Advance search

บ้านพวน

ชุมชนมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทพวนวัดกุฎีทอง อาหารท้องถิ่นของชาวไทพวน

บางน้ำเชี่ยว
พรหมบุรี
สิงห์บุรี
เทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว โทร. 0-3658-2136
วาสิตา ชะอุ้มผล
10 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
24 ก.พ. 2024
ปวินนา เพ็ชรล้วน
24 ก.พ. 2024
บางน้ำเชี่ยว
บ้านพวน

เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ฤดูน้ำหลากกระแสน้ำที่พัดพามาจากทางเหนือ เมื่อมาถึงบริเวณบ้านทรายหรือ บ้านพวนมักจะมีความรุนแรง ทำลายกัดเซาะตลิ่งพังทะลายทุกๆ ปี จึงเรียกชื่อตามลักษณะดังกล่าวว่า "บ้านบางน้ำเชี่ยว" ต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทพวนวัดกุฎีทอง อาหารท้องถิ่นของชาวไทพวน

บางน้ำเชี่ยว
พรหมบุรี
สิงห์บุรี
16120
14.78977777095123
100.4534650472954
เทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว

ชุมชนบางน้ำเชี่ยวแต่เดิมมีชื่อว่า "บ้านทราย" หรือ "บ้านพวน" เนื่องจากเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ฤดูน้ำหลากกระแสน้ำที่พัดพามาจากทางเหนือ เมื่อมาถึงบริเวณบ้านทรายหรือ บ้านพวนมักจะมีความรุนแรง ทำลายกัดเซาะตลิ่งพังทะลายทุกๆ ปี จึงเรียกชื่อตามลักษณะดังกล่าวว่า "บ้านบางน้ำเชี่ยว"

ในปี พ.ศ. 2369-2380 มีชาวไทยพวนหรือชาวพวน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองพวน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว อพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณตำบลบางน้ำเชี่ยว โดยล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นบกที่อำเภอพรหมยุรี จังหวัดสิงห์บุรี คนส่วนหนึ่งลงหลักปักฐานในบริเวณนี้และรวมกลุ่มกันจนกลายเป็นหมู่บ้าน แต่คนบางส่วนแยกออกไปตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยในจังหวัดอื่น การอพยพของชาวพวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอนู่ในไทยมีผลอันเนื่องมาจากการที่อาณาจักรอยู่ในสภาวะสงครามระหว่างอาณาจักรในศึกเจ้าอนุวงศ์ และหลีกเลี่ยงปัญหาข้าวยากหมากแพง ชาวพวนมีการอพยพเข้ามาในไทยเป็นระลอก มีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายออกไปในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย

เมืองพวนเป็นอาณาจักรโบราณหนึ่งในดินแดนสุวรรณภูมิที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานกว่าพันปี จากข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์การอพยพ แบ่งการอพยพของชาวพวนออกเป็น 2 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2322 เมืองพวนตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรี แต่ยังไม่มีการกวาดต้อนชาวพวน เข้ามา และครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2369-2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ. 2369 ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการกวาดต้อนชาวลาวพวนและชาวลาวเวียงจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันชาวไทยพวนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคตะวันออกครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนใหญ่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้กับแม่น้ำ เพราะมีชีวิตผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรม

นอกจากชาวไทพวนที่ตั้งรกรากที่อำเภอพรหมบุรีจนกลายเป็นหมู่บ้านไทพวนบางน้ำเชี่ยวแล้ว ยังมีชาวไทพวนบางส่วนที่เมื่อขึ้นบกและอาศัยอยู่ที่อำเภอพรหมบุรีได้ประมาณ 1 ปีและเห็นการเปลี่ยนแปลงในการทำมาหากิน ระหว่างที่อยู่ใหม่กับที่อยู่ดั้งเดิมที่เมืองพวน จากเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในที่เขตดอนป่าเขา ขณะที่พื้นที่อำเภอพรหมบุรีเป็นท้องทุ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ในฤดูฝนมีน้ำมาก พวกเขารู้สึกไม่สันทัดในการทำมาหากินทางน้ำ เมื่อมองเห็นเขาสามยอด เขาพระงาม เขาพุคา เขาวงพระจันทร์ในเขตจังหวัดลพบุรีที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านเดิมที่เมืองพวน จึงได้พากันย้ายหลักแหล่งไปตั้งบ้านเรือนใหม่

