Advance search

บ้านแม่สานสามัคคี
  • ชุมชนชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน แม่สานสามัคคี เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเครือญาติ ตระกูลขนาดใหญ่ ส่วนมากเป็นพี่น้องหรือตระกูลเดียวกัน มีบางส่วนที่อพยพมาจากจังหวัดอื่นบ้าง
  • สินค้าชุมชน ได้แก่ ผ้าปักมือของชาวอิ้วเมี่ยน ที่มีเอกลักษณ์สวยงาม  และแอบแฝงไปด้วยการสื่อความหมาย  เครื่องประดับของชาวเผ่าเมี่ยนที่เป็นเครื่องเงินล้วนมีความสวยงามเป็นอย่างมาก
10
บ้านสะพานยาว
แม่สำ
ศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
ปัญญา ค้างคีรี
5 ส.ค. 2023
จีรภัทร นาจรัส
11 ส.ค. 2023
สุดารัตน์ ศรีอุบล
8 เม.ย. 2024
บ้านสะพานยาว
บ้านแม่สานสามัคคี

ชุมชนชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี บ้านสะพานยาว หมู่ที่ 10 ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อยู่ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัย ราว 35  กิโลเมตร ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน อาศัยอยู่มาเป็นเวลาประมาณ  44 ปี  


  • ชุมชนชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน แม่สานสามัคคี เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเครือญาติ ตระกูลขนาดใหญ่ ส่วนมากเป็นพี่น้องหรือตระกูลเดียวกัน มีบางส่วนที่อพยพมาจากจังหวัดอื่นบ้าง
  • สินค้าชุมชน ได้แก่ ผ้าปักมือของชาวอิ้วเมี่ยน ที่มีเอกลักษณ์สวยงาม  และแอบแฝงไปด้วยการสื่อความหมาย  เครื่องประดับของชาวเผ่าเมี่ยนที่เป็นเครื่องเงินล้วนมีความสวยงามเป็นอย่างมาก
บ้านสะพานยาว
10
แม่สำ
ศรีสัชนาลัย
สุโขทัย
64130
17.639211
99.587465
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สำ

ชุมชนเผ่าเมี่ยน(เย้า) แม่สานสามัคคี ตั้งอยู่ หมู่ที่ 10 บ้านสะพานยาว ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อยู่ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัย   ราว 35  กิโลเมตร ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า)  เดิมเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน  ต่อมามีการย้ายถิ่นฐานมายังประเทศลาว และเข้ามาในเมืองไทยประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งได้กระจายไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆในประเทศไทยประมาณ  8 จังหวัด ชุมชนเผ่าเมี่ยน(เย้า) แม่สานสามัคคี มีนายจิ้นลิ่น  แซ่ฟุ้ง เป็นครอบครัวที่เริ่มย้ายมาอาศัยอยู่ก่อน โดยมาจากจังหวัดน่าน ประมาณปี พ.ศ.2522 และต่อมาก็ได้มีครอบครัวของนายฟุจันทร์  แซ่ลี  และอีก 2-3 ครอบครัว ย้ายเข้ามาเพิ่มอีก ซึ่งสมัยก่อนได้อาศัยเส้นทางจากการเข้ามาทำไม้ของบริษัท สุโขทัยค้าไม้ จำกัด เป็นเส้นทางสัญจรและบุกเบิกป่า  หลังจากทางบริษัท สุโขทัยค้าไม้  จำกัด  ได้ตัดต้นไม้ใหญ่ไปหมดแล้วคงเหลือแต่ป่าเสื่อมโทรมไว้ทางการจึงอนุญาตให้ชาวบ้านได้จับจองพื้นที่ทำกิน  และต่อมาประมาณปี พ.ศ.2527  ก็มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอีกหลายครอบครัว

