Advance search

ชุมชนไทดำที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์

หมู่ที่ 2
บ้านวังหยวก
บ้านแก่ง
เมืองนครสวรรค์
นครสวรรค์
กลุ่มทอผ้าชุมชน โทร. 09-9885-3646, อบต.บ้านแก่ง โทร. 0-5634-7119
ไทดำ, บ้านแก่ง
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
1 ม.ค. 2019
ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
5 เม.ย. 2023
บ้านวังหยวก

ชื่อ “บ้านวังหยวก” เกิดจากบริเวณนี้มีต้นกล้วยขึ้นอยู่จำนวนมาก


ชุมชนไทดำที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์

บ้านวังหยวก
หมู่ที่ 2
บ้านแก่ง
เมืองนครสวรรค์
นครสวรรค์
60000
15.786682
100.052216
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง

สมทรง บุรุษพัฒน์ (2524) ได้อธิบายลักษณะการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไทดำนอกพื้นที่จังหวัด เพชรบุรีไว้ว่า การที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำมีการตั้งถิ่นฐานกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย นั้นมีที่มาจากปัจจัยแรก คือ หลังจากที่กลุ่มไทดำได้ตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดเพชรบุรี ผู้ไตทรงดำรุ่นเก่าบางส่วน มีความปรารถนาแรงกล้าที่อยากกลับไปยังถิ่นฐานเดิมที่เมืองแถงแคว้นสิบสองจุไท จึงพยายามเดินทางขึ้นไปทางเหนือ พอถึงฤดูฝนก็พักทำนาเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง แต่เมื่อเดินทางต่อไป ผู้สูงอายุที่รู้เส้นทางได้เสียชีวิตลงระหว่างการเดินทาง ลูกหลานจึงไม่สามารถเดินทางกลับไปยังเมืองแถงได้ จึงตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเส้นทางเป็นแห่ง ๆ ไทดำกลุ่มนี้เดินทางไปได้ไกลที่สุดที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก สำหรับปัจจัยในการอพยพย้ายถิ่นในช่วงเวลาต่อมา คือการหาพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ทากินเดิมที่จังหวัดเพชรบุรีเริ่มคับแคบ ไม่เพียงพอกับปริมาณคนที่เพิ่มขึ้น ชาวไทดำจึงมีการอพยพย้ายถิ่นไปหาที่ทำกินแห่งใหม่ โดยเริ่มจากจังหวัดใกล้ ๆ เช่น ราชบุรี นครปฐม หรือสุพรรณบุรี แล้วจึงอพยพไปยังจังหวัดอื่น ๆ (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 83-84)

การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของไทดำ เกิดขึ้นภายหลังการประกาศเลิกทาสในปี พ.ศ.2448 (สมัยรัชกาลที่ 5) ปรียานุช คำสนอง (2560) ได้อธิบายว่า ช่วงเวลาที่กลุ่มไทดำอพยพเข้ามาใน ประเทศไทยเป็นช่วงที่แต่ละเมืองต้องการประชากรมาเป็นแรงงานและกำลังพล กลุ่มไทดำในเวลานั้นตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่รัฐกำหนดไว้ให้ มีการปกครองในกลุ่มของตน แต่ต้องส่งส่วยหรือแรงงานให้กับเมืองหลวง ภายหลังการประกาศเลิกทาส มีการยกเลิกระบบไพร่ พวกเขาจึงมีอิสระในการเคลื่อนย้ายออกจากเพชรบุรีไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อื่น ๆ (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 84)

ไทยแลนด์ เพชรต้อม กล่าวถึง การเคลื่อนย้ายถิ่นของไทดำ คนกลุ่มแรกที่ออก เดินทางมายังนครสวรรค์ คือกลุ่มคนหนุ่ม เดินทางกระจายตัวไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาพื้นที่ที่อุดม โดยเรียกจังหวัดนครสวรรค์ว่า “เมืองเหนือ” ลักษณะของพื้นที่นครสวรรค์ในเวลานั้นส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่า การถือครองที่ดินยังใช้การจับจองด้วยการลงแรงหักร้างถางพงเปิดพื้นที่ หรือขอซื้อพื้นที่ต่อจากเจ้าของที่ดินชาวไทย คนไทดำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร การตั้งถิ่นฐานจึงเลือกพื้นที่ที่เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง หากปีใดเกิดน้ำท่วมก็อพยพย้ายเรือนขึ้นมายังที่ดอนที่อยู่สูงกว่า กลุ่มไทดำตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ 8 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 17 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานเดิมในจังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม ลักษณะการอยู่อาศัยในพื้นจังหวัดนครสวรรค์ มีทั้งแบบที่เข้ามาอยู่อาศัยถาวร และเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราวก่อนจะเดินทางย้ายไปยังจังหวัดอื่นในภายหลัง (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 84)

