Advance search

วังเงินน่าอยู่ หมู่บ้านสีเขียวพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว มีเศรษฐกิจพอเพียง ชื่อเสียงเรื่องเห็ดหอม

วังเงิน
แม่ทะ
ลำปาง
องค์การบริหารส่วนตำบลวังเงิน โทร. 0-2241-9000
ชวัลลักษณ์ ทามิล
5 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
2 มี.ค. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
2 มี.ค. 2024
บ้านปางมะโอ


ชุมชนชนบท

วังเงินน่าอยู่ หมู่บ้านสีเขียวพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว มีเศรษฐกิจพอเพียง ชื่อเสียงเรื่องเห็ดหอม

วังเงิน
แม่ทะ
ลำปาง
52150
18.119017
99.577537
องค์การบริหารส่วนตำบลวังเงิน

หมู่บ้านบ้านปางมะโอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางห่างตัวเมืองจังหวัดลำปางระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 11 ถนน ลำปาง-เด่นชัย เส้นทางไปจังหวัดแพร่ เป็นถนนลาดยาง หมู่บ้านปางมะโอเป็นหมู่บ้านสุดท้ายของจังหวัดลำปางก่อนถึงเขตจังหวัดแพร่จากการศึกษาของ นันทกา เตชะสุวรรณ์ ได้บันทึกประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านปางมะโอไว้ว่า ก่อนที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านปางมะโอพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเวลาต่อมาได้มีชาวบ้านกลุ่มแรกจากหมู่บ้านนาดงและบ้านมาย เข้ามาสร้างบ้านเรือนในพื้นที่จำนวน 6 ครัวเรือน โดยได้มาตั้งรกรากอยู่พื้นที่นี้นับเวลาไปนานร้อยกว่าปีซึ่งชาวบ้านที่อพยพมาทั้งหมดมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน สาเหตุที่ย้ายมาเนื่องจากชาวบ้านกลุ่มนี้มีฐานะไม่ค่อยดีนักและมีรายได้น้อยประกอบกับมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินจึงอพยพถิ่นฐานมายังพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ป่านี้อยู่ในเขตป่าสงวนเป็นป่าทึบและหุบเขา โดยได้ถางป่าเป็นที่ดินทำกินและปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยต่อมาจึงได้มีชาวบ้านจากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงเช่น บ้านนาดง บ้านต้นนอต บ้านมาย เริ่มมีการอพยพถิ่นฐานครอบครัวมาทำมาหากินและตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชุมชนและหมู่บ้านที่มาของชื่อ “บ้านปางมะโอ”  มีความเป็นมาโดยจากการบอกเล่าของคนสูงอายุในหมู่บ้านว่าบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านปางมะโอแต่เดิมเป็นที่พักของคนเลี้ยงช้างเพื่อใช้ช้างในงานการลากซุงซึ่งเรียกกันว่า ปางช้าง นอกจากนี้ยังเป็นที่พักของคนเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และผู้คนที่จะเดินทางไปอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่เนื่องจากสมัยอดีตไม่มีถนนทางรถยนต์จึงต้องเดินทางด้วยเท้า ซึ่งในบริเวณเป็นที่พักดังกล่าวมีต้นส้มโอหลายต้นชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านท่ามะโอ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดทางหลวงหมายเลข 11 เส้นทางถนน ลำปาง-เด่นชัย ซึ่งบริเวณพลับพาพิธีที่ประทับและที่จอดเฮลิคอปเตอร์ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านท่ามะโอในสมัยนั้นกับศาลเจ้าพ่อขุนเงิน โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานอนุญาตให้ประชาชนชาวจังหวัดลำปางได้เข้าเฝ้ารับเสด็จ ทั้งนี้ชาวบ้านท่ามะโอเกือบทั้งหมู่บ้านได้ไปร่วมรับเสด็จและร่วมพิธีเปิดถนน ซึ่งในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานนามบ้านท่ามะโอเป็นหมู่บ้านปางมะโอ โดยชาวบ้านได้ใช้ชื่อว่า หมู่บ้านปางมะโอตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

หมู่บ้านปางมะโอ เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เนื่องด้วยความสมดุลทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมเป็นภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลเกือบ 1,000 เมตร มีพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย มีสภาพภูมิอากาศชุ่มชื้นเย็นสบายตลอดทั้งปี ประกอบกับสภาพดินมีคุณภาพดี มีความชื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกกาแฟ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลดอนไฟ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง และจังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอลอง จังหวัดแพร่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลแม่ทะและตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบสูงส่วนใหญ่ ลักษณะเป็นลอนคลื่น มีเทือกเขาขนานอยู่ทางทิศตะวันออก และทิศใต้สลับกับเนินดินและภูเขาเตี้ย ๆ โดยมีแม่น้ำจางไหลผ่านในเขตพื้นที่บ้านปงป่าเป้า หมู่ที่ 1 พื้นที่ของตำบลบางส่วนอยู่ในเขตและติดต่อเขตป่าสงวนแห่งชาติของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย

