางด้านเหนือแนวลุ่มแม่น้ำมูล ตำบลตะดอบที่ตั้งของบ้านตะดอบมาอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมือง
  • ทิศตะวันออก ติดกับตำบลผักแผว อำเภอกันทรารมย์
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองไฮ อำเภอเมือง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลโพนข่า อำเภอเมืองศรีสะเกษ

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง จำนวนประชากร รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 1 บ้านตะดอบ ตำบลตะดอบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เดือนเมษายน 2567 ดังนี้

  • จำนวนบ้าน 289 หลัง
  • ประชากรเพศชาย จำนวน 599 คน
  • ประชากรเพศหญิง จำนวน 557 คน
  • รวมทั้งสิ้น 1,156 คน

กูย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วีระ สุดสังข์ (มปปพ) ศึกษาวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจด้านการประกอบอาชีพชาวบ้านตะดอบในรอบปี พบว่า วิถีชีวิตของชุมชนมีความสัมพันธ์กับภูมิปัญญาของชุมชน เฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาด้านการเกษตร ภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมและการค้าขาย วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของชุมชนประกอบด้วย

1.การทำนา

อาชีพทํานาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านตะดอบ ช่วงตั้งชุมชนการลงหลักปักฐาน การตั้งหมู่บ้านเริ่มต้นจากบุกเบิกป่าหนาทึบโดยการถางและโค่นต้นไม้ จากนั้นปล่อยให้แห้งแล้วเผา เมื่อฝนตกชาวบ้านปลูกข้าวไร่ ปลูกข้าวโพด และพืชผลอื่น ๆ โดยไม่ต้องขุดหรือไถเพียงกําจัดวัชพืชที่ขึ้นแซม เรียกว่า “เอารุ่น” ผืนดินที่ปลูกข้าวไร่ และพืชผลอื่นจะถูกปรับสภาพในเวลาต่อมาเช่น การปั้นทํานบกั้นน้ำ กั้นเขตแดน หลังจากการขุดตอไม้ และผาตอไม้ ผืนดินกลายสภาพเป็นผืนนาที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยใด ๆ ข้าวงอกงามออกรวงดี เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนและเหลือพอที่จะแบ่งปันญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านแลกเปลี่ยนสินค้า เครื่องมือเครื่องใช้ในการทํานาในสมัยก่อน อาทิ

  • ไถ เครื่องมือไถพรวนเตรียมดินก่อนการปลูกข้าว ใช้ไถกลบหน้าดินเพื่อตากดินฆ่าเชื้อโรคและทําลายวัชพืช เรียกว่า ไถสุด หรือ ไถดะ และการไถดํา หรือ ไถแปร เพื่อพลิกดิน จากนั้นทำการปักดําทันทีการไถนาจะใช้ควายในการไถ
  • แอก เครื่องสวมคอวัว คอควายเพื่อลากไถ คราด ลากล้อลากเกวียน แอกที่สวมคอวัวคู่คอควาย ประกอบด้วยแม่แอก (ไม้คาน) และลูกแอก (ไม้หนีบ) ภาษาถิ่นเรียกแอกที่คอควายว่า แอก และผูกโยงกับไถด้วยหนังต่องแอก และผูกติดกับแอกน้อย ก่อนที่จะไปเกาะเกี่ยวกับเดือยไม้ที่ฮากไถหรือคันคราด แอกนิยมทําใช้กันเองในท้องถิ่นทําด้วยไม้เนื้อแข็ง
  • คราด เครื่องมือคราดหญ้า คราดไถให้ดินแตกร่วนซุยในการปลูกข้าวและปรับประดับดินให้เสมอกัน ลักษณะคราดที่ใช้ในละแวกบ้านสะตอบเป็นคราดควายตัวเดียว ประกอบด้วยคันคราด (ส่วนที่ยาวไปข้างหน้าผูก ด้วยหนังต่องแอก) แม่คราด (ไม้ที่ฝังฟันคราด) ฟันคราด (ที่ครูดดินเพื่อเกาะเกี่ยวหญ้า) และมือคราด (ส่วนที่จับ/ถือ)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเครื่องมือในการประกอบอาชีพทํานา เปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทน  การปุ๋ยเคมีมีบทบาทแทนปุ๋ยอินทรีย์ ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ปัญหาหลักของอาชีพทํานาชาวตะดอบ ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และ ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทํากิน

