Advance search

ไทยทรงดำ เลิศล้ำผ้าทอ โอ้ละหนอรำแคน ดินแดนความพอเพียง

หมู่ที่ 1
หัวเขาจีน
ห้วยยางโทน
ปากท่อ
ราชบุรี
อบต.ห้วยยางโทน โทร. 0-3222-9826
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ก.พ. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
21 ก.พ. 2024
บ้านหัวเขาจีน

ด้วยสภาพในอดีตมีทะเลล้อมรอบและได้มีพ่อค้าชาวจีนนำเรือสำเภามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณนี้ แต่ได้เกิดอุบัติเหตุเรือสำเภาแตกทำให้หัวเรือมาติดอยู่กับภูเขาจึงเรียกว่า “หัวเขาจีน” ต่อมาจึงใช้เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านหัวเขาจีน”


ไทยทรงดำ เลิศล้ำผ้าทอ โอ้ละหนอรำแคน ดินแดนความพอเพียง

หัวเขาจีน
หมู่ที่ 1
ห้วยยางโทน
ปากท่อ
ราชบุรี
70140
13.34059
99.74816948
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน

ชาวไทยทรงดำ ไทดำ หรือชาวโซ่ง เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากลุ่มแม่น้ำดำ ประเทศเวียดนาม เมื่อครั้งฝรั่งเศสเข้ายึดประเทศเวียดนามจึงมีการอพยพมาอยู่ประเทศลาวและไทย ต่อมามีการกวาดต้อนพลเมืองไทยทรงดำและลาวเวียงจันทร์มายังประเทศไทย จํานวน 4 ครั้ง เมื่อ 200 กว่าปีก่อน ครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2322 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการกวาดต้อนลาวเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองสระบุรี ราชบุรี และจันทบุรี ส่วนไทยทรงดำให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเพชรบุรี อำเภอเขาย้อย และต่อมาจึงมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองใกล้เคียงคือ ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี เป็นต้น มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีและเข้ามาอาศัยอยู่ในตําบลห้วยยางโทน หมู่บ้านหัวเขาจีน 

บ้านหัวเขาจีน เป็นนามเรียกขานถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากดินแดนที่ห่างไกลได้ตั้งหลักปักฐาน ณ บริเวณใกล้ภูเขา ต่อมาได้เกิดโรคฝีดาษระบาดทำให้ผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่มีผู้นำสามท่านก็ยังยืนยันที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ต่อ คือ ปู่สอง กลิ่นสุคนธ์ ปู่ว่อง มหาพล และปู่แสน กุมกร และได้ตั้งชื่อชุมชนนี้ว่า “บ้านหัวเขาจีน” ได้มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า บ้านหัวเขาจีนในอดีตมีทะเลล้อมรอบและได้มีพ่อค้าชาวจีนนำเรือสำเภามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณนี้ แต่ได้เกิดอุบัติเหตุเรือสำเภาแตกทำให้หัวเรือมาติดอยู่กับภูเขาจึงเรียกว่า “หัวเขาจีน” ต่อมาจึงใช้เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านหัวเขาจีน” มาจนถึงปัจจุบัน

บ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากอำเภอปากท่อ ประมาณ 18 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ จรด หมู่ที่ 2, 5 ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
  • ทิศใต้ จรด บ้านเนินรัก หมู่ที่ 5 ตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
  • ทิศตะวันออก จรด บ้านมณีลอย หมู่ที่ 7 ตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
  • ทิศตะวันตก จรด บ้านหนองลังกา หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

ลักษณะทางกายภาพ

ชุมชนบ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลาดเอียง จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก พื้นที่ใช้ในการเกษตรเป็นดินเหนียว ในฤดูแล้งอากาศร้อนจัด มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติในพื้นที่ไม่มากนัก และแหล่งน้ำจะตื้นเขินในช่วงฤดูแล้ง มีน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นส่วนใหญ่ แหล่งน้ำสำคัญในตำบลเป็นแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น เช่น สระน้ำสาธารณะ บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาล ฝายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ทำให้ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการเกษตร ประชาชนใช้น้ำบาดาลอุปโภคบริโภคจากประปาหมู่บ้าน ในฤดูฝนมีฝนตกมาก ในบางพื้นที่อาจ เกิดน้ำท่วมขังในระยะสั้น ๆ

