
บ้านผาแด่น เป็นหมู่บ้านในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก ซึ่งได้เข้ามาพัฒนาส่งสริมการประกอบอาชีพ ให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านผาแด่นสามารถดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาตนเอง
บ้านผาแด่น เป็นหมู่บ้านในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก ซึ่งได้เข้ามาพัฒนาส่งสริมการประกอบอาชีพ ให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านผาแด่นสามารถดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาตนเอง
เชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยอาศัยอยู่ตามอำเภอและหมู่บ้านต่าง ๆ ที่มีพื้นที่เป็นป่าเขาห่างไกลและค่อนข้างทุรกันดาร กระจายตัวอยู่เกือบทุกอำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่า บ้านผาแด่น ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง เป็นหนึ่งชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่ปรากฏการตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเข้ามานานกว่า 200 ปี โดยกะเหรี่ยงกลุ่มนี้คือกลุ่มที่อพยพเข้ามาจากพม่าตอนเหนือ แล้วกระจายตัวอยู่ทั่วท้องที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และตาก
บ้านผาแด่นตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีความลาดชัน พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านส่วนใหญ่ถูกป่าไม้ปกคลุมหนาทึบ ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ ห่างออกไปเป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่เกิดจากการแผ้วถางทำลายพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำตามไปด้วย
ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลสันป่ายาง ระบุว่าบ้านผาแด่น ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดชียงใหม่ มีประชากรทั้งสิ้น 64 ครัวเรือน จำนวน 189 คน แยกเป็นประชากรชาย 88 คน และประชากรหญิง 98 คน ในจำนวนนี้ทั้งหมดคือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ
ปกาเกอะญอการประกอบอาชีพ
ชาวบ้านผาแด่นมีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการทำไร่ พืชไร่ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ไม้ผล เช่น กล้วย ลิ้นจี่ เงาะ และลำไย นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือภาคการเกษตร เช่น รับจ้างทำงานในโรงงาน ค้าขาย งานหัตถกรรม และหาของป่า ฯลฯ ชาวบ้านผาแด่นมีรายได้เฉลี่ยนปีละประมาณ 84,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
องค์กรชุมชน
เนื่องจากบ้านผาแด่นเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงผาแตก ซึ่งที่ผ่านมาโครงการหลวงได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพจากประชากร 5 กลุ่มบ้าน ในพื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ บ้านผาแตก บ้านแม่เจี๋ยว บ้านแม่ตอ บ้านแม่เอียก และบ้านผาแด่น ในการรวมกลุ่มปลูกผลไม้ กลุ่มปลูกผัก และกลุ่มปลูกพืชไร่ ตลอดจนจัดตั้งกลุ่มและกองทุนเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการสามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ การพัฒนาหมู่บ้านสะอาดชุมชนเข้มแข็ง และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อรักษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมของเยาวชนในพื้นที่
ภาษาพูด : ภาษากะเหรี่ยงสะกอ (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง (ติดต่อสื่อสารกับคนพื้นราบ)
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
ภาษากะเหรี่ยงสะกอเป็นภาษาที่ไม่มีพยัญชนะสะกด ทำให้เมื่อชาวกะเหรี่ยงพูดหรือเขียนภาษาไทย จึงมักจะประสบปัญหาเรื่องการออกเสียง การได้ยิน และการเขียนพยัญชนะสะกด
ป่าแม่แตง
กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566].
เพียงจิต เทียนย้อย. (2535). การเปลี่ยนศาสนาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ) ในหมู่บ้านภาคเหนือของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิไลพร ชะมะผลิน. (2522). บทบาททางสังคมและเศรษฐกิจของสตรีชาวเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ). ศูนย์วิจัยชาวเขา กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์.