2.อาชีพตีเหล็ก

ชาวบ้านตะคอบ บ้านโพนงาม เมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว สมาชิกในชุมชนใช้ความรู้ความสามารถในการตีเหล็ก เป็นอาชีพเสริมรายได้ อดีตชาวบ้านขุดแร่เหล็กเพื่อหลอมเป็นเหล็ก เพื่อตีเหล็กให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เช่น มีด จอบ เสียม ขวาน เคียว ฯลฯ พร้อมทั้งนําสินค้าตะเวนไปแลกข้าวแลกอาหารหรือส่งขายตามร้านต่าง ๆ ช่างตีเหล็กบ้านตะดอบและบ้านโพนงามเป็นช่างมีฝีมือดี เพราะได้รับการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษและชุมชนยังคงสืบสานในปัจจุบัน

3.อาชีพนายฮ้อย

อาชีพนายฮ้อย เป็นอาชีพเก่าแก่ดั้งเดิมของคนอีสานในสังคมอีสานโบราณ นายฮ้อยคือ ผู้นําของชุมชนได้รับการยอมรับนับถือ ในความเด็ดเดี่ยวเก่งกล้า มีไหวพริบปฏิภาณและมีคุณธรรมประจําใจ อาชีพนายฮ้อยคืออาชีพค้าวัวค้าควาย การับซื้อวัวควายแล้วต้อนวัวควายลงไปขายยังภาคกลางต้องพบกับอุปสรรค นับแต่ภัยจากธรรมชาติ สัตว์ป่าและภัยจากโจรผู้ร้าย นายฮ้อยต้องนําพาขบวนวัวควายผ่านพ้นอุปสรรคจนถึงจุดหมาย

ปัจจุบันขบวนการต้อนวัวควายลงไปขายภาคกลางนั้นหมดแล้ว แต่การค้าวัวค้าควายยังคง อยู่โดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะบรรทุกวัวควายไปขายตามตลาดนัด ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในภาคอีสาน การซื้อวัวซื้อควาย การซอวัวซอควาย นายฮ้อยต้องพิถีพิถันเพื่อให้ได้ควายลักษณะดีมาใช้งาน

