
บ้านดงหลวงเป็นชุมชนที่ยังคงประเพณีดั้งเดิมที่สำคัญของคนพื้นเมืองไว้อย่างดี มีพระวิหารหลวงบ้านดงหลวงเป็นสถานที่สำคัญของชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก และมีการร่วมกันสืบสานเทศกาลประเพณีที่สำคัญตลอดสิบสองเดือน
ในอดีต สภาพที่ตั้งเป็นพื้นที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าคงทึบมีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุมทั่วบริเวณหมู่บ้าน จึงนำมาซึ่งการเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ โดยคำว่า "คง" หมายถึง ป่า ที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น คำว่า "หลวง" เป็นภาษาพื้นเมือง หมายถึง ใหญ่ เมื่อคำสองคำมารวมกันจึงหมายถึง พื้นที่ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์
ส่วนชื่อ "บ้านดงสบลี้" เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกชื่อหมู่บ้าน คำว่า ดง (ตามความหมายที่อธิบายแล้วข้างต้น) คำว่า "สบ" เป็นภาษาพื้นเมือง มีความหมายว่า การบรรจบ ส่วนคำว่า "ลี้" หมายถึง ชื่อของสายแม่น้ำ ชื่อว่า แม่น้ำลี้ ดังนั้นลักษณะของพื้นที่บ้านดงหลวง มีแม่น้ำสองสาย คือ สายแม่น้ำปิงและสายแม่น้ำลี้ ไหลมาบรรจบบริเวณท้ายหมู่บ้าน จึงเรียกอีกชื่อว่า "บ้านดงสบลี้"
บ้านดงหลวงเป็นชุมชนที่ยังคงประเพณีดั้งเดิมที่สำคัญของคนพื้นเมืองไว้อย่างดี มีพระวิหารหลวงบ้านดงหลวงเป็นสถานที่สำคัญของชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก และมีการร่วมกันสืบสานเทศกาลประเพณีที่สำคัญตลอดสิบสองเดือน
การก่อตั้งหมู่บ้านดงหลวง สันนิษฐานว่าในประมาณ ปี พ.ศ. 2374 ได้มีราษฎรจากจังหวัดเชียงใหม่ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำมาหากิน และจากอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาจับจองที่ดินเพิ่มขึ้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่มีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้านสองสาย จึงเหมาะแก่การเกษตรกรรม มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น กลายเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรหนาแน่นขึ้นตามลำดับเท่าทุกวันนี้
เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน
มีการก่อตั้งวัดขึ้นมา ชื่อว่า “วัดบ้านดงหลวง” ด้วยความศรัทธาของชาวบ้าน ต่อมาอีก 5 ปี ได้มีการร่วมกันสร้างวิหารวัดบ้านดงหลวงขึ้น และมีการบูรณะวัดน้อยบริเวณหลังวัดบ้านดงหลวง โดยมีท่านครูบาคำ คนฺธิโย เป็นประธานในการดำเนินการบูรณะร่วมกับชาวบ้าน และมีการสร้างหอพระธรรมพร้อมทั้งศาลาบาตรตามมา แต่ปัจจุบันสองแห่งนี้ถูกลื้อออกแล้ว หลังจากนั้นมีการสร้างโรงเรียนวัดบ้านดงหลวงขึ้น โดยใช้ศาลาวัดบ้านดงหลวง เปิดสอนหนังสือให้กับพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเรียนรู้แต่ต่อมาต้องปิดลงเพราะไม่มีครูสอน ในปี พ.ศ. 2500 มีการสร้างพระพุทธรูป 25 ศตวรรษ ขึ้นฉลองเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 2500 ปี
