
ชุมชนประมงพื้นบ้านเมืองสงขลา กับพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ชุมชนประมงพื้นบ้านเมืองสงขลา กับพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เดิมพื้นที่บริเวณชุมชนท่าสะอ้านเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ระยะแรกมีผู้คนเริ่มเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา จนเกิดเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จึงได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นชุมชนท่าสะอ้านเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ระยะต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2530 ชุมชนท่าสะอ้านได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในชุมชนจากสำนักงานองค์การยูนิเซฟร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและเทศบาลนครสงขลา ซึ่งให้การส่งเสริมในด้านการดูแลสุขภาพ สุขอนามัย ระบบสาธารณูปโภค ส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพและการพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชน ทำให้ชุมชนท่าสะอ้านได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนที่มีความเป็นระบบระเบียบ และมีความพร้อมในด้านต่างๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ชุมชนท่าสะอ้าน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลาทางด้านทิศตะวันตก และมีพื้นที่สาธารณะในบริเวณพื้นที่ชุมชนอยู่เลียบชายทะเลสาบสงขลา การตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในชุมชนมีความหนาแน่น บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 265228.90 ตารางเมตร ชุมชนท่าสะอ้านมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนท่าเทียบเรือประมงหมายเลข 1
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนเตาหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนเตาหลวง ซอย 5
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลสาบสงขลา
ชุมชนท่าสะอ้าน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการอยู่อาศัยของประชากรอย่างหนาแน่น โดยมีจำนวนครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด 693 ครัวเรือน มีประชากรชาย จำนวน 878 คน ประชากรหญิง จำนวน 824 คน และมีประชากรรวมทั้งหมด จำนวน 1,702 คน
ชุมชนท่าสะอ้าน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อยู่ในการดูแลของเขตเทศบาลนครสงขลา มีประธานชุมชนเป็นผู้นำท้องถิ่น ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนท่าสะอ้านประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลาจึงเหมาะต่อการทำประมง นอกจากนี้ประชากรบางส่วนในชุมชนท่าสะอ้านยังประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย และอาชีพรับจ้างทั่วไปเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนด้วย โดยชุมชนท่าสะอ้านมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 201,300 บาท/ปี และมีรายได้บุคคลเฉลี่ย 97,115 บาท/ปี
กลุ่มประมงพื้นบ้าน
กลุ่มประมงพื้นบ้านเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่สะเลสาบสงขลา ได้ร่วมลงทุนลงแรงกันในการปลูกป่าโกงกางในพื้นที่ชายฝั่งทะเลสาบสงขลาเพื่อใช้เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธ์ปลา และสัตว์น้ำ ทั้งยังใช้เป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก ปู ปลา และสัตว์อีกลายชนิดก่อนที่จะออกไปเติบโตและหากินในทะเลสาบสงขลา ซึ่งช่วยเพิ่มประชากรสัตว์น้ำในพื้นที่ทำให้ชาวประมงหาปลาได้มากและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ป่าโกงกางที่ชาวบ้านร่วมกันปลูกยังเป็นแนวกันคลื่นทะเลที่เกิดจากการเดินเรือไม่ให้กัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งให้ลดลงอีกด้วย กลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ยังช่วยกันอนุรักษ์ดูแลป่าโกงกางและทรัพยากรในพื้นที่ให้คงอยู่ได้เป็นอย่างดี เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรท้องถิ่นและความมั่นคงของกลุ่มอาชีพภายในชุมชนที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต
ชุมชนท่าสะอ้าน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีการจัดกิจกรรม ประเพณีวัฒนธรรม วิถีปฏิบัติร่วมกันในชุมชนและสังคมเมืองจังหวัดสงขลา ตามเทศกาลต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น
- ประเพณีลอยกระทง
- ประเพณีลากพระจังหวัดสงขลา (ชักพระ)
- เทศกาลสงกรานต์
1.นายวิรัช ปลอดจินดา ปราชญ์ชุมชนด้านการแพทย์แผนไทย
2.นายทวี แก้วประจันต์ ปราชญ์ชุมชนด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น (หนังตะลุง)
3.นายคล่อง แก้วมณี ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
4.นายวิเรศ แก้วมณี ปราชญ์ชุมชนด้านงานช่างฝีมือ
5.นางวิลาส สระขาว ปราชญ์ชุมชนด้านการเกษตร
6.นางประภา สุบินรัตน์ ปราชญ์ชุมชนด้านการถนอมอาหาร/การจัดทำอาหาร
แหล่งทุนเศรษฐกิจชุมชน
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์
ทุนกายภาพ
- สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
- ทะเลสาบสงขลา
สถานที่สำคัญ
- วัดอุทัย
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนท่าสะอ้าน
- ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครสงขลา (ศูนย์เตาหลวง)
- ตลาดเปิดท้ายประมงใหม่
เทศบาลนครสงขลา. แผนพัฒนาชุมชน ชุมชนท่าสะอ้าน เทศบาลนครสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา. เทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 จาก https://www.songkhlacity.go.th/
แลต๊ะแลใต้. (2561). ป่าโกงกางกับการจัดการโดยชุมชน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/LaetaLaeTai