ชุมชนไทดำแห่งแรกในจังหวัดนครสวรรค์ อยู่ที่บ้านวังหยวก ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ ดังที่ เฉลิม ทองแพง  กล่าวไว้ว่า บ้านวังหยวกเป็นชุมชนที่มีอายุการตั้งถิ่นฐานมากกว่า 80 ปี อาศัยอยู่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 84)

บ้านวังหยวก เป็นชุมชนที่มีหลักฐานของการตั้งถิ่นฐาน และอยู่อาศัยต่อเนื่องยาวนาน โดยปรากฏซากสิ่งก่อสร้างโบราณที่สร้างขึ้นจากใช้อิฐดินเผาที่มีส่วนผสมของแกลบขนาดใหญ่ และปรากฏเศษเครื่องปั้นดินเผาแตกหักกระจายอยู่โดยรอบซาก เฉลิม ทองแพง ผู้ใหญ่บ้านบ้านวังหยวก เล่าว่าในอดีตเคยมีแนวคันดินโบราณปรากฏอยู่เป็นช่วง ๆ แต่คันดินส่วนใหญ่ถูกไถปรับพื้นที่สำหรับทำการเกษตรจนหมดสิ้น ชาวบ้านบ้านวังหยวกเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “ตึกราชเมือง” สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน ถูกปรับปรุงเป็นสถานปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 98-99)

ส่วนครอบครัวไทดำที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ ช่วงแรกมักมาพักอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่มีบ้านเรือนอยู่แล้ว หรืออาจเข้าไปพักอาศัยกับผู้นำชุมชน เช่น เรือนผู้ใหญ่บ้าน หรืออาจจะสร้างเรือนอยู่อาศัยชั่วคราวจนกว่าจะมีโอกาสซื้อหรือจับจองที่ดิน รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของบ้านวังหยวกระยะแรกจึงมีการกระจุกตัวของเรือนพักอาศัยรวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในหมู่ของเครือญาติ

เวลาต่อมาพื้นที่ปลูกเรือนเริ่มคับแคบก็ขยับขยายออกไปหาพื้นที่แห่งใหม่ โดยกระจายตัวอยู่ริมถนนสายหลักของชุมชน ที่วิ่งขนานไปกับคลองวังปลาร้า การพึ่งพาอาศัยกันของคนไทดำนับเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่ยึดโยงกลุ่มคนเข้าไว้ด้วยกัน การแบ่งปัน การใช้สอยพื้นที่ภายในเรือนและในพื้นที่โดยรอบ เป็นรูปแบบปกติที่พบได้ในกลุ่มคนที่มีลำดับศักดิ์และฐานะทางสังคมที่เท่าเทียมกัน คือ ระหว่างผู้ต๊าวกับผู้ต๊าว หรือผู้น้อยกับผู้น้อย แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นกับคนที่มีระดับศักดิ์ทางสังคมที่ไม่เท่ากัน หรือระหว่างผู้ต๊าวกับผู้น้อย พบว่ามีข้อห้ามข้อปฏิบัติที่พึงกระทำระหว่างกัน ข้อห้ามนี้กล่าวถึงการถือครองที่ดิน และการใช้พื้นที่ภายในเรือน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 99)

หมู่ 2 บ้านวังหยวก ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้าปิง ในพื้นที่ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมืองนครสวรรค์ ชุมชนตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองนครสวรรค์ห่างจากศูนย์กลางจังหวัดประมาณ 15 กิโลเมตร ตำบลบ้างแก่ง มีพื้นที่รับผิดชอบรวม 37.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 23,450 ไร่ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 หมู่บ้าน ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 95)