บ้านดงหลวงเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในบริเวณหมู่บ้านตลอดทุกปี และท่วมมากที่สุดในปี พ.ศ. 2516 ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2525 หมู่บ้านดงหลวงได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการพัฒนาหมู่บ้านหลายอย่างเพื่อนำความเจริญเข้าสู่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว
- พ.ศ. 2520 มีไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้าน มีถนนเข้าสู่หมู่บ้าน มีระบบน้ำเพื่อการเกษตรโดยก่อตั้งสถานีสูบน้ำโดยไฟฟ้าเป็นแห่งแรกของตำบลวังผาง ทำให้การเกษตรกรรมมีความอุดมสมบูรณ์พืชสวนพืชไร่มีราคาดี อีกทั้งลำไยเริ่มมีราคา ส่งผลให้หมู่บ้านได้รับรางวัลจากกระทรวงมหาดไทย สาขาการพัฒนา ดีเด่น 3 ปี ซ้อน ชาวบ้านเริ่มเข้าสู่ระบบเงินทุนโดยการกู้ยืมเงิน
- พ.ศ. 2528 ได้มีการเดินสำรวจที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญการครอบครองที่ดินในหมู่บ้านดงหลวงเป็นครั้งแรก (ออกโฉนดที่ดิน)
- พ.ศ. 2530 ได้ทำการก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดบ้านดงหลวงหลังปัจจุบันขึ้น
- พ.ศ. 2533 ได้ทำการก่อสร้างหอระฆังวัดบ้านดงหลวง
- พ.ศ. 2535 ได้เปิดที่ทำการชมรมโรคเอดส์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้สถานที่วัดบ้านดงหลวงเป็นสถานที่ทำการชมรม
- พ.ศ. 2539 หมู่บ้านดงหลวงได้มีระบบน้ำประปาเข้ามาในหมู่บ้าน
- พ.ศ. 2544 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน คณะสงฆ์ ศรัทธาชาวบ้านดงหลวงได้ร่วมทำบุญฉลองพระวิหารหลวงวัดบ้านดงหลวงขึ้น
ในอดีตถนนหนทางของหมู่บ้านดงหลวงคับแคบไม่มีการขับขี่รถเพื่อสัญจร การเดินทางภายในหมู่บ้านใช้การเดินทางโดยเท้าเป็นหลัก เมื่อนำสินค้าทางการเกษตรออกไปขายนอกหมู่บ้าน มักจะนำไปขายที่กาด (ตลาด) หมั้วท่าสี่ กาดหมั้วจอมทอง (กาดเจ้าน้อยสี่แยกไฟแดงจอมทอง) โดยเดินเท้าไปจนถึงบริเวณสะพานหน้าสถานีอนามัยบ้านดงหลวง จากนั้นนั่งเรือไปตามน้ำแม่ลี้ แล้วออกจากบริเวณปากสบลี้ จากนั้นจอดพักเรือไว้บริเวณบ้านท่าศาลา แล้วเดินเท้าไปต่อจนถึงกาด หรือใช้ล้อเกวียนเป็นพาหนะบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ ออกไปขายนอกหมู่บ้าน และบรรทุกสินค้าต่าง ๆ จากข้างนอกเข้ามาขายในหมู่บ้าน เมื่อการพัฒนาเข้ามาในหมู่บ้าน สาธารณูปโภคพื้นฐานได้รับการปรับปรุง ถนนกว้างขวางขึ้น รถจักรยานยนต์และรถยนต์แบบต่าง ๆ ถูกนำมาใช้แทนระบบคมนาคมรูปแบบเดิม
ลักษณะการสร้างบ้านเรือนของหมู่บ้านดงหลวงในอดีตจะเป็นบ้านไม้ยั่ว เป็นเรือนชั่วคราวสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบตองตึง และบ้านไม้แป้น หรือเรือนสับหลังคามุงด้วยดินขอ กระเบื้องว่าว และกระเบื้องลอนคู่ ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ การสร้างบ้านในชุมชนส่วนมากจะยกตัวบ้านขึ้นสูงกว่าพื้นดิน เพื่อใช้ประโยชน์จากใต้ถุนบ้าน เช่น ทอผ้า ทำคอกวัวควาย เก็บเครื่องมือทางการเกษตร และเครื่องมือจับปลา
อดีตบ้านดงหลวงมีอาณาเขต คือ
- ทิศเหนือ จรดกับ แม่น้ำปิง, หมู่บ้านโท้งป่าหมาก ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ จรดกับ เขตบ้านวังสะแกง ตำบลหนองล่อง
- ทิศตะวันออก จรดกับ หมู่บ้านเหล่าแมว ตำบลวังผาง
- ทิศตะวันตก จรดกับ ลำน้ำแม่ปิง, บ้านสบรู้ เขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันบ้านดงหลวงมีอาณาเขตคือ
