
วิถีชุมชนชาติพันธุ์กะยัน หรือในนามที่คนทั่วไปเรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว ทรัพยากรชีวภาพที่มีในชุมชนตามธรรมชาติ การปลูกพืชแบบผสมผสาน ปลอดสารพิษ และมันญี่ปุ่น พืชสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
วิถีชุมชนชาติพันธุ์กะยัน หรือในนามที่คนทั่วไปเรียกว่ากะเหรี่ยงคอยาว ทรัพยากรชีวภาพที่มีในชุมชนตามธรรมชาติ การปลูกพืชแบบผสมผสาน ปลอดสารพิษ และมันญี่ปุ่น พืชสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
บ้านในสอยโซนในที่อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวกะยันที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากพม่า อาศัยอยู่ปะปนกับชาวกะเหรี่ยงกลุ่มอื่น จากประวัติดั้งเดิมเล่าว่า รวมกันเป็นกลุ่มบ้านมานานประมาณ 150 ปี มี นายเห็งอ่อง เป็นหัวหน้ากลุ่มบ้านซึ่งขณะนั้นมีราษฎรอยู่ประมาณ 15 หลังคาเรือน ราษฎรส่วนใหญ่มีเชื้อชาติไทใหญ่และกะเหรี่ยง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2425 ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนขึ้นโดยใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เรียนหนังสือเมื่อมีประชากรเพิ่มมาขึ้นจึงได้รับการจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นหมู่บ้านปี พ.ศ. 2480 โดยมีนายหมื่นหมาย สันติกรรม เป็นผู้ใหญ่บ้านบรรยากาศหมู่บ้านค่อนข้างเงียบสงบ สำหรับบ้านโซนในนี้มีทั้งแบบหนึ่งชั้นและสองชั้น ถ้าเป็นหนึ่งชั้นจะมีทั้งยกพื้นเตี้ย ๆ และยกเป็นใต้ถุนสูงทุกหลังมีโครงสร้างไม้เป็นหลัก
ชุมชนหมู่บ้านในสอยมีเส้นทางถนนดินลูกรังหนึ่งสายเข้ามาถึงในหมู่บ้าน โดยบ้านเรือนจะอยู่ทางซ้ายและขวาของถนนไปตลอดแนว ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตั้งอยู่ในตำบลปางหมู ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มีระยะทางห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ประมาณ 16 กิโลเมตร การเดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 เลี้ยวซ้ายเข้ามา ผ่านทางหมู่บ้านสบสอยและเรื่อยมาจนถึงบ้านในสอย ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ ประมาณ 30 นาที มีเนื้อที่ตั้งทั้งหมดประมาณ 4,500 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1,000 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านแม่สะงา ม.2 ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านดอยแสง ม.13 ต.ปางหมู อ.เมือง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสบสอย ม.7 ต.ปางหมู อ.เมือง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านไม้สะเป่ ม.9 ต.ปางหมู อ.เมือง
สภาพภูมิประเทศ ส่วนใหญ่ของพื้นที่ตำบลปางหมู เป็นภูเขาสูงกับที่ราบสูงมีความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม และมีความอุดมสมบูรณ์มาก ประกอบกันการที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด และยังมีเขตชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศพม่าและเอื้อต่อการค้าระหว่างชายแดน
ชุมชนชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ กะเหรี่ยงขาว กะเหรี่ยงแดง จีนฮ่อ และคนเมือง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดเขตชายแดนพม่า เป็นชุมชนในเขตอำเภอเมือง ชุมชนหมู่บ้านในสอยประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวกะยันที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านชาวบ้านในหมู่บ้านจะใช้ภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในการพูดคุยกันในชนเผ่าเดียวกัน ใช้ภาษาพม่าเวลาพูดกับชนเผ่าอื่น และใช้ภาษาไทยในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและนักธุรกิจ แต่พวกเขามักจะพยายามพูดภาษาของตนในทุกโอกาสที่เป็นไปได้
กะยัน, ไทใหญ่, ปกาเกอะญอ, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)มีความโดดเด่นทั้งเรื่องของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตประจำวัน ชุมชนบ้านในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพมากมาย นอกจากนี้คนในชุมชนมีวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ มีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ เพื่อการอยู่รอดด้วยปัจจัยสี่ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ได้แก่
- งานจักสาน คนในชุมชนมีรายได้จากงานจักสานทุกบ้านเรือน เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายภายในหมู่บ้านและตามป่า เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตะกร้า เสื่อ เข่ง กุบ กระด้ง และแปม เป็นต้น รวมทั้งขั้นตอนวิธีการทำถูกสั่งสอนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังคงรักษาไว้