ประมาณปี  พ.ศ.2536  ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนแม่สานสามัคคีขึ้น ชุมชนเผ่าเมี่ยน(เย้า) แม่สานสามัคคี นับถือผีบรรพบุรุษและศาสนาคริสต์  มีอาชีพทำไร่  เก็บของป่า ล่าสัตว์ ปัจจุบันมีการพัฒนาไปปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้าน 

สถานที่สำคัญในหมู่ชุมชนเผ่าเมี่ยน(เย้า) แม่สานสามัคคี ตำบลแม่สำ  อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

1.โรงเรียนบ้านแม่สานแม่สานสามัคคี  

ประวัติโรงรียนบ้านแม่สานสามัคคี  เมื่อปี พ.ศ.2522 ได้มีการจัดตั้งสถานที่สอนหนังสือและอบรมเด็กชาวเขาอย่างไม่เป็นทางการโดยมีจุดประสงค์เพียงต้องการให้เด็กชาวเขาได้เรียนรู้ภาษาไทย  แต่ยังไม่สามารถเอาไปใช้เรียนต่อที่อื่นได้ ปี พ.ศ.2531 มีการยื่นขอจัดตั้งโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านปากสาน แต่ก็ยังไม่ผ่าน เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน ต่อสำนักประถมศึกษาจังหวัดสุโขทัยได้ยื่นขอใช้พื้นที่เขตป่าสงวนและเมื่อวันที่  3  พฤศจิกายน พ.ศ.2536  สำนักงานประถมศึกษาจังหวัดสุโขทัยได้อนุมัติจัดตั้งโรงเรียนและเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกภายใต้ชื่อโรงเรียนแม่สานสามัคคี  โดยมีนายคำรญ  กิ่งแก้ว  ตำแหน่งอาจารย์  2 โรงเรียนบ้านปากคยาง  มารักษาการในตำแหน่งครูใหญ่  เป็นการชั่วคราว  เปิดสอน 2 ระดับชั้น ประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 และ ประถมศึกษาชั้นปีที่ 2 มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น         53 คน แต่ยังใช้อาคารเรียนชั่วคราวหลังเก่าอยู่ ปี พ.ศ.2537 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณจัดสร้างอาคารเรียน  จำนวน  800,000  บาท โดยทำการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่  15  พฤศจิกายน  2537 

สถานที่ตั้งของหมู่บ้านแม่สาน หมู่ที่ ๖ ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

บ้านแม่สานตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย จำนวน 51 กิโลเมตรห่างจากจังหวัดสุโขทัย จำนวน 104 กิโลเมตร โดยมีที่ตั้ง และอาณาเขต ที่ติดต่อกับพื้นที่อื่นๆ ดังนี้

จากข้อมูลการสำรวจข้อมูล จปฐ.ของ ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) มี จำนวน  67  หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 339 คน  แบ่งเป็นประชากรหญิง 176 คน ชาย 163 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์เมี่ยน(เย้า) ในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

อิ้วเมี่ยน

ผู้คนในชุมชนเผ่าเมี่ยน(เย้า) บ้านสะพานยาว ตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชานาลัย มีการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ ได้แก่  กลุ่มอาชีพปักผ้า เป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายให้สมาชิกในกลุ่มเรียนรู้การปักผ้าลวดลายของชาวเขาเผ่าเมี่ยน(เย้า) ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงามและแอบแฝงไปด้วยความหมายต่างๆ มากมาย     การปักผ้าของชนเผ่าเมี่ยน(เย้า)มีคติความเชื่อ เรื่องเล่า คำสอนพิธีกรรม และวิถีชีวิต เพื่อใส่เอง จำหน่าย และเป็นอาชีพ ในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 32 คน

