
กุฎีเจริญพาศน์ เป็นกะดีเพียงแห่งเดียวในกลุ่มพื้นที่วัฒนธรรมแขกเจ้าเซ็นสามกะดี-สี่สุเหร่า ที่ยังไม่จดทะเบียนเป็นมัสยิด และยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็น “กะดี” โดยนามไว้ได้
ที่มาของชื่อ “กุฎีเจริญพาศน์” เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงดำเนินการสร้างสะพานชุด “เจริญ” โดยหนึ่งในสะพานชุดเจริญที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น คือ สะพานเจริญพาศน์ 33 ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งกุฎีล่าง มีผลให้ชื่อของกะดีแขกเจ้าเซ็นแห่งนี้เปลี่ยนใช้ชื่อทางการว่า “กุฎีเจริญพาศน์”
กุฎีเจริญพาศน์ เป็นกะดีเพียงแห่งเดียวในกลุ่มพื้นที่วัฒนธรรมแขกเจ้าเซ็นสามกะดี-สี่สุเหร่า ที่ยังไม่จดทะเบียนเป็นมัสยิด และยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็น “กะดี” โดยนามไว้ได้
กุฎีเจริญพาศน์ เป็นพื้นที่ชุมชนแขกเจ้าเซ็นในกลุ่ม “สามกะดี-สี่สุเหร่า” ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่อยู่อาศัยของแขกเจ้าเซ็น หรือชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ในประเทศไทยฝังธนฯ ที่อาศัยอยู่บริเวณกุฎีหลวง กุฎีเจริญพาศน์ มัสยิดดิลฟัลลาห์ และสุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม
แม้ว่ากุฎีหลวงจะเป็นศาสนสถานแห่งแรกของแขกเจ้าเซ็น แต่ความเป็นชุมชนของแขกเจ้าเซ็นหาได้เกิดขึ้นพร้อมกับศาสนสถานนั้นไม่ ชุมชนแรกของแขกเจ้าเซ็นอยู่บริเวณพื้นที่ต่ำจากวัดหงสารามลึกเข้าไปตามแนวคลองบางกอกใหญ่ เรียกว่ามัสยิดต้นสน หรือกุฎีใหญ่ อันเป็นชุมชนเก่าแก่ของมุสลิมในธนบุรีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายหลังพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ได้สร้างกุฎีหลวงบนพื้นที่ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แล้ว แขกเจ้าเซ็นส่วนหนึ่งได้ย้ายไปอยู่อาศัยที่กุฎีแห่งใหม่ ขณะที่บางส่วนยังคงอยู่ร่วมกันในชุมชนเดิม กระทั่งพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ถึงแก่อนิจกรรม อากาหยี่ผู้เป็นน้องชายจึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแทน และได้สร้างศาสนสถานขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ในที่ดินที่แขกเจ้าเซ็นได้มารวมตัวกันเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงต้นรัชสมัยกรุงธนบุรี เรียกกันในเวลานั้นว่า “บ้านล่าง” หรือ “กุฎีล่าง”
ชื่อเรียกหลังสุดของกะดีแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงดำเนินการสร้างสะพานชุด “เจริญ” เพื่อให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบรมราชชนกที่ทรงสร้างสะพานชุด “เฉลิม” โดยหนึ่งในสะพานชุดเจริญที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นอยู่ทางฝั่งธนฯ ได้แก่ สะพานเจริญพาศน์ 33 เพื่อข้ามคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งกุฎีล่างของพระยาจุฬาราชมนตรี (อากาหยี่) มีผลให้ชื่อของกะดีแขกเจ้าเซ็นแห่งนี้เปลี่ยนใช้ชื่อทางการว่า “กุฎีเจริญพาศน์” และใช้เรียกมาจนปัจจุบัน