จากการสำรวจบ้านปางมะโอ ตำวังเงิน อำแม่ทะ จังหวัดลำปาง จำนวนประชากรทั้งหมด 3,628 คน แยกเป็นชาย จำนวน 1,802 คน คิดเป็นร้อยละ 49.67 หญิง จำนวน 1,826 คน คิดเป็นร้อยละ 50.33 จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,347 ครัวเรือน ความหนาแน่นเฉลี่ย 43.93 คน/ตารางกิโลเมตร

ปัจจุบันบ้านปางมะโอมีผู้นำชุมชน คือ ผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล โดยในการเลือกผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลวังเงินจะใช้วิธีการแบบเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่เป็นผู้นำชุมชนมักจะเป็นบุคคลที่ชาวบ้านเคารพและเชื่อถือ ปัจจุบันผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านปางมะโอ คือ นางคำแปง ไชยป้อม และมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน คือ นายเสน่ห์ สุขป้อและนายคำ ชัยประละ และยังมีตัวแทนสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลวังเงินอีก 2 ท่าน คือ นางสาววาสนา คำมาจันทร์ และนายบุญเทียน ซ่อนคำ มีการแบ่งพื้นที่การปกครองในหมู่บ้านออกเป็น 6 หมวด มีการแต่งตั้งหัวหน้าประจำหมวด เพื่อประสานงานและมีคณะกรรมการหมู่บ้าน 7 คน เมื่อเกิดมีข้อพิพาทในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านและผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือเป็นผู้มาช่วยพิจารณาตัดสินเป็นพยาน หากตกลงกันไม่ได้จะส่งให้สถานีตำรวจอำเภอแม่ทะเพื่อดำเนินการต่อไป

ชาวบ้านปางมะโอมีลักษณะแบบชนบท คือ มีวิถีชีวิตทางสังคมใกล้ชิดกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยลักษณะทางสังคมที่เห็นได้ชัดคือการทำนาหรือการปลูกข้าวโดยจะมีการช่วยกันทำงาน โดยการช่วยกันทำนาของคนหนึ่งก่อนเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะไปช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง เหมือนการตอบแทนกันแต่เป็นไปในลักษณะการช่วยเหลือกัน โดยไม่มีค่าจ้างและมีการแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันอาหารให้กัน ถึงแม้ในปัจจุบันชาวบ้านปางมะโอเปลี่ยนมาทำอาชีพเพาะเห็ดหอมแต่ยังมีการเอามื้อคือช่วยเหลือกันในการอัดก้อนเชื้อเห็ด ถือว่าเป็นวัฒนธรรมเชิงเกษตรชุมชน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านปางมะโอมีการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ เช่นเดียวกับชาวบ้านหมู่บ้านอื่น ๆ ของจังหวัดลำปาง และชาวบ้านในหมู่บ้านทางภาคเหนือทั่วไป เช่น วัฒนธรรมในการกิน การประกอบอาชีพ การเคารพผู้ใหญ่ ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการรับวัฒนธรรมมาจากภายนอกมาบ้าง แต่ชาวบ้านหมู่บ้านปางมะโอยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีตั้งเดิม มีการนับถือศาสนาชาวบ้านปางมะโอนับถือศาสนาพุทธทั้งหมู่บ้าน โดยมีสำนักสงฆ์ 1 แห่ง ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา 1 รูปและสามเณร 2 รูป เพื่อให้ชาวบ้านเข้าวัดทำบุญตามประเพณีและวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เช่น ทำบุญเข้าพรรษา การทำบุญออกพรรษา ทำบุญข้าวหลาม ทำบุญข้าวไหม และเข้าวัดในวันพระเหมือนกับชาวบ้าน ในหมู่บ้านทั่วไปทางภาคเหนือและในวันธรรมดาที่ไม่ได้มีประเพณีชาวบ้านจะส่งปิ่นโตอาหารไปถวายแด่พระสงฆ์ นอกจากนี้ชาวบ้านยังคงนับถือผี เช่น ผีปู่ย่า มีการเลี้ยงผี ตามประเพณี ปกติจะเลี้ยงผีเดือน 4 ขึ้น 5 ค่ำ และเดือน 9 ขึ้น 5 ค่ำ ของเลี้ยงมีไก่ เหล้าข้าวและใน 3 ปีจะเลี้ยงวัว 4 ตัว ซึ่งในการเลี้ยงผีจะไม่มีการฟ้อนผี ทั้งนี้การเลี้ยงผีจะไม่เคร่งครัดมากนักแล้วแต่ความนับถือของแต่ละครัวเรือน

