
ชุมชนบ้านหนองลังกาเป็นชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมือง ที่สมาชิกในชุมชนสามารถปรับตัวและต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนในการดำรงชีวิตประจำวัน
พื้นที่หนองน้ำที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี และบริเวณรอบ หนองน้ำมี "ต้นหญ้าลังกา" หรือ "ต้นกกรังกา" ขึ้นอยู่หนาแน่น หนองน้ำนี้จึงเรียกชื่อว่า "หนองลังกา" ตามชื่อของต้นหญ้าชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามที่ชื้นแฉะและมีน้ำขัง อย่างไรก็ตามนาม "หนองลังกา" ได้เป็น "หนองรังกา" ได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานว่า "ลังกา" หรือ "รังกา" หรืออีกนัยหนึ่งเจ้าหน้าที่อำเภอสมัยนั้นอาจเข้าใจไปว่า "ลังกา" เป็นชื่อของรังกา สัตว์มีปีกชนิดหนึ่ง ที่มีขนสีดำเรียกว่า "กา" และตีความว่าเป็นนามของรังกา จึงเขียนเป็น "หนองรังกา"
ชุมชนบ้านหนองลังกาเป็นชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมือง ที่สมาชิกในชุมชนสามารถปรับตัวและต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนในการดำรงชีวิตประจำวัน
ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านหนองรังกา
บ้านหนองรังกามีการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม กระทั่งก่อให้เกิดเหตุการณ์หลากหลายทั้งในท้องถิ่น รวมถึงเหตุการณ์ที่ชุมชนท้องถิ่นสัมพันธ์กับบริบทภายนอกชุมชน ทั้งในฐานะที่บ้านหนองรังกาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนครราชสีมาและสังคมไทย จักษุมาลย์ วงษ์ท้าว (2554) ศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการบ้านหนองรังกา ได้จำแนกพัฒนาการเป็น 3 ช่วง ดังนี้
- ช่วงที่ 1 ยุคดั้งเดิม (ปี พ.ศ. 2470 - ก่อนช่วง พ.ศ. 2496)
- ช่วงที่ 2 ยุคทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม (พ.ศ. 2497 – 2530)
- ช่วงที่ 3 ยุคพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทางเลือกอาชีพในชุมชน (พ.ศ. 2531 – 2554)
บ้านหนองรังกา ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นหนึ่งใน 15 หมู่บ้าน ที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองของเทศบาล ตำบลเมืองใหม่โคกกรวด กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทโคราชเป็นกลุ่มคนหลักที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บ้านหนองรังกา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ในพื้นที่มีสระน้ำสาธารณะ 2 สระ และพื้นที่มีคลองมาบใหญ่ไหลผ่าน บ้านหนองรังกา ตั้งห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมาราว 154 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 67.47 ตารางกิโลเมตร หรือราว 42,168 ไร่
โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ผ่านมาในพื้นที่บ้านหนองรังกาคือ ถนนมิตรภาพ ถนนสายโคกกรวด - หนองปลิง ดังนั้นจึงมีการตั้งถิ่นฐานกระจายไปตามเส้นทางคมนาคม ลักษณะบ้านเรือนจึงประกอบด้วยบ้านเรือนแบบดั้งเดิมที่สร้างจาก ไม้ทั้งหลัง แบบก่ออิฐถือปูน แบบผสมที่เป็นรูปแบบที่สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองหว้า หมู่ที่ 1 บ้านสระมโนราห์ ม.6 ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านหนองบง ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองนมนาง ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหนองพะยอม หมู่ที่ 6 ต.หนองตะโก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
ชุมชนบ้านบ้านรังกา ประกอบด้วยสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ชาวไทโคราช ที่อาศัยบริเวณต้นแม่น้ำมูล ต่อมามีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานยังจังหวัดนครราชสีมา บริเวณอำเภอพิมาย ขามสะแกแสง ขามทะเลสอ โนนไทย โนนสูง จักรราชและอำเภอเมือง
จำนวนประชากรปัจจุบันชุมชนหนองรังกา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 โดย สำนักบริการการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า มีประชากรทั้งสิ้น 2,442 คน จำแนกเป็นเพศชาย 1,198 คน หญิง 1,244 คน ดังภาพแสดงจำนวนประชากรชุมชนบ้านหนองรังกา ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม พ.ศ. 2567
ไทโคราชบ้านหนองรังกามีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนแบบเป็นทางการ ประกอบด้วย คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่ม อสม. เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมของหมู่บ้านด้านต่าง ๆ ให้สามารถลุล่วงไป ปัจจุบันนายสำราญ เทินสะเกษ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน(ข้อมูลจาก เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด)
ปฏิทินชุมชนบ้านหนองรังกา มีความสัมพันธ์กับประเพณีท้องถิ่นในรอบปีและสอดคล้องกับความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา รวมถึงความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งประเพณีเกี่ยวกับชีวิตแต่ละบุคคล และประเพณีที่แสดงถึงการร่วมกันของสมาชิกในชุมชน ดังภาพแสดงกิจกรรมปฏิทินชุมชนบ้านหนองรังกาในรอบ 1 ปี จากการศึกษาของ จักษุมาลย์ วงษ์ท้าว
ภาษาโคราช
จากการศึกษาของ จักษุมาลย์ วงษ์ท้าว (2554) พบว่า บ้านหนองรังกา ใช้ภาษาโคราช ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชุมชนในการสื่อสารระหว่างกัน สำเนียงภาษาโคราชมีความคล้ายคลึงกับสำนวนไทยภาคกลาง ทว่าเสียงวรรณยุกต์ไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า “หมด” ไทยโคราชออกเสียงเป็น “มด” นอกจากนี้คำลงท้ายมักใช้คำว่า “เบิ้ง” “เดิ้ง” จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า “ไทยเบิ้ง” อย่างไรก็ดี หนองบ้านรังกา มีสำเนียงเหน่อเฉพาะของชุมชน ใกล้เคียงกับชุมชนอื่น ๆ ในบริเวณตำบลโคกกรวด แต่มีความแตกต่างจากภาษาโครราชแถบโนนสูง จักรราช โนนไทย และ เฉลิมพระเกียรติ แต่จัดอยู่ในภาษาโคราชเช่นเดียวกัน
ภาษาโคราช มีคำศัพท์เฉพาะ เช่น
- เอง หมายถึง ตัวผู้พูด
- ด๊ะดาด หมายถึง ดาษดื่น เกลื่อนกลาด
- เดิ่น หมายถึง ที่โล่ง กลางแจ้ง
- เสมอหรึ่ม หมายถึง ไม่สนใจใคร
จักษุมาลย์ วงษ์ท้าว (2554). อาหารท้องถิ่นในสังคมปัจจุบัน : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนบ้านหนองรังกา ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา. มานุษยวิทยา. มหาวิทยาลัยศิลปากร. จาก https://sure.su.ac.th/
สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. (ม.ป.ป.). บ้านหนองรังกา. จาก https://nm.sut.ac.th/
เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด. (ม.ป.ป.). หมู่ 12 บ้านหนองรังกา. จาก https://www.kokkruad.go.th/