ชุมชนแขกเจ้าเซ็นในพื้นที่ทางวัฒนธรรมสามกะดี-สี่สุเหร่า มีการลำดับญาติในชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกัน เห็นได้จากระบบสายตระกูลสำคัญ 2 สายหลัก ได้แก่ “สายบ้านบน” หรือ “สายพี่” โดยพระยาจุฬามนตรี (ก้อนแก้ว) ผู้สร้างกุฎีเซ็น และ “สายบ้านล่าง” หรือ “สายน้อง” โดยพระยาจุฬามนตรี (อากาหยี่) ผู้สร้างกุฎีเจริญพาศน์
แขกเจ้าเซ็นมีวัฒนธรรมการนับเครือญาติแบบ “ยาย ย่า ตา ปู่ ลุง ป้า นา อา พ่อ แม่ พี่ น้อง” เป็นอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมแขกเจ้าเซ็น ที่ทำให้แขกเจ้าเซ็นมีระบบเครือญาติที่แตกต่างจากมุสลิมกลุ่มอื่น เช่น มุสลิมสุหนี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายแขกมลายูจะมีคำนับญาติ เช่น ป๊ะ ม๊ะ เยอะ กี นิ บัง ฯลฯ ในขณะที่แขกเจ้าเซ็นเป็นชาวมุสลิมเพียงกลุ่มเดียวที่คำเรียกญาติแบบ “ยาย ย่า ตา ปู่ ลุง ป้า นา อา พ่อ แม่ พี่ น้อง” ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แขกเจ้าเซ็นมีความเป็นมุสลิมที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น
รายได้หลักของแขกเจ้าเซ็นในพื้นที่กุฎีเจริญพาศน์ส่วนใหญ่มาจากการเข้ารับราชการตามหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น ตำรวจ ทหาร และข้าราชการพลเรือน ฯลฯ เนื่องจากข้าราชการเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกในสังคมแขกเจ้าเซ็นมาตั้งแต่อดีต ทำให้ลูกหลานแขกเจ้าเซ็นมุ่งเข้าสู่อาชีพข้าราชการ หรือองค์กรที่ขึ้นกับหน่วยงานของรัฐมากกว่าวิชาชีพอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกชุมชนส่วนหนึ่งที่ประกอบอาชีพในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น การไฟฟ้า สื่อสาร ประปา ฯลฯ รวมถึงบางครอบครัวก็มีสมาชิกในครัวเรือนเข้าทำงานในภาคเอกชน และภาคธุรกิจด้วย
แขกเจ้าเซ็นกุฎีเจริญพาศน์ มีประเพณี วัฒนธรรมภายใต้หลักศาสนาอิสลาม เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับมุสลิมกลุ่มอื่น อันถือเป็นแบบแผนร่วมของมุสลิมทุกกลุ่มในสังคมไทย จะเห็นได้จากการจัดประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาในรอบปี แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียดบางประการตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยทั่วไปชาวมุสลิมมีประเพณีทางศาสนาที่สำคัญในรอบปี 4 ประเพณี ได้แก่ งานเมาลิดดินนบี การถือศีลอด วันตรุษฟิตริ และวันตรุษอัฏฮา
- งานเมาลิดดินนบี: บางครั้งเรียกว่า “งานเมาลิด” จัดขึ้นในวันที่ 12 เดือนเราะบิอุ้ลเอาวัล หรือเดือน 3 ตามปฏิทินอิสลาม เพื่อเฉลิงฉลองวันคล้ายวีนเกิดของศาสดานบีมุฮัมหมัด
- การถือศีลอด: เป็นการถือศีลอดในเวลากลางวันเป็นเวลา 30 วัน โดยปฏิบัติตลอดเดือนรอมฎอน ตรงกับเดือน 9 ตามปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษฟริติ (อิดิ้ลฟริติ): เป็นวันเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดการถือศีลอด จัดขึ้นในวันที่ 1 เดือนเชาวาล หรือเดือน 10 ตามปฏิทินอิสลาม