- ทิศเหนือ จรดกับ แม่น้ำปิง, หมู่บ้านโท้งป่าหมาก ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ จรดกับ เขตบ้านวังหมุ้น ตำบลวังผางบ้านวังสะแกง ตำบลหนองล่อง
- ทิศตะวันออก จรดกับ หมู่บ้านดงเจริญ หมู่ที่ 10 ตำบลวังผาง
- ทิศตะวันตก จรดกับ ลำน้ำแม่ปิง เขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
สถานที่สำคัญทางเศษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
วัดบ้านดงหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 426/2 หมู่ที่ 5 ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินมีเนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา มีอาณาเขต คือ ทิศเหนือ จรดกับแม่น้ำปิง ทิศใต้ จรดถนน ทิศตะวันออก จรดโรงเรียนวัดบ้านดง ทิศตะวันตก จรดหมู่บ้าน
หมวดคริสจักรบ้านดงวังหมุ้น ปัจจุบันหมวดคริสเตียนบ้านดงวังหมุ้น สังกัดอยู่ในคริสจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่ - ลำพูน และแม่ฮ่องสอน สภาคริสจักรแห่งประเทศไทย
โรงเรียนวัดบ้านดง มีการจัดตั้งโรงเรียนวัดบ้านดงขึ้น โดยมีการเปิดสอนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในระดับประถม โดยอาศัยศาลาวัดบ้านดงหลวงเป็นอาคารเรียน ต่อมาอาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม อีกทั้งพื้นที่คับแคบและไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน จึงมีการร่วมกันก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ โดยทางอำเภอและคณะสงฆ์ รวมถึงประชาชนร่วมกัน
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
สมัยก่อนวิถีชีวิตของชาวบ้านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแม่น้ำทั้ง 2 สาย น้ำแม่ปิงและแม่น้ำลี้ไหลตลอดทั้งปี ไม่มีสารพิษตกค้างในน้ำ ฤดูแล้งชาวบ้านจะนำเสื้อผ้าลงมาซักริมตลิ่งบางคนลงเล่นน้ำเย็นสบาย สัตว์น้ำมีให้จับกินได้ตลอดทั้งปี การจับสัตว์น้ำในสมัยก่อนเป็นการจับแค่พอกินด้วยการทอดแห ยกยอ ใส่ไซ ใส่เบ็ด ใส่อวน และปลูกพืชผักสวนครัวริมฝั่งแม่น้ำ ภาพวิถีชีวิต การทอดแห การหาปลา ในแม่น้ำปิง ในบริเวณหมู่บ้านดงหลวง ปัจจุบันแม่น้ำลี้หยุดนิ่งไม่ไหลล่องลงไปเรื่อย ๆ เหมือนในอดีต ฝายไม้หลักตอกที่น้ำสามารถไหลผ่านได้ถูกเปลี่ยนเป็นฝายคอนกรีต ทำให้น้ำขังนิ่งอยู่กับที่ ส่วนน้ำแม่ปิงสมัยก่อนตลิ่งเป็นหาดทรายเม็ดละเอียดค่อย ๆ ลาดลง น้ำไหลล่องตลอดทั้งปี หลังการดูดทรายส่งผลให้ตลิ่งน้ำแม่ปิงลึกและชัน น้ำนิ่งไม่ไหลเหมือนเดิม ชาวบ้านไม่สามารถลงไปซักเสื้อผ้าและเล่นน้ำได้อีกต่อไป สัตว์น้ำก็มีน้อยลง ระบบนิเวศในน้ำหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบันบ้านดงหลวง มีประชากรทั้งหมด 957 คน มีประชากรชายจำนวน 463 ประชากรหญิงจำนวน 494 และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 400 ครัวเรือน โดยหมู่บ้านดงหลวงเป็นหมู่บ้านคนพื้นเมือง ลักษณะของครอบครัวในชุมชนบ้านดงหลวง เป็นครอบครัวเดี่ยวมีเครือญาติอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน ขนาดครอบครัวมีขนาดเล็ก เฉลี่ยสมาชิกในครอบครัวประมาณ 3 – 4 คน ความสัมพันธ์รักใคร่กันดีและยังมีความเป็น “คนพื้นเมือง” สูง