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 650 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 292 คน ประชากรหญิง 358 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 215 ครัวเรือน

ไทดำ

ชาวบ้านหัวเขาจีนมีอาชีพการทำนาตั้งแต่บรรพบุรุษและยังดำเนินการประกอบอาชีพทำนามาจนถึงปัจจุบัน และยังมีการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ฝ้าย และมันสำปะหลัง ด้วยวิถีการดำรงชีพที่อาศัยระบบเกษตรกรรมจึงเป็นแบบแผนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มไทดำ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าและผลผลิตชนิดอื่นในตลาดการเกษตร และการแลกเปลี่ยนในตลาดจึงเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจพื้นฐานที่สำคัญของชาวไทดำ นอกจากระบบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกโดยเฉพาะการทำนาและการทำไร่แล้ว การเลี้ยงสัตว์ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สำคัญ ได้แก่ ควาย วัว หมู เป็ดไก่ ล้วนเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญที่พบทั่วไปในชุมชนของชาวไทดำ โดยเฉพาะควาย ถือเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญที่ควบคู่ไปกับการทำนา ดังคำกล่าวของชาวไทดำที่ว่า “ควายใกล้กล้า” หมายความว่า ควายมักจะอยู่ใกล้กับต้นกล้าหรือพื้นที่ทำนา นอกจากควายจะถูกเลี้ยงไว้เพื่อการทำนาเป็นหลักแล้วยังมีการนำควายมาฆ่าในพิธีกรรมเสนบ้านเสนเมือง ด้วยสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อยู่ในวิถีชีวิตของชาวไทดำสมกับคำกล่าวที่ว่า “หมูไก่อันของนาย วัวควายอันของปู่” หมายความว่าทั้งหมู ไก่ วัว ควาย ต่างก็เป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย นอกจากอาชีพการทำไร่ทำนา และอาชีพเลี้ยงสัตว์เพื่อการดำรงชีพ ชาวไทดำบ้านหัวเขาจีนยังได้มีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านหัวเขาจีน เป็นการรวมกลุ่มของสตรีบ้านหัวเขาจีนจัดทำผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทดำที่เป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์มากมายหลายประเภท จนเป็นที่สนใจก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทางให้กับชุมชน
  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหัวเขาจีน
  • กลุ่มเกษตร
  • กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
  • กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน
  • กองทุนหมู่บ้านหัวเขาจีน
  • กิจกรรมพัฒนาสตรี
  • อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน

ชาวไทยทรงดำยึดถือและสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี ตั้งแต่บรรพบุรุษตราบจนถึงปัจจุบัน โดยพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทยทรงดำเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตตั้งแต่เกิด แต่งงาน ครองเรือน จนถึงตาย ซึ่งพิธีกรรมส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่ออยู่กับ “ผี” ไม่ว่าจะเป็นผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน ซึ่งมีความเชื่อว่าผีต่าง ๆ เป็นผู้บันดาลความสุข ความเจริญงอกงาม ความร่มเย็น หากปฏิบัติอย่างถูกวิธี แต่ในทางตรงกันข้ามก็สามารถบันดาลความทุกข์ ความเลวร้ายต่าง ๆ ให้บังเกิดขึ้นหากปฏิบัติผิดวิธีหรือละเว้นการปฏิบัติ การประกอบพิธีกรรมจะต้องมีตัวแทนในการประกอบพิธีกรรม บุคคลเหล่านี้เปรียบเสมือนตัวแทนที่สร้างความน่าเชื่อถือ ให้คงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ดังเช่นในปัจจุบัน

วัฒนธรรมและประเพณีชาวไทยทรงดำได้จัดระเบียบร้อยเรียง ความหมายจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวจนเกิดเป็นประเพณีต่าง ๆ เช่น พิธีเสนเรือน (พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ) พิธีเสนโต๋ (พิธีเรียกขวัญ) โดยลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธีกรรมได้ถูกกำหนดอย่างตายตัวในเรื่องของระยะเวลา รวมไปถึงจำนวนของใช้ในโดยพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทยทรงดำเป็นเครื่องมือในการสร้างความยึดเหนี่ยวสมัครสมานสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นอกจากนี้ชาวไทยทรงดำยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษเชื่อถือสืบต่อกันมา 