- วันตรุษอัฏฮา (อิดิ้ลอัฏฮา): เป็นวันตรุษรื่นเริงของชุมชนชาวมุสลิมทุกแห่ง จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเสร็จสิ้นการประกอบพิธีฮัจญ์
นอกจากนี้ แขกเจ้าเซ็นยังมีประเพณีรอบปีที่มีความเฉพาะในวัฒนธรรมแขกเจ้าเซ็น ที่แตกต่างจากชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ได้แก่ พิธีเจ้าเซ็น พิธีอาบน้ำอาคะหรี่ วันซุบบะหราต และวันอีดเฆาะดีรข่ม
- พิธีเจ้าเซ็น หรือพิธีมะหะหร่ำ: บางครั้งเรียกว่า พิธีอาชูรอ พิธีดังกล่าวเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในรอบปีของแขกเจ้าเซ็น เพื่อย้ำเตือนอุดมการณ์ทางศาสนา และรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอิหม่ามฮูเซน
- อาบน้ำอาคะหรี่: เป็นวันแห่งการชำระล้างร่างกายของแขกเจ้าเซ็น โดยเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงขจัดสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ออกจากชีวิตมนุษย์ผู้ศรัทธา ตลอดจนขจัดความชั่วร้ายออกจากสังคมของมวลมนุษย์
- วันซุบบะหราต หรือบุญนิสฟูชะอ์บาน: เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ระหว่างวันที่ 15 เดือนชะอ์บาน เป็นเวลา 15 วัน ก่อนเข้าสู่เดือนแห่งการถือศีลอด
- วันอีดเฆาะดีรข่ม: เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองที่ศาสดามุฮัมหมัดได้แต่งตั้งอะลีให้ดำรงตำแหน่งอิหม่าม เพื่อทำหน้าที่ผู้นำประชาคมมุสลิมต่อจากนบีมุฮัมหมัด
นอกเหนือจากประเพณีวัฒนธรรมร่วมของชาวมุสลิม และวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของแขกเจ้าเซ็นแล้ว ยังมีบุญประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของแขกเจ้าเซ็น เช่น วันวิลาดัต หรือวันเกิด วันวะฝาด หรือวันเสียชีวิต หรือวันที่บุคคลนั้นถูกสังหารในวิถีทางของศาสนาอิสลาม
ครูทองหยิบ ยวงมณี
ครูทองหยิบ ยวงมณี แขกเจ้าเซ็นกลุ่มหัวก้าวหน้า ลูกบ้านกุฎีเจริญพาศน์ เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกับนายสง่า อหะหมัดจุฬา ผู้ได้รับการประณามจากแขกเจ้าเซ็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่าเป็น “คนกวนดี่น” ครูทองหยิบเป็นผู้ที่มีทั้งพื้นฐานทางการศึกษาและงานข้าราชการที่มั่นคง ผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันสังคมแขกเจ้าเซ็นขณะนั้นไปสู่ความเจริญก้าวหน้า โดยการใช้แนวคิดแบบ “หัวก้าวหน้า” ด้วยวิทยาการและความรู้สมัยใหม่ แนวคิดหัวก้าวหน้าของครูทองหยิบเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นด้วยการผลิตตำราความรู้สำหรับชุมชนแขกเจ้าเซ็นในไทย ชื่อว่า “เตือนเพื่อนลัทธิชีอะห์” จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2478 เป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางศาสนาอิสลามแก่ผู้ร่วมศรัทธาแนวทางอิสลามนิกายชีอะห์ในชุมชนแขกเจ้าเซ็นในเวลานั้น
