
ชุมชนเกษตรกรรมลุ่มน้ำโขง ต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม้ยางนาสู่การสร้างคุณค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์
บ้านห้วยยางตั้งอยู่บริเวณริมห้วยยาง ลำห้วยแห่งนี้มีต้นยางเรียงรายอยู่จำนวนมาก จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ห้วยยาง" ตามลักษณะทางกายภาพ
ชุมชนเกษตรกรรมลุ่มน้ำโขง ต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม้ยางนาสู่การสร้างคุณค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์
บ้านห้วยยางก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 โดยการนำของนายกวน เมืองจันทร์ ต้นตระกูลจันทร์สุข และจวงจันทร์ และนายอินทราช ต้นตระกูลอินทรราช และต้นตระกูลสีหา ที่ได้เดินทางอพยพมาจากบ้านนาโพธิ์กลาง ในระยะแรกได้ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่บ้านท่าล้งเป็นเวลา 3-4 ปี แต่เกิดโรคระบาด จึงเคลื่อนย้ายหมู่บ้านลงไปทางฝั่งซ้ายของลำห้วยยาง ซึ่งอยู่ห่างจากที่เดิมเป็นระยะห่าง 1 กิโลเมตร แล้วเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่นี้ว่า "บ้านห้วยยาง" เหตุเพราะทั้งสองฟากฝั่งของลำห้วยยางมีต้นยางเรียงรายอยู่จำนวนมาก จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะทางกายภาพของที่ตั้ง
ต่อมาไม่นานมีชาวบ้านกลุ่มที่ 2 เดินทางอพยพมาจากบ้านโนนบก โดยการนำของนายคำโพธิ์ สายลา และกลุ่มที่ 3 โดยการนำของนายกวน ชาติมนตรี ผู้เป็นต้นตระกูลเกษชาติ จากบ้านสมดีและบ้านปากห้วยหมาก เดินทางมาสมทบอีกระลอกหนึ่ง จึงทำให้บ้านห้วยยางมีจำนวนครัวเรือนถึง 14 ครัวเรือนในขณะนั้น ก่อนที่จะมีการขยายตัวของจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปัจจุบัน
อาณาเขต
บ้านห้วยยางเป็นหมู่บ้านหนึ่งในปกครองของตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ และตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยไผ่ และตำบลหนองแสงใหญ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลคำไหลและตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
ลักษณะทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านห้วยยางมีลักษณะเป็นที่ราบสลับภูเขาลาดชัน ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีป่าไม้ที่จัดได้ว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสมบูรณ์ ลักษณะภูมิอากาศ มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ป่าสาละเมิน เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เชื่อว่ามีภูตผีจำนวนมาก เพราะในป่าสาละเมินมีต้นตะเคียน ต้นเสียดขึ้นอยู่มากทำให้ไม่มีผู้คนกล้าเข้าไปรบกวน
- แม่น้ำโขง อยู่ทางที่ตะวันออกของหมู่บ้าน ห่างจากชุมชนประมาณ 5 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เข้าไปใช้ประโยชน์มากนัก จะมีก็แต่บางครอบครัวได้ไปหาปลาเพื่อดำรงชีวิต ในช่วงฤดูฝนน้ำจะเอ่อล้นมาจากลำน้ำโขง ขึ้นมาตามลำห้วยยาง จะมีปลาจากแม่น้ำโขงที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาตามลำห้วยเพื่อมาวางไข่และหากิน ทำให้ชาวบ้านอาศัยช่วงที่ปลาขึ้นมาวางไข่จับปลามาเป็นอาหารและนำไปจำหน่ายได้
- ลำห้วยยาง เป็นลำน้ำขนาดกลาง และเป็นพรมแดนกั้นระหว่างหมู่บ้านห้วยยางกับหมู่บ้านหนองฮี ทำให้ทั้งสองหมู่บ้านสามารถใช้ประโยชน์จากลำห้วยแห่งนี้ เช่น การหาสัตว์น้ำเพื่อบริโภค การเลี้ยงสัตว์ตามลำห้วย เพราะมีพืชพรรณธัญญาหารอันเป็นแหล่งอาหารของทั้งคนและสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งไม้ยางนาที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในการเก็บน้ำมันยางมายาเรือ และประดิษฐ์งานหัตถกรรมของใช้ภายในบ้านเพื่อลดต้นทุนได้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านห้วยยาง ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,160 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 598 คน ประชากรหญิง 562 คน จำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 319 ครัวเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนมากเป็นการทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ส่วนอาชีพอื่น ๆ จะมีทั้งการค้าขาย รับจ้างทั่วไป โดยจะเป็นแรงงานรับจ้างในช่วงที่ว่างเว้นจากงานภาคเกษตรกรรมแล้ว ในด้านแรงงานของภาคเกษตรกรรม จะใช้แรงงานจากสมาชิกในครัวเรือน โดยมีการจ้างงานในช่วงดำนาและเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนนอกภาคเกษตรกรรม คือ การรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในเขตอำเภอเมือง อำเภอปากช่อง อำเภอปักธงชัย และมีบางส่วนเดินทางไปทำงานในต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ และมีบางส่วนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จึงมีรายได้ที่ไม่แน่นอน