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

พิธีเกี่ยวกับการแต่งงานของไทดำ เป็นพิธีกรรมที่มีขั้นตอนและมีความสลับซับซ้อนมีความเชื่อมโยงกับผีบรรพชน เมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วจะต้องย้ายผีจากตระกูลเดิมมาเคารพผีตามตระกูลของสามี จึงต้องมีพิธีลาผีตระกูลเดิม และบอกผีเพื่อให้อนุญาตเข้ามาอยู่กับตระกูลของสามีด้วย เมื่อหนุ่มสาวชอบพอกันฝ่ายชายจะส่งตัวแทนทาบทามสู่ขอผู้หญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะนัดหมายกำหนดวันทำพิธีส่งเขย ในวันส่งเขยเจ้าบ่าวและญาติฝ่ายชายจะเดินทางไปที่บ้านของเจ้าสาวทางบ้านของเจ้าสาวจะเตรียมงานเลี้ยงไว้ต้อนรับการไปบ้านเจ้าสาวนี้ไทดำเรียกว่า “ส่งเขย” ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมจำสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นมายังบ้านเจ้าสาว เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ผ้าห่ม มุ่ง มีดพร้า ของใช้ส่วนตัวมายังบ้านเจ้าสาว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เจ้าบ่าวต้องอยู่บ้านเจ้าสาวเพื่อช่วยทำงานระยะเวลาหนึ่งอาจจะยาวนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ ในกรณีที่เป็นตระกูลผู้ท้าวเจ้าบ่าวอาจจะต้องอยู่นานถึง 2-3 ปี ช่วงเวลาที่เจ้าบ่าวต้องอยู่บ้านเจ้าสาวนี้ ยังไม่นับว่าเป็นสามีภรรยากัน เพราะเจ้าบ่าวยังต้องแยกนอนกับเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะถูกเรียกว่าเป็น “เขยกวาน”

หลังจากที่เขยกวานได้อยู่ที่บ้านเจ้าสาวตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้จนเป็นที่พอใจกันแล้วจะประกอบพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการเรียกว่า “กินดอง” ครอบครัวของฝ่ายชายจะนำสิ่งของจำนวนมากมาเป็นของกำนัลแก่ครอบครัวของเจ้าสาว เช่น เหล้า หมู ไก่ ปลา หมากพลูยาสูบ พร้อมกับของขวัญแก่เจ้าสาวเช่นกำไล ตุ้มหู ปิ่นปักผม เครื่องประดับต่าง ๆ เมื่อญาติทั้งสองฝ่ายต่างรับรองพิธีกินดองแล้ว ก็จะไปจัดห้องให้คู่สามีภรรยา ฝ่ายหญิงจะมาทำพิธีตั้งเกล้าผม ซึ่งถือว่าตนมีสามีแล้ว ฝ่ายชายจะอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิงต่อไปอีกระยะหนึ่งช่วงเวลานี้เรียกว่าการ “อยู่เขย”

หลังจากระยะเวลาอยู่เขยของฝ่ายชายที่อยู่บ้านฝ่ายหญิงผ่านไป ซึ่งบางครั้งกินเวลายาวนานถึงสิบปีทางญาติพี่น้องของฝ่ายชายจะเตรียมของขวัญไปให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง เพื่อรับลูกสะใภ้กลับมาอยู่ที่บ้านของสามีก่อนที่สะใภ้จะย้ายบ้านไปอยู่กับสามีต้องทำพิธีบอกลาผีเรือนเดิมของตนเองให้ทราบเมื่อสะใภ้ย้ายมาอยู่ที่เรือนของสามีและทำพิธีบอกผีเรือนสามีเพื่อรับลูกสะใภ้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของตระกูลแล้วถือว่าฐานะของสะใภ้ได้กลายเป็นคนในตระกูลของสามีอย่างสมบูรณ์