- สมุนไพร เป็นพืชผักที่มีการปลูกกันตามบ้านเรือนและหาได้จากตามป่าเขา คนในชุมชนรู้จักชื่อสมุนไพรกันมาตั้งแต่อดีต และใช้เพื่อบำรุงสุขภาพ รักษาตัวเองด้วยวิธีการต้ม บด ตากแห้ง หรือทานสดขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพรนั้น ๆ ตามขั้นตอนที่ถูกสั่งสอนกันมา
- อาหารประจำพื้นเมือง เป็นที่ทำกันเป็นประจำ โดยมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
ทุนวัฒนธรรม
การใส่ห่วงทองเหลือง ชาวกะยันส่วนมากก็ไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่นอนของประเพณีการใส่ห่วงทองเหลือง จากการศึกษาพบว่าเหตุผลหลักของการใส่ห่วงทองเหลือง คือ
- การใส่ห่วงทองเหลืองเพื่อปกป้องจากวิญญาณชั่วร้ายภายนอก
- การใส่ห่วงทองเหลืองเพื่อเป็นการแสดงฐานะและความมั่งคั่ง
ดร.สมทรง บุรุษพัฒน์ แห่งสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ ภาษาและวัฒนธรรม ว่า เด็กสาวชาวกระเหรี่ยงคอยาวหรือปาดองจะเข้าพิธีใส่ห่วงทองเหลืองเมื่ออายุได้ 5-9 ปี มีหมอผีประจำเผ่าเป็นผู้ใส่ให้ แต่เดิมนั้นผู้ที่จะใส่ห่วงทองเหลืองจะต้องเป็นผู้หญิงที่เกิดวันพุธที่ตรงกับวันเพ็ญเท่านั้น และจะต้องเป็นผู้หญิงปาดองที่แท้จริง ไม่มีเชื้อชนเผ่าอื่นผสม ถ้าไม่ยอมใส่ห่วงจะถูกขับไล่ออกจากเผ่าทันที แต่ต่อมานิยมใส่กันหมดไม่ว่าจะเกิดวันใด เดิมห่วงนี้ใช้ทองจริง ๆ แต่ในปัจจุบันใช้ทองเหลืองที่นำมาจากเมืองเบงลอประเทศพม่า
ทุนธรรมชาติ
สามารถหาทรัพยากรชีวภาพที่มีในชุมชนตามธรรมชาติ เช่น ต้นไผ่ หมาก ต้นตองตึง รวมทั้งการนำส่วนที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์เช่นกัน ได้แก่ กาบหมาก กาบกล้วย กาบไผ่ ใบตองตึง ฟางข้าว เปลือกถั่วเหลือง เปลือกถั่วลิสง โดยชาวบ้านได้นำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะในรูปของจาน ชามบรรจุอาหาร ทั้งหมดนี้สามารถใช้ประโยชน์เพื่อดำรงชีวิตเปรียบเสมือนปัจจัยสี่ จะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านในสอยล้วนมีทรัพยากรชีวภาพ วัตถุดิบของชุมชนในปริมาณมากที่ให้ผลผลิตสำคัญแก่ชุมชน คือ
- มันญี่ปุ่น มีจำนวนผู้ปลูกทั้งหมด 10 ราย ทำกันมาเป็นระยะเวลา 2 ปี สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
- ส้มเขียวหวาน ประกอบด้วยเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่/คน หรือจำนวนผู้ปลูกประมาณ 7-8 ราย
นอกจากนี้มีผลผลิตจำพวกกล้วยและผลไม้อื่น ๆ วัตถุดิบเหล่านี้เป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน ปลอดสารพิษ มีการปลูกในพื้นที่เดียวกัน ได้รับการรับรองเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practices (GAP) เป็นผลมาจากการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคตามมาตรฐานที่กำหนด ปราศจากการปนเปื้อนสารเคมีในวัตถุดิบ ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
การที่ชาวกะเหรี่ยงคอยาวอพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทย บ้านใหม่ในสอยเป็นชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของ “พื้นที่พักพิงผู้หนีภัยชั่วคราว” จากการสู้รบในพม่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งที่ความจริงน่าจะเรียกว่า “ค่ายผู้ลี้ภัย” แต่ทางการไทยไม่ยอมให้ใช้ชื่อนั้นเนื่องจากไม่ยอมรับว่าบุคคลในค่ายเป็นผู้ลี้ภัย หลายคนมองว่าการต่อต้านของผู้ลี้ภัยในค่ายบ้านใหม่ในสอยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการจัดการบริหารในค่ายฯ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในอำเภอได้รื้อโครงสร้างอำนาจผู้นำชุมชนในค่ายบ้านใหม่ในสอยขนานใหญ่ ในเรื่องของการจัดสรรปันส่วนอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่องค์กรระหว่างประเทศจัดหาให้เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีวิตของทุกคนในค่าย แต่ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่มีผู้คนยอมรับมากขึ้นแล้วและยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ไปเยี่ยมชมหมู่บ้านแห่งนี้
ฐานข้อมูลและสื่อสารด้านภาษาศิลปะวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในท้องถิ่น. (2567). ชุมชนหมู่บ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://pangmutourism.wordpress.comutourism.wordpress.com/
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากรากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน). (2567). ชุมชนหมู่บ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก https://bedobcg.com/community/375
อรสา เตติวัฒน์ (2526). สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของบ้านในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.
Gplace. (2553). กระเหรี่ยงคอยาว บ้านในสอย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.gplace.com/2635
Google map. (2567). พิกัดชุมชนหมู่บ้านในสอย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567. เข้าถึงได้จาก: https://www.google.com/maps