การดูลักษณะกระบือ การดูลักษณะควายนั้น มีตําราดังต่อไปนี้

  • หากเป็นควายตัวเมียถ้าได้ตัวเมียติดลูกอยู่ในท้องก็ยิ่งดี หรือถ้าหาตัวเมียไม่ได้ หาตัวผู้ที่มีลักษณะดีสมกับราคา
  • ขวัญหัว อยู่ตรงกลางหัว หมุนไปทางขวาเชื่อว่าฝนจะดีได้ข้าวมาก เพราะเป็นควายไม่หนีงาน
  • ใบหูตรง หางยาว หางตรง เป็นลักษณะของควายนิสัยดี เวลาข้ามสะพานผ่านรถไม่ตกใจง่าย
  • เขากางออก เชื่อว่าไม่กลัวอะไร
  • ตา สีแดง ตารูปวงรี เชื้อว่าสู้งาน
  • ลิ้น ยาวเหมือนใบข้าว กินเก่งและสมบูรณ์
  • ฟัน ต้องเรียบเสมอกันทุกซี่ เพราะเวลากินหญ้าจะตัดหญ้าขาดทําให้กินได้มาก ฟันหลงไม่เอา เพราะกัดหญ้าไม่ขาด
  • ท้อง ต้องเป็นโครงใหญ่ ไม่เอาท้องกลมเล็กเพราะไม่อ้วน เวลาจะดูต้องดูตอนเช้าควายยังไม่กินอาหารจะได้เห็นซี่โครงด้วย ถ้าซี่โครงกุดก็ไม่เอา
  • เล็บ สั้น กลม เล็บทับกันก็ไม่เอา เพราะทําให้เจ็บอยู่ตลอดเวลาขณะทํางาน เล็บต้องทนทานต่อการลุยโคลน
  • นม ต้องเป็นสีดํา เต้ายาวๆ มีแค่ 4 เต้า ถ้ามากกว่านี้ถือว่าไม่สมบูรณ์หรือจะต้องเป็นคู่
  • ขนปลายหาง แข็งเหมือนเข็ม เชื่อว่าเก่ง เวลาบีบหางต้องกระดิก ถ้าไม่กระดิกแสดงว่าไม่เอาไหน
  • หนอก หนอกคอใหญ่ เวลาวางแอกจะได้แข็งแรง
  • สี ลําตัวต้องดําสนิท
  • หนัง ต้องหนาๆ ทนทาน ไม่ร้อนง่าย
  • หลัง ต้องยาว แสดงว่าขยันทํางาน
  • ปาก เล็ก หน้ายาวแหลม
  • ปาน ถ้ามีในที่มองไม่เห็นง่าย เชื่อว่าควายตัวนี้ให้โทษอาจทําให้เจ้าของได้รับอันตราย ถ้าเป็นควายที่เกิดอยู่ในบ้านห้ามฆ่า ห้ามขายเพราะเชื่อว่าจะทําให้ไฟไหม้บ้าน
  • เส้นใต้คอ มีเส้นใต้คอสองเส้นคู่ ถ้าไม่มีตัวผู้ตอนจะตาย ตัวเมียจะได้ลูกไม่ดี และจะไม่ดูแลลูก
  • สะโพก ต้องเป็นสีดํา สีแดงไม่เอาเลี้ยงลูกยาก แต่ถ้ามีขวัญที่สะโพกทั้ง 2 ข้าง แสดงว่าจะให้ลูกดก
  • ควายที่มีเขาสั้น ๆ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ควายตู้ เป็นลักษณะไม่ดีอีกข้อหนึ่งในแต่ละหมู่บ้าน

4. อาชีพรับจ้าง

การอพยพแรงงานไปรับจ้างเป็นการอพยพของผู้ว่างงานตามฤดูกาล นิยมเดินทางไปทํางานและอาศัยการแนะนำจากญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก โดยไม่ผ่านระบบการจัดหางาน เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

  • ผู้รับจ้างเคยไปทํางานกับนายจ้างรายเดิมเป็นประจําทุกปี ดังนั้นเมื่อถึงว่างงานตามฤดูกาล จึงสามารถเดินทางไปได้ทันที ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการรับเหมาก่อสร้าง มีทั้งแรงงานไร้ฝีมือและมีฝีมือ
  • ผู้รับจ้างบางรายนิยมรับเงินค่าจ้างล่วงหน้า เพื่อเป็นทุนในการทําไร่ทํานา เมื่อถึงเวลาชดใช้ จึงต้องไปทํางานกับนายจ้างรายเดิม
  • รับจ้างในตัวเมืองใกล้บ้าน เช่น งานก่อสร้างในตัวจังหวัด งานในโรงงานประกอบการ งานปั่นสามล้อรับจ้าง
  • รับจ้างตามฤดูกาลในหมู่บ้าน เช่น รับจ้างถอนกล้า ดํานา เกี่ยวข้าว