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ผู้หญิงไทดำสามารถตั้งครรภ์กับเจ้าบ่าวได้ตั้งแต่เมื่อเจ้าบ่าวได้ผ่านการอยู่เขยที่บ้านของเจ้าสาว ในระหว่างนี้ผู้ที่เป็นภรรยายังอยู่ที่บ้านเดิมของพ่อแม่ของตนเอง หากทราบว่าฝ่ายหญิงกำลังตั้งครรภ์จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปอยู่ที่บ้านของสามี จนกว่าจะคลอดบุตร หรือจนกว่าการอยู่เขยจะครบกำหนด แต่หากฝ่ายหญิงเกิดการตั้งครรภ์ภายหลังจากการอยู่เขยและได้ย้ายไปเป็นสะใภ้เข้าไปอยู่ที่เรือนของสามีแล้ว ช่วงเวลาก่อนครบกำหนดคลอด แม่ของฝ่ายหญิงสามารถเข้าไปดูแลเพื่อช่วยเหลือในการทำคลอดลูกสาวของตนที่เรือนของลูกเขยได้

ในการคลอดบุตร เด็กแรกเกิดจะถูกนำรกและสายสะดือไปฝังหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ แม่ของเด็กจะมีระยะเวลาอยู่ไฟมีข้อห้ามไม่ให้กินปลาตะเพียน เนื้อควายเผือก และเนื้อสุนัข หลังจากทารกมีชีวิตรอดมาได้ระยะหนึ่งประมาณอย่างน้อย 1 เดือน จะมีการทำขวัญลูก หากเป็นเด็กหญิงมีการนำเส้นด้ายมาร่วมทำพิธี เพื่อคาดหวังว่าโตขึ้นจะได้ทอผ้า หากเป็นผู้ชายจะนำหน้าไม้หรือเครื่องมือทำมาหากินมาเข้าพิธี เพื่อคาดหวังว่าโตขึ้นจะได้ทำมาหากินแข็งขัน หลังจากครอบครัวรับขวัญเด็กเป็นการภายในแล้วจะเชิญมดมาทำพิธีทำขวัญให้เด็กอีกครั้งหนึ่ง ในพิธีนี้มีการตั้งชื่อให้กับเด็ก มดจะทำการ “ขับเสนต้อนเขยเอาจื่อ (ชื่อ)” พิธีนี้จะมีญาติทางฝ่ายแม่ของเด็กเข้ามาร่วม พร้อมกับนำข้าวของมารับขวัญเด็กและมาช่วยงาน ญาติของฝ่ายแม่ของเด็กจะเตรียมชะลอมใส่พัดหรือหน้าไม้มาให้เด็กและเตรียม “ไต้” เป็นเครื่องสานขนาดเล็ก แทนขวัญของเด็กสำหรับนำไปผูกไว้ในกะล้อห่อง ใกล้หิ้งผีบรรพชนเพื่อให้ผีเรือนคอยช่วยคุ้มครองดูแล พิธีในการตั้งชื่อเด็กจึงแสดงถึงการรับรองสมาชิกใหม่ที่กลายเป็นสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างญาติทางฝ่ายแม่ และญาติทางฝ่ายพ่อให้ผูกพันเป็นเครือญาติกัน พิธีที่เกี่ยวเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร มีดังนี้

พิธีเสนฆ่าเกือด เป็นพิธีฆ่าแม่ซื้อของเด็กแรกเกิด มีความเชื่อว่าแม่ซื้อเป็นผีติดตามเด็กแรกเกิดมาและจะมาเอาชีวิตเด็กคืนไป จึงต้องทำพิธีฆ่าแม่ซื้อเพื่อเด็กจะได้มีสุขภาพแข็งแรง

การสู่ขวัญเด็กอ่อน เด็กที่เกิดมาเป็นสมาชิกใหม่ของชาวไทดำ จะทำพิธีสู่ขวัญเพื่อทำให้เด็กมีความแข็งแรง เป็นการก้าวผ่านเข้าสู่ชีวิตที่จะเกิดขึ้นใหม่และดำเนินต่อไปอย่างเป็นปกติสุขในสังคมการก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ โดยต้องเตรียมคือ ไก่ 1 ตัว น้ำต้ม 1 ถ้วย ข้าวเหนียวนึ่ง เหล้า 1 ขวด เสื้อตัวเล็กให้ลูกน้อยใส่เมื่อผู้ทำพิธีทำพิธีเสร็จแล้วก็จะเรียกลูกให้ตื่นเอากระบอกไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับใส่น้ำเรียกว่า บั้งน้ำ มากระทุ้งบนเรือน 