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านปางมะโอแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีรายได้น้อยและมีฐานะไม่ค่อยดีนัก อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านคือการทำการเพาะปลูกข้าวไร่ และหาของป่าถึงแม้ว่าทางหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานได้เข้าไปส่งเสริมการทำอาชีพต่าง ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการเพาะเห็ดหอมชาวบ้านปางมะโอได้เคยเพาะเห็ดนางฟ้ามาก่อนแต่ขายได้ราคาไม่ดีจึงหยุด ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 นางเล็ก พิชยกุล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เอกราชในขณะนั้นได้ไปเยี่ยมชาวบ้านหมู่บ้านปางมะโอ เห็นว่าภูมิอากาศเหมาะสมแก่การเพาะเห็ดหอม เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่หุบเขามีภูเขาและป่าไม้ล้อมรอบทำให้สภาพอากาศเย็นสบาย และการเพาะเห็ดหอมมีข้อจำกัดในเรื่องของสภาพอากาศที่ต้องมีอากาศค่อนข้างเย็นจึงจะสามารถเพาะเห็ดหอมได้และมีคุณภาพดีสอดคล้องกับสภาพพื้นที่หมู่บ้านปางมะโอตั้งอยู่ในหุบเขาแวดล้อมไปด้วยป่าไม้ มีสภาพอากาศเย็นจึงเหมาะแก่การเพาะเห็ดหอม จึงได้แนะนำและให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับการเพาะเห็ดหอม พร้อมทั้งติดต่อหาเชื้อเห็ดหอมให้ชาวบ้านเพื่อทดลองเพาะ เริ่มแรกผู้ชาวบ้านที่สนใจเพียง 6 รายหลังจากประสบความสำเร็จจึงมีชาวบ้านสนใจเพาะเห็ดหอมเพิ่มขึ้น

1.บุญธรรม สุขพี้

เกษตรกรผู้ผลิตเห็ดหอม และเป็นผู้ประกอบกิจการด้านเห็ดหอม มีตำแหน่งทางการปกครอง เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 8 บ้านปางมะโอ ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

2.ประสิทธิ์ วงค์เขียว อดีตผู้ใหญ่บ้าน ผู้ที่มีความรู้ด้านการเพาะเห็ดหอม และเป็นผู้ริเริ่มทดลองเพาะเห็ดหอมในหมู่บ้าน

3.แม่เล็ก พิชยกุล อดีตประธานกลุ่มสตรีจังหวัดลำปาง ผู้ที่มีความรู้ด้านการเพาะเห็ดหอม และเป็นผู้ริเริ่มทดลองเพาะเห็ดหอมในหมู่บ้าน

เนื่องจากมีการเพาะเห็ดหอมภายในชุมชน และจากการที่มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดหอม กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสตรี กลุ่มกาแฟ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเกือบทุกหลังคาเรือนต่างก็สมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ มีการสะสมเงิน เพื่อส่งสัจจะสะสมทรัพย์และส่งใช้หนี้เงินยืมกองทุนหมู่บ้านและโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสมาชิกได้หมุนเวียนกับลืมเงินไปลงทุนประกอบอาชีพและชาวบ้านในหมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยคนละ 44,363 บาท ต่อปี ปัจจุบันมีเพียง 4 ครัวเรือนเท่านั้น ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุไม่มีอาชีพแน่นอน

นอกจากอาชีพการเพาะเห็ดหอมแล้วชาวบ้านบางส่วนได้ทดลองปลูกไม้ผล เช่น ลองกอง ทุเรียน เงาะ เหมือนกับที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์เพราะมีสภาพดินและอากาศที่คล้ายกัน ซึ่งถ้าหากสามารถปลูกพืชผลดังกล่าวประสบผลสำเร็จอาจจะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเพิ่มขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกศณีย์ สัตตรัตนขจร. (2550). การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร : กรณีศึกษาหมู่บ้านปางมะโอ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ. (2561). เห็ดหอมปางมะโอ ลำปาง พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน. (ออนไลน์). สืบค้น เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.technologychaoban.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลวังเงิน. (2565). ข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.wangngoen.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลวังเงิน โทร. 0-2241-9000