ในปีเดียวกันนั้น ครูทองหยิบได้พิมพ์หนังสือออกมาอีกหลายเล่ม เช่น หนังสือทิพยโอสถบำรุงจิตร อิสลามลัทธิชีอะห์ และตำราอรรถาธิบายความคำภีร์อัลกุรอาน ต่อมา พ.ศ. 2479 ครูทองหยิบร่วมกับท่านเพ็ง เมนาคม ก่อตั้ง “โรงเรียนผดุงธรรมอิสลาม” (ต่อมาคือมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม) พร้อมพิมพ์หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองเปิดโรงเรียน เป็นตำราความรู้พื้นฐานความศรัทธาของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ โดยให้ความรู้ในรูปแบบคำสอนคำโคลง และภายหลังการแต่งตั้งโรงเรียนผดุงธรรมอิสลามเป็นสุเหร่าผดุงธรรมอิสลาม เพื่อมุ่งปรับสังคมแขกเจ้าเซ็นให้เจริญก้าวหน้า ครูทองหยิบ ยวงมณี ได้เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้า (อิหม่าม) ท่านแรกของสุเหร่า
ปี พ.ศ. 2481 ครูทองหยิบได้พิมพ์หนังสือ “คู่มือและระเบียบแบบอิสลามนิกายชีอ๊ะฮฺ” เป็นตำราว่าด้วยการปฏิบัติและพื้นฐานศรัทธาเล่มสำคัญ แขกเจ้าเซ็นเรียกหนังสือเล่มดังกล่าวว่า “หนังสือเล่มขาว” ซึ่งถูกใช้เป็นหนังสือคู่มือทำความเข้าใจหลักศรัทธา และหลักปฏิบัติตนการเป็นแขกเจ้าเซ็น หรือมุสลิมชีอะห์สืบต่อมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ครูทองหยิบได้รับแต่งตั้งเป็น “กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2504
เรื่องราวของครูทองหยิบทำให้ภาพสังคมแขกเจ้าเซ็น ที่แต่เดิมถูกมองว่าเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในสังคมมุสลิม กลับได้รับการยอมรับทั้งความรู้ความสามารถทางศาสนา ตลอดจนสถานภาพทางสังคมที่ครูทองหยิบได้แสดงพื้นที่ตัวตนของแขกเจ้าเซ็นให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคมคนหมู่มากในเวลานั้น และแนวคิดแบบ “หัวก้าวหน้า” ก็ได้รับการสานต่อโดยแขกเจ้าเซ็นรุ่นหลัง นำโดยนายไพโรจน์ อหะหมัดจุฬา และคณะที่มุ่งนำแขกเจ้าเซ็นสู่ความเป็นโลกทัศน์ใหม่ในนาม “ศูนย์กลางชีอ๊ะอิสลามิกแห่งประเทศไทย” ที่มุ่งสร้างเครือข่ายกับองค์กรมุสลิมชีอะห์หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ผ่านวารสาร “อักบัร อัลชีอะห์” ทำให้ความเป็น “แขกเจ้าเซ็น” ถูกแทนที่ด้วยนิยามใหม่ในการเป็น “มุสลิมนิกายชีอะห์” ในสังคมมุสลิมที่เป็นสากล
หมวกกลีบ
แขกเจ้าเซ็นมีวัฒนธรรมการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์แสดงถึงความเป็นแขกอาหรับ คือ การโพกผ้า หรือสวมลอมพอก แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการสวมหมวก เรียกว่า “หมวกฉาก” ที่มีการตัดเย็บแล้วนำมาอัดพับจีบเป็นฉากตรงกลางส่วนด้านหน้าหมวก แต่ในวัฒนธรรมของแขกเจ้าเซ็นจะเรียกหมวกชนิดนี้ว่า “หมวกจีบ” หรือ “หมวกกลีบ”
ปัจจุบันวัฒนธรรมการสวมหมวกกลีบของแขกเจ้าเซ็น กลายเป็นวัฒนธรรมที่เจือจางไม่เข้มข้นเหมือนในอดีต ทว่ายังคงปรากฏให้เห็นในงานบุญประเพณีต่าง ๆ ที่แขกเจ้าเซ็นจะสวมหมวกกลีบซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของตนมาเข้าร่วมพิธีกรรม
วัฒนธรรมทางภาษา