ความตาย และการทำศพ

ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะให้ความสำคัญกับการตายเป็นอย่างมาก เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านจะหยุดงานการทุกประเภทและมาช่วยกันจัดการงานศพ ในอดีตในช่วงเวลากลางคืนจะก่อกองไฟไว้ข้างบนบ้านติดกับห้องผีเป็นสัญลักษณ์ของคนตายและปล่อยไฟลุกทั้งคืน ในวันรุ่งขึ้นหมอพิธีจะทำพิธีบอกทางให้กับผู้ตาย เพื่อให้วิญญาณกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน หลังจากนั้นจะหามศพไปเผาที่ป่า

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

พิธีเสนเฮือน ภายในหนึ่งหรือสองปีจะทำพิธีเสนเฮือนเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยจัดเครื่องเซ่น การทำพิธีเสนเฮือนมีสองลักษณะคือ ทำตามตระกูลหรือสิง ได้แก่ ตระกูลผู้ต๊าว (ผู้ท้าว) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชั้นเจ้าเมือง และตระกูลผู้น้อย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสามัญชน 

พิธีเสนเฮือนจะเริ่มในตอนเช้าตรู่โดยจะจัดเครื่องเซ่นใส่ในภาชนะที่เรียกว่า “ปานเผือน” โดยใส่เนื้อหมูไว้ล่างสุดเมื่อเสร็จพิธีจะเอาเครื่องเซ่นออกจากปานเผือนมาแบ่งปันกันในบรรดาญาติและผู้ร่วมงาน จากนั้นหมอเสน เจ้าของบ้านและญาติจะรับประทานอาหารร่วมกันในห้องผีเรือน ส่วนแขกที่มาร่วมงานรับประทานอยู่นอกห้องผีเรือน 

พิธีปาดตง เป็นการเซ่นผีหรือเลี้ยงผีเรือนด้วยอาหารเป็นประจำในทุก ๆ รอบ 10 วัน ตามวันกำหนดของแต่ละตระกูลเรียกว่า “เวนตง” ตามธรรมเนียมของชาวไทดำ เมื่อบิดามารดาได้เสียชีวิตลง หลังจากการทำพิธีศพเสร็จสิ้นไปแล้วได้ประมาณ 1 เดือน จะมีพิธีเชิญผีผู้ตายซึ่งได้มีสถานะเป็นผีด้ำอยู่ร่วมกับผีด้ำบรรพชนที่อยู่บนเมืองฟ้าแล้ว ให้วิญญาณหรือขวัญส่วนหนึ่งกลับมาอยู่กับลูกหลานบนเรือน เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองดูแลลูกหลานที่อาศัยอยู่ในเรือนให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข โดยชาวไทดำจะสร้างห้องที่กั้นไว้เป็นพิเศษสำหรับผีด้ำเรียกว่า กะล้อห่อง เมื่อผีด้ำได้ถูกเชิญมาอยู่บนกะล้อห่องแล้วจะมีกำหนดวันสำหรับเลี้ยงผีด้ำ 

พิธีเสนเต็ง เป็นพิธีเพื่อขอไถ่ความผิดของผีเฮือนที่ได้ทำผิดต่อแถน ซึ่งเป็นเทวดาที่อยู่บนฟ้า เมื่อมีการเจ็บป่วย จึงต้องมีการทำพิธีเสนเพื่อนำเครื่องเซ่นไปให้แถนเพื่อช่วยให้หายป่วย

พิธีเสนตั้งบั้ง เป็นพิธีที่มีลักษณะพิเศษกว่าพิธีการเสนอื่น ๆ เพราะพิธีเสนตั้งบั้งเป็นความเชื่อของชาวลาวโซ่งที่มีความเชื่อว่า บ้านใดที่มีพ่อหรือปู่เป็นผู้มีเวทมนตร์หรือเรียกว่าเป็นผู้มีวิชา มีครูบาอาจารย์สามารถรักษาไข้ถอนพิษถอนคุณด้วยเวทมนตร์ด้เมื่อเสียชีวิตไปแล้วลูกหลานจะอัญเชิญมาไว้ที่เรือนมีการจัดพิธีเสนประจำปี ด้วยการเป่าปี่ประโคมและการร่ายรำประกอบเป็นพิเศษ ผู้สืบผีต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ 2 ชุดแยกกันและเครื่องเซ่นก็ต่างกันคือ มีการเซ่นผีเรือนธรรดาก่อนในตอนเช้า และการเซ่นไหว้ผีผู้มีเวทมนตร์เป็นพิเศษในตอนบ่าย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำชุมชนบ้านหัวเขาจีน

