
ไทดำบ้านกลาง เป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมทางภาษาของชาวไทดำไว้เป็นอย่างดี
ไทดำบ้านกลาง เป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมทางภาษาของชาวไทดำไว้เป็นอย่างดี
ในประเทศไทย “ไทดำ” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ผู้ไตซงดำ ภูไทยดำ ผู้ไตดำ ไตดำ ลาวโซ่ง ลาวซ่ง ลาวทรงดำ ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ซึ่งมีประวัติว่าถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองจุไทสู่ดินแดนสยามครั้งแรกในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และมีการอพยพเข้ามาอีกระลอกหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยกระจายตัวตั้งบ้านเรือนตามพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคกลาง เช่น ราชบุรี สมุทรสงคราม พิษณุโลก และสมุทรสาคร ฯลฯ
ปัจจุบันในเขตอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พบว่ามีชุมชนไทดำอยู่ที่บ้านดอนราว บ้านโคกหลวง และบริเวณรอบ ๆ วัดศรีเพชรพัฒนา ตำบลโรงเข้ และบ้านกลาง บ้านหนองสองห้อง ตำบลหนองสองห้อง ในเขตปกครองเทศบาลตำบลหลักห้า
ชุมชนไทดำบ้านกลางในพื้นที่ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว คาดว่าเป็นกลุ่มชาวไทดำที่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี เมื่ออพยพเข้ามายังบริเวณตำบลหนองสองห้องก็ได้มีการบุกเบิกพื้นที่ป่าทึบ กระจายตัวกันสร้างบ้านเรือนในพื้นที่บ้านกลาง บ้านดอน และบ้านหนองสองห้อง ชาวไทดำในตำบลหนองสองห้องมีตระกูลที่ใช้นามสกุลมีคำว่า “เพชร” อยู่หลายตระกูล เช่น ยอดเพชร บุตรเพชร บุญเพชร เพชรรอ ฯลฯ รวมทั้งตระกูลอื่น ๆ ที่สามารถสืบย้อนไปยังรกรากของบรรพบุรุษได้ ชาวไทดำตำบลหนองสองห้องเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนไทดำในจังหวัดราชบุรี ในอดีตมีการไปมาหาสู่กันทั้งในหน้าพักนา และในช่วงการประกอบประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน รวมถึงงานแต่งงานเกี่ยวดองเครือญาติ ต่อมาเมื่อชาวจีนเข้ามาสร้างบ้านเรือนและที่ทำกินบริเวณริมคลองดำเนินสะดวกและย่านหลักห้า ชุมชนไทดำที่เคยอยู่กันเป็นหมู่จึงได้เริ่มมีการติดต่อกับชุมชนอื่นมากขึ้น (สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ และจักรี โพธิมณี, 2560: 48-50)
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
บ้านกลางตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่โดยรอบถูกแผ้วถางเป็นที่ดินสำหรับทำการเกษตรทั้งหมด มีคลองน้ำไหลผ่าน ซึ่งนอกจากชาวบ้านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและการคมนาคมได้ สภาพอากาศโดยทั่วไปเป็นแบบเขตร้อนชื้น ซึ่งแบ่งได้ 3 ฤดู คือ
- ฤดูฝน ตกชุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์อากาศหนาวเย็น
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนความชื้นในอากาศสูงและมีฝนตกเป็นครั้งคราว
สถานที่สำคัญ
ศาลพ่อปู่วรรณา
ศาลพ่อปู่วรรณาตั้งอยู่ในสถานีอนามัยบ้านกลาง ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงปู่บ้านกลาง” ศาลพ่อปู่วรรณาเป็นศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนบ้านกกลาง มีลักษณะเป็นศาลไม้กว้างประมาณ 1 เมตร ชาวบ้านมีความเชื่อว่าปู่วรรณาท่านชื่นชอบทหาร ฉะนั้นข้อห้ามในการบนบานต่อพ่อปู่ คือ ไม่ควรบนบานเกี่ยวกับทหาร เช่น ขอให้ไม่ติดทหาร ชาวไทดำบ้านกลางจะจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้สักการะศาลพ่อปู่วรรณาเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี
ศาลพ่อปู่วรรณาเป็นศาลท้องถิ่นของชาวไทดำบ้านกลาง ที่ถูกสร้างคู่กับศาลพ่อปู่นาคา (ถมยา) และศาลพ่อปู่กัณฑ์ยา ซึ่งนับว่าเป็นภาพแทนคติความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยม หรือความเชื่อเรื่องผีของชาวไทดำบ้านกลาง เป็นภาพสะท้อนว่าปัจจุบันชาวบ้านกลางยังมีความเชื่อเรื่องการนับถือศาสนาผีอยู่อย่างเข้มข้น
บ้านกลาง หมู่ที่ 5 ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มีประชากรทั้งสิ้น 363 คน โดยประชากรส่วนใหญ่ คือ ชาวไทดำ หรือลาวโซ่ง ประชากรบางส่วนเป็นชาวไทยภาคกลางที่อพยพย้ายเข้ามาอาศัยปะปนร่วมกับชาวไทยดำ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการเข้ามาแต่งงานกับสมาชิกชุมชนบ้านกลาง แต่นับเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนชาวไทดำ ที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของชุมชน
ไทดำชาวไทดำบ้านกลางมีคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีแถน มีพิธีกรรมสำคัญ คือ พิธีเสน เป็นพิธีบูชาผีบรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่าผีเฮือน หรือผีเรือน ชาวไทดำเชื่อว่าเหล่าบรรพบุรุษที่ถึงแก่กรรมไปแล้วจะกลายเป็นดวงวิญญาณคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลาน โดยทุกครอบครัวจะมีการสืบผีเฮือน ผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องเป็นลูกชาย ส่วนลูกสาวจะย้ายไปถือผีบ้านสามี นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณี ที่ชาวบ้านถือปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เช่น การบวชนาค ทำบุญตักรบาตร สรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ เป็นต้น
ชาวไทดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ซึ่งมีรูปแบบการเรียงลำดับคำไม่แตกต่างกับรูปประโยคในภาษาไทยมาตรฐานมากนัก แต่โดยปกติทั่วไปภาษาของชาวไทดำจะใช้สื่อสารกับคนในชุมชนหรือไทดำด้วยกันเท่านั้น สำหรับการติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก ตลอดจนการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยกลาง
พนิดา เย็นสมุทร. (2524). คำและความหมายในภาษาลาวโซ่ง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สมรักษ์ ชัยสิงห์กานนท์ และจักรี โพธิมณี. (2560). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมนุมชาติพันธ์ในอำเภอกระทุ่มแบนและอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร (รางานการวิจัย). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2565). ศาลพ่อปู่วรรณา. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://db.sac.or.th/samutsakhon/religiousplace/content/151 [สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566].