ในรอบปีของชาวอิ้วเมี่ยน  มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้ 

พิธีการบวช 

ชาวอิ้วเมี่ยนบ้านแม่สานสามัคคี จะมีประเพณีการบวชที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น  ไม่เหมือนกับของคนไทย จะคล้ายกับของคนจีนมากกว่า ไม่มีการโกนผมแต่เป็นการแต่งชุดประจำเผ่า ช่วงที่บวชจะมีการถือศีลละเว้นหลายอย่าง  มีการสวดมนต์เป็นช่วงๆเวลา  ประเพณีการบวชของเผ่าเมี่ยน(เย้า) จะจัดขึ้นตามความพร้อมของแต่ละครอบครัวหรือฤกษ์งามยามดีของแต่ละตระกูล  ซึ่งการบวชส่วนมากจะรวมกันเป็นตระกูลแล้วบวชพร้อมกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

พิธีงานศพ

พิธีงานศพชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี จะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง มีทั้งการฝังและการเผา  สำหรับผู้เสียชีวิตที่ประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตนอกหมู่บ้าน  จะทำการเผาที่นอกหมู่บ้านแล้วค่อยนำกระดูกมาทำพิธีที่บ้านหรือเอามาทำพิธีที่บ้านแต่ต้องทำนอกบ้านไม่ให้เอาเข้าบ้าน  ส่วนผู้ที่เสียชีวิตในหมู่บ้านจะมีการทำพิธีโดยมีหมอผีมาสวดส่งวิญญาณเรียกบรรพบุรุษมารับ ส่วนจะทำการฝังหรือเผานั้นจะมีการเสี่ยงทายด้วยไข่ และผู้สูงอายุที่เสียชีวิตในหมู่บ้าน  บางคนจะมีการเตรียมสถานที่สำหรับฝังศพของตัวเองไว้แล้ว

พิธีแต่งงาน

พิธีแต่งงานของชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี  ฝ่ายชายจะหมั้นฝ่ายสาวไว้ก่อน  โดยนำสินสอดเป็นเงินแท่งหรือธนบัตรไปมอบให้ฝ่ายผู้หญิง หลังจากนั้นก็จะหาฤกษ์ของตระกูลฝ่ายชายเพื่อทำพิธีแต่งงานแล้วแต่ตระกูล  บางตระกูลอาจจะไม่มีฤกษ์ดีต้องรอถึง 3 ปี 

พิธีเกี่ยวกับผีชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี  จะมีประเพณีเกี่ยวกับผีทั้งปี เช่น  ประเพณีปีใหม่เย้า(ตรุษจีน) ,วันเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ปีละ 4 ครั้ง ,วันก๋ำลม,วันก๋ำหนู,วันก๋ำงู,วันก๋ำหนอน,วันก๋ำมีด ขวาน,วันก๋ำนก ดังนี้
  • วันปีใหม่เย้า(ตรุษจีน) ตรงกับวันตรุษจีน จะมีการทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีหมอผีมาทำพิธีในบ้านแต่ละหลัง  บางหลังถ้าทำใหญ่ก็จะใช้หมูเป็นตัว  บางหลังถ้าทำเล็กก็จะใช้ไก่ และจะทำกระดาษเงิน กระดาษทองเผาไปให้กับบรรพบุรุษ
  • พิธีไหว้ผีประจำหมู่บ้าน จะจัดทุกๆ 3 เดือน ปีละ 4 ครั้ง เพื่อเป็นการบอกผีประจำหมู่บ้านให้คอยปกปักรักษาคนในหมู่บ้าน  โดยจะมีผู้ชายของแต่ละตระกูลเอาไก่มาคนละตัว เหล้าคนละขวด เอามารวมกันแล้วไหว้  ซึ่งสถานที่ทำพิธีก็อยู่ข้างสนามโรงเรียนบ้านแม่สานสามัคคี
  • วันก๋ำต่างๆ 
1.วันก๋ำลม ห้ามเข้าไร่ เข้าสวน ถ้าไม่เชื่อลมจะพัดบ้านพัง ลมจะพัดพืชไร่เสียหาย2.วันก๋ำหนู ห้ามเข้าไร่ เข้าสวน ถ้าไม่เชื่อหนูจะเข้าบ้าน เข้าไร่กัดกินต้นพืช3.วันก๋ำนก ห้ามเข้าไร่ เข้าสวน ถ้าไม่เชื่อนกจะกินพืชไร่จนหมด4.วันก๋ำงู ห้ามเข้าไร่ เข้าสวน ถ้าไม่เชื่อเวลาไปไร่จะเจอแต่งู และงูจะเข้าบ้าน5.วันก๋ำหนอน ห้ามเข้าไร่ เข้าสวน ถ้าไม่เชื่อหนอนจะกัดกินพืชจนหมด6.วันก๋ำมีด ก๋ำขวาน ห้ามใช้ของมีคมไปไร่ไปสวน ถ้าไม่เชื่อจะโดนมีด โดนขวานบาดหรือต้องเสียเลือดในวันก๋ำต่างๆ จะมีการทำกระดาษเพื่อเอาไว้ห้อยไว้ที่ไร่ ที่สวน เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดี ศัตรูพืชต่างๆ ไม่ให้เข้าไปในไร่ ใน สวนวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ ชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี ยุคแรกเริ่มจะประกอบอาชีพ  ทำไร่  ทำสวน ปลูกข้าวไร่  และปักผ้า  ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ปลูกยางพารากันมากขึ้นและได้ยึดอาชีพกรีดยางพาราเป็นอาชีพหลัก