ชุมชนบางน้ำเชี่ยว ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากจังหวัดสิงห์บุรีเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 11,250 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ       ติดต่อกับ  องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
  • ทิศใต้          ติดต่อกับ  องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
  • ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ  แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และมีคลองส่งน้ำชลประทานผ่านพื้นที่จากเหนือจรดใต้มีระบบชลประทานกระจายทั่วพื้นที่ จึงเหมาะกับอาชีพเกษตรกรรม ลักษณะภูมิอากาศมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทศบาลต่างๆ ในภาคกลางโดยแบ่งออกเป็น 3 ฤดู

จากข้อมูลของสำนักงานเทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว มีประชากรทั้งหมด 1,176 ครัวเรือน จำนวน 3,504 คน ประกอบด้วย ชายจำนวน 1,656 คน คิดเป็นร้อยละ 47.26 หญิงจำนวน 1,848 คน คิดเป็นร้อยละ 52.74 สูงอายุ จำนวน 916 คน ผู้พิการ จำนวน 145 คน

กลุ่มอาชีพ

อาชีพโดยส่วนใหญ่ของคนในชุมชนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 80 เลี้ยงสัตว์คิดเป็นร้อยละ 10 การประมงคิดเป็นร้อยละ 5 อุตสาหกรรม และพาณิชย์คิดเป็นร้อยละ 5 

องค์กรชุมชน

มีการจัดตั้งองค์กรของชุมชนเพื่อการผลิตสินค้าของชุมชน โดยเป็นสินค้าที่ได้รับเลือกจากการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์OTOPดีเด่นของจังหวัดสิงห์บุรี โดยผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่าย ได้แก่ เสื้อ กระโปรง ผ้านุ่ง กระเป๋า โดยเฉพาะผ้าหมักโคลนเจ้าพระยา มีลักษณะเด่น คือ เนื้อผ้านุ่ม ลื่น เย็น สวมใส่สบายตัวและสามารถขับสารพิษออกจากร่างกายได้ และมีธาตุเหล็กและแมกนีเซียมที่จะทำให้ผ้ามีสีเข้มและมีความสวยงามแปลกตา นอกจากนี้มีการผลิตและสร้างสรรค์ลวดลายผ้าที่แปลกใหม่เพื่อเพิ่มเอกลักษณ์ให้ชิ้นงานแต่ละแบบ และเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ชาวบ้านบางน้ำเชี่ยวมีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตตามปฏิทินชุมชมดังนี้

  • ประเพณีกำฟ้า เดือนมกราคม : การทำบุญตักบาตร บวงสรวงบูชาเทวดา การประกวดเผาข้าวหลาม การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน
  • ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เดือนธันวาคม : การกวนข้าวทิพย์โดยนำนมข้าว และส่วนผสมต่าง ๆ กวนเข้าด้วยกันโดยสาวพรหมจารี
  • ประเพณีลอยกระทง เดือนพฤศจิกายน : รณรงค์การจัดทำกระทงลอยจากวัสดุธรรมชาติ การประกวดหนูน้อยนพมาศและมหรสพต่าง ๆ 
  • ประเพณีสงกรานต์ เดือนเมษายน : ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การจัดการแข่งขันกีฬา และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน
  • ประเพณีเข้าพรรษา เดือนกรกฎาคม : ทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์
  • ประเพณีออกพรรษา เดือนตุลาคม : ทำบุญตักบาตรและฟังธรรม ทำบุญ ตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งและถวายผ้าจำนำพรรษา
  • หลวงพ่อนาค วรคุณ

อดีตเจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง เป็นผู้ก่อตั้งอาคารพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมคืออาคารเรียนหลังแรกของชุมชนในนามโรงเรียนประชาบาลวัดกุฎีทอง เป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านศรัทธาเคารพนับถือมาก ในตอนนั้นจัดการเรียนการสอน 4 ชั้น คือ ป.1-4 อาคารเรียนหลวงพ่อนาค แม้จะเก่าทรุดโทรมไปบ้าง แต่โรงเรียนและชุมชนใช้งานมาต่อเนื่องตลอดร้อยปี ในปีหลังๆ แม้ไม่ได้ใช้เป็นห้องเรียนแล้ว แต่มีการปรับพื้นที่ให้เป็นห้องสมุด และใช้เป็นที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับโรงเรียนของนักเรียน เป็นห้องประชุม และใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน วัดกุฎีทอง ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ตั้งอยู่ภายในอาคารเรียนเก่าอายุกว่า 100 ปี ของโรงเรียนวัดกุฎีทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งล่าสุด พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540  แต่ย้ายที่ตั้งมากว่า 4 ครั้งแล้ว เนื่องมาจากมีปัญหาหลายสาเหตุ อาทิ น้ำท่วม การจัดสรรปันที่ภายในวัดไม่ลงตัว เกิดปัญหาขึ้นภายในทำให้ต้องปรับเปลี่ยนและโยกย้ายอาคารที่ทำการพิพิธภัณฑ์มายังอาคารเรียนหลังเก่าที่ชื่อ “อาคารหลวงพ่อนาค วรคุณ” 

  • อาจารย์ไชยวัฒน์ สุคันธวิภัติ 

ข้าราชการเกษียณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดกุฎีทอง และหนึ่งในทีมที่ร่วมกับชุมชนในการบริหารจัดการดูแลพิพิธภัณฑ์และทำกิจกรรมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมชาวพวนของชุมชน และเป็นผู้เขียนแบบ ทางวัดสนับสนุนงบประมาณทำตู้จัดแสดง

  • นาวาเอกเถลิง ศิริพงษ์พันธุ์

เป็นประธานชมรมไทยพวน มีความคิดที่จะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของที่ถูกทิ้งไว้ตามบ้าน เพราะเห็นว่ามีวัฒนธรรมประเพณีของคนพวนที่ยังอยากจะอนุรักษ์ไว้ จึงหารือกับพระครูเมตตานุศาสน์ เจ้าอาวาสวัดกุฏีทอง ทำพิพิธภัณฑ์โดยใช้พื้นที่ของวัด  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มีการรวมตัวกันของกลุ่มชาวไทยพวนอาวุโสที่บางน้ำเชี่ยวอย่างเข้มแข็งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อพยายามฟื้นฟูรักษาความหมายและคุณค่าของวัฒนธรรมกลุ่มตนที่กำลังถูกเพิกเฉยและเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยผู้อาวุโสกลุ่มนี้รักและผูกพันกับท้องถิ่น เข้าใจถึงธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเห็นความจำเป็นในการทำงานเก็บรวบรวมข้อมูลมรดกวัฒนธรรมของชุมชนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งต้องการสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนและลูกหลานในท้องถิ่นในการทำงาน และร่วมกันหาแนวทางฟื้นฟูและสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป

ในชุมชนบางน้ำเชี่ยวมีสถานที่ที่น่าสนใจในชุมชนอีหลายแห่ง เช่น บ้านเกิดอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศศิลป์ เรือนไทยพวนรูปแบบดั้งเดิมที่ยังเหลืออยู่เพียง 2 หลังในชุมชน และด้านอาหารพื้นถิ่น อาทิ แกงจานน้ำเสอ แกงแค แจ่วซู่ลู่(ลาบปลา) หลามมะเขือ เป็นต้น

มนัสนันท์ กองแก้ว. (2555). การดำเนินนโยบายอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ชาวไทยพวน กรณีศึกษาเทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). บางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://communityarchive.sac.or.th/community/BangNamChiaw

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). การสงวนรักษาและฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมไทพวนบ้านบางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://24communities.sac.or.th/bangnamchiew/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). ไทยพวน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/179

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2562). ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน วัดกุฎีทอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/321

amazing THAILAND. (2566). กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าบางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://thai.tourismthailand.org/Attraction/กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าบางน้ำเชี่ยว

Google Map. (2567). พิกัดแผนที่ชุมชนบางน้ำเชี่ยว. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps/place/ตำบล+บางน้ำเชี่ยว+อำเภอพรหมบุรี+สิงห์บุรี+16120/@14.7844822,100.4151457,13z/data=!3m1!4b1!4m6!3m5!1s0x30e202a48322fa9d:0x404fb54b008b670!8m2!3d14.7905361!4d100.4580603!16s%2Fg%2F1tfdgsb1?hl=th-th&entry=ttu

เทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว โทร. 0-3658-2136