แขกเจ้าเซ็น เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมสัมพันธ์อยู่กับ “ภาษาอาหรับ” และ “ภาษาเปอร์เซีย” หรือภาษาฟาร์ซีที่เข้ามาในสังคมแขกเจ้าเซ็นตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งได้มีการปลูกฝัง และเรียนรู้จนกลายเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ติดตามกลุ่มแขกเจ้าเซ็นมาจนปัจจุบัน
แม้ว่าภาษาอาหรับและเปอร์เซียจะเป็นภาษาที่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของแขกเจ้าเซ็น แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับชาวมุสลิมกลุ่มอื่น มีผลให้การอ่านภาษาอาหรับแบบ “อลีฟ เบ เต เษ...” ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางภาษาของแขกเจ้าเซ็นสูญหายไปจากสังคม พร้อมกับปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการอ่านภาษาอาหรับไปใช้แบบ “อลีฟ บาอฺ ตาอฺ ษาอฺ...” แทนการอ่านภาษาอาหรับแบบเดิม
การสูญสียอัตลักษณ์ทางภาษาของแขกเจ้าเซ็น หาได้มีสาเหตุจากการไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับมุสลิมกลุ่มอื่นเท่านั้น แต่ยังเกิดจากนโยบายการกลืนวัฒนธรรมของภาครัฐ ที่ทำให้ศาสนสถานสามกะดี-สี่สุเหร่าของแขกเจ้าเซ็น ต้องเปลี่ยนคำกำหนดเรียกศาสนสถานจาก กะดี หรือ กุฎี เป็นมัสยิด การใช้คำว่า “กะดี” ในวัฒนธรรมอิสลามเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา และถูกนำมาใช้จนเป็นแบบแผนที่ยอมรับกันในสังคม แต่ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า “กะดี” เริ่มถูกกลืนสูญหาย พบได้แต่เพียงภาษาปากของชาวบ้านตามความคุ้นเคยที่เรียกกันมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี พ.ศ. 2490 มีการตราพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ส่งผลให้ศาสนสถานของกลุ่มชนวัฒนธรรมอิสลามในเมืองไทยที่เคยกำหนดเรียกชื่อศาสนสถานเหล่านั้นด้วยคำที่แตกต่างกัน เช่น สุเหร่า กะดี หรือกุฎี และมัสยิด จำต้องเปลี่ยนมาจดทะเบียนในนาม “มัสยิด” เพื่อมุ่งความเป็นนิติบุคคลที่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติฉบับนั้น ๆ รับรองเป็นสำคัญ รวมถึงศาสนสถานของแขกเจ้าเซ็นในธนบุรีที่เรียกศาสนสถานว่า “กะดี” หรือ “กุฎี” ที่มีอยูเพียงสามกะดี ถูกนำไปจดทะเบียนเปลี่ยนสถานะเดิมจนหมดสิ้น เช่น กะดีเจ้าเซ็น หรือกุฎีหลวง จดทะเบียนเป็น มัสยิดกุฎีหลวง กะดีนอก หรือกุฎีปลายนา เปลี่ยนเป็น มัสยิดดิลฟัลลาห์ และสุเหร่าผดุงธรรมอิสลามที่สร้างขึ้นหลังตราพระราชบัญญัติ ก็ต้องจดทะเบียนในนาม “มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม” เหลือเพียง “กุฎีเจริญพาศน์” เท่านั้นที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นมัสยิด ยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็น “กะดี” โดยนามไว้ได้เพียงแห่งเดียว
ธีรนันท์ ช่วงพิชิต. (2551). พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการธำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาชาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
PS.K. (2563). ความงามของชุมชนเจริญพาศน์...คลองบางกอกใหญ่ และ ถนนอิสรภาพ. ค้นจาก https://travel.trueid.net/detail/Zm2vvRL1q4vm