บ้านวังหยวกมีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำสำคัญ คือ คลองท่าขนมจีน และคลองวังปลาร้า ชื่อ “บ้านวังหยวก” เกิดจากบริเวณนี้มีต้นกล้วยขึ้นอยู่จำนวนมาก เฉลิม ทองแพง ผู้ใหญ่บ้านบ้านวังหยวก ได้อธิบายถึงสภาพพื้นที่ในช่วงเวลาที่คนไทดำเข้ามาตั้งถิ่นฐานว่า ในสมัยนั้นสภาพพื้นที่โดยรอบยังคงเป็นป่าไม้เบญจพรรณที่มีความอุดมสมบรูณ์ มีสัตว์อาศัยอยู่ชุกชุม การถือครองที่ดินมักเป็นการขอซื้อจากคนไทยที่อาศัยอยู่เดิม หรือทำการหักร้างถางพงจับจองพื้นที่ บริเวณที่คนบ้านวังหยวกนิยมไปตัดไม้สำหรับปลูกสร้างเรือนคือที่ “เขาหลวง” ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ราว 15 กิโลเมตร (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 98)

จากการที่บ้านวังหยวกเป็นชุมชนของไทดำที่อพยพเข้ามาพักอาศัยระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงออกเดินทางออกไปตั้งบ้านเรือนตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง บ้านวังหยวกเป็นชุมชนที่สามารถดำรงวัฒนธรรมไทดำเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากสัมภาระทางวัฒนธรรมที่ติดตัวมาถูกถ่ายทอดสู่ชุมชน ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในลักษณะของพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่มีความสำคัญความเชื่อ และการดำรงชีวิต พื้นที่ทางวัฒนธรรมประเภทแรก คือ ศาลผีประจำหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อทองคำ” คือ ผีบรรพชนคอยปกป้องดูและคนไทดำมาตั้งแต่ถิ่นฐานเดิมที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อย้ายมายังพื้นที่ใหม่จึงมีการสร้างศาลให้สิงสถิต สมาชิกของบ้านวังหยวกทั้งที่เป็นคนไทดำ และคนไทยล้วนให้ความนับถือศาลแห่งนี้เป็นอย่างมาก เมื่อมีการทำพิธีกรรมใด ๆ ก็จะต้องบอกกล่าวกับเจ้าพ่อเพื่อขออนุญาต และขอพรให้พิธีกรรมประสบความสำเร็จ เช่น ในพิธีอุปสมบท นาคต้องมาไหว้ศาลแห่งนี้ เพื่อบอกกล่าวก่อนเดินทางไปทำพิธีที่วัด และเมื่อกลับจากวัดก็ต้องไหว้ศาลอีกครั้งก่อนเดินทางกลับบ้าน 

พื้นที่วัฒนธรรมประเภทที่สอง คือ ป่าแฮ่ว หรือป่าช้าสำหรับประกอบพิธีศพของคนไทดำตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือ ติดกับคลองท่าขนมจีน มีเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ พิธีศพไทดำดั้งเดิมใช้การเผาศพ และฝังกระดูกใต้เรือนแก้วเพื่อให้ด้ำป่าแฮ่วได้สิงสถิต พื้นที่ของป่าแฮ่วเดิมถูกแบ่งออกเป็นส่วนของผู้ต๊าว ผู้น้อย และส่วนของผู้ชาย ผู้หญิง แต่ในบ้านวังหยวกไม่พบการแบ่งพื้นที่ในลักษณะดังกล่าว แต่คงความเชื่อกับข้อปฏิบัติในการแบ่งแยกผู้ประกอบพิธีศพ (เขยกก) ตามระดับศักดิ์ทางสังคมเอาไว้ นั่นคือ เขยกกผู้ต๊าวสามารถประกอบพิธีศพได้ทั้งผู้ต๊าวผู้น้อย แต่เขยกกผู้น้อยจะประกอบพิธีได้เฉพาะผู้น้อยเท่านั้น ปัจจุบันบ้านวังหยวกไม่มีผู้ประกอบพิธีศพของไทดำ การประกอบพิธีแต่ละครั้งต้องจ้างผู้ประกอบพิธีมาจากต่างพื้นที่ และทำพิธีที่วัดของชุมชน ในชุมชนยังพบข้อมูลเกี่ยวกับการฝังศพหรือเรือนแก้วนอกพื้นที่ป่าแฮ่ว เช่น ในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น โดยอาจตีความได้ว่าคนไทดำบ้านวังหยวกนิยมฝังศพกับสร้างเรือนแก้ว ในที่ดินทำกินของตนเอง หรืออาจเพราะพื้นที่ของป่าแฮ่วมีขนาดใหญ่กว่าในปัจจุบัน