อย่างไรก็ดีแรงงานรับจ้างเหล่านี้ถึงแม้มีรายได้น้อยแต่มีการเก็บเล็กผสมน้อย รวมกลุ่มจัดงานผ้าป่าทอดถวายวัดทุกปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านสะดอบ เรียกตนเองว่า “กวย” แต่อย่างไรก็ดี “กูย” กับ “กวย” เป็นกลุ่มเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน แต่สําเนียงภาษาอาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ความแตกต่างของสําเนียงภาษาเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากภาษา เช่น หมู่บ้านชาวกูย/กวย ตั้งชุมชนอยู่ใกล้หมู่บ้านชาวกัมพูชามีสำเนียงอย่างหนึ่ง หมู่บ้านชาวกูย/กวย ตั้งชุมชนใกล้หมู่บ้านชาวลาวก็มีสําเนียงไปอีกอย่างหนึ่ง แม้สำเนียงแตกต่างกันแต่โดยรวมแล้วชาวกูย/กวยก็สามารถ สื่อสารกันรู้เรื่องเป็นอย่างดี

ภาษากวย มีเฉพาะภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียนในรูปพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์ แต่ลักษณะของภาษากวย เป็นคําโดดพยางค์เดียว อย่างมากก็ไม่เกินสองพยางคล้าย ๆ กับภาษาไทยและภาษา เขมร เช่น กา (แปลว่า ปลา), จา(แปลว่า กิน), จี (แปลว่า ไป), โจ (แปลว่า มา) เป็นต้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชนชาติพันธุ์กูย บ้านตะดอบที่เกี่ยวข้องกับระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วีระ สุดสังข์ (มปปพ) รวบรวมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นประเพณีและพิธีกรรม ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนี้

1.การเล่นสะเอง

การเล่นสะเอง ไม้ได้เล่นเฉพาะชาวกูยบ้านตะดอบ บ้านเปือยใหญ่ บ้านนาสูง บ้านเปือยน้อย และ ชาวกูยหมู่บ้านอื่น ๆ เท่านั้น ชาวเขมรสูงในศรีสะเกษก็เล่นเหมือนกัน เพราะมีความเชื่อเดียวกัน แต่ตอบไม่ได้ว่าชนกลุ่มใดรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชนกลุ่มใด ชาวเขมรเรียกการเล่นอย่างนี้ว่า แม่มั่วด (ชาวไทยเรียกว่าแม่มด) แปลกันตามภาษาท้องถิ่นได้ว่า แม่ผู้พูด แม่ผู้บอกเสียงไปถึงเทพาอารักษ์

ประวัติศาสตร์ทางสังคมของชาวกูยหรือกวย มักสร้างชุมชนอยู่ตามป่าเขา พึ่งพาสิ่งลี้ลับและธรรมชาติในการดําเนินชีวิต โดยเฉพาะวิญญาณของบรรพบุรุษ จึงเล่นสะเองเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดวงวิญญาณของบรรพบุรุษให้ปกปักรักษา เพื่อแก้บนในยามเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อรําลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ แสดงถึงความกตัญญูรู้คุณ และในด้านหนึ่งเป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ที่ยังมีชีวิตกับผู้ล่วงลับผ่านร่างทรงแม่สะเอง

พิธีกรรมการเล่นสะเอง

ชาวกูยหรือกวยในอดีตมักมีเชื้อสะเองแฝงอยู่ในวิญญาณ อาจจะเป็นความเชื่อในเชื้อผี เชื่อแห่งความลึกลับ เชื่อแห่งอํานาจที่คุ้มครองชีวิตได้ แต่บ้างก็อธิบายว่าเป็นเชื้อผีร้ายที่คอยเรียกกันนั่นกินนี่เมื่อผู้มีเชื้อสะเองเสียชีวิต เชื้อก็จะตกแก่ลูกสาวคนหัวปีหรือลูกสาวคนแรกของครอบครัว ลูกสาวรับเชื้อสะเองไว้ตามขนบ จนกว่าจะมีผู้มารับต่อไปตามลําดับสืบทองกันมา ผู้รับเชื้อสะเองจากบรรพบุรุษมักเป็นสตรีที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว

ช่วงเดือนสามของแต่ละปี ครอบครัวใดที่นับถือเชื้อผีสะเอง มาตั้งแต่บรรพบุรุษต้องจัดงานเล่นสะเองเพื่อรําลึกถึงบรรพบุรุษ เพื่อถามข่าวคราวกันระหว่างผู้ที่ล่วงลับไปแล้วกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ มีการจัดเลี้ยงอาหารบรรพบุรุษ แสดงถึงความกตัญญูกตเวที และหากครอบครัวใดมีสมาชิกในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่สบายไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย จะมาบนบานขานกล่าวกับบรรพบุรุษไว้ว่า ถ้าหายเจ็บไข้ได้ป่วย สุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรงอยู่เป็นสุข จะเล่นสะเองถวาย

การเล่นสะเองจะกําหนดวันใดวันหนึ่งในเดือนสาม ที่ต้องยึดเดือนสามเป็นหลักก็เพราะว่าช่วงเวลานี้ เพราะพืชผลในไร่ในนาเสร็จสรรพเรียบร้อย ญาติพี่น้องสามารถประกอบกิจกรรมร่วมกันได้ก่อนวันเล่นสะเอง เจ้าภาพต้องเตรียมพร้อมโดยการบอกเหล่าญาติพี่น้องทั้งใกล้และไกลให้มารวมกันตามวันที่กําหนด จัดทําปะรําพิธี ชั้นวางเครื่องเซ่นไหว้ เก็บดอกจําปา (ดอกลั่นทม ชาวบ้านเรียกว่า ดอกจําปา) มาร้อยมาลัย ถ้าไม่มีดอกจําปา ใช้ดอกจานแทนเตรียมด้าย ใบตอง กล้วยทําขันเบ็งและกรวยดอกไม้ เทียนเหลือง เทียนขาว ข้าวตอกแตก มีการห่อขนม ข้าวต้ม ทําอาหารเลี้ยงทรง, แม่สะเองบริวารของแม่ทรง 5-9 คน และมือฆ้อง 1 คน มือกลาง 1-3

2.แถนหรือผีฟ้า

ความเชื่อเรื่อง “ของรักษา” เป็นเชื่อว่าคนเราต้องมี “ของรักษา” อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อยึดเป็นหลักในการดํารงชีวิตให้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ปล่อยชีวิตอยู่อย่างเลื่อนลอย “ของรักษา” ต่างกับ “ปู่ตา” คือ ไม่เกี่ยวกับผีสาง แต่เกี่ยวกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ คนโบราณสอนกันว่า ชีวิตคน ๆ หนึ่งต้องมี “ผู้คุ้มครอง” ผู้คุ้มครองนั้นเรียกว่า “ธรรม” สามารถคุ้มครองป้องกันความวิบัติเหมือนกับเทวดาประจําถิ่นอย่างที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไป “ของรักษา” พวกหนึ่งเรียกว่า “ธรรม” อีกพวกหนึ่งเรียกว่า “ผีฟ้า”

ผู้ที่ขึ้นอยู่กับ “ธรรม” มีหมอธรรมเป็นผู้คุ้มครอง เจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้หมอธรรมรักษา หมอธรรมทําพิธีต่าง ๆ เช่น รดน้ำมนต์ การแก้เสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) การปราบผีซึ่งมีทั้งกันและแก้ ผู้ที่เป็นหมอธรรมโดยมากมาจากนักบวช ต้องเรียนวิธีรักษาคนป่วยมีทั้งหมอธรรมที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน และอยู่หมู่บ้านอื่นที่ห่างไกลออกไป หมอธรรมเป็นบุคคลที่ปฏิบัติธรรมในศาสนาได้เป็นอย่างดี ถือศีลห้าอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นแล้วจะ รักษาธรรมไว้ไม่ได้