1) นายจิ้นลิ่น  แซ่ฟุ้ง ผู้สืบทอดการเขียนภาษาเมี่ยน และยาสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น หากมีคนเจ็บป่วยในหมู่บ้านมักมาหา เพื่อขอรับยาสมุนไพรไปรักษา 

 2) นายฟุล่วง  แซ่เติ๋น ผู้นำการประกอบพิธีกรรมต่างๆในหมู่บ้าน              

3) นายฟุจันทร์  แซ่ลี  ผู้นำการประกอบพิธีกรรมต่างๆในหมู่บ้าน

4) นายเกาฮิน  แซ่เติ๋น ผู้นำการประกอบพิธีกรรมต่างๆในหมู่บ้าน 

ทุนวัฒนธรรม

ค่านิยม ชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี มีทุนทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรษ  คือ  การนับถือผีบรรพบุรษของตระกูล ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องบอกกล่าวผีบรรพบุรุษ  หรือว่าหากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือได้รับบาดเจ็บ  ก็ต้องทำพิธีแก้ดวงชะตา  หาหมอผีมาเรียกดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาช่วยปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไป  และการปักผ้าด้วยมือที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  เอาไว้ใช้ในทุกช่วงชีวิตของตนตั้งแต่ เกิด จนกระทั้งสิ้นอายุไข  เรียกได้ว่าเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น ใส่ไปในพิธีกรรมต่างๆ แต่งงาน งานบวช งานศพ เป็นต้น      อาหารท้องถิ่น

ชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี นำเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นอาหาร ทำให้รสชาติออกไปในทางธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์ และนับเป็นภูมิปัญญาด้านอาหารที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้ 

อาหารคาว 

ชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี มีการคิดสร้างสรรค์วัตถุดิบการปรุงอาหารที่ ได้จากธรรมชาติท้องถิ่น โดยอาหารที่โดดเด่น เช่น ไก่ต้มยาหรือนึ่งสมุนไพร(เกี๊ยะเมี๊ยะ)  

อาหารหวาน

ชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี มีอาหารหวานประจำเผ่า  ได้แก่  