หมู่บ้านดงหลวง เป็นหมู่บ้านที่มีจำนวนประชากรที่หนาแน่นมาก ด้วยผู้คนจำนวนมากจำนวนตระกูลในหมู่บ้านดงหลวงก็มีมากเช่นกัน จึงมักมีชื่อสกุลในหมู่บ้านดงหลวงส่วนใหญ่มักจะมีคำลงท้ายชื่อสกุลด้วยคำว่า "ดง" และ ชื่อสกุลที่ไม่ได้ท้าย "ดง" อาทิเช่น กันทาดง, อุดดง, ตุ้ยดง, เตชะดง, ปินตาดง, จันทร์ดง, สิทธิดง, ปัญญาดง, เดชดง, ยะดง, เจ๊กดง, บุญมาดง, ตันทิดง, จันทิดง, แดงดง
ส่วนนามสกุล "ตาจุมปา" เป็นอีกชื่อสกุลหนึ่งที่มีมากที่สุดในหมู่บ้านดงหลวง แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าบ้านต้นตระกูล "ตาจุมปา" มาจากบ้านหลังใด
ชาวบ้านบ้านดงหลวงส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพการทำเกษตรกรรม ทำนาทำสวนผลไม้โดยเฉพาะการปลูกต้นลำไย การเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และรับจ้างทั่วไป
ในอดีตชาวบ้านดงหลวงทอผ้าฝ้ายที่มีเฉพาะสีขาว สีตุ่นและสีคราม สำหรับตัดแย็บเสื้อผ้า ผ้าห่มและเครื่องนอนไว้ใช้ภายในครัวเรือน โดยมีฝ่ายหญิงเป็นแรงงานหลักในการทอผ้า ส่วนฝ่ายชายจะเป็นแรงหลักในการทำไร่ทำนา ปัจจุบันเนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป เนื่องจากความสะดวกสบายในยุคปัจจุบันที่สามารถหาซื้อสินค้าเครื่องนุ่งห่มได้ตามตลาด รวมถึงคนหนุ่มสาวส่วนมากออกไปเรียนหนังสือและประกอบอาชีพนอกชุมชน จึงไม่มีใครสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้า รวมถึงพื้นที่ปลูกฝ้ายได้กลายเป็นพื้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันหมู่บ้านดงหลวงไม่มีใครทอผ้าใช้อีกแล้ว
ปฏิทินประเพณีวัฒนธรรมของหมู่บ้าน
- เดือนเกี๋ยง : ประเพณีทานผ้าวสา, ประเพณีการถวายผ้ากฐิน/จุลกฐิน
- เดือนยี่ : ประเพณียี่เป็ง, ตั้งธรรมหลวง (เป็นบางปี)
- เดือนสาม : ประเพณีเข้ารุกขูล/เข้าโสสาน(เข้ากร๋รม), ประเพณีตานส้ายตานแตน
- เดือนสี่ : ประเพณีตานเข้าใหม่ตานหลังหิงไฟพระเจ้า
- เดือนห้า : ประเพณีมาฆบูชา
- เดือนหก : ประเพณีสรงน้ำกู่อัฐิท่านครูบาคำ คนฺธิโยและสรงน้ำพระธาตุเจดีย์
- เดือนเจ็ด : ประเพณีปีใหม่, ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์,
- เดือนแปด : ประเพณีปอยแห่ลูกแก้ว(ไม่ค่อยมีแล้วในปัจจุบัน)
- เดือนเก้า : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า
- เดือนสิบ : ประเพณีการฟังเทศน์ ฟังธรรม (ในพรรษา)
- เดือนสืบเอ็ด : ประเพณีการฟังเทศน์ ฟังธรรม (ในพรรษา)
- เดือนสิบสอง : ประเพณีเดือนสิบสองเป็ง+สลากภัตต์
1.ท่านครูบาคำ คนฺธิโย (ข้อมูลจากลุงอัด สมชาย สุริโยดร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านดงหลวง ชื่อเดิมคือ คำ สิงห์หล้า เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2438 ตรงกับวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เป็นเด็กว่านอนสอนง่ายตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของพ่อแม่ ได้เข้ารับการศึกษา (สมัยนั้นการศึกษาต้องไปเป็นศิษย์วัดจึงจะได้รับความรู้) จากวัดบ้านดงหลวง โดยเริ่มเรียนอักขระภาษาล้านนาที่เรียกกันว่า "ตั๋วเมือง" จนกระทั่งเรียนจบระดับสามเณรรานุรักษ์ รู้ระเบียบภายในวัดดี