Advance search

พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งที่ราบเชิงเขาและแม่น้ำ ชาวบ้านปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลัก สร้างรายได้แก่คนในชุมชน มีประเพณีข้าวยาคู หรือข้าวมธุปายาส

เขาพังไกร
หัวไทร
นครศรีธรรมราช
อบต.เขาพังไกร โทร. 0-7576-7080
อรนุช วงศ์วี
13 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
3 เม.ย. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
3 เม.ย. 2024
เขาพังไกร

เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ออกประพาสตามหัวเมืองต่าง ๆ พร้อมยกขบวนโยธา พรั่งพร้อมด้วยขุนพล ทหารและข้าทาสบริวารในการประพาสครั้งนั้น ตามประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ขบวนได้ผ่านมาพักแรม ณ เชิงเขา (เขาพังไกรในปัจจุบัน) การประพาสครั้งนั้น ได้อาศัยช้างและม้าเป็นพาหนะ 

ระหว่างการพักแรม ช้างที่ใช้ในการเดินทางเกิดล้มป่วยลง 2 เชือกคือช้างพังไกร ซึ่งเป็นช้างเพศเมีย และช้างพลายดำ ซึ่งเป็นช้างเพศผู้ และช้างเพศเมียก็ได้เสียชีวิตลงสร้างความเสียพระทัยแก่เจ้าเมืองยิ่งนัก จึงพระราชทานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านพังไกร ตามชื่อช้างเพศเมียที่เสียชีวิต เพื่อสดุดีที่เคยใช้งาน และอยู่เคียงข้างพระวรกายมาช้านาน ส่วนช้างพลายดำถูกนำกลับไปรักษาตัว ณ สถานที่แห่งหนึ่งทางทิศเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช (อ.สิชลในปัจจุบัน) และได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านที่ได้นำช้างไปพักรักษาตัวว่า บ้านพลายดำ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ อ.สิชล และเรียกขานมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ได้มีการจัดตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้น บ้านพังไกร จึงถูกยกฐานะขึ้นเป็น กิ่ง อ.พังไกร และขึ้นตรงต่อเมืองปากพนัง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2443 กิ่ง อ.พังไกร ถูกย้ายไปที่ทำการแห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อตามที่ตั้งใหม่ คือ อ.หัวไทร และกิ่ง อ.พังไกร ถูกลดฐานะเป็นตำบล ตั้งชื่อใหม่ว่า ต.เขาพังไกร โดยยึดเอารูปสัญลักษณ์ ภูเขาขึ้นนำหน้าและอยู่ในเขตการปกครองของ อ.หัวไทร สืบมาจนปัจจุบัน


พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งที่ราบเชิงเขาและแม่น้ำ ชาวบ้านปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลัก สร้างรายได้แก่คนในชุมชน มีประเพณีข้าวยาคู หรือข้าวมธุปายาส

เขาพังไกร
หัวไทร
นครศรีธรรมราช
80170
7.978503741785969
100.251062495594
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาพังไกร

เขาพังไกรเป็นหนึ่งตำบลของอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ ตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นแหล่งบนสันทราย ด้านหนึ่งชายฝั่งทะเล มีการค้นพบวัตถุโบราณ หินปะการังในคลองที่ได้เชื่อมติดต่อกับเขาพังไกร จากการค้นพบดังกล่าวทำให้เกิดการสันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนเก่าที่มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาอย่างยาวนาน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเกิดการขยายชุมชนจนนำไปสู่การจัดตั้งหมู่บ้าน และกลายเป็นอำเภอเขาพังไกรในเวลาต่อมา ดังหลักฐานที่ได้มีปรากฎในปี พ.ศ. 2354 ก็ปรากฎชื่อพื้นที่ในทำเนียบข้าราชการนครศรีธรรมราช ครั้งในรัชกาลที่ 2 ในประวัติศาสตร์การปกครองราวปลายสุโขทัย ได้มีการจารึกไว้ว่า เขาพังไกรในขณะนั้นมีความเจริญทางด้านเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ ถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในสมัยนั้น ได้มีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ออกประพาสตามหัวเมืองต่าง ๆ พร้อมยกขบวนโยธา ขุนพล ทหารและข้าทาสบริวารในการประพาส ได้เสด็จขบวนผ่านมาพักแรมที่ เชิงเขา (เขาพังไกรในปัจจุบัน) ในการประพาสครั้งนั้นได้อาศัยช้าง และม้าเป็นพาหนะระหว่างการพักแรม ช้างที่ใช้ในการเดินทางเกิดการล้มป่วย 2 เชือก คือ ช้างพังไกร เป็นเพศเมีย และช้างพลายดำ เพศผู้ และช้างตัวเมียก็ได้เสียชีวิตลง สร้างความเสียพระทัยแก่เจ้าเมืองยิ่งนัก จึงได้พระราชทานนามหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านพังไกรตามชื่อช้างเพศเมียที่เสียชีวิต เพื่อสดุดีที่เคยใช้งาน และอยู่เคียงข้างวรกายมาช้านาน