กะแหม๋ซั๊ว หรือขนมข้าวโพด โดยการนำข้าวโพดมาปั่นกับแป้ง  แล้วทำเป็นแผ่นมาปิ้ง

ซั๊วต้าว  ซั๊วเจี๊ยะ หรือข้าวต้มมัด 

ศิลปหัตถกรรม/งานฝีมือชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี มีความเชี่ยวชาญ ในด้านศิลปหัตถกรรมและงานฝีมือ นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่คิดสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  เช่น ผ้าปักที่มีลวดลายสวยงาม  มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีภูมิปัญญาและเทคโนโลยีจากการคิดสร้างสรรค์ของ ชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี ซึ่งสามารถแบ่งภูมิปัญญาได้ดังนี้ ที่อยู่อาศัย ขนบธรรมเนียม/จารีต/ประเพณี/ความเชื่อ อาหารท้องถิ่น สมุนไพรรักษา โรค/สาธารณสุขแบบดั้งเดิม  ศิลปหัตถกรรม/งานฝีมือ และการทำมาหากิน ที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมชาวอิ้วเมี่ยนแม่สานสามัคคี  จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ดั้งเดิมเป็นบ้านชั้นเดียวติดดิน อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม โดยจะดูทำเลที่ตั้งให้เหมาะสมและมีแหล่งน้ำเป็นหลักที่อยู่อาศัยแบบสมัยใหม่ ส่วนลักษณะบ้านเรือนแบบสมัยใหม่ เป็นการสร้างตามยุคสมัย โดยจะใช้ การสร้างแบบบ้าน 1 ชั้น หรือ 2 ชั้น แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าของบ้าน โดยปัจจุบันจะมีการสร้าง โดยใช้อิฐ หรือปูนซีเมนต์ โดยหลังคาบ้านในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกระเบื้อง หรือสังกะสีแทน เหตุผลที่เปลี่ยนเพราะความทันสมัย ปลอดภัยต่อพายุฝนและความคงทนถาวรของบ้านเรือน

ภาษาในเผ่านั้นจะมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเองโดยดัดแปลงมาจากภาษาจีน  จะมีการใช้ภาษาในครอบครัวซึ่งเป็นภาษาเมี่ยนในการสนทนาในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ทำการอย่างสม่ำเสมอ แต่ในปัจจุบันเมื่อเด็กและเยาวชนในชุมชนได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนและการติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอกที่ต้องใช้ภาษาไทยกลาง ในการสื่อสารมากขึ้นทำให้ภาษาพูดในชุมชนที่เป็นการพูดระหว่างครอบครัวนั้นลดน้อยลงและภาษาเขียน ที่ยังมีการใช้ภาษานั้นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เหลือไม่กี่คนและไม่มีใครสืบทอดต่อ


  • การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ของผู้คนในชุมชน คนในชุมชนมีการสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการ แบ่งแยกพื้นที่ระหว่างผีกับคน หรือระบบความคิดของคนรุ่นใหม่ในสังคมส่งผลให้วิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ตามไปด้วย เนื่องจากอิทธิพลของระบบสื่อ ในมิติต่างๆ ที่มีความรวดเร็วเชื่อมโยง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
  • การเคลื่อนย้ายของประชากร
  • ในอดีตคนในสังคมมีการอาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายทำให้เกิดการเรียนรู้พิธีกรรมต่างๆ          ให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดของคนในครัวเรือน ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ความทันสมัย เกิดการเคลื่อนย้ายการใช้ชีวิต ในการไปศึกษาต่อ และไปอยู่นอกชุมชน ทำให้การประกอบอาชีพและการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม จึงทำให้มีการส่งต่อโดยตรงของระบบวัฒนธรรม จากเดิมที่นับถือผีบรรพบุรุษที่เสื่อมคลายลงเนื่องจากลูกหลานที่ไปทำงานต่างพื้นที่ ไม่เข้าร่วมพิธีกรรมในการเลี้ยงผีบรรพบุรุษแต่ให้ญาติที่อยู่ในชุมชนดำเนินการแทน ทำให้เห็นว่า การเลี้ยงผีบรรพบุรุษนั้นห่างหายไปเรื่อยๆ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์. (2562). วิถีชุมชนเครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผลและสนุก. พิมพ์ครั้งที่ 13. กทมฯ: สำนักพิมพ์สุขศาลา. 
  • นายจิ้นลิ่น  แซ่ฟุ้ง และเจี้ยมจิ้ง แซ่จ๋าว. สัมภาษณ์วันที่ 5 สิงหาคม 2566