ป่าแฮ่วของบ้านวังหยวกถูกปรับเปลี่ยนการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นที่ในการทำกิจกรรมของชุมชน เนื่องจากมีความเชื่อเกี่ยวกับป่าแฮ่ว ที่ไม่นำพื้นที่ป่าแฮ่วมาเป็นที่อยู่อาศัย เพราะเป็นพื้นที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคล เมื่ออยู่อาศัยจะประสบโชคร้ายไม่มีความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานก็ต้องมีการทำพิธีกรรมเพื่อถอดถอน ปัดรังควาญสิ่งไม่ดีออกไปด้วยพิธีของไทดำและพิธีของศาสนาพุทธ ภายหลังการประกอบพิธีกรรมแล้วพื้นที่ป่าแฮ่วก็มักถูกใช้เป็นพื้นที่สร้างโรงเรียน หรือพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับบ้านวังหยวกพื้นที่ป่าแฮ่วถูกปรับเปลี่ยนเป็นที่ตั้งของวัดเกาะแก้ว ที่ย้ายมาจากที่ตั้งเดิมในบริเวณทิศเหนือของชุมชน โรงเรียนวัดเกาะแก้ว(เก่า) และศูนย์วัฒนธรรมไทดำบ้านวังหยวก อันเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีการก่อรูปใหม่เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทดำ

นอกจากสัมภาระทางวัฒนธรรมในรูปแบบของพื้นที่ที่ยังคงปรากฏอยู่ในชุมชน ยังมีพื้นที่อีกประเภทที่ถูกกล่าวถึง แต่สูญหายไปจากพื้นที่ชุมชนเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และวิถีการดำเนินชีวิตนั่นคือ “ข่วง” ที่เคยกระจายตัวอยู่ตามกลุ่มเรือนพักอาศัยที่มีลูกหลานผู้หญิง พื้นที่ข่วงอาจปรากฏอยู่ในรูปแบบของลานเป็นที่ว่าง สำหรับ “การอิ๋นคอนฟ้อนแคน” ของหนุ่มสาว พื้นที่ข่วงอาจเป็นพื้นที่ใต้ถุนเรือนที่หญิงสาวใช้ตำข้าว หรือทำงานบ้านก็ได้ โดยกลุ่มชายหนุ่มจะเข้าไปช่วยทำงานและพูดจาทำความรู้จักกันและกัน (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 99-101)

ในขณะที่เรือนทุกหลังมีพื้นที่ทางความเชื่อดั้งเดิมกับความเชื่อในศาสนาพุทธ ปรากฏอยู่ในพื้นที่เรือน โดยคนไทดำให้ความสาคัญเป็นอย่างมากกับห้องผี (กว้าน หรือกะล่อหอง) การผสมผสานทางวัฒนธรรม และการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานก่อให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรม (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 201) ดังนี้

- กว้าน กับกะล่อหอง หรือห้องผีของไทดำ มักตั้งอยู่บริเวณด้านหลังเรือนที่มุมใดมุมหนึ่งไม่มีทิศทางที่กำหนดตายตัว ส่วนเสาผีที่เป็นที่สิงสถิตของผีบรรพชน มักเป็นเสาที่อยู่บริเวณมุมห้องในห้องผี บริเวณผนังที่ติดกับห้องอื่น ๆ ในเรือน หรือมุมห้องทางด้านนอก (มุมของเรือน) เสาผีอาจมีสถานะเป็นเสาเอก (เสาแฮ่ก) ของเรือน ในการแบ่งลำดับศักดิ์ของผู้ต๊าวและผู้น้อยของเรือน จะสังเกตความแตกต่างของกว้านและกะล่อหอง ได้จากช่องทิ้งเสน (ช่องทิ้งเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีเสนเรือน) ในกว้านเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ที่พื้นห้อง แต่อาจไม่พบในเรือนบางหลัง เนื่องจากทิ้งเครื่องเซ่นออกทางหน้าต่าง สำรับกะล่อหองจะเป็นช่องเปิดขนาดเล็กที่ผนังเรือน (ในเวลาปกติอาจมีแผ่นไม้ปิดเอาไว้) ในเรือนทุกหลังบริเวณด้านหน้าห้องผี มักเป็นพื้นที่โถงกว้าง สำหรับคนเฝ้าเสน หรือผู้มาร่วมพิธี ที่เป็นผู้สูงอายุนั่ง

- หิ้งพระ หรือโต๊ะหมู่บูชา คือ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการนับถือศาสนาพุทธ ที่ตำแหน่งจะหันไม่ประจันหน้ากับห้องผีเพราะจะเป็นการขับไล่ผีออกจากห้อง โดยพระพักตร์ของพระพุทธรูปสามารถหันไปทางทิศใดก็ได้ ยกเว้นทิศตะวันตก การนำพระพุทธรูปขึ้นเรือนใหม่ก็ต้องนาขึ้นหลังจากเชิญผีห้องผีแล้ว แสดงความนับถือในศาสนาพุทธที่เหนือกว่าความเชื่อดั้งเดิมของไทดำ