พวกที่สองคือ “ผีฟ้า” มีส่วนคล้ายกับหมอธรรม แต่จะต่างออกไป คือ การลําล่อง (ร้องรําพันพร้อมกับฟ้อน) คนลำเป็นผู้หญิง แต่ถ้าเป็นผู้ชายจะแต่งตัวเป็นผู้หญิง ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบการลําล่องรักษาผู้ป่วย บางคนฟ้อนรําไม่เป็น เมื่อผีฟ้า เข้าทรงจะสามารถรำได้เอง ผีที่เข้าทรงมาจากไหนไม่ทราบชัด เรียกกันแต่ว่า “ผีฟ้า” แท้จริงแล้วเป็นพวก "ผีเชื้อคือ ผีในตระกูลของหมอผีนั้นเอง บางครั้งหมอผีจะเรียกวิญญาณของญาติผู้ป่วยที่ตายแล้วมาถามถึงอาการป่วยก็ได้ ผีฟ้าใช้รักษาผู้ป่วยด้วยการบนบาน อ้อนวอนผีให้ช่วยให้หายป่วย คนที่นับถือผีฟ้าส่วนมากจะเป็นญาติของผีฟ้าที่เคารพนับถือมาแต่บรรพบุรุษ เมื่อรักษาหายแล้วก็ต้องนับถือผีฟ้าสืบต่อไปอีก

"รําแถน" หรือ "รําผีฟ้า" คล้ายกับ "การเล่นสะเอง" เพียงแต่ว่าการเล่นแถนหรือรําผีฟ้า เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของชนเผ่าลาว ที่ชาวกูยรับมาใช้ในวิถีชีวิต มีการประกอบพิธีเข้าธรรมหรือขึ้นธรรม(ครอบหรือฝากตัว เป็นสานุศิษย์) กับหมอธรรมตลอดชีวิต จะมีการรําผีฟ้าประจําปีหรือเพื่อรักษาคนป่วย เมื่อก่อนนิยมปลูกต้นจําปา(ลั่นทม) เกือบทุกบ้าน ร้อยมาลัยจําปาสําหรับเล่นแถน ปัจจุบันใช้ดอกจานแทน

การประกอบพิธีเริ่มจากปลูกปะรําบวงสรวงเป่าแคน(ผู้เป่าแคนเรียกว่าม้า) รําเชิญผีฟ้า(แถน) แต่ละองค์มาเข้าทรงพกดาบไม้ ทําเรือไม้จําลอง เมื่อผีฟ้าหรือแถนมาเข้าทรงจะมีชื่อเฉพาะของผีฟ้าหรือแถนองค์นั้น มีการฟ้อนและร้องลําด้วยทํานองที่โหยหวนโต้ตอบกันระหว่างผีฟ้าทั้งวันทั้งคืนหรือติดต่อกันหลายวันหลายคืน อย่างไรก็ดีการเล่นสะเองและการเล่นแถน เพื่อรักษาชีวิตคนเจ็บป่วยยังเป็นความเชื่อของชุมชนจนถึงปัจจุบัน และในวันเดียวกันมีการเล่นสะเองแล้วก็มีการเล่นแถนอีกด้วย นางสะเองบางรายก็เป็นนางแถนด้วย

3.การเซ่นผีปู่ตา

ความเชื่อเรื่อง ผีปู่ตา มิใช่เฉพาะชาวกวย /กูย แต่กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเชื่อและเคารพนับถือ ผีปู่ตา ปู่ หมายถึง ปู่และย่า ญาติฝ่ายบิดา ตา หมายถึง ตาและยาย ญาติฝ่ายมารดา คําว่า ปู่ตา จึงหมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเวลามีชีวิตอยู่ก็เป็นที่เคารพของลูกหลาน เมื่อตายไปแล้วลูกหลานยังเคารพจึงปลูกหอปลูกโฮงให้ท่านอยู่ ใกล้ ๆ บ้าน มีต้นไม้ใหญ่ เต็มไปด้วย เสือ หมี และสัตว์ป่านานาชนิด กว้างใหญ่ไม้ต่ำกว่าร้อยเส้น สถานที่ดังกล่าวเรียกว่า “คงปู่ตา”