ชาวบ้านชุมชนบ้านหัวเขาจีนได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน (เฮือนลาว) ขึ้นไว้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชุมชน โดยเรือนของชาวไทยทรงดำเป็นเรือนลาวทรงสูง ใต้ถุนโปร่งเป็นพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งใช้เป็นที่ทอผ้าของกลุ่มสตรี ส่วนหลังคาจะเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วมี ‘ขอกุด’ เป็นสัญลักษณ์ บริเวณชั้น 2 ของเรือนลาว จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมากวางเรียงรายอยู่ขวามือของทางเข้า พื้นที่กลางเรือนใช้วาง ผ้าแต่ละลวดลาย “เข็นด้าย” ซึ่งทำด้วยไม้ มีขนาดใหญ่มาก เข็นด้ายใช้สำหรับพันด้ายแยกสีเป็นหลอด ๆ ตามจำนวนที่ต้องใช้ในการทอ เครื่องมือไม้อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “อิ้ว” คือ เครื่องมือสำหรับแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย มีเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่หน้าตาแปลก ๆ เรียกว่า “กระเดื่อง” ใช้สำหรับตำข้าวของคนสมัยก่อน ส่วนสุดท้ายคือ “ห้องพิธี” ซึ่งชาวไทยทรงดำเป็นชนเผ่าที่ยังคงเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ จึงเกิดพิธี “เสนเรือน” หรือ “เซ่นผี” นั่นเอง เวลาทำพิธีก็ต้องทำในห้องนี้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงวิถีทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และการแสดงทางวัฒนธรรมไทยทรงดำ เช่น สาธิตการทอผ้า การแสดงอิ้นกอน ฟ้อนแคน การสาธิตพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ผ้าทอไททรงดำบ้านหัวเขาจีน

กลุ่มสตรีทอผ้าไทยทรงดำ เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของสตรีในหมู่บ้านที่มีความรู้และความสามารถในการทอผ้า ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในชุมชน โดยการรวมกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งนำภูมิปัญญาความรู้ และความสามารถของสตรีในหมู่บ้านในการพัฒนาการทอผ้าจากพื้นบ้าน เช่น ผ้าลายแตงโม ผ้าขาวม้า ผ้าเปียว เสื้อฮี เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือไทยทรงดำที่มีความสวยงามและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ทั้งนี้ชาวบ้านหัวเขาจีนได้น้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช(รัชกาลที่ 9) มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเริ่มจากความพอประมาณ คือ ทำบนพื้นฐานความรู้ความสามารถและเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบความพอเพียง โดยเน้นการให้ความรู้ ความสามารถที่มีอยู่อย่างมีเหตุผล คือ การรวมกลุ่มทอผ้าไทยทรงดำเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

วัฒนธรรมการแต่งกายของไทยทรงดำ เป็นวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของชาวไทยทรงดำ ที่ยังดำรงลักษณะเด่นของกลุ่มตนไว้ไม่เหมือนไทยกลุ่มอื่น ซึ่งคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก จะต้องสังเกตฟังเสียงจึงจะทราบว่าเป็นไทยกลุ่มไหน โดยเฉพาะเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของชาวไทยทรงดำทำกันเองทั้งสิ้น ไม่ว่างานมงคลหรืองานอวมงคล จะใช้เสื้อผ้าแบบเดียวกันทั้งหญิงและชาย ยกเว้นในงานพิธีกรรมจะต้องใส่ชุดพิเศษ สีเสื้อผ้าของชาวไทยทรงดำนิยมใช้สีดำหรือครามเข้มเป็นประจำ จนได้ชื่อเรียกว่า “ไทยทรงดำ”หรือ“ ลาวทรงดำ”ส่วนสีอื่นจะเป็นเพียงสีที่นำมาตกแต่งเพื่อให้สวยงามเท่านั้น