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอหัวไทร ประมาณ 9 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 40.497 ตารางกิโลเมตร หรือ 28,237 ไร่ คิดเป็น 10.32 ของอำเภอหัวไทร ที่ดินสาธารณประโยชน์ 536 ไร่ ที่ดินที่อยู่อาศัย 1,821 ไร่ ที่ดินทำกิน 24,461 ไร่ และอื่น ๆ 1,419 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลหัวไทร
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลรามแก้ว และตำบลควนชะลิก
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลรามแก้ว และตำบลควนชะลิก
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลควนชะลิก และตำบลแหลม

ลักษณะสภาพภูมิอากาศ

อยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนแบบมรสุม มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือกำลังอ่อน ประกอบกับมีกระแสลมพัดผ่านจากทางใต้ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น และในระยะดังกล่าว จะร้อนมากที่สุดในรอบปี โดยในแต่ละปี อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 37 องศาเซลเซียส และต่ำสุดประมาณ 18 องศาเซลเซียส ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มกราคมโดยแยกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม เป็นช่วงที่ได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แต่มีปริมาณน้ำฝนไม่มากนัก และช่วงที่สองจากเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดมาจากอ่าวไทยมีความชื้นสูง รวมทั้งพายุดีเปรสชั่น จึงมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าในช่วงแรก

ลักษณะภูมิประเทศ

โดยทั่วไปของตำบลเขาพังไกร เป็นที่ราบลุ่ม มีภูเขาขนาดเล็กอยู่หนึ่งลูกเฉลี่ยพื้นที่โดยประมาณ 0.5 ตารางกิโลเมตร ความสูงบนยอดเขาเฉลี่ยประมาณ 150 เมตร ตั้งอยู่ตอนกลางของตำบล คือ ภูเขาพังไกร มีคลองชะอวด-หัวไทร เป็นแม่น้ำสายหลัก ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำจากเทือกเขาหลวงจังหวัดนครศรีธรรมราช จากอำเภอชะอวดไหลสู่ทะเลที่บ้านแพรกเมือง และบ้านปากระวะตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร แต่ปัจจุบันกรมชลประทานได้ขุดคลองชะอวด–แพรกเมือง (โครงการพระราชดำริ) เปลี่ยนทางไหลโดยผ่านตำบลเขาพังไกร ที่บ้านเกาะสุด หมู่ที่ 9 ต่อเขต ระหว่างตำบลเขาพังไกร กับตำบลทรายขาว เลยทำให้คลองสายชะอวด-หัวไทร เป็นคลองสายรองเพื่อรองรับน้ำจากคลองพระราชดำริ นอกจากนี้ตำบลเขาพังไกร ยังมีแหล่งน้ำจากน้ำบาดาลที่มีคุณภาพน้ำที่ดีอยู่บริเวณรอบเขาพังไกร เป็นแหล่งผลิตน้ำประปา สำหรับเส้นทางคมนาคมสายหลัก คือทางหลวงชนบท หมายเลข 4150 ซึ่งตัดผ่านทางด้านทิศตะวันตกของตำบลจากอำเภอหัวไทร–ปากเหมือง ผ่านหมู่ที่ 2และ10 โดยมีชุมชนตั้งถิ่นฐานเกาะกลุ่มอยู่สองฟากถนน และตามริมคลองชะอวด-หัวไทร

จำนวนประชากรจากสำรวจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า ในปี 2552 ตำบล เขาพังไกร มีประชากรรวมทั้งสิ้น 6,689 คน แยกเป็น ประชากรชาย จำนวน 3,323 คนประชากรหญิง จำนวน 3,366 คน ความสัมพันธ์ในชุมชนอีกด้านหนึ่งของคนเขาพังไกร เมื่อแบ่งตามสภาพพื้นที่ภูมิศาสตร์ก็แบ่งได้ 3 ลักษณะ ในแต่ละเขตที่มีวิถีชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ต่างกันและเหมือนกัน มีการไปมาหาสู่และพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน และกันในระบบเครือญาติเพื่อนเกลอ หรือคนที่สนิทสนชอบพอกันมา ได้แก่