“คงปู่ตา” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครรุกล้ำ ตัดต้นไม้ แสดงวาจาหยาบคาย ปู่ ตาจะทําโทษให้เจ็บหัวปวดท้อง เป็นต้น เพื่อความสะดวก จะมีการตั้งคนรักษาป่าไว้เรียกว่า “เฒ่า” ใครเจ็บไข้ได้ป่วยเกี่ยวกับ “ปู่ตา” จะต้องเผชิญ “เฒ่า” ให้ไปบวงสรวงปู่ตาก็ได้ผล “คงปู่ตา” สมัยก่อนเหมือนวนอุทยาน(สวนป่า) ช่วงเดือน 7 ชาวบ้านจะนําข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงดูและเป็นการเลี้ยงใหญ่ การสร้างคงปู่ตาประจําบ้านเป็นความฉลาดหลักแหลมของคนโบราณ เป็นการสร้างวนอุทยานไว้ให้ลูกหลานนําความอุดม สมบูรณ์พร้อมด้วยความชุ่มชื่นรื่นรมย์มาสู่บ้านเมือง เป็นทรัพยากรธรรมชาติประจําหมู่บ้าน

“เฒ่า” เป็นคําเรียกผู้ทําพิธีบวงสรวงภูตผีประจําท้องถิ่นกลุ่มวัฒนธรรมลาว เป็นผู้ติดต่อระหว่าง “ปู่ตา” กับ”ชาวบ้าน” สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มวัฒนธรรมลาว เรื่องการเซ่นผีตาแฮกผสานกับความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติของกลุ่มชาวกวย/กูย ทุกหมู่บ้านที่มีผีปู่ตาจึงต้องมีเฒ่า การประกอบพิธีเซ่นผีปู่ตานั้น ชาวบ้านเตรียมเครื่องประกอบพิธี ดังนี้

  • ข้าว 1 จาน
  • ไก่ต้ม 1 ตัว
  • น้ำ 1 แก้ว
  • เหล้า 1 ขวด
  • หมากพลู 2 คํา
  • บุหรี่ 2 มวน
  • ข้าวสารหรือข้าวเปลือก 1 กํา
  • เงิน 12 บาท

หลังจากการเซ่น “เฒ่า” ทําพิธีเสี่ยงทาย โดยถอดกระดูกคางไก่ต้มที่ใช้ในเครื่องเซ่นออกมาดู เพื่อทํานายฝนฟ้า นาน้ำในปีนั้น คางไก่ คือ ส่วนที่เป็นกระดูกเล็ก ๆ ต่อกับจงอยปากล่าง เมื่อดึงจงอยปากด้านล่างของไก่ออกมาเป็นกระดูกเล็ก ๆ สองอันถ่างออกไปสองข้าง ส่วนนี้เรียกว่า คางไก่ ใช้ทํานายเหตุการณ์ต่าง ๆ การทํานายนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของคางไก่ คําทํานายมีดังนี้

  • ถ้าคางไก่เหยียดตรง ทํานายว่า ปีนั้น ฝนจะตกน้อย น้ำน้อย แห้งแล้งมาก เนื่องจากไก่แหงนคอดูฟ้าคอยว่าเมื่อใดฝนจะตก จึงทําให้กระดูกคางไก่ตั้งตรง
  • ถ้าคางไก่โค้งลง ทํานายว่า ฝนจะตกอุดมสมบูรณ์ เพราะไก่ก้มลงกินน้ำและหากินตามปรกติ จึงทําให้กระดูกไก่โค้งงอลง

เมื่อทํานายแล้วชาวบ้านก็จะถือเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเตรียมการทํานาหรือเพาะปลูกพืชผลอื่น รวมถึงการเก็บสะสมจัดหา พืชพรรณธัญญาหาร เพื่อเตรียมรับให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่อไป

สันติ ไชยบุตร (2554). พลวัตวิถีการผลิตและการเปลี่ยนแปลงสังคม กรณีศึกษา : การตีเหล็กของชาวกูยชุมชนตะดอบ ตำบลตะดอบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ. เศรษฐศาสตร์การเมือง. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35749

องค์การบริหารส่วนตำบลตะดอบ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. จาก https://thadob.go.th/public/

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2567). ข้อมูลประชากร. จาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/

องค์การบริหารส่วนตำบลตะดอบ โทร. 0-4596-9826