ฟ้อนแคนไททรงดำบ้านหัวเขาจีน

อิ้นกอนฟ้อนแคน “อิ้นกอน” หรือ เล่นคอน“ฟ้อนแกน” หรือ ฟ้อนแคน เป็นภาษาพูดการละเล่นของหนุ่มสาวไทยทรงดำมีความหมายว่า การเล่น ลูกช่วง และการฟ้อนรำประกอบดนตรี คือ แคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของไทยทรงดำ ที่เล่นกันมาตั้งแต่ครั้งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองแถง (เดียนเบียนฟูของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ลักษณะเป็นการละเล่นช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยทรงดำ หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย จะเริ่มเล่นกันในช่วงเดือนห้าของทุกปี เป็นกิจกรรมของหนุ่มสาวที่จะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างเปิดเผย โดยความยินยอมของครอบครัวและสังคม เป็นภูมิปัญญาที่ให้หนุ่มสาวได้เรียนรู้การเตรียมตัวสู่การมีครอบครัว ทั้งหนุ่มและสาวได้ศึกษาอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ในช่วงที่มีการลงข่วงก็จะเข้ามาเกี้ยวพาราสี นอกจากนี้ยังเป็นการสานความรักและความสามัคคีให้เกิดในชุมชน เพราะการ “อิ้นกอน ฟ้อนแคน” มีการกำหนดข้อตกลงเป็นกฎกติกาที่รับรู้กันในหมู่ไทยทรงดำ

ประเพณีอิ้นกอนฟ้อนแคนทำให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำเป็นสังคมสงบสุขมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีต่อกันเป็นครอบครัวขยาย ส่วนมากจะมีผู้สูงอยู่ในบ้านด้วยภายในครอบครัวประกอบด้วยสมาชิก พ่อ แม่ ญาติฝ่ายแม่หรือญาติฝ่ายพ่อลูกและหลานเป็นครอบครัวใหญ่เหมือนครอบครัวทั่ว ๆ ไป มีปู่ย่าตายายในครอบครัวเป็นผู้อาวุโสทุกคนในบ้านสมาชิกในครอบครัวมีความเกรงใจ เชื่อฟังและเอื้ออาทรซึ่งกันและกันประกอบอาชีพทำนา เมื่อว่างจากการทำนาก็มีกิจกรรมเล่นลูกช่วง ร้องรำทำเพลง จากคำบอกเล่าของคนไทยทรงดำส่วนใหญ่แรกเริ่มก็เล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่เมื่อได้มาเล่นก็ได้พบปะ เจอหน้าตากัน ก็เกิดความสนใจชอบพอกันกลายเป็นความรัก ดังนั้นการเล่นลูกช่วงก็เลยเป็นประเพณีหาคู่ของคนไทยทรงดำ ซึ่งปัจจุบันประเพณีเริ่มหายไปจะทำกันเมื่อมีงานหรือการจัดแสดงพิเศษเท่านั้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนมีการรวมตัวกันของชาวบ้านในชุมชนภายใต้แนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน โดยมีการบริหารจัดการด้วยตัวเองภายในชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ตัวเองและชุมชน องค์กรชุมชนถือได้ว่าเป็นอะไหล่สําคัญในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากชาวบ้านมีบทบาทหน้าที่ของตนเองในการเข้ากลุ่มอาชีพแล้ว ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมกลุ่มกันยังสร้างการเติบโตให้องค์กรเพื่อความก้าวหน้าในการจัดการการท่องเที่ยว อีกทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์ในชุมชนและภายนอกชุมชนให้เป็นที่รู้จัก และเชิญชวนให้บุคคลภายนอกเข้ามาสนใจในชุมชนและส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการจ้างงานในชุมชนมากขึ้นและเป็นตัวชี้วัดที่ดีตัวหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ถึงความสําเร็จ


ภายในชุมชนบ้านหัวเขาจีนมีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดโดยที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ และสามารถทดแทนสิ่งที่หายไปได้อย่างสมบูรณ์ ถือได้ว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยไม่ทําลายระบบนิเวศของธรรมชาติและชาวบ้านในชุมชนเห็นคุณค่าในทรัพยากรตระหนักถึงให้มีการอนุรักษ์เพื่อคงอยู่ต่อไปให้นานที่สุด 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เที่ยวราชบุรี.com. (ม.ป.ป.). ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน อ.ปากท่อง จ.ราชบุรี. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://เที่ยวราชบุรี.com/

ราชภัฏเชียงใหม่. (2556). ราชภัฏเชียงใหม่ เทิดไท้ 84 พรรษา มหาราชัน. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

สุธาวี กลิ่นอุบล. (2562). การศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อบต.ห้วยยางโทน โทร. 0-3222-9826