  • เขตที่ 1 คือ เขตเขา-เขตควนที่ชุมชนเขาพังไกรติดต่อกับคนในพื้นที่อำเภอชะอวดหรือจังหวัดพัทลุง
  • เขตที่ 2 คือ ชุมชนในเขตทุ่งราบตอนกลาง ซึ่งได้แก่ ที่ราบเชียรใหญ่ ปากพนัง ระโนด สภาพโดยทั่วไปอาจจะเป็นที่ราบลุ่มหรืออาจจะมีภูเขาเล็ก ๆ และควนสลับกันอยู่บ้างในบางพื้นที่
  • เขตที่ 3 คือ เขตที่ราบชายฝั่ง ได้แก่ ชายฝั่งทะเลสาบและทะเลอ่าวไทย

พื้นที่ใช้งานในเขตตำบลเขาพังไกร ตำบลนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 25,310 ไร่ แบ่งตามการใช้ประโยชน์จากที่ดินจากลำดับจากมากไปหาน้อย คือ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 22,697.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 89.70 รองลงมาเป็นพื้นที่พักอาศัย จำนวน 1,900 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.50 ตามมาด้วย เป็นพื้นที่พื้นที่ว่าง จำนวน 600 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.37 พื้นที่ตั้ง สถานศึกษา จำนวน 67 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.26 พื้นที่หน่วยงานของรัฐ จำนวน 24 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.09 พื้นที่พาณิชยกรรม 14.75 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.05 และพื้นที่สวนสาธารณะ/นันทนาการ 7 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.02 ตามลำดับ ซึ่งในการรวมกลุ่มของราษฎรในพื้นที่ มีการรวมกลุ่มในพื้นที่ จำนวน 10 กลุ่มแบ่งตามหมู่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในเรื่องของการประกอบอาชีพ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยลดการพึ่งพาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบ

การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีจำนวนมากถึงร้อยละ 90 ของครัวเรือน รองลงมา คือ การปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือนเศรษฐกิจหลักของตำบลได้มาจากการเพาะปลูก ได้แก่ ผักคะน้า พริกขี้หนู การปลูกข้าว โดยทำการเพาะปลูกปีล 2 ครั้ง เป็นการทำการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม โดยอาศัยน้ำจากธรรมชาติเป็นสำคัญ หลังจากการเก็บเกี่ยวตามฤดูกาลแล้ว เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกพืชไร่ ได้แก่ พืชตระกูลถั่วต่างๆ แต่มีจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพอย่างอื่น เช่น การเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด ค้าขาย รับราชการ รับจ้าง เป็นต้น

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประชาชนมีวีถีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนา โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ใช้เป็นสถานที่ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา แล้วยังใช้เป็นที่รวมจัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี และงานประจำปีในชุมชน เช่น ประเพณีวันสารททำบุญเดือนสิบ ประเพณีทอดกฐินในวันออกพรรษา ประเพณีข้าวยาคู หรือข้าวมธุปายาสที่ได้สืบต่อกันมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนธรรมชาติ 

การปลูกพืชผักเศรษฐกิจในพื้นที่ตำบลเขาพังไกร ส่วนใหญ่จะคนพื้นที่ ปลูกพืช ผัก สมุนไพร เช่น พริกขี้หนู คะน้า บวบ ผักกวางตุ้ง ตามมาด้วยปลูกมะม่วง มะพร้าว และปลูกผลไม้(ไม้ยืนต้น) มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่จะคนพื้นที่ นิยมเลี้ยงไก่มากที่สุด ตามมาด้วยเลี้ยง วัว เป็ด หมู ห่าน และเลี้ยงแพะ โดยการประกอบอาชีพเพาะปลูก-เพาะเลี้ยงสัตว์ของคนในชุมชนแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่

เขาพังไกร ภูเขาพังไกร ตามประวัติศาสตร์การปกครองได้จารึกไว้ว่า ราวปลายกรุงสุโขทัย ต.เขาพังไกร ในขณะนั้นนับเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่ง ซึ่งมีความเจริญทางด้านเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าว อู่น้ำในสมัยนั้น แต่ไม่ได้ระบุต้นกำเนิดที่แน่นอน เพียงแต่ระบุว่าได้มีเจ้าเมืองจากเมืองนครศรีธรรมราชออกประพาสตามหัวเมืองต่างๆ พร้อมยกขบวนโยธา พรั่งพร้อมด้วย ขุนพล ทหารและข้าทาสบริวาร ในการออกประพาสในครั้งนั้น ตามประวัติศาสตร์ได้จารึกว่าขบวนได้ผ่านมาพักแรม ณ เชิงเขา (เขาพังไกรในปัจจุบัน)