ท่านครูบาวงศ์เจ้าอาวาสวัดบ้านดงหลวง จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาเมื่อท่านครูบาคำอายุได้ 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระโดยได้รับฉายาว่า "คนฺธิโย" หลังจากอุปสมบทแล้วพระภิกษุคำได้ปฏิบัติภารกิจการศาสนาศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า กระทั่งอายุประมาณ 25 จึงออกธุดงค์ป่าโดยไม่ใส่กลดและฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ท่านครูบาคำ ใช้เวลารอนแรมธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆประมาณ 2 ปี โดยท่านได้ธุดงค์ ไปนมัสการสักการะพระเจดีย์ชะเวดากองในเมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์สักการะพระพุทธบาทสระบุรีและปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอีกหลายแห่ง
หลังจากท่านครูบาคำได้เดินธุดงค์เป็นเวลานานพอสมควรแล้วได้กลับมาจำพรรษา เจ้าอาวาสวัดบ้านดงหลวง ภายหลังมาท่านครูบาวงศ์มรณภาพ ศรัทธาประชาชนจึงแต่งตั้งให้ท่านครูบาคำ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดงหลวง ตั้งแต่นั้นมาท่านครูบาคำก็ได้ปฏิบัติตนเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ผู้อื่นมิได้หยุดหย่อน มีจิตใจเมตตาโอบอ้อมอารี มีกัลยาธรรมแก่ศิษยานุศิษย์ศรัทธาประชาชน ถ้าใครได้รับความเดือดร้อนท่านจะอนุเคราะห์ด้วยข้าวของหรือบางครั้งก็ใช้พระธรรมอบรมสั่งสอน ด้วยคุณความดีที่ท่านได้ปฏิบัติมาโดยตลอด ทางราชการและการศาสนาจึงแต่งตั้งท่านเป็นพระครูประทวน ต่อมาจะแต่งตั้งท่านเป็นพระครูสัญญาบัตร แต่ท่านขอไม่ยอมรับ เนื่องจากท่านชอบสันโดษมักน้อยไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญ ถือเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง ท่านครูบาคำเริ่มอาพาธเมื่อกลางปี พ.ศ. 2514 ด้วยโรคชรา กระทั่งวันพฤหัสบดี ที่ 25 มกราคม พ.ศ.2522 ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ
ทุนมนุษย์ สมัยก่อนบ้านดงหลวงยังไม่มีสถานพยาบาลรักษา ไม่มียารักษาโรคแผนปัจจุบัน ชาวบ้านจะใช้สมุนไพร โดยมีทั้งยาต้ม ยาทา ยานวด โดยมี “หมอเมือง” เป็นผู้รักษาด้วยวิธีการเป่าคาถา เป็นการรักษาแผนโบราณที่อาศัยความเชื่อทั้งพุทธและผี รวมถึงการทำคลอดแบบโบราณ ที่หมู่บ้านจะมีหมอตำแยที่ผ่านการร่ำเรียนวิชาการทำคลอดกับ “แม่ช่าง” ซึ่งเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการทำคลอดอย่างถูกต้อง ปัจจุบันการแพทย์สมัยใหม่เจริญก้าวหน้าไปมาก มีหมอและเครื่องมือทันสมัยในโรงพยาบาลคอยให้บริการ จึงไม่มีการให้หมอตำแยมาทำคลอดอีกแล้ว
บ้านดงหลวงเป็นหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดลำพูน ภาษาพูดของชาวบ้านคือภาษาคำเมืองที่ใช้ในการสื่อสาร แตกต่างจากบ้านอื่นซึ่งส่วนมากใช้ภาษาถิ่นคือ ภาษายอง ตามคำสันนิษฐานที่ว่าชาวบ้านอพยพมาจากอำเภอหางดง ดังนั้นลักษณะการพูดจึงละม้ายคล้ายสำเนียงชาวหางดง ซึ่งบ้านดงหลวงมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนบ้านใดในการใช้ภาษาพูดสื่อสาร