- ศาลพระภูมิ สาหรับศาลพระภูมิ คนไทดามีความเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของผีเจ้าที่เจ้าทาง ที่เป็นผู้ดูแลรักษาบริเวณบ้าน ตำแหน่งของศาลพระภูมิไม่มีการกำหนดทิศทางแน่นอน แต่มีข้อกำหนดว่าศาลพระภูมิต้องตั้งนอกแนวชายคาเรือน

จากข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง (2566) ระบุว่า บ้านวังหยวกมี 322 หลังคาเรือน ประชากร 994 คน  (ชาย 490 คน หญิง 504 คน) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือรับจ้าง อุตสาหกรรมในครัวเรือน และค้าขาย

ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ โดยบ้านวังหยวกถือชุมชนไทดำที่แห่งแรกในจังหวัดนครสวรรค์ อยู่ที่บ้านวังหยวก มีประวัติการตั้งถิ่นฐานเกือบ 100 ปี

ไทดำ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

- พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาลผีประจำหมู่บ้าน คือ การเสนผีบ้าน หรือการเซ่นไหว้ศาลผีประจำหมู่บ้าน โดยจัดขึ้นช่วงสงกรานต์ ในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี แต่ถ้าหากมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นก็ต้องมีการเสนผีบ้านเป็นกรณีพิเศษ ในชุมชนไทดำมีผู้ประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาลผีประจำหมู่บ้านเรียกว่า “เจ้าจ้ำ” นอกจากศาลเจ้าพ่อทองคำเป็นศาลผีบ้านที่นับถือสืบต่อมาจากถิ่นฐานเดิมที่จังหวัดเพชรบุรีแล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีศาลอีกแห่งเป็นที่สถิตของเจ้าพ่อสร้อยทอง ที่ชาวบ้านได้อัญเชิญมาจาก “ตึกราชเมือง” (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 100) 

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านวังหยวก นำเสนอภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมไทดำ บ้านวังหยวกประกอบด้วยการนำเสนอใน 2 ลักษณะ คือ (1) บ้านไทดำ ซึ่งเป็นบ้านที่มีทรงหลังคาครอบหรือที่มักจะเรียกว่าทรงกระดองเต่า โดยมีการปรับเปลี่ยนเสาไม้ให้เป็นเสาปูนเพื่อเสริมความแข็งแรงและลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา การก่อสร้างอาศัยช่างก่อสร้างในหมู่บ้าน เป้าหมายสำคัญคือ ต้องการแสดงให้เห็นวิถีชีวิต บนเรือนเป็นไม้กระดานธรรมดา ประกอบด้วยห้องนอน ห้องผีที่เราไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่าเป็นการอยู่ง่ายๆ บ้านเป็นโล่งๆ ตอนสร้างเรือนไทดำนี้ มีการขึ้นบ้านใหม่และการไหว้บรรพบุรุษ (2) อาคารศูนย์วัฒนธรรมไทดำ จัดแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่งที่เล่าถึงประวัติความเป็นมาและลักษณะสำคัญของไทดำ ประกอบด้วย ประวัติ การแต่งกายชาวไทยทรงดำ เรือนไทดำสมัยก่อน การละเล่น ณต่างๆ ส่วนสอง เป็นการจัดแสดงเครื่องจักสานโดยการแสดงการระดมวัตถุและขอบริจาคจากชาวบ้าน (ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2559)

 ในชุมชนมีการพูดลาวหรือภาษาไทดำ ร่วมกับภาษาไทย (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85)


กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำมีระบบความเชื่อเกี่ยวข้องกับผี ขวัญ และระบบโครงสร้างทางสังคมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับศักดิ์ต่างๆ ที่กำหนดบทบาทหน้าที่พึงกระทำหรือห้ามกระทำต่อกัน ระบบเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรมที่คนไทดำนำติดตัวมากจากถิ่นฐานเดิมในจังหวัดเดียนเบียน ประเทศเวียดนาม และเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเพชรบุรีแล้วอพยพย้ายถิ่นไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ระบบดังกล่าวก็ติดตัวกลุ่มชนไปในรูปแบบของ “สัมภาระทางวัฒนธรรม” จนเกิดการปฏิสัมพันธ์กับศาสนาพุทธ มีการยอมรับเอาประเพณี ความเชื่อที่แตกต่างมาไว้กับตัว ความเชื่อทางศาสนาพุทธมาปรากฏขึ้นภายหลังจากไทดำเข้าไปอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีแล้วระยะหนึ่ง

ภายในชุมชมไทดำมีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับชุมชนชาวไทยภาคกลาง ที่มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีวิถีชีวิตแบบชุมชนเกษตรกรรมที่ผูกพันกับน้ำ แต่เมื่อศึกษาลงลึกพบว่าชุมชนเหล่านี้มีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมไทดำกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลางของไทย และความเชื่อของศาสนาพุทธสอดแทรกอยู่ในการดำเนินชีวิต รวมถึงมีการสร้างพื้นที่ที่สัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มในลักษณะที่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทดำ (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 84-85)

จากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐาน และมีศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ดึงดูดให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ดังเห็นได้จากวัฒนธรรมไทดำได้สอดประสานเข้ากับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือตามอิทธิพลของวัฒนธรรมหลัก นั่นคือศาสนาพุทธ ยกตัวอย่างเช่น ในพิธีศพมีการสวดศพโดยพระสงฆ์ร่วมกับการทำเรือนแฮ่ว (เรือนจำลองที่สร้างขึ้นอาศัยในภพหน้าสำหรับผู้ตาย) การปาดตงเซ่นไหว้บรรพชนยังคงดำเนินทุก 5 วัน 10 วัน ควบคู่ไปกับการเข้าวัดทำบุญ มีการนับมื้อประกอบด้วย มื้อฮับ มื้อฮาย มื้อเมิง มื้อเปิ๊ก มื้อกั๊ด มื้อคด มื้อฮ่วง มื้อเต๋า มื้อก๋า มื้อก๋าบ (วิไล สระทองหล, 2558) มีวันที่เหมาะสมสำหรับพิธีกรรมของผู้ต๊าว และผู้น้อย ร่วมกับการนับวันตามข้างขึ้นข้างแรมเพื่อใช้กำหนดวันมงคลและวันพระ ในชุมชนมีการพูดลาวหรือภาษาไทดำ ร่วมกับภาษาไทย (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85)

ในเวลาเดียวกันวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิมยังถูกแสดงออกในช่วงเวลาที่สำคัญ เช่น การเข้าร่วมพิธีกรรมตามความเชื่อโดยผู้เข้าร่วมก็มักจะแต่งกายด้วยชุดไทดำ เป็นต้น สำหรับวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต สามารถเห็นได้จากบริเวณรอบ ๆ เรือนที่จะมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บเอาไว้ โดยเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้จะใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และเป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรม แสดงถึงภูมิปัญญาสืบทอดจากถิ่นฐานเดิม และพัฒนาปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 85-86)

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรม คือ การซ้อนทับของพื้นที่ทางวัฒนธรรม เนื่องจากการลดบทบาทความสาคัญของพื้นที่ทางวัฒนธรรมไทดำดั้งเดิม จนนาไปสู่การปรับเปลี่ยนที่ดินไปใช้งานในบริบทใหม่ รวมถึงการนำพื้นที่ไปเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 30-40 ปี ที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกัน ไทดำเองยังยึดถือข้อปฏิบัติ ประเพณีพิธีกรรม ตามความเชื่อดั้งเดิม ควบคู่กับการประกอบพิธีกรรมของศาสนาพุทธ แสดงการเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้ามาในวิถีชีวิต และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรักษาวัฒนธรรมความเชื่อของกลุ่ม (ปรียานุช คำสนอง, 2562: 199) 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2559). "ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านวังหยวก." ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2566. เข้าถึงจาก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1447

ปรียานุช คำสนอง. (2560). "พลวัตพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในจังหวัดนครสวรรค์." วารสาร มทร. อีสาน ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 4, 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2560): 77-90.

ปรียานุช คำสนอง. (2562). “พลวัตเรือนพื้นถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ในบริบทของการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน กับรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และการดำรงตัวตนทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษากลุ่มไทดำ จังหวัดนครสวรรค์” วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สมทรง บุรุษพัฒน์. (2524). การเล่นคอนลาวโซ่งที่บางกุ้ง. นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง. (2566). "สภาพทั่วไป." (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2566. เข้าถึงจาก https://www.bankaenglocal.go.th/condition.php

กลุ่มทอผ้าชุมชน โทร. 09-9885-3646, อบต.บ้านแก่ง โทร. 0-5634-7119