ทุนวัฒนธรรม

การปลูกสร้างบ้านเรือน จะมีลักษณะแตกต่างจากภาคอื่นๆ คือ ชาวเขาพังไกรนิยมกวาดลานบ้านและพื้นที่บริเวณบ้านให้เตียนเรียบจนเห็บเป็นพื้นทรายขาวสะอาด เพราะมีเหตุผลด้านสภาพแวดล้อมคือ การเดินเข้าออกสะดวกปลอดภัยจากสัตว์ร้าย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่มีอยู่อย่างชุกชุม บ้านเรือนมีหลังคาเตี้ยลาดชัน ยกพื้นสูง และไม่ฝังเสาลงดินแต่จะวางอยู่บนตีนเสาที่เป็น ก้อนหิน ไม้เนื้อแข็ง หรือแท่งซีเมนต์หล่อ เนื่องจากฝนตกชุกทำให้ดิบอ่อนตัว โอกาสที่เสาจะทรุดตัวมิได้มาก นอกจากนี้แล้วยังเป็นการป้องกันปลวกและเชื้อรากัดกินไม่ปลูกบ้านขวางตะวัน นิยมปลูกหันหน้าไปในแนวเหนือใต้ เพื่อหลบแสงแดดที่จะส่องเข้าบ้าน

การทำประมงพื้นบ้าน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ มีการเรียนรู้ ความชำนาญ และสั่งสมประสบการณ์มาจากรุ่นสู่รุ่น การทำประมงพื้นบ้านต้องขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมทางทะเล ธรรมชาติของสัตว์น้ำ และความเหมาะสมของเครื่องมือเครื่องใช้แต่ละชนิดที่สำคัญ ด้วยวิถีพึ่งพาธรรมชาติ การทำประมงพื้นบ้านต้องอาศัยการเรียนรู้การสังเกต และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์น้ำ ประเภท ชนิดและวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ แหล่งพักพิงอาศัย การขยายพันธุ์และการแพร่พันธ์ุ เป็นคุณสมบัติหรือความสามารถเฉพาะตัวมากกว่าเป็นแบบแผนที่ลงตัว แม้ว่าองค์ความรู้ในการทำประมง จะมีการถ่ายทอดสืบต่อกันจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวประมงแต่ละคนจะต้องอาศัยการลองปฏิบัติ สังเกต จดจำ และฝึกฝนหาความชำนาญด้วยตนเองเป็นหลัก มีการยกย่องความสามารถพิเศษในการจับสัตว์น้ำว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ"เซียน" ในอดีตเมื่อตายไปแล้วจะกลายเป็น "ทวด"

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ความเชื่อพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดถึงประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวเปลี่ยนแปลงไปด้วย ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทำให้ชาวนามีฐานะทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปกล่าวคือ ชาวนาสามารถมีรายได้จากการขายข้าวได้มากขึ้นแต่ก็ต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย และในบางโอกาสที่ราคาข้าวสูงก็ทำให้ขาวนามีรายได้ค่อนข้างมากจากการผลิตข้าวครั้งนั้น ๆ นอกจากนี้ชาวนาเองก็มีอาชีพอื่นเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลาย ผลกระทบค้านระบบนิเวศการเปลี่ยนแปลงการผลิต ทำให้เกิดผลกระทบในต่อสภาพดิน สภาพน้ำและระบบนิเวศในนาข้าวมากขึ้นวิถีชาวนาและกลุ่มชาวนา 

มีปัญหาและอุปสรรคในการผลิตข้าว ประกอบด้วย ปัจจัยด้านการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ เงินทุนและปริมาณน้ำ ปัญหาด้านอัตราผลผลิตต่อไร่ต่ำ และปัญหาศัตรูพืช กลุ่มผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวนา ธุรกิจโรงสีข้าว/นายหน้ารถเกี่ยวเจ้าของรถเกี่ยว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวนา จากการเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวทำให้นิสัยด้านการทำงาน โดยเฉพาะการทำนาเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยชาวนาไม่จำเป็นต้องรักษาเวลาในการทำนาในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้ทันกับสภาพธรรมชาติ นิสัยการประหยัดอดออมก็เปลี่ยนแปลง ด้านสุขภาพของชาวนาที่ต้องอยู่ในระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพของชาวนาด้วย นอกจากนี้การเร่งผลผลิตโดย การทำนาได้หลายครั้งในรอบปีก็เป็นผลให้ชาวนาต้องทำงานเพิ่มขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วชิรา หงษ์ทอง. (2558). พลวัตวัฒนธรรมชุมชนเขาพังไกร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชกับแนวทางการพัฒนาเพื่อความเป็นชุมชนเข้มแข็ง. ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.

องค์การบริหารส่วนตำบลเขาพังไพร. (2567). สภาพและข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567. จาก http://www.khaophangkrai.go.th/

อบต.เขาพังไกร โทร. 0-7576-7080