หมู่บ้านดงหลวงเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตป่าซาง จังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2533 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินมาเป็นกระทรวง ทบวง กรม ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานราชการเป็นแขวง ซึ่งเมืองป่าซางมีชื่อเรียกว่า "แขวงปากป่อง" ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำปิง หมู่ที่ 1 ตำบล ปากบ่อง และในปีพ.ศ.2495 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าซาง ณ ที่ว่าการอำเภอป่าซางในปัจจุบัน หมู่บ้านดงหลวง เข้ามาอยู่ในเขตสุขาภิบาลวังผาง ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณา เห็นว่าท้องถิ่นบางส่วนของตำบลวังผาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มีสภาพสมควรที่จะยกฐานะให้เป็นสุขาภิบาลได้เพื่อประโยชน์ในการทำนุบำรุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป จึงยกฐานะท้องถิ่นของส่วนตำบลวังผางบางส่วนจัดตั้งเป็นสุขาภิบาล มีชื่อว่า "สุขาภิบาลวังผาง" วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2538 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 สุขาภิบาลวังผาง ได้รับการยกฐานะเปลี่ยนจากสุขาภิบาล เป็นเทศบาลตำบลตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 116 ตอนที่ 9 ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ตั้งแต่ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2550 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะเปลี่ยนจาก "กิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง" เป็น "อำเภอเวียงหนองล่อง" ปัจจุบันหมู่บ้านดงหลวงอยู่ในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานเทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน
หมู่บ้านดงหลวง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครองพอสรุปเท่าที่ทราบนาม ดังนี้
- นายปั่นโน ตาจุมปา
- นายโม่ง อุดดง
- นายใจมา ตาจุมปา
- นายแก้ว กองสิงห์
- นายคำ กันทาดง
- นายเงิน อุตตะมะ
- นายคำ สิงห์หล้า
- นายเป็ง ตาจุมปา
- นายชุม ประสาธน์สุวรรณ (ตาจุมปา)
- นายดวงจันทร์ มะโนเป็ง
- นายฤาชัย กันทาดง
บ้านดงหลวงเดิมเป็นหมู่บ้านเดียว (หมู่ 5) มีประชากรหนาแน่นมาก ภายหลังมาจึงได้แยกออกเป็นหมู่ 7 บ้านวังหมุ้น ในปี พ.ศ. 2527 ได้แยกหมู่ที่ 8 บ้านดงเหนือ และในปี พ.ศ. 2551 ได้แยกเป็นหมู่ที่ 10 บ้านดงเจริญ อีกหนึ่งหมู่บ้าน โดยจำนวนประชากรทั้ง 4 หมู่บ้านดังกล่าว มีจำนวนประชากรทั้งหมด 2,966 คน แยกเป็นชาย จำนวน 1,494 คน หญิง จำนวน 1,572 คน และจำนวนครัวเรือน ทั้ง 4 หมู่บ้าน มีจำนวน 980 ครัวเรือน
ชิตนุสันต์ ตาจุมปา และคณะ. (2556). โครงการเรียนรู้ประเพณีบ้านดงหลวง ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน (ประวัติบ้านดงหลวง). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ค้นคืนเมื่อ 20 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/research-item-search.php?ob_id=102
เทศบาลตำบลวังผาง. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. ค้นจาก http://wangpang.go.th/content/generalinfo
จังหวัดลำพูน. (2562). วัดบ้านดงหลวง ที่มา: https://www.lamphun.go.th/th/attractions/