ชาวบ้านห้วยยางนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่องบาป บุญ และกฎแห่งกรรมตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง มีความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ นับถือศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน ตลอดจนผีไท้ ผีแถน ทุกปีจะมีการบวงสรวงปู่ตาช่วงเดือนยี่และเดือนหก มีการลงช่วงบวงสรวงผีไท้ ผีแถนในเดือนอ้ายและเดือนหก ด้านประเพณีนิยมโดยปกติจะยึดถือตามประเพณีทั่วไปของภาคอีสาน คือ ฮีต 12 หรือประเพณี 12 เดือน ตามวัฒนธรรมชาวอีสาน
การบวงสรวงปู่ตา เป็นพิธีกรรมสำคัญที่ชาวบ้านห้วยยางจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีสม่ำเสมอในบริเวณที่เรียกว่า "ดอนปู่ตา" อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน และภายในดอนปู่ตาได้มีการสร้างศาลปู่ตาไว้สำหรับให้ชาวบ้านเข้าไปสักการบูชา มี "กวนข้าวจ้ำ" 5 คน เป็นผู้ดูแลหมู่บ้านแทนปู่ตาและเป็นหัวหน้าหมู่บ้านด้วยอีกหน้าที่หนึ่ง การประกอบพิธีกรรมในหนึ่งปีจะมีการกระทำอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะทำช่วงก่อนฤดูการเพาะปลูก ทำไร่ ทำนา เพื่อขอให้สภาพอากาศเอื้ออำนวยแก่การเพาะปลูก ให้ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกได้ดอกผลเป็นจำนวนมาก และในครั้งที่ 2 จะทำหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อขอบคุณปู่ตาที่ช่วยดลบันดาลให้พืชผลทางการเกษตรออกดอกออกผลดี และช่วยดูแลคุ้มครองหมู่บ้านให้แคล้วคลาดจากภยันอันตรายทั้งปวง
ไม้ยางนา ทรัพยากรล้ำค่าจากป่าบ้านห้วยยาง
ไม้ยางนา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ มีความสูง 30-40 เมตร ลำต้นตรง เปลือกเรียบหนาสีเทาปนขาว ในอดีตไม้ยางนาจะมีมากตามลำห้วยยางที่ไหลผ่านระหว่างบ้านหนองฮีกับบ้านห้วยยาง แต่ต่อมาเมื่อเกิดการขยายตัวของประชากรส่งผลให้จำนวนไม้ยางนาลดน้อยลง ซึ่งสาเหตุมาจากการตัดไม้แปรรูปเป็นน้ำมันยาง ขี้ไต้ ฟืน ถ่าน นำไปสร้างที่อยู่อาศัย ความต้องการขยายพื้นที่ทำกินจนเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้ไม้ยางนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดลงอย่างรวดเร็วทั้งที่เคยมีอยู่ตามลำห้วย ป่าชุมชน และพื้นที่ส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาต่อมาได้มีการสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนให้เห็นถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของไม้ยางนาที่ต่อระบบนิเวศและชีวิตของผู้คน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชื่อในการใช้ประโยชน์จากยางนา มีการจัดการถ่ายทอดความรู้จากภูมิปัญญาให้กับสมาชิกภายในชุมชน รวมถึงขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ เกิดการสนับสนุนทำโครงการเพื่อขอรับต้นยางนาจากสถานีวนวัฒนวิจัยโขงเจียมเพื่อนำมาปลูก และมีการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้ยางนาภายในชุมชน รวมถึงขยายพันธุ์ยางนาปลูกในพื้นที่ชุมชน ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่ายางนาให้หวนมาเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และคืนคงความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศของชุมชนอีกครั้งหนึ่ง
ในระยะแรกเริ่มของการก่อตั้งชุมชนบ้านห้วยยางปรากฏการใช้ภาษาส่วยในการสื่อสาร แต่ปัจจุบันใช้ภาษาอีสาน และภาษากลางซึ่งปกติจะใช้สำหรับการติดต่อราชการ
บ้านห้วยยาง เป็นชุมชนที่อาศัยการดำรงชีพโดยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้และแหล่งน้ำ เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ติดกับลำห้วยยางและมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารป่าไม้ โดยเฉพาะต้นยางนาที่ในอดีตเคยมีอยู่เป็นจำนวนมากตามริมตลิ่ง แต่ต่อมาต้นยางนาที่เคยมีมากก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่เป็นปัญหาอยู่หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะปัจจัยความต้องการนำเนื้อไม้มาสร้างบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนน้ำมันยางที่ในอดีตเคยมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านห้วยยาง แต่ปัจจุบันความต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำมันยางเริ่มลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากความเจริญของเทคโนโลยีและวิทยาการต่าง ๆ ที่แผ่ขยายเข้ามาในชุมชน ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ ไฟฟ้า ถ้วยชามกระเบื้อง เตาแก๊ส ฯลฯ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่น้ำมันยาง
พิษณุสุทธ สุทธการ และคณะ. (2554). โครงการรูปแบบการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ไม้ยางนาอย่างเหมาะสมโดยชุมชนมีส่วนร่วม บ้านห้วยยาง บ้านหนองฮี ตำบลห้วยยาง บ้านหนองฮี ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
Kasettoday. (ม.ป.ป.) . ต้นยางนา ไม้มงคล ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร. สืบค้น 3 มกราคม 